‘วิกฤตการณ์บ้านโป่ง’ : เกือบจะกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว (1)

ณัฐพล ใจจริง

“วิกฤตการณ์บ้านโป่ง”
ทหารญี่ปุ่นตบหน้าพระไทย

ในช่วงแรกแห่งสงครามนั้น ทหารญี่ปุ่นที่เข้ามาในไทยอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของกองทัพใหญ่ภาคพื้นทิศใต้ที่สิงคโปร์

แต่เพียงราว 1 ปี กองทัพญี่ปุ่นขอผ่านไทยไปยังอาณานิคมของอังกฤษที่พม่า อินเดียและมลายู พร้อมการเร่งสร้างทางรถไฟจากไทยไปยังพม่าและอินเดียผ่านทางกาญจนบุรี

ที่บ้านโป่ง ราชบุรีนั่นเอง ได้เกิดเหตุทหารญี่ปุ่นตบหน้าพระเพิ่ม สิริพิบูล แห่งวัดดอนตูม จากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างคนไทยกับทหารญี่ปุ่นได้ลุกลามบานปลายจนเป็น “วิกฤตการณ์บ้านโป่ง” ที่น่าตื่นตระหนกยิ่งในช่วงแรกแห่งสงคราม (โยชิกาวา โทชิฮารุ, 2539, 144)

สำหรับเรื่องราวโดยสังเขปนั้น มีดังนี้

ช่วงเย็นของวันที่ 18 ธันวาคม 2485 เมื่อพระภิกษุรูปหนึ่ง ชื่อ เพิ่ม สิริไพบูลย์ (บ้างก็ว่าเป็นเพียงสามเณร) อายุ 37 ปีเดินผ่านเชลยศึกชาวตะวันตกที่ถูกเกณฑ์มาใช้แรงงานบ้านโป่ง

เชลยศึกขอบุหรี่จากพระ พระจึงให้บุหรี่ตามคำขอไป แต่ปรากฏว่า เมื่อทหารญี่ปุ่นเห็นเข้าจึงโกรธ และตบพระเพิ่มไป 3 ที จนพระล้มคว่ำลงใบหน้าฟาดลงกับพื้น คนไทยที่เห็นเหตุการณ์จึงเข้าพยุงพระเพิ่มพาไปรักษาตัวที่ร้านค้าใกล้ๆ ต่อมาเรื่องราวดังกล่าวแพร่ออกไปยังเหล่ากรรมกรไทยที่มารับจ้างสร้างรางรถไฟ พระเพิ่มพร้อมคนไทยราว 20 คนจึงไปร้องเรียนที่ล่ามชาวญี่ปุ่น

ตกช่วงหัวค่ำวันนั้นเอง ทหารญี่ปุ่นคนหนึ่งขึ้นไปร้องเอะอะโวยลายบนศาลาวัดดอนตูม ซึ่งเป็นสถานที่นอนพักของกรรมกรไทย เกิดความแตกตื่นกันยกใหญ่ ครั้งแรกนั้นยังไม่มีใครสู้กับทหาร

ต่อมา ทหารได้พาพวกมาอีก 2 คน เอาไม้และปืนขึ้นไปบนศาลาวัด ทำให้กรรมกรตกใจ มีกรรมกรคนหนึ่งขว้างไม้ใส่ทหารแต่ไม่ถูก ทหารญี่ปุ่นกลับไปพาเอาทหารติดอาวุธมาอีก 7-8 คน บุกศาลาพร้อมยิงปืนใส่ กรรมกรต่างวิ่งหนีเอาชีวิตรอด ทหารญี่ปุ่นได้ยิงปืนไล่กวดคนไทยไปรอบๆ วัดนานเป็นชั่วโมง เหล่าคนไทยจึงจับจอบ เสียม ที่พอจะหาได้เตรียมต่อสู้ แต่นายทหารญี่ปุ่นมาระงับเหตุเสียก่อน

ประมาณเที่ยงคืน ฝ่ายญี่ปุ่นส่งทหารมาเพิ่มเติม มาจากกาญจนบุรี ประมาณ 3-4 คันรถ พร้อมยกพวกบุกล้อมสถานีตํารวจบ้านโป่ง ทหารญี่ปุ่นได้กวาดต้อนจับกุมกรรมกรไทยไปประมาณ 30 คน และยังจับกุมพระวัดดอนตูมไปทั้งวัดเพื่อสอบสวนจนถึงตีสามของเช้าวันใหม่ ก่อนปล่อยตัวออกมา (silpa-mag.com/history/article_60005)

