ปลัดมหาดไทย เปิดโครงการอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน ปี 2567 รุ่นที่ 2 เน้นย้ำ นายอำเภอต้อง “ครองตน ครองคน ครองงาน” มุ่งมั่นสร้างทีมภาคีเครือข่าย

ปลัดมหาดไทย เปิดโครงการอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน ปี 2567 รุ่นที่ 2 เน้นย้ำ นายอำเภอต้อง “ครองตน ครองคน ครองงาน” มุ่งมั่นสร้างทีมภาคีเครือข่ายที่มีใจมุ่งมั่นทำคุณประโยชน์ตอบแทนคุณแผ่นดิน เพื่อทำให้ “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข” อย่างยั่งยืน

วันนี้ (6 พ.ค. 67) เวลา 15.00 น. ที่ห้องประชุม War room ชั้น 2 อาคารศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีเปิดและบรรยายพิเศษ หัวข้อ “ทำไมต้อง CAST” ให้แก่ผู้รับการอบรมตามโครงการอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน ปี 2567 รุ่นที่ 2 โดยได้รับเมตตาจาก พระครูสุภัทรธรรมโฆษิต (พระครูต้น) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร ร่วมรับฟัง โดยมี นายสมชัย เลิศประสิทธพันธ์ รองอธิบดีกรมการปกครอง พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมรับฟัง โดย นายวสันต์ สุภาภา รองอธิบดีกรมที่ดิน นายเธียรชัย ชูกิตติวิบูลย์ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายวิฑูรย์ นวลนุกูล รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายสุรพล เจริญภูมิ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น รศ.วรวรรณ โรจนไพบูลย์ ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย นายอิทธิพงศ์ ตันมณี หัวหน้าผู้ตรวจกรมโยธาธิการและผังเมือง พร้อมด้วยนายอำเภอ และภาคีเครือข่ายของอำเภอที่เข้ารับการอบรมจาก 58 อำเภอ รวม 580 คน ร่วมรับฟังผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกล (Zoom Cloud Meeting) ผ่านการถ่ายทอดไปยังศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชน จำนวน 7 ศูนย์ทั่วประเทศ ได้แก่ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนลำปาง พิษณุโลก อุดรธานี นครราชสีมา อุบลราชธานี สระบุรี และนครศรีธรรมราช

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ขอขอบคุณผู้เข้ารับการอบรมตามโครงการอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน ปี 2567 รุ่นที่ 2 ทุกท่าน ที่พร้อมหน้าพร้อมตาเข้ารับการอบรมด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ และพร้อมนำสิ่งที่ดีกลับไปในการทำหน้าที่ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน” และที่สำคัญต้องขอขอบคุณผู้บริหารกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ที่ยังคงรักษาแนวทางในการทดสอบความเข้าใจกับผู้เป็น “นายกรัฐมนตรีประจำอำเภอ” ทั่วประเทศในการที่จะทำให้ทุกท่านได้ตระหนักถึงภารกิจหน้าที่การเป็นผู้นำในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขของอำเภอ และไม่ลืมตัวตนว่าเราเป็นผู้นำ ที่เป็นเสมือน “Symbolic” ของกระทรวงมหาดไทย เพราะเราเป็นข้าราชการในที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่พี่น้องประชาชนคาดหวังว่าจะได้รับสิ่งที่ดีจากการปฏิบัติหน้าที่ราชการของพวกเรา นายอำเภอต้องระลึกอยู่เสมอว่าเราเป็นจุด “Spotlight” ที่พี่น้องประชาชนทุกภาคส่วนทั้ง 7 ภาคีเครือข่ายให้ความสำคัญ ดังนั้น ทุกท่านจึงต้อง “ครองตน ครองคน ครองงาน” ทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์ที่สุด

