นักการเมืองที่ดี คือนักการเมืองที่ไม่สั่งสอนประชาชน | คำ ผกา

คำ ผกา

หลังจากที่ผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคก้าวไกลเผยแพร่คลิปที่ไปหาเสียง แล้วเจอชาวบ้านพูดว่า “เงินบ่มา กาบ่ออก”

และคลิปนี้ได้รับการเผยแพร่ไปอย่างกว้างขวางพร้อมข้อถกเถียงเรื่องการซื้อเสียง ขายเสียง

ย้อนกลับไปสัก 20 ปีที่แล้ว หากมีเรื่องนี้เกิดขึ้นอาจเป็นพาดหัวของสื่อ และการวิพากษ์วิจารณ์จากนักคิด นักเขียน ปัญญาชน นักวิจารณ์การเมืองน่าจะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

นั่นคือ มองว่าการเมืองไทยมันแย่ มันสกปรก นักการเมืองซื้อเสียง ชาวบ้านยากจน เห็นแก่เงิน บลา บลา บลา

แต่พอในยุคนี้ หลังจากที่สังคมไทยมีบทเรียนเรื่องวาทกรรม “คนดี” และรู้เท่าทันมากขึ้นว่า วาทกรรมซื้อเสียง ขายเสียงนั้นถูกใช้เป็นเครื่องมือบั่นทอนคุณค่าของประชาธิปไตยเสียงข้างมาก สร้างความชอบธรรมให้กับการทำรัฐประหาร โดยอ้างว่ามาล้างบางนักการเมืองชั่ว

เร็วๆ นี้แม่ของฉันเล่าให้ฟังว่า จะต้องไปฟังผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคหนึ่งมาพูดคุยกับกับชาวบ้าน

และเขาให้ค่ารถ 300 บาท พอถามว่าพรรคไหน ก็เป็นพรรคที่เขาโฆษณาว่าเป็นพรรคที่ไม่มีเงิน ไม่มีนายทุนนั่นแหละ

ซึ่งฉันก็เห็นว่าสมเหตุสมผล พรรคที่ไม่มีทุนหนาก็ให้ค่ารถสามร้อย เพราะพรรคที่อู้ฟู่หน่อย เขาอาจให้ค่ารถถึงหกร้อยบาท

ถามว่านี่เป็นการซื้อเสียงไหม?

ฉันเห็นว่าไม่ใช่การซื้อเสียง แต่เป็นการให้เกียรติว่า ชาวบ้านอุตส่าห์เดินทางมาฟัง เขามีค่าใช้จ่าย เขาต้องเสียเวลาทำมาหากิน นี่คือการดูแลกันแบบปกติมาก

คนเป็นนักการเมือง ทำพรรคการเมือง ทำการเมือง สิ่งแรกที่ต้องแสดงให้เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาชาวบ้านคือ คุณต้องเป็นคนที่ไม่เอาเปรียบใคร ไม่กินแรงใคร

ถ้าคุณขอให้เขาไปฟังความคิด ไปฟังนโยบายของคุณ คุณอยากคุยกับเขา คุณจ่ายค่ารถให้เขา เลี้ยงข้าว เลี้ยงน้ำเขาก็ถูกต้องแล้ว

 

นี่เป็นสิ่งที่คนไทยกลุ่มหนึ่ง โดยเฉพาะกลุ่มชนชั้นกลาง มีการศึกษา ประกอบอาชีพเป็นนักวิชาการ นักเขียน ปัญญาชน และเทคโนแครตต่างๆ ไม่ค่อยเข้าใจ

เพราะมองเรื่องการแลกเปลี่ยนเท่ากับการ “ซื้อและการขาย” โดยไม่จำเป็นต้องมีมิติเรื่องความสัมพันธ์ ผลประโยชน์ต่างตอบแทน ในบริบททางวัฒนธรรม

จึงนำมาสู่การออกกฎหมายประหลาดๆ เช่น ห้าม ส.ส.เอาของไปช่วยคนตอนน้ำท่วม เพราะเกรงว่าจะเป็นให้การให้อามิสสินจ้าง

การออกกฎหมายห้ามซื้อ-ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ห้ามจัดงานสังสันทน์ ห้ามมีรถแห่ ห้ามมีมหรสพ ห้ามไปหมด เพราะมองทุกอย่างเป็นเรื่องการซื้อเสียง ขายเสียง

มองแต่ว่านักการเมืองจ้องจะซื้อเสียง ชาวบ้านก็โง่เหลือเกิน ไม่เคยเคารพตัวเอง จ้องแต่จะขายเสียง

สำนักคิดทางมานุษยวิทยาได้มองเรื่องการซื้อเสียงขายเสียงให้กลมกว่าเดิม โดยมองว่า คนที่คิดว่าการซื้อเสียงขายเสียง ทำได้โดยง่ายแค่เอาเงินไปให้ชาวบ้าน ชาวบ้านก็ไปเลือกคนคนนั้นเป็น ส.ส.เลย เป็นคำอธิบายที่คับแคบ และไม่ผ่านการศึกษาวิจัยในพื้นที่

