ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 10 - 16 พฤษภาคม 2567 |
---|---|
ผู้เขียน | พาราตีรีตีส |
เผยแพร่ |
สงครามกลางเมืองในเมียนมา (พม่า) เป็นเรื่องที่เพื่อนบ้านอย่างไทยให้ความสนใจมาก ยิ่งนานวัน ยิ่งทวีความหนักหน่วง พอๆ กับเกมการเมืองก็พลิกผันได้ตลอด วันหนึ่งจับมือกัน วันต่อมาพลิกลิ้นย้ายข้างแถมเปิดทางช่วยอีก ทำให้สถานการณ์มีความไม่แน่นอน และคงเป็นภาวะเช่นนี้ไปอีกพักใหญ่
หากเราถอยจากสงครามภายในพม่า มามองภาพใหญ่บนแผนที่โลก พม่าเป็นพื้นที่สำคัญในแถบภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกที่เชื่อมโยงกับจุดสำคัญทางยุทธศาสตร์ที่ชาติมหาอำนาจกำลังสร้างพันธมิตรเพื่อชิงความได้เปรียบ
ทำไม “พม่า” ถึงสำคัญ และสงครามภายในนี้ มีผลต่อความเป็นไปในประเด็นภูมิรัฐศาสตร์อินโด-แปซิฟิกมากแค่ไหน?
พื้นที่ทางภูมิศาสตร์ของพม่า มีปากแม่น้ำอิรวดีเป็นทางออกสู่ทะเลและอยู่บริเวณอ่าวเบงกอล พื้นที่ทางทะเลที่อยู่กึ่งกลางระหว่างมหาสมุทรอินเดียและช่องแคบมะละกาที่เข้าสู่พื้นที่คาบสมุทรอินโดจีน และพื้นที่นี้ อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติอย่างน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ (อย่างแหล่งก๊าซยาดานา) และสัตว์ทะเลหลายชนิด เช่นเดียวกับบนผืนดินพม่าก็มีทรัพยากรธรรมชาติทั้งป่าไม้ แร่ธาตุ อัญมณี
พม่าเปิดต้อนรับประชาคมโลกในช่วงรัฐบาลเต็ง เส่ง ที่ลดความเป็นเผด็จการทหารลง ดึงดูดการลงทุนจากหลายชาติโดยเฉพาะสหรัฐตั้งแต่ปี 2012
แต่ผ่านได้เพียง 9 ปี การรัฐประหาร 2021 นำพม่ากลับสู่การตัดขาดจากประชาคมโลก โดยเฉพาะชาติตะวันตก
โดยที่ยังคงความสัมพันธ์อันดีกับรัสเซียและจีน จัดได้ว่าศีลเสมอกันในเรื่องระบอบอำนาจนิยม
แม้พม่ากลับสู่ระบอบเผด็จการทหารหลังการรัฐประหาร 2021 จีนยังคงขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน โทรคมนาคม และการค้าตามเส้นทางยุทธศาสตร์ หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI)
เช่น การก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกเจาะพยู (Kyaukphyu deep sea port) มูลค่าหลายหมื่นล้านดอลลาร์ในรัฐยะไข่ ไปจนถึงลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่ได้เชื่อมกับโครงข่ายเส้นทางการค้าทั้งตอนเหนือของพม่าและจากไทยในฝั่งอำเภอแม่สอดสู่เมืองเมียวดี เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับจีน
การลงทุนเพื่อสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษระหว่างจีนและพม่า ยังนำผลพวงอีกอย่างคือ การเกิดขึ้นของธุรกิจมืดโดยกลุ่มทุนจีนเทาที่อาศัยพม่าเป็นฐานที่มั่น ตั้งกาสิโน ตลาดมืดและแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ตามพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษบางจุด ซึ่งตั้งอยู่ในรัฐชาติพันธุ์ที่มีกลุ่มอาวุธ และเป็นการสมประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย
กล่าวคือ ทุนจีนเทาได้รับการคุ้มครอง ส่วนกลุ่มติดอาวุธของบรรดาขุนศึกก็ได้ส่วนแบ่งจากธุรกิจผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นเล่าก์ก่ายของกลุ่มโกก้างในรัฐฉาน หรือชเวก๊กโกและเคเคพาร์กของกลุ่มกะเหรี่ยงพุทธในจังหวัดเมียวดี
ธุรกิจสีเทาในพื้นที่ดังกล่าว สร้างกำไรให้กับทุนจีนเทาและขุนศึก ที่แลกมาด้วยผู้ตกเป็นเหยื่อทั้งการถูกล่อลวงมาทำงานจนถึงถูกหลอกให้โอนเงินรวมหลายร้อยล้านบาท
คนที่ได้ประโยชน์ไม่เพียงขุนศึกและทุนจีนที่เป็นเจ้าของ เจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยก็ได้ประโยชน์จากสิ่งผิดกฎหมายนี้ด้วย จน ส.ส.พรรคก้าวไกลนำประเด็นนี้วิจารณ์รัฐบาลและเรียกร้องให้จัดการธุรกิจผิดกฎหมาย รวมทั้งนำตัวเจ้าหน้าที่ฝั่งไทยมารับโทษฐานทำการทุจริต
