ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 17 - 23 พฤษภาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | ภาพยนตร์ |
ผู้เขียน | นพมาส แววหงส์ |
เผยแพร่ |
Poor Things ซึ่งสร้างจากนวนิยายที่เขียนโดยอลาสแตร์ เกรย์ เมื่อ ค.ศ.1992 เป็นผลงานภาพยนตร์แสนแปลกแหวกแนวสุดพิสดารพันลึกล้ำของยอร์กอส แลนทิมอส (The Favourite, The Lobster)
สุภาพสตรีสาวสวย (เอ็มมา สโตน) ยืนอยู่บนสะพานสูง ทอดสายตาท้อแท้สิ้นหวังสู่ความเวิ้งว้างเบื้องหน้า และตัดสินใจพาตัวเองลอยละลิ่วลงสู่พื้นน้ำเบื้องล่าง
ก่อนจะตัดเรื่องเข้าสู่สตรีคนเดียวกันนั้นในคฤหาสน์และเครื่องแต่งกายสมัยวิกตอเรีย ทำตัวเหมือนเด็กปัญญาอ่อนเดินลากขา ร่ำลาและร้องเรียกหาพ่อผู้กำลังจะออกจากบ้านไปทำงาน
“พ่อ” ของหนูน้อยคือ ดร.ก็อดวิน แบ็กซ์เตอร์ (วิลเลม ดาโฟ) ผู้เป็นอาจารย์สอนวิชากายวิภาคและศัลยกรรมศาสตร์ให้แก่นักศึกษาแพทย์ในมหาวิทยาลัย
เห็นได้ชัดว่า ดร.แบ็กซ์เตอร์ผู้มีแผลเป็นจากรอยเย็บที่ปะติดปะต่อใบหน้าเข้าด้วยกัน ก็เป็นผลิตผลจากการผ่าตัดประกอบร่าง ประมาณเดียวกับ “อมนุษย์” ของแฟรงเกนสไตน์ผู้ชุบชีวิตให้แก่อมนุษย์ที่ประกอบร่างขึ้นมาใหม่
และเขาเป็นผู้มีวิชาความรู้แก่กล้าสามารถในด้านการให้ชีวิตใหม่แก่คนที่ตายไปแล้ว
ดร.แบ็กซ์เตอร์พาลูกศิษย์คนหนึ่งกลับบ้านมาในฐานะผู้ช่วยงานวิจัย ชื่อแม็กซ์ แมคแคนเดิลส์ (เรมี ยูสเซฟ) เพื่อคอยบันทึกพัฒนาการของเด็กสาวในปกครองชื่อ เบลลา (เอ็มมา สโตน)
เบลลาในร่างของหญิงสาว แสดงพฤติกรรมไม่สมวัยต่างๆ นานา เช่น อาละวาดขว้างปาข้าวของ เดินลากขาไปทั่วบ้าน โดยมีสัตว์เลี้ยงเดินตามต้อยๆ และกระโจนเข้าหา “ก็อด” ตามที่เธอเรียกผู้ปกครองของเธอ พร้อมกับซุกตัวนอนกอดเหมือนเด็กน้อยที่โหยหาความอบอุ่นและการปกป้องคุ้มครอง
“ก็อด” ซึ่งเป็นชื่อที่ย่อมาจาก ก็อดวิน จึงเป็นอุปมาถึงพระเจ้า หรือ “ผู้สร้างโลกและสิ่งมีชีวิต” ตามความหมายตรงตัวไปด้วย
เรื่องราวต่อมาเผยให้รู้ว่า “ก็อด” ได้รับร่างไร้ชีวิตของหญิงนิรนามผู้มีทารกใกล้คลอดอยู่ในครรภ์ และเขาชุบชีวิตใหม่ให้โดยการผ่าตัดเอาสมองของทารกเข้าไปใส่ในร่างของหญิงสาว
เบลลาเติบโตด้วยพัฒนาการแบบก้าวกระโดดเข้าสู่วัยสาว และ “ก็อด” ทาบทามแม็กซ์ผู้ดูเหมือนจะหลงรักเธออยู่ ให้แต่งงานด้วย
นั่นคือ บทบาทของสตรีในยุควิกตอเรีย ซึ่งถูกเปลี่ยนมือให้อยู่ใต้อุปการะและการปกป้องคุ้มครองจากบิดาไปสู่สามี
แต่นั่นไม่ใช่ความต้องการของเบลลา
เบลลาต้องการจะได้เห็นโลกและเผชิญชีวิตในโลกกว้างก่อนจะแต่งงาน
เธอจึงถูก “ล่อลวง” ให้หนีตามผู้ชายไป
ชายโฉดคนนั้นคือ ดังแคน เวดเดอร์บัม (มาร์ค รัฟฟาโล) ทนายความไร้ศีลธรรมผู้เป็นเสือผู้หญิง ซึ่งเพียงแต่ปรารถนาจะได้สาวงามไว้เคียงกายเพียงชั่วระยะเวลาสั้นๆ แล้วก็ทิ้งขว้างให้เธอทุกข์ระทมหรือตกระกำลำบากโดยไม่รับผิดชอบ
