หนังสือ ‘โจ๊ก’ ไม่ลับ เด็ดดอกไม้ สะเทือนถึงดวงดาว

ก่อนจะรับคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน 1 วัน พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ลงนามในหนังสือสำคัญฉบับหนึ่งเรื่อง “ขอคัดค้านการปฏิบัติหน้าที่ของนายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข กรรมการ ป.ป.ช. และขอให้ตรวจสอบพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม”

หนังสือฉบับนั้นมีความยาว 3 หน้าครึ่ง ถูกเผยแพร่เป็นที่รับรู้กันทั่วตั้งแต่วันที่ 17 เมษายนที่ผ่านมา

ต่อมา นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็ให้สัมภาษณ์ว่า ได้รับหนังสือฉบับนั้นแล้ว

เพียงแต่ “นิวัติไชย” ขี่ม้าเลียบค่ายไปพลางๆ ว่า…เป็นคำร้องเท่านั้นเอง มีเป็นประจำอยู่แล้ว

 

เข้าใจว่าในฐานะ “เลขาฯ ป.ป.ช.” คงจะพูดอะไรมากไปกว่านั้นไม่เหมาะ

แต่ในฐานะ “ประชาชนทั่วไป” ที่ได้ยินได้อ่านหนังสือของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล จะเข้าใจได้ในทันทีว่า

1.ห้วงเวลานั้น สายสัมพันธ์ระหว่าง “โจ๊ก” สุรเชษฐ์ กับ “ป้อม” ประวิตร ลึกล้ำไม่ธรรมดา

2.ได้เห็นเครือข่ายสายสัมพันธ์ระหว่าง “3 ป.” กับ “ป.ป.ช.” อันเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ และ

3.ได้เห็นความเป็นมาก่อนจะเป็นกรรมการ ป.ป.ช.ของนายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข กับบทบาทที่โลดแล่นตามที่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์พรรณนาในหนังสือเป็นฉากๆ

ดังเช่น ในระหว่างการสรรหากรรมการ ป.ป.ช.ปี 2562 นั้น ในหนังสือของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์บรรยายไว้ตอนหนึ่งว่า…นายสุชาติได้ขอร้องให้ข้าพเจ้าช่วยเหลือพาเข้าพบ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ช่วยสนับสนุนให้ได้รับการคัดเลือกเป็น “กรรมการ ป.ป.ช.”

กับอีกตอนว่า

“ข้าพเจ้าจึงได้พานายสุชาตินั่งรถไปกับข้าพเจ้าเพื่อเข้าพบ พล.อ.ประวิตร ที่มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดซึ่งตั้งอยู่ในกรมทหารราบที่ 1 รอ.”

กับอีกตอนว่า

“ข้าพเจ้าได้ให้นายสุชาติยืนรออยู่นอกห้อง ส่วนข้าพเจ้าได้เข้าไปรายงานสาเหตุที่นายสุชาติต้องการขอความช่วยเหลือจาก พล.อ.ประวิตร”

เมื่อ พล.อ.ประวิตรให้เข้าพบ

นายสุชาติได้เข้ามายืนในห้อง และรายงานตัว ชื่อ ตำแหน่ง

พล.อ.ประวิตรถามว่า “อยากเป็นกรรมการ ป.ป.ช.หรือ”

นายสุชาติตอบว่า “ครับ ขออนุญาตมารับใช้ท่าน”

พล.อ.ประวิตรพูดตอบว่า “งั้นไปสมัครมา”

(ซึ่งตามที่ทราบ นายสุชาติได้ไปสมัครมาแล้ว)

ปรากฏว่าในวันที่ 30 มกราคม 2563 นายสุชาติได้รับการคัดเลือกให้เป็นกรรมการ ป.ป.ช.จากคณะกรรมการคัดสรร

 

ต่อมา พล.ต.อ.สุรเชษฐ์จึงพานายสุชาติไปพบ พล.อ.ประวิตรที่บ้านพัก ในหมู่บ้านกฤษดานคร 25 แขวงทรายกองดินใต้ เขตคลองสามวา กทม. นายสุชาตินำพวงมาลัยเข้าไปกราบขอบพระคุณพร้อมพูดกับ พล.อ.ประวิตรว่า “สำหรับเรื่องใน ป.ป.ช. พร้อมจะรับใช้ มีอะไรให้ พล.อ.ประวิตรสั่งผ่านมาที่ข้าพเจ้า (สุรเชษฐ์) ได้เลย”

“โจ๊ก” ยังได้แนะนำให้รู้จักกับนายสมบัติ ธรธรรม มือทำงานด้านการไต่สวนคดีสำคัญๆ ของ ป.ป.ช.