“ในฐานะผู้นำในพื้นที่ “การครองตน” ของนายอำเภอ คือการทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับทีม และพี่น้องประชาชน “การครองคน” นายอำเภอต้องเป็นศูนย์รวมความเชื่อความศรัทธา โดยโน้มน้าวใจทีมภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคีเครือข่าย ให้ไปร่วมกันทำสิ่งที่ดีให้กับพี่น้องประชาชน หากเรามีผู้นำที่ดี ทีมงานก็จะดี ซึ่งจะนำไปสู่การทำงานให้สำเร็จได้ “การครองงาน” การบูรณาการคน บูรณาการงาน นำงานทุกงานของทุกกระทรวงมาขับเคลื่อนเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับพี่น้องประชาชน จึงเป็นที่มาของการมาใช้ชีวิตร่วมกันเป็นเวลา 5 วัน 4 คืน ที่ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชน เพื่อให้นายอำเภอได้เลือกคนที่เป็นทีมที่มีจิตสาธารณะ มีจิตใจที่จะตอบแทนบุญคุณบ้านเกิดเมืองนอน และมีจิตใจที่จะทำความดีเพื่อก่อให้เกิดสิ่งที่ดีให้กับพี่น้องประชาชน นั่นคือ “การบำบัดทุกข์บำรุงสุขแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน” ตลอดจนสร้างความคุ้นชินโดยการแสดงตัวให้ทีมได้มีกำลังใจอยากจะร่วมทำงานร่วมกับนายอำเภอ ดังนั้นทุกคำตอบอยู่ที่ตัวท่าน หากเรามีทีมงานและสามารถครองคนได้ งานทุกงานก็จะประสบความสำเร็จ และหากงานสำเร็จคนจะได้รับประโยชน์ ทำให้คนที่ทำงานได้รับความสุขและมีความภาคภูมิใจ” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงต้น

นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวต่ออีกว่า กระทรวงมหาดไทยได้น้อมนำหลักการทรงงานของของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาประยุกต์ใช้แลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อให้นายอำเภอและทีมอำเภอ ได้ตระหนักในการทำงานแบบการบูรณาการ โดยมีเป้าหมาย เพื่อให้เกิดความสำเร็จอย่างยั่งยืนกับพี่น้องประชาชน ซึ่งการทำตามหลักการทรงงานนั้น เป็นกระบวนการของผู้นำนักขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นำการเปลี่ยนแปลงสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (CAST) คือ การบูรณาการสรรพกำลังและภาคีเครือข่าย รวมถึงบูรณาการฟังก์ชันหรือภารกิจงานของทุกภาคส่วน เพื่อเสริมสร้างสิ่งที่ดีงามให้กับพี่น้องประชาชนและตอบโจทย์บำบัดทุกข์บำรุงสุขให้กับพี่น้องประชาชน และความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้ต้องเริ่มจากการรวบรวมสรรพกำลังทั้ง 7 ภาคีเครือข่ายให้ได้ก่อน ซึ่งพระองค์ได้พระราชทานหลักการทรงงานให้สำเร็จอย่างยั่งยืน ตาม 4 กระบวนการ คือ 1) “การร่วมพูดคุย” อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งทุกท่านที่มาร่วมอบรมจึงต้องมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน สร้างความสามัคคีสนิทสนมคุ้นเคย จะส่งผลดีไปยัง 2) “การร่วมกันคิด” ปรึกษาหารือร่วมกันนำเอาศักยภาพและจุดแข็ง จุดอ่อน รวมถึงปัญหาและอุปสรรคในพื้นที่ เพื่อค้นหาแนวทางในการสนับสนุนส่งเสริม และพัฒนา เพื่อ “บำรุงสุข” ก่อให้เกิดประโยชน์ในวงกว้างในพื้นที่ นำไปสู่ 3) “การร่วมลงมือปฏิบัติ” ด้วยการลงพื้นที่ไปทำงานร่วมกับทีม ร่วมแรงร่วมใจกันทำ อันจะก่อให้เกิด 4) “การร่วมรับประโยชน์” ด้วยกัน มีความภูมิใจร่วมกัน เกิดความสุขและความยั่งยืน โดยทุกกระบวนการต้องทำอย่างสม่ำเสมออย่างต่อเนื่อง

“ทีมบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืนของท่านนายอำเภอ ต้องตระหนักว่าท่านเป็นผู้นำคนหนึ่งของอำเภอ เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงของอำเภอ อีกทั้งยังเป็นทีมของท่านผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัดอีกด้วย ดังนั้น “การครองตน ครองคน ครองงาน” จึงมีความสำคัญ ที่จะต้องไปร่วมกับนายอำเภอในการรับใช้พี่น้องประชาชน บำบัดทุกข์บำรุงสุขร่วมกันกับตัวท่านนายอำเภอ โดยอาศัยหลักการทรงงาน ตาม 4 กระบวนการ คือ ร่วมพูดคุย ร่วมคิด ร่วมทำ และร่วมรับประโยชน์ โดยทำอย่างสม่ำเสมออย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นหลักสำคัญที่จะเป็นประโยชน์ที่จะทำให้พวกเรามีความแน่วแน่ มีแนวคิด และมีการทำงานตามหลักการทรงงาน พี่พวกเราทุกคนมีทีมที่มีหัวใจเดียวกันในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชน เพื่อสนองพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีพระราชปณิธานที่มุ่งมั่น แน่วแน่ ในการสืบสาน รักษาและต่อยอด พระราชปณิธานของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ดังพระปฐมบรมราชโองการ เมื่อวันที่ 4 พ.ค. 2562 ความว่า “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” ต่อมาได้พระราชทานพระราชดำรัส เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2563 “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งทั้งหมดมีเป้าหมายอยู่ที่พี่น้องประชาชนและประเทศชาติ โดยเริ่มจากการแก้ไขในสิ่งที่ผิด ซึ่งต้องอาศัยความกล้าของผู้นำในระดับสูงสุดในการไปค้นหาสิ่งที่ผิดและแก้ไขให้เกิดสิ่งที่ดีที่สุดและเกิดความต่อเนื่อง ดังที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทาน “โครงการจิตอาสาพระราชทาน” เราทำความ ดี ด้วยหัวใจ ซึ่งการแก้ไขในสิ่งที่ผิดต้องเริ่มจากที่ตัวเรา” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว

นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ทีมอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน จึงต้องน้อมนำเอาพระราชปณิธาน “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” และ 4 กระบวนการของหลักการทรงงาน ไปสู่การทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายในทุกกระบวนการ เพื่อสนองพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ช่วยกันทำให้สังคมดีขึ้น และทำให้พี่น้องประชาชนมีความสุขอย่างยั่งยืน นำเอาพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นจุดนำทางของจิตใจในการทำสิ่งที่ดี ให้กับถิ่นฐานบ้านเกิดเมืองนอน และที่ปฏิบัติงาน ซึ่งเป็นที่มาของ “ทำไมต้อง CAST” เพราะอยากให้ทุกท่านนำจิตใจที่ดีงาม จิตใจที่อยากเห็นคนอื่นมีความสุข ตอบแทนคุณแผ่นดิน ซึ่งจะเป็นจริงได้ไม่เพียงแค่อยู่ในหัวใจแต่จะต้องร่วมด้วยช่วยกันค้นหาคำตอบ ด้วยการร่วมพูดคุยหารือ ร่วมคิด ร่วมลงมือทำ และร่วมรับประโยชน์ โดยบูรณาการร่วมกับภาคีเครือข่าย ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้เชิญชวนภาคีเครือข่ายมาอย่างต่อเนื่อง มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือร่วมกับภาควิชาการ ภาคศาสนา ภาคประชาสังคม โดยเฉพาะกับผู้นำภาคศาสนา เพื่อขับเคลื่อนตามหลัก “บวร” บ้าน วัด ราชการ ให้เกิดขึ้น

