ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 10 - 16 พฤษภาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | ฝนไม่ถึงดิน |
ผู้เขียน | ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี |
เผยแพร่ |
เป็นที่ถกเถียงไปในโลกออนไลน์และหน้าสื่ออย่างต่อเนื่อง ประเด็นความเห็นของคุณอุดม แต้พานิช ในทอล์กโชว์ “เดี่ยวสเปเชียล ซูเปอร์ซอฟต์พาวเวอร์” ซึ่งมีหลากหลายประเด็นที่ถูกพูดถึง
สำหรับผมเองเมื่อได้ชมรายการนี้แล้ว ก็ต้องบอกว่าแปลกใจกับกระแสการโจมตี
เพราะหลายเรื่องก็เป็นสิ่งที่สังคมไทยรวมถึงคุณโน้สพูดมาต่อเนื่องยาวนาน ไม่ได้เป็นเรื่องที่ผิดแผกมาตรฐานของสังคมไทยแต่อย่างใด
และในยุคปัจจุบันการสื่อสารแบบหลากหลายช่องทาง เรื่องเหล่านี้ก็คือเรื่องที่เป็นไวรัลในโลกอินเตอร์เน็ตมาตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา โดยมีหลากหลายประเด็น
แต่ประเด็นที่ผมเห็นว่าน่าสนใจคือ หัวเรื่องที่คุณอุดมได้ตั้งประเด็นว่า
“หน้าที่ของเรา (คนรุ่น 50 ปีขึ้นไป) คือบอกคนรุ่นหลังว่า อะไรคือความผิดพลาด… แล้วอย่าทำ”
ผมคิดว่ามีประเด็นที่น่าสนใจเลยหยิบยกมาขยายตรงนี้
ในรายการ คุณอุดมได้พูดถึงเรื่องราวที่ตลกของชีวิตในยุคสมัยก่อน ตั้งแต่นมข้นหวานที่ใส่กระป๋องสังกะสี รวมถึงชีวิตวัยรุ่นยกพวกตีกันสมัยเมื่อสามสิบปีก่อน
สิ่งที่คุณอุดมพูดก็เป็นเรื่องราวเหมือน ที่พ่อแม่สอนเราตอนเด็กๆ แหละ ว่าเรื่องแย่ๆ ที่ตนเองเคยทำมานั้นไม่ดี อย่าทำ
ในช่วงเวลานั้นก็ไม่รู้ทำเพื่ออะไร เป็นประโยชน์อะไร บางครั้งทำไปแล้วก็มีผลต่อชีวิตของตนเองด้วย
ยิ่งไปกว่านั้น คุณอุดมยังชวนมองไปข้างหน้า ถึงอาชีพที่มีความหลากหลายมากกว่าที่เรารู้จักในอดีต อาชีพที่คนรุ่นก่อนอาจไม่คุ้นชิน เช่น ศิลปินเคป๊อป บิวตี้บล็อกเกอร์ ยูทูบเบอร์ ฯลฯ ที่คนอายุน้อยสามารถประสบความสำเร็จได้ถ้าออกนอกกรอบ
แล้วคนรุ่นก่อนล่ะ ควรทำอะไร
แน่นอนว่าบ่อยครั้งคนรุ่นก่อนมักเป็นปัญหาของสมการเวลาเราพูดถึงความเชื่อของคนรุ่นใหม่
แต่หากฟังที่คุณโน้ส อุดม สรุป ผมคิดว่าเป็นข้อเสนอที่ประนีประนอมอย่างมากเมื่อเทียบกับความคุกรุ่นของสงครามระหว่างรุ่น
เพราะไม่ว่าอย่างไร แม้คนรุ่นใหม่จะเข้าใจถึงเทคโนโลยี การสื่อสาร ตรรกะ การตลาด ข้อมูลสมัยใหม่ แต่สิ่งที่ไม่สามารถมีได้เท่ากับคนรุ่นก่อนก็คือประสบการณ์
แต่ประสบการณ์นี้สิ่งที่คุณโน้สได้พูดถึง ไม่ใช่ “ประสบการณ์ที่เอาไว้ข่ม” แต่เป็นประสบการณ์ที่เป็นบทเรียนที่ป้องกันไม่ให้เกิดความผิดพลาดซ้ำสอง
คนรุ่นก่อนมีข้อดีสำคัญคือการเห็นเรื่องตั้งแต่ต้นจนอวสาน เห็นว่าเรื่องอะไรจะเป็นปัญหา และจะมีหลายเรื่องที่จะ “ไม่เป็นไร” แล้วมันจะผ่านไป
เพราะในภาพใหญ่ไม่ว่ากับชีวิตส่วนตัว หรือชีวิตสังคม มันก็จะต้องมีปัญหาแน่ๆ