แม้แต่รัฐบาลจีนเอง ก็กดดันทางการพม่าให้จัดการเพื่อไม่ให้ชาวจีนตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมเหล่านี้
แต่เพราะความสัมพันธ์อันดีกับรัฐบาลทหารพม่าหรือ SAC ทำให้จีนตกเป็นเป้าวิพากษ์วิจารณ์จากฝ่ายต่อต้าน หรือหนักถึงขั้นลอบวางเพลิงโรงงานที่เป็นของชาวจีนในพม่าหลายแห่ง
ต่อมา พม่ายกระดับเป็นสงครามกลางเมือง การค้าพม่าและจีนก็มาถึงจุดที่สะเทือนหนัก ปฏิบัติการ 1027 ของกำลังผสม 3 ทัพ เข้ายึดเมืองเล่าก์ก่าย ทำให้การค้าชายแดนพม่า-จีนต้องชะงัก การสู้รบทวีความเข้มข้นตลอดเส้นทางยุทธศาสตร์การค้า-การลงทุนของจีนในพม่า
สำนักข่าว mizzima รายงานเมื่อ 22 เมษายนที่ผ่านมา โดยระบุ นายพลอาวุโส มิน อ่อง ลาย ของ SAC กล่าวว่า พม่าสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างหนัก หลังเสียเมืองการค้าชายแดนถึง 6 แห่งให้กับฝ่ายต่อต้าน รวมถึงเมืองเมียวดีในช่วงสงกรานต์
แม้ล่าสุด กองกำลังปลดปล่อยชาติกะเหรึ่ยง (KNLA) ต้องถอยออกจากเมียวดีชั่วคราว หลังกองกำลัง KNA ของ พ.อ.ซอ ชิตธู เล่นข้ามขั้วกลับมาอยู่ข้าง SAC และยังช่วยนำทหารพม่ายึดค่ายผาซองของกองพัน 275 คืน เพราะกลัวชเวก๊กโก่และเคเคพาร์กที่เป็นดั่งขุมทองถูกทิ้งบอมบ์ถล่ม
จนถึงตอนนี้ ศึกเมียวดี ยังเร็วไปที่จะพูดได้ว่าจบลงแล้ว และชายแดนฝั่งไทยยังต้องนั่งลุ้นกันต่อ แต่ที่แน่ๆ ไม่ว่าใครจะชนะในสงคราม จีนคือผู้ได้ผลประโยชน์มากที่สุด
จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ทำให้เห็นว่า พม่าสำคัญในมิติยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกทั้งต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียใต้ โดยเฉพาะการเชื่อมเส้นทางไปยังพื้นที่อนุทวีปอินเดีย ด้วยการโยงเขตเศรษฐกิจพิเศษจีน-พม่า ไปสู่ท่าเรือฮัมบันโตตาในศรีลังกา ท่าเรือหมู่เกาะอิหวันฮิปโปลูของมัลดีฟส์ สู่ท่าเรือกวาดาร์ในเขตเศรษฐกิจพิเศษปากีสถาน-จีน
กลายเป็นโครงข่ายอิทธิพลของจีนบนมหาสมุทรอินเดีย
ด้วยพลังทางเศรษฐกิจที่โดดเด่นจนน่าทึ่ง จีนได้สวมบทเสี่ยใจป้ำ ทำข้อตกลงการค้าเสรีและออกตัวเข้าไปลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านการเดินเรือ โทรคมนาคมผ่านโครงข่าย 5 G ของบริษัทยักษ์ใหญ่ชื่อดัง ไปจนถึงระบบจดจำใบหน้าและอุปกรณ์ต่างๆ ที่ผลิตจากบริษัทสัญชาติจีน เกิดเป็นโครงข่ายกล้องวงจรปิดและอินเตอร์เน็ตที่เก็บข้อมูลประชาชนจำนวนมากตั้งแต่กรุงธากา โคลอมโบ อิสลามาบัด
รวมทั้งการสร้างพันธมิตรการเมือง อย่างมัลดีฟส์ โมฮาเหม็ด มุอิซซู จากพรรคสภาประชาชนคว้าเสียงข้างมากในสภา โดยมุอิซซูเคยประกาศว่า หากได้เป็นรัฐบาล เขาจะยุตินโยบาย “อินเดียมาก่อน” และหันใกล้ชิดจีนมากขึ้นแทน นับว่าสถานการณ์แถบมหาสมุทรอินเดียจะเป็นอีกจุดที่ทวีความตึงเครียด
เช่นเดียวกับทะเลจีนใต้ที่ค่อยๆ เพิ่มความเดือดราวกับภาวะ “ต้มกบ” ตามคำกล่าวของ พล.ร.อ.จอห์น อควิลิโน ผู้บัญชาการทัพสหรัฐประจำอินโด-แปซิฟิก
บัดนี้ พื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กำลังจะเป็นสนามหมากล้อมทางภูมิรัฐศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ที่สำคัญ สงครามกลางเมืองในพม่า การปรากฏภาพเรือคอว์เวตต์ 2 ลำจีนที่จอดเทียบท่าฐานทัพเรือเรียมในกัมพูชานานหลายเดือน หรือการมาถึงของกองทัพเรือที่ 7 ของสหรัฐ นำโดยเรือบรรทุกเครื่องบิน ยูเอสเอส ธีโอดอว์ รูสเวลต์ ภายใต้ภารกิจสนับสนุน “ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกที่เปิดกว้างและเสรี” มาแวะเทียบท่าเรือแหลมฉบังให้ลูกเรือได้เที่ยวพัทยาช่วงสั้นๆ
ทั้งหมดเกิดขึ้นในบรรยากาศที่ยังไงๆ สื่อนัยได้ว่า อย่าละสายตากระดานหมากการเมืองแถบนี้เป็นอันขาด
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022