เพราะหากลงไปดูในรายละเอียดจะเห็นว่า ประชาชนไม่ได้รับเงินสุ่มสี่สุ่มห้า จากคนที่ไม่รู้จัก ไม่ไว้ใจ เพราะไม่แน่ใจว่าจะถูกล่อซื้อ ถูกหักหลังหรือเปล่า

หรือบางครั้งประชาชนก็ไม่รับเงินจากนักการเมืองที่ตัวเอง “ไม่รู้จัก” หรือนักการเมืองที่เป็น “คนนอก”

ดังนั้น การซื้อเสียง นอกจากเงินแล้วยังต้องมีความสัมพันธ์ มีความไว้เนื้อเชื่อใจ ถ้าไม่มีต่อตัว ส.ส. ก็ต้องมีต่อ “หัวคะแนน” ที่เอาเงินมาแจก

ดังนั้น หัวคะแนนจึงต้องเป็นคนที่ประชาชนในพื้นที่นั้น “เชื่อมั่น” เป็น “ผู้กว้างขวาง” หรือในบางสำนวนเราเรียกว่า “ใจถึงพึ่งได้”

เพราะฉะนั้น การซื้อเสียงไม่ใช่แค่ปัญหาชาวบ้านโง่ จน เจ็บ นักการเมืองเลว เงินซื้อได้ทุกอย่าง แต่การซื้อเสียงเป็น “เครื่องมือ” ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในพัฒนาการการเมือง “ไทย”

 

การก่อรูปของ “ทุน” ในภูมิภาคของไทยช่วงทศวรรษที่ 2510s เป็นทุนที่เรียกกันว่าทุนภายนอก ทุนพ่อค้าเชื้อสายจีนที่ต้องอาศัยเส้นสายของข้าราชการในการทำธุรกิจในท้องท้องถิ่น ทั้งธุรกิจสุจริต และธุรกิจที่คาบเกี่ยวกับธุรกิจสีเทา นี่คือจุดเริ่มต้นของสายสัมพันธ์ของพ่อค้ากับข้าราชการ

จนมาถึงทศววรษที่ 2520s ที่นายทุนเหล่านี้เข้มแข็งขึ้นจากที่เคยพึ่งข้าราชการ กลับกลายเป็นข้าราชการ โดยเฉพาะข้าราชการที่เพิ่งถูกย้ายมาใหม่ต้องไปพึ่งพานายทุนในฐานะผู้มีบารมีในท้องถิ่น และมีส่วนช่วยให้ข้าราชการทำงานได้ราบรื่นขึ้น

ความสัมพันธ์พึ่งพาต่างตอบแทนระหว่างข้าราชการกับพ่อค้าท้องถิ่นถูกสถาปนาขึ้นมาในบริบทของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในยุคสองทศวรรษแรกของการมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ขณะเดียวกัน ตัวนายทุนเหล่านี้กลายเป็นตัวกลางที่ชาวบ้านใช้ “ต่อรอง” กับอำนาจของราชการและตัวข้าราชการเอง ในระบบที่เราเรียกว่า “เส้นสาย”

และในจังหวะนี้เองที่พรรคการเมืองต้องการมี “สาขา” ในการสร้างคะแนนนิยมในภูมิภาค

นายทุนเหล่านี้จึงขยับบทบาทเป็นนักการเมือง หรือเป็นผู้สนับสนุนพรรคการเมือง ก่อรูปกลายเป็น “บ้านใหญ่” ในท้องถิ่นต่างๆ ทั่วประเทศไทยในเวลาต่อมา

 

ขยับไปมองการเมืองระดับชาติ ที่ประชาธิปไตยไม่มีเสถียรภาพ เป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ ล้มคว่ำคะมำหงาย ทศวรรษที่ 2520s นั้น ประชาธิปไตยระบบรัฐสภาของเรายังไม่เป็นชิ้นเป็นอัน รัฐบาลเป็นพรรคผสมหลายพรรค ผลักดันนโยบายอะไรที่เป็นชิ้นเป็นอันไม่ได้ สื่อโทรทัศน์วิทยุล้วนแต่อยู่ในการควบคุมของ “ราชการ” (ไม่ใช่รัฐบาลด้วยซ้ำ)

ในการเลือกตั้งแต่ละครั้งชัยชนะของ ส.ส.จึงต้องอาศัยบารมีตัวบุคคล และความเชื่อมั่นไว้วางใจใน “บ้านใหญ่” ผู้กว้างขวางในพื้นที่ แรงจูงใจในการออกมาลงคะแนนเสียงเลือกตั้งจึงไม่ใช่แรงจูงใจเชิงนโยบาย แต่เป็นแรงจูงใจเรื่อง

1. ผู้สมัคร ส.ส. เป็นที่รู้จักดี

2. ความสัมพันธ์ในระบบอุปถัมภ์ต่างตอบแทนระหว่างประชาชนในพื้นที่กับผู้กว้างขวางหรือบ้านใหญ่ที่มีบารมี