แต่มิคาดว่า วันหนึ่ง…

“นายสุชาตินัดพบที่คลับเฮาส์ สโมสรราชพฤกษ์ และแจ้งให้ข้าพเจ้าทราบว่า ถูกร้องเรียนเกี่ยวกับพฤติกรรมและการปฏิบัติหน้าที่หลายเรื่อง เช่น กรณีอัยการจังหวัด ประจำสำนักงานอัยการสูงสุดคนหนึ่ง และกล่าวหาว่า นายสมบัติ ธรธรรม เป็นผู้ทำ ขอให้ข้าพเจ้าจัดการกับนายสมบัติให้หยุด…”

เล่นเอา “โจ๊ก” มึนตึ๊บ

แต่ “โจ๊ก” ก็ช่วยด้วยการสอบถามไปยัง “สมบัติ ธรธรรม” ได้รับคำยืนยันกลับมาว่า ไม่รู้เรื่องรู้ราว ไม่มีเหตุอันใดที่จะต้องไปทำเช่นนั้น

โจ๊กบอกสุชาติก็ไม่เชื่อ ทั้งยังสั่งว่า “พี่ต้องไปจัดการเรื่องนี้ให้ผม อย่าให้มีเรื่องร้องเรียนผมอีก”

เป็นเหตุให้โจ๊กต้องโบกมือลา

กระทั่งธันวาคม 2564 สุชาตินัดโจ๊กที่คลับเฮาส์ ราชพฤกษ์เหมือนเดิม เจรจาเรื่องเดิมๆ จนมีปากเสียงกัน

“สุดท้ายนายสุชาติก็ได้กล่าวอาฆาตข้าพเจ้าขึ้นว่า พี่โจ๊ก อย่ามีเรื่องมาพึ่งผมบ้างก็แล้วกัน”

บาดหมางกันหนักยิ่งขึ้นเมื่อวันหนึ่ง “ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์” ไปยื่นหนังสือร้องเรียนและกล่าวหา “สุชาติ ตระกูลเกษมสุข” เกี่ยวกับคุณสมบัติการเป็นกรรมการ ป.ป.ช. และการใช้อำนาจแทรกแซงสั่งการ

คราวนี้ “นายสุชาติโทรศัพท์มาต่อว่า ข้าพเจ้าอยู่เบื้องหลัง โดยพูดว่าหลังจากนี้ หากมีเรื่องร้องเรียนข้าพเจ้ามาที่ ป.ป.ช.จะไม่ให้การช่วยเหลือใดๆ อีก และยังพูดอีกว่า อย่าให้มีเรื่องกล่าวหาพี่มาถึงผมนะ ผมฟันไม่เลี้ยง”

 

โจ๊กจะรู้ตื้นลึกหนาบางหรือรู้ไส้ใครกี่ขดๆ หรือว่าโจ๊กจะมีจุดประสงค์อะไรในการ “คัดค้าน” การปฏิบัติหน้าที่ของนายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข เกี่ยวกับการพิจารณาหรือวินิจฉัยเรื่องที่โจ๊กถูกกล่าวหา นั่นก็ว่าไป

เนื้อหาในหนังสือของ “โจ๊ก” ได้รับการเผยแพร่ทั่วไทย และถูกตีแผ่ไปทั่วโลก

ที่ “น่าตกใจ” น่าเป็นห่วง น่าวิตก คือ “ป.ป.ช.”!

“มาตรา 236” ของรัฐธรรมนูญ 2560 ระบุว่า ให้ ส.ส. ส.ว. หรือประชาชนทั่วไปมีสิทธิเข้าชื่อกล่าวหา “กรรมการ ป.ป.ช.” ที่กระทำการตามมาตรา 234(1) เช่น มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่ จงใจปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อำนาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง

แต่ถ้าตั้งใจจริงที่จะสู้กับความคดงอทุกประเภท ทุกชนิด ทุกใบหน้า เพื่อประโยชน์สูงสุดเกิดกับประเทศ ทุกคนทุกฝ่ายไม่ควรจะต้องลำบากเข้าชื่อกัน แล้วไปยื่นต่อ “ประธานรัฐสภา” ให้ชักช้า

ประธานรัฐสภา “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” ผู้แม่นยำชี้ทางให้แล้วว่า

“ป.ป.ช.รับเรื่องแล้วส่งไปศาลฎีกาได้เลย”!!

รัฐธรรมนูญ มาตรา 234 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มี “หน้าที่” และ “อำนาจ”

(1) ไต่สวนและมีความเห็น กรณีมีการกล่าวหาว่า ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ หรือผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้ใด… (2) ไต่สวนและวินิจฉัยว่า…

รัฐธรรมนูญ มาตรา 235(1) ถ้าเป็นกรณีฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ให้เสนอเรื่องต่อ “ศาลฎีกา” เพื่อวินิจฉัย

ประธานศาลฎีกาจะตั้ง “คณะผู้ไต่สวนอิสระ” ไต่สวนหาข้อเท็จจริง

มาตรา 237 เมื่อไต่สวนแล้วเสร็จ ถ้าผลว่า “ไม่มีมูล” ก็สั่งยุติเรื่อง จบ

แต่ถ้า “มีมูล” ก็ส่งสำนวนไต่สวนนั้นให้ “อัยการสูงสุด” ฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทันที

จากนี้เป็นต้นไป เป็นหน้าที่ของ “ป.ป.ช.” โดยแท้!?!!!