เมื่อเบลลาออกเดินทางไปสู่โลกกว้างเพื่อค้นหาความต้องการของตัวเอง ความเป็นหนังขาวดำในช่วงต้น ก็แปรสู่โลกที่มีสีสัน ทำให้เราไม่ต้องอยู่กับการเป็นหนังอาร์ตขาว-ดำ ไปตลอดเรื่อง
โทนของหนังซึ่งเป็นคอเมดีอย่างเจ็บแสบ เต็มไปด้วยมุขหลุดโลกและจี้เส้นมากมาย
โดยเฉพาะจาก “ความไร้ยางอาย” ของเบลลาผู้มีอิสระจากการเรียนรู้ความเป็นไปในโลกด้วยสายตาของเด็กไร้เดียงสาที่มองโลกโดยปราศจากกฎเกณฑ์ที่สังคมกำหนดให้ปฏิบัติตาม
พฤติกรรมของเบลลาอันสะท้อนใจจริงและสัญชาตญาณโดยไม่ผ่านการกลั่นกรองของวัฒนธรรม “อันดีงาม” จึงเป็นเรื่องน่าตกใจสำหรับ “สังคมผู้ดี” และผู้ชายที่ต้องการกดขี่ผู้หญิงไว้ภายใต้แอกที่เขาเป็นผู้ขับเคลื่อนและควบคุม
ในแง่นี้ หนังจึงมุ่งประเด็นไปที่ความเป็นอิสระเสรีจากการกดขี่ของสังคมที่ไม่เป็นธรรม
และพาดพิงไปในประเด็นของจริยธรรม ศีลธรรม และปรัชญาด้วย
ไม่ว่าเธอจะเผชิญหน้ากับสถานการณ์ “เลวร้าย” ขนาดไหน เบลลาก็ยังแสดงให้เห็นจิตใจที่ดีงาม เมตตาการุณย์ และมองโลกในแง่ดีต่อความโหดร้ายของโลกและมนุษย์ด้วยกันเอง
ในสังคมสมัยวิกตอเรียซึ่งเป็นโลกของผู้ชาย เบลลายืนหยัดขัดขืนต่อค่านิยมและการประเมินค่าสตรี ด้วยสายตาที่รู้ความเป็นไปในโลกตามสายตาของเด็กไร้เดียงสาที่ก้าวสู่หญิงที่เริ่มเดียงสาต่อความต้องการอย่างจริงใจและทัศนะมุมมองของตนเอง
หนังมีความสมบูรณ์พรั่งพร้อมด้วยองค์ประกอบทางศิลปะในด้านงานออกแบบโปรดักชั่น ทั้งฉาก เครื่องแต่งกาย การเลือกใช้สีและมุมกล้องที่แปรเปลี่ยนไป
นับเป็น “ขนมหวานสำหรับสายตา” (eye candy) ของนักดูหนังอาร์ต
แต่ก็ใช่จะเป็นหนังสำหรับครอบครัว หรือไม่น่าจะเหมาะสำหรับคนดูที่ยังไม่มีวุฒิภาวะพอ เนื่องจากมีการนำเสนอและพูดถึงเรื่องเพศและความต้องการทางเพศอย่างโจ๋งครึ่ม
ถ้าไม่เอ่ยถึงฝีมือการแสดงของเอ็มมา สโตน เสียเลย ก็คงเหมือนกับยังทิ้งช่องโหว่ไว้ไม่เติมให้เต็ม
ค่ะ เอ็มมา สโตน กวาดออสการ์และรางวัลอื่นๆ อีกมากไปจากบทบาทของหญิงสาวที่พัฒนาจากความไร้เดียงสาไปสู่สตรีที่รู้เห็นโลกด้วยดวงตาที่แจ่มแจ้งและเข้าใจความต้องการของตัวเอง
จะเรียกว่าเป็น “พลังสตรี” หรือ “สตรีนิยม” ก็คงได้
แต่พลังสตรีนี้มาพร้อมกับความเห็นอกเห็นใจในเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ซึ่งทำให้ตัวละครที่เธอเล่นนี้มีน้ำหนักและความหมายเพิ่มขึ้นอีก
หนังเรื่องนี้เพิ่งออกสตรีมทางช่อง Disney+ นะคะ เชิญหาดูกันได้… •
POOR THINGS
กำกับ
Yorgos Lanthimos
แสดงนำ
Emma Stone
Mark Ruffalo
Willem Dafoe
Ramy Youssef
ภาพยนตร์ | นพมาส แววหงส์
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022