“การมาอยู่ร่วมกัน 5 วัน 4 คืน ที่ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนนี้ จะเป็น “Key Success” แห่งความสำเร็จของนายอำเภอและทีมอำเภอ ขอให้ทุกท่านตักตวงโอกาสให้เต็มที่ นำไปขับเคลื่อนสร้างทีมในระดับอำเภอ ตำบล หมู่บ้าน ให้เกิดขึ้นให้ได้ และร่วมกันแสดงออกถึงการเป็นผู้นำผู้มีความปรารถนาอย่างแรงกล้าในการทำหน้าที่บำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้กับพี่น้องประชาชน เพื่อสนองพระราชปณิธาน “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข” ได้อย่างยั่งยืนให้เกิดขึ้นจริง ตนมั่นใจว่าทีม CAST ของทุกอำเภอจะกลับไปสร้างทีมในทุกระดับให้เกิดขึ้น และส่งผลอย่างมีนัยยะสำคัญต่อความสำเร็จของการ “Change for Good” ให้เกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชน และขอให้นายอำเภอช่วยใช้โอกาสนี้เป็นขั้นต้นในการปลูกต้นรัก คือ “รักประชาชน ประเทศชาติ และพระมหากษัตริย์” ให้เกิดขึ้น และกลับไปทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีประจำอำเภอที่ไม่ยึดติดต่อคัมภีร์หนังสือ แต่จงเป็นทหารเสือของพระราชาผู้สืบสาน รักษา และต่อยอด โดยใช้หลักการทรงงานบนพื้นฐานความปรารถนาอันแรงกล้าในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้พี่น้องประชาชนอย่างยั่งยืน ภายใต้การทำงานเป็นทีมหรือการบูรณาการ ทั้งนี้ ขอให้พวกเราทุกคน ได้มุ่งมั่นตั้งใจนำเอาความรู้เอาสิ่งที่ดีนำไปประยุกต์ใช้ในการทำให้ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข โดยการแก้ไขในสิ่งผิด สืบสานพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในทุกลมหายใจ ความสำเร็จก็จะเกิดขึ้นอย่างยั่งยืน ด้วยศักยภาพของทีมอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย

นายสมชัย เลิศประสิทธิพันธ์ รองอธิบดีกรมการปกครอง กล่าวว่า กรมการปกครองได้จัดทำโครงการอำเภอ บำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน โดยขยายผลการดำเนินการจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 โดยเป็นการเสริมสร้างศักยภาพให้แก่นายอำเภอที่ได้รับการแต่งตั้งใหม่ในการบูรณาการความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ให้มีความรู้ ความเข้าใจในหลักการทรงงานและการพัฒนาประเทศตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อนำมาปรับใช้ในการปฏิบัติราชการ และขยายผลเพื่อ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้แก่พี่น้องประชาชนในพื้นที่ โดยมีกลุ่มเป้าหมายประกอบด้วย นายอำเภอที่ได้รับการแต่งตั้งใหม่ ปลัดอำเภอ ตัวแทนผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตัวแทนกำนันผู้ใหญ่บ้าน ประธานคณะกรรมการพัฒนาสตรีอำเภอ ผู้นำภาคศาสนา ผู้นำภาคประชาชน ผู้นำภาควิชาการ ผู้นำภาคเอกชน และหัวหน้าศูนย์เรียนรู้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต้นแบบ จำนวน 158 อำเภอ อำเภอละ 10 คน รวมทั้งสิ้น 1,580 คน ณ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชน สถาบันการพัฒนาชุมชน กรมการพัฒนาชุมชน 10 ศูนย์ทั่วประเทศ โดยแบ่งการฝึกอบรมออกเป็น 2 รุ่น ซึ่งสำหรับการอบรมครั้งนี้ เป็นรุ่นที่ 2 มีระยะเวลา 5 วัน 4 คืน ระหว่างวันที่ 6 – 10 พ.ค. 67 โดยผู้เข้ารับการอบรมมาจาก 21 จังหวัด 58 อำเภอ รวมทั้งสิ้น 580 คน อบรม ณ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนลำปาง พิษณุโลก อุดรธานี นครราชสีมา อุบลราชธานี สระบุรี และนครศรีธรรมราช