ทหารญี่ปุ่นแสดงความดีใจในชัยชนะในช่วงต้นสงคราม

เปิดบันทึกของล่ามชาวไทย
ผู้เห็นเหตุการณ์บ้านโป่ง

ในช่วงวันนั้น บรรจง เสาวพฤกษ์ ล่ามประจำกองอำนวยการคณะกรรมการผสม กรมประสานพันธมิตร กองบัญชาการทหารสูงสุด ติดตามการตรวจราชการการสร้างทางรถไฟที่กาญจนบุรี ได้รายงานเรื่องราวกลับมายังรัฐบาลที่พระนครว่า เมื่อเขาได้รับรายงานการทะเลาะวิวาทระหว่างกรรมกรไทยกับทหารญี่ปุ่นที่วัดดอนตูม เขาจึงรีบไปสถานที่เกิดเหตุพร้อมนายอำเภอบ้านโป่ง ตำรวจและสารวัตรทหารญี่ปุ่น ต่อมาได้พบ พ.อ.โยชิดะที่เพิ่งทราบเหตุการณ์เช่นกัน จึงไปดูที่เกิดเหตุด้วยกัน

เมื่อคนทั้งหมดเข้าไปในวัดดอนตูม อันเป็นที่ตั้งค่ายทหารญี่ปุ่น ชื่อ “นาริอิซ่า” ได้พบกรรมกรไทย 4-5 คนที่ถูกทหารญี่ปุ่นมัดมือมัดเท้าไว้แล้ว ทุกคนบาดเจ็บมีเลือดไหลโทรมกาย ทหารญี่ปุ่นรายงานว่า ทหารยามของเขาถูกกรรมกรไทยทำร้ายและเหตุการณ์ลุกลามใหญ่โต ในระหว่างนั้น ได้ยินเสียงปืนดังหลายนัดพร้อมเสียงโห่ร้องของทหารญี่ปุ่นดังไปทั่ววัดดอนตูม

ภาพที่ปรากฏต่อหน้าเขา คือ ภาพกรรมกรไทยคนหนึ่งนอนอยู่บนดินร้องเสียงโอดครวญ ร้องว่า เขาไม่รู้เรื่องด้วยเลย เขาเพิ่งไปตลาดกลับมาแต่ถูกทหารญี่ปุ่นฟันด้วยดาบ มีเสียงปืนดังขึ้นอีกหลายนัด

ล่ามชาวไทยรายงานต่อไปว่า ประเมินแล้วเหตุการณ์จะขยายวงกว้าง เมื่อทหารญี่ปุ่นวิ่งไล่จับกรรมกรไทยที่หลบอยู่ตามเงามืดของต้นไม้และกอไผ่ข้างทางรถไฟ เหล่าทหารญี่ปุ่นที่วิ่งไล่จับกรรมกรล้วนถือปืนและติดดาบปลายปืน เขาจึงแจ้งให้ พ.อ.โยชิดะระงับเหตุการณ์เสีย

กรรมกรไทยและจีนบนหลังคารถไฟไปขายแรงงานสร้างทางรถไฟสายมรณะ

บรรจงรายงานต่อว่า เขาเห็นกรรมกรไทยบาดเจ็บจากถูกทหารญี่ปุ่นไล่ฟันหลายคน กรรมกรไทยต่างวิ่งหนีเอาตัวรอดท่ามกลางเสียงขู่ตะคอกจากทหารญี่ปุ่น กรรมกรหญิงชายที่นอนพักอยู่บนศาลาวัดต่างพยายามหนีเอาตัวรอด เขาจึงแจ้งให้ พ.อ.โยชิดะสั่งการให้ทหารญี่ปุ่นหยุดเหตุการณ์เสียที ส่วนเขาจะสั่งการฝ่ายคนไทยให้สงบ แต่ พ.อ.โยชิดะไม่สามารถระงับให้ทหารญี่ปุ่นหยุดได้ ยังคงมีการวิ่งไล่จับกรรมกรไทยและมีเสียงปืนดังเปรี้ยงปร้างอย่างต่อเนื่อง

ต่อมา พ.อ.โยชิดะสั่งการให้ทหารญี่ปุ่นหยุดด้วยเสียงตวาดอันดังและให้ทหารทุกคนมาจัดแถวเบื้องหน้า พ.อ.โยชิดะ และให้ทหารญี่ปุ่นทุกคนหยุดการไล่ยิงคนไทย จากนั้น ทหารญี่ปุ่นได้หามทหารที่บาดเจ็บมา 2 คน และส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลสนาม

ขณะนั้น เวลาราว 22.00 น.แล้ว บรรจงบันทึกว่า “ขนะนี้ฉันเห็นกัมกรที่ถูกฟันและถูกแทงโดยทหานยี่ปุ่น ถูกมัดมือและเท้า นอนกลิ้งอยู่ตามพื้นก็มี บางคนได้รับบาดเจ็บที่แขน ที่สีสะ ถูกมัดมือไพล่หลังนั่งก้มหน้าก็มี…พวกที่ได้รับบาดเจ็บล้วนมีโลหิตอาบตามหน้าและตามตัว เสียงร้องครวนครางด้วยความเจ็บปวดไม่ขาดระยะ” (ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, 2553, 457)

จากนั้น ทหารญี่ปุ่นจับกุมกรรมกรไทยและพระภิกษุ “ส่วนกัมกรไทยที่เขาสงสัยว่ากลุ้มรุมทำร้าย เขาได้จับกุมไว้บ้างแล้ว และเขาเข้าใจด้วยว่า พระภิกสุไนวัดดอนตูมนี้ มีส่วนร่วมหยู่ด้วย กำลังไห้ทหานไปเอาตัวหยู่…” (ชาญวิทย์, 2553, 457) บรรจงบอกให้กรรมกรและพระภิกษุที่ถูกทหารญี่ปุ่นจับนั้นอย่าขัดขืน เพราะฝ่ายทหารญี่ปุ่นกำลังคลุ้มคลั่งไร้สติอยู่

ลานวัดดอนตูม อาคารที่เห็นเคยเป็นศาลาวัดที่พักของกรรมกรไทย เครดิตภาพ : ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

จากนั้น เขาจึงไปโรงพยาบาลสนามพบว่า ทหารญี่ปุ่นเสียชีวิตหนึ่งคนด้วยบาดแผลถูกแทงด้านหลังมีรอยแทงทะลุถึงข้างหน้า 2 รอย และแทงไม่ทะลุอีก 8 รอย เหนือคิ้วมีรอยถูกทาง 2 รอย กระดูกโหนกแก้มและลูกคางหัก ส่วนทหารอีก 2 คนบาดเจ็บไม่มากนัก

ฝ่ายไทยกลับมาที่วัดดอนตูมเพื่อขอรับตัวคนไทยและนำคนเจ็บไปรักษา แต่ฝ่ายญี่ปุ่นยังไม่มอบตัวคนไทยให้ฝ่ายไทยด้วยต้องการจะสอบสวนต่อ จากนั้นฝ่ายไทยออกไปเยี่ยมคนไทยและพระภิกษุที่ถูกคุมตัวไว้ “ทหานยี่ปุ่นนำกัมกรที่เขาสงสัยว่ามีส่วนสมคบกับผู้ทำร้ายทหานมานั่งยองๆ กันเปนกลุ่มประมานจำนวนไม่ต่ำกว่า 30-40 คน มีทั้งผู้หยิงและเด็ก ตลอดจนลูกเด็กเล็กแดงขนาดขวบเสสๆ ก็มี” ฝ่ายไทยขอให้ทหารญี่ปุ่นแก้มัดคนไทยเสีย แต่ทหารญี่ปุ่นเมินเฉยต่อคำขอนั้น (ชาญวิทย์, 2553, 459)

ภายหลังเหตุการณ์สงบลง ทหารญี่ปุ่นจับกุมกรรมกรไทยกว่า 50 คนและพระภิกษุอีก 14 รูป บรรจงบันทึกว่า “ตอนนี้ฉันสังเกตเห็น ร.ต.อ.เล็ก มีน้ำตาคลอ เข้าใจว่า คงสลดไจในเหตุการน์ที่ได้ประสบเห็น เขาจับเอาพระเจ้าที่นับถือของเรามาคุมตัวไว้ ไนลักสนะที่ชวนให้อนาถไจและเห็นคนของเราได้รับบาดเจ็บและซ้ำยังถูกมัดมือและเท้าไห้นอนกลิ้งอยู่ตามพื้นดินหย่างไม่ปรานีซึ่งเปนภาพที่น่าสลดใจยิ่ง” (ชาญวิทย์, 2553, 460)

เรื่องราวที่เปรียบเสมือนน้ำผึ้งหยดเดียวระหว่างไทย-ญี่ปุ่นในช่วงแรกของสงครามที่ลุกลามบานปลายจะเป็นอย่างไร โปรดติดตามต่อได้ในตอนหน้า

กองทัพญี่ปุ่นกำลังโห่ร้องดีใจในชัยชนะ
การขนส่งสินค้าและแรงงานไปก่อสร้างทางรถไฟสายมรณะ