3. อามิสสินจ้างในการไปลงคะแนน

หากเข้าใจภาพที่กว้างขึ้นดังที่ได้อธิบายไว้จะเข้าใจว่าการซื้อเสียง ขายสิทธิ์ ไม่ใช่แค่เรื่องนักการเมืองโกง ชาวบ้านโลภ แต่มิติของโครงสร้าง การเมือง เศรษฐกิจ ในบริบทของพัฒนาการประชาธิปไตยไทยในห้วงเวลานั้น

ถามว่า จะแก้ไขปัญหาการซื้อเสียง ขายสิทธิ์ที่ตรงจุดที่สุด ไม่ใช่การใช้อำนาจ กกต.ลงดาบนักการเมือง หรือการเฝ้าประณามชาวบ้านว่าโง่ หรือนั่งฝันว่าเมื่อไหร่จะมีนักการเมืองน้ำดีมากขึ้นกว่าเดิมแล้วไล่นักการเมืองน้ำเสียออกไป

การซื้อเสียง ขายสิทธิ์จะหมดไปเมื่อระบบราชการเล็กลง กระจายอำนาจมากขึ้น เพื่อตัดตอนระบบอุปถัมภ์ระหว่างนายทุนบ้านใหญ่กับ “ข้าราชการ”

สร้างสายสัมพันธ์ระหว่างพรรคการเมืองกับประชาชนผ่านสัมฤทธิผลเชิงนโยบาย จนทำให้ “บ้านใหญ่” เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของพรรคการเมือง และทำการเมืองโดยอิงกับนโยบายพรรคมากกว่าบารมีหรือการสร้างระบบอุปถัมภ์ที่อิงกับบุคคล

 

สิ่งนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในสมัยพรรคไทยรักไทย ผ่านนโยบายกองทุนหมู่บ้าน, สามสิบบาทรักษาทุกโรค, การพักชำระหนี้เกษตรกร ทำให้พรรคไทยรักไทยสามารถชนะการเลือกตั้งโดยไม่มีความจำเป็นต้องลงทุนไปกับการซื้อเสียง เพราะประชาชนพร้อมจะลงคะแนนให้จากสัมฤทธิผลเชิงนโยบาย และนำไปสู่ชัยชนะอย่างถล่มทลายในปี 2548 ที่ได้มาถึง 377 เสียง

และเพราะชัยชนะในครั้งนั้นของพรรคไทยรักไทยมันคุกคามอำนาจของฝ่ายอนุรักษนิยม เพราะในด้านหนึ่ง มันกำลังจะทำให้การซื้อสิทธิ์ขายเสียงหมดความหมาย ประชาชนเข้มแข็ง ประชาธิปไตยเข้มแข็ง สถาบันพรรคการเมืองเข้มแข็ง

สิ่งที่ย้อนแย้งที่สุดคือ “วาทกรรมการซื้อเสียง” และการฉายภาพนักการเมืองโกงกิน ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือขับไล่รัฐบาลที่มาจากล้านเสียงของประชาชน กรุยทางไปสู่การรัฐประหารปี 2549

และไม่น่าเชื่อว่ามันพาเราวนกลับมาที่วาทกรรมการซื้อเสียงอีกครั้งในปี 2566

ไม่น่าเชื่อกว่านั้นคือ คนที่พูดเรื่องซื้อเสียง ขายเสียงในฐานะที่เป็นปัญหาในการเมืองมากที่สุดกลับเป็นพรรคการเมืองที่เราคาดหวังว่าเขาจะหัวก้าวหน้า ไม่เชย ไม่ล้าสมัย

แต่สุดท้ายกลับติดกับดักวาทกรรมของฝ่ายอนุรักษนิยมที่หาเสียงด้วยการอวดอ้างว่า ฉันไม่มีเงิน ฉันไม่ใช่พรรคนายทุน ฉันไม่ใช่พรรคบ้านใหญ่ ฉันมีแต่หัวใจและอุดมการณ์อันเด็ดเดี่ยว

ย้ำอีกครั้งการซื้อเสียง ขายสิทธิ์ไม่ใช่เรื่องที่เราอยากจะส่งเสริมแน่ๆ แต่การแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ต้องไม่ใช่การวนเวียนอยู่ในวาทกรรม “คนดี นักการเมืองใจซื่อ มือสะอาด” แต่คือการที่เรามีรัฐบาลที่แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและการคอร์รัปชั่น ฉ้อฉลในระบบราชการ มีนโยบายที่ทรงพลัง ทำได้จริง

ปัญหาการซื้อเสียงไม่อาจแก้ได้ด้วยการมองว่าชาวบ้านเห็นแก่เงินแล้วเที่ยวไปสั่งสอนเขาว่าอย่าทำ

เขาไม่เอาน้ำสาดไล่อกจากบ้านก็บุญแล้ว