มันต้องผิดพลาด
มันต้องล้มลุกคลุกคลาน
มันจะไม่เป็นแบบหวัง
สิ่งที่คนรุ่นใหม่อยากได้จากคนรุ่นก่อน ก็คือคำว่า “ไม่เป็นไร” มากกว่าการซ้ำเติม และจริงๆ สังคมมนุษย์ก็ขับเคลื่อนกันมาแบบนี้โดยตลอด
ความผิดพลาดของคนรุ่นก่อนก็เป็นบทเรียน ไม่ใช่กรณีของไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นมิติสากลด้วย
กษัตริย์กุสตาฟที่ 5 ของสวีเดน โดยเนื้อแท้แล้วพระองค์มีความคิดแบบอนุรักษนิยม ต่อต้านแนวคิดสังคมนิยม
พระองค์ครองราชย์สมบัติยาวนานในช่วงเปลี่ยนผ่านของการเมืองโลกตอนที่พระองค์อายุเกือบ 50 ปีแล้ว และได้ครองราชย์ยาวนานกว่าสี่สิบปี
สิ่งที่พระองค์เรียนรู้คือ การปฏิวัติรัสเซียที่เกิดขึ้นเป็นตัวอย่างที่ผิดพลาดของราชวงศ์โรมานอฟ ที่แข็งขืนต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงของประชาชน
ในช่วงเวลาเดียวกัน เมื่อพรรคการเมืองเสรีนิยม และสังคมนิยมชนะการเลือกตั้งจัดตั้งรัฐบาล สิ่งแรกที่พระองค์เลือกทำคือการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่าน และทำให้ประเทศเดินหน้าสู่รัฐสวัสดิการ
โดยที่กษัตริย์กุสตาฟที่ 6 พระราชโอรสขึ้นครองราชย์ต่อโดยยึดถือธรรมเนียมการไม่แทรกแซงการเมือง กระทั่งในปัจจุบัน
คนรุ่นใหม่เองก็อาจจะผิดพลาดได้ ถ้าไม่อาศัยประสบการณ์ที่ช่วยหล่อหลอม
ในช่วงทศวรรษ 1990 คนอังกฤษตื่นเต้นกับชัยชนะการเลือกตั้งของ โทนี แบลร์ ในฐานะ “พรรคแรงงานใหม่” ซึ่งสามารถนำชัยชนะมาสู่พรรคแรงงานได้เป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 20 ปี
ผ่านการเปลี่ยนแบรนดิ้งพรรค การสื่อสาร แรกๆ พอเข้าใจ แต่ไปๆ มาๆ ถึงขั้นเปลี่ยนแนวคิดทางนโยบาย ลดทอนหลักใหญ่ใจความของสวัสดิการ
สุดท้ายแล้ว กลายเป็นโทนี แบลร์ ที่ทำลายรัฐสวัสดิการอังกฤษอย่างถอนรากถอนโคนยิ่งกว่าพรรคอนุรักษนิยมเสียอีก
ดังนั้น มันจึงไม่จำเป็นเสมอไปว่า “คนรุ่นใหม่” จะนำสู่ความก้าวหน้าอย่างไม่มีเงื่อนไขเสมอไป
ดังนั้น มันจึงกลับมาสู่ประเด็นพื้นฐานสิ่งที่ผมอยากย้ำตรงนี้ ผมเชื่อว่าพวกเราที่ใช้ชีวิตกันมาค่อนชีวิต เราเองก็เคยได้รับการสนับสนุนจากคนที่มีอายุมากกว่าเรา
เป็นการสนับสนุนด้วยเมตตาธรรม ปราศจากอำนาจและเงื่อนไขต่างๆ
เมื่อถึงจุดหนึ่งเราเองก็ต้องเรียนรู้ในการอยู่ในสถานะนั้นบ้าง
ฉายภาพให้พวกเขาเห็นจากต้นจนอวสาน ให้แง่คิด เมื่อผิดพลาดก็ช่วยเหลือกัน จึงจะเป็นสังคมที่เดินหน้าไปด้วยกันได้
หากมีใครบอกให้เราทำหน้าที่นี้ อย่าคิดว่าเป็นคำด่า หรือวิจารณ์ เพราะเขากำลังให้เราทำในหน้าที่ที่ไม่มีใครแทนได้
หน้าที่ที่สำคัญในการเป็นหลังพิงให้คนรุ่นใหม่ได้ลองผิดลองถูกในชีวิต เพื่อความก้าวหน้าของสังคมเราต่อไป
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022