‘ดร.ลลิตา’ แนะการบ้านรัฐบาล จะรักษา ‘ผลประโยชน์ชาติ’ อย่างไร? เมื่อ ‘ชายแดนพม่า’ ไม่เหมือนเดิม

หมายเหตุ “ผศ.ดร.ลลิตา หาญวงษ์” อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องประวัติศาสตร์การเมืองเมียนมาร่วมสมัย ให้สัมภาษณ์รายการ The Politics ทางช่องยูทูบมติชนทีวี ถึงสถานการณ์การสู้รบในเมียนมา และวิเคราะห์ท่าทีล่าสุดของรัฐบาลไทยต่อกรณีดังกล่าว

 

ในภาษาพม่า ทหารที่แปรพักตร์หรือทหารที่คอยส่งข้อมูลให้กับฝ่ายตรงข้าม เขาเรียก “ทหารแตงโม” เพราะพรรคเอ็นแอลดี (พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยที่นำโดย “ออง ซาน ซูจี”) สัญลักษณ์เขา “สีแดง” อันนี้ เรารู้มาจากคนพม่า รู้มาจากฝ่ายต่อต้าน (รัฐบาลทหาร) ทหารแตงโมเยอะมาก

ดังนั้น มันไม่มีหรอกสิ่งที่เรียกว่าความปลอดภัย หรือคนของตัวเองแล้วจะไม่ทรยศ บางที ใจของคนมันซับซ้อนกว่านั้น คือตอนนี้ ทหารจำนวนมากในกองทัพ (พม่า) เขาก็ไม่อยากจะสู้แล้ว เพราะเขารู้สึกว่า เฮ้ย! ลงเถอะ แต่มันจะเป็นทางลงแบบค่อนข้างที่จะ “ชัน” นิดนึง คือลงไม่เป็น แล้วก็เกิดมาไม่เคยลง ไม่รู้ว่าทางลงจะนำไปสู่อะไร?

ก็นำมาสู่ความรู้สึกไม่ปลอดภัย เขาก็ต้องชัวร์ว่าลงแล้วเขาจะปลอดภัย ลงแล้วทรัพย์สินที่เขามีอยู่มันจะไม่อันตรธานหายไป ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ เพราะหนึ่งในสิ่งที่เอ็นยูจี (รัฐบาลพลัดถิ่นฝ่ายประชาธิปไตย) ประกาศชัดเลยก็คือ เขาจะดำเนินคดี “มิน อ่อง ลาย” เขาจะจัดการกับอาชญากรสงครามกลุ่มนี้ เขาพูดไปถึงนูเรมเบิร์ก (การพิจารณาคดีผู้นำนาซี)

ดีลน่ะมีได้ แต่ดีลในพม่าไม่ใช่ “ซอฟต์แลนดิ้ง” แบบประเทศไทยแน่นอน เพราะมันไม่เคยเกิดขึ้น…

เมียวดีเป็นตัวกระตุ้นเตือนให้กับรัฐบาลไทยแล้วว่า เราจะ “ช้า” กว่านี้ไม่ได้ คือหมายความว่าการเจรจาเราควรจะลืมเอสเอซี (รัฐบาลทหารพม่า) ไปแล้ว

“ลืม” ในที่นี้ ไม่ได้บอกว่าเอสเอซีไม่ใช่ตัวแสดงนะ คือเขายังเป็นตัวแสดงในกรณีของพม่า/เมียนมาอยู่ แต่สำหรับไทย ไม่ช้าก็เร็ว ชายแดนทั้งหมดของเรามันจะไม่มีพื้นที่อยู่ติดกับ “พม่าแท้” เลย มันจะไม่มีพื้นที่อยู่ติดกับเนปิดอว์

พื้นที่ที่ยาวที่สุดจะอยู่ติดกับฉาน แต่ฉานเข้าออกยาก เพราะเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อนเสียเป็นส่วนใหญ่ (ชายแดนตรง) แม่ฮ่องสอน ก็เป็นเทือกเขาอีก ที่สะดวกโยธินที่สุด คือแม่น้ำเมยที่ข้ามไปมาง่ายมาก ก็คือฝั่งตาก-รัฐกะเหรี่ยง ลงมาจนถึงสังขละบุรี ราชบุรี ระนองเนี่ย กะเหรี่ยงนะคะ

ดังนั้น “ศูนย์ปฏิบัติการร่วม” ที่รัฐบาลแต่งตั้งเมื่อวันก่อน หมายความว่าเขามาออกแบบโครงสร้างว่าใครจะเป็นคนสั่งการในเรื่องใด? ใครจะเป็นเลขาฯ? (ถือเป็นการเริ่มต้นที่) ดี ทำดีเราต้องชม

แต่ถ้า “ศูนย์ปฏิบัติการร่วม” มันไม่นำมาสู่การเปลี่ยนแปลง หรือเราคิดข้ามช็อตไปว่า ถ้า “พม่าล่ม” อย่างที่หลายคนชอบพูด มันจะอะไรขึ้นกับไทย?

ตอนนี้ ส่วนตัว สิ่งที่เร่งด่วนมากก็คือการมี (การทูต) สองช่องทาง เพื่อพูดคุยกับชนกลุ่มน้อย แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องแสลงใจสำหรับรัฐไทย เพราะที่ผ่านมา เราเข้าหาเอสเอซี (รัฐบาลทหาร) เยอะ

การที่เราจะไปพูดคุยกับชนกลุ่มน้อยอย่างเป็นทางการ มันจะต้องมีคนที่สื่อถึงชนกลุ่มน้อยแล้วว่า ถ้าสมมุติ “รัฐกะเหรี่ยง” เป็นของคนกะเหรี่ยงร้อยเปอร์เซ็นต์ ไทยจะได้รับประโยชน์อะไรจากตรงนี้? เราจะทำให้ชายแดนของเราปลอดภัยอย่างไร? ภายใต้การปกป้องคุ้มครองของรัฐกะเหรี่ยง

เพราะตอนนี้มันไม่ใช่พม่าแล้ว คุณจะไปคุยกับเอสเอซี (รัฐบาลทหารพม่า) คุยได้ แต่ตอนนี้ คุณต้องมองโลกที่มีแต่ความเป็นจริงว่า กะเหรี่ยงกับคะเรนนี คือพื้นที่ที่อยู่ติดกับไทยมากที่สุด

และถ้าสักวันหนึ่ง มันไม่มีคนพม่าอยู่แล้ว กะเหรี่ยงตั้งรัฐบาล คะเรนนีมีรัฐบาล-คณะบริหารของเขาแล้วที่เรียกว่าไออีซี (สภาคณะผู้บริหารชั่วคราว) สักวันหนึ่ง ถ้ากะเหรี่ยงเริ่มสงบ มันก็จะมีกลไกตรงนี้ เคเอ็นยูก็ทำอยู่

ดังนั้น ไทยเราต้องเริ่มเข้าหาคนเหล่านี้มากขึ้น อย่าปล่อยให้ประเทศอื่นเข้ามาแทรกแซง หรืออย่าปล่อยให้เหตุการณ์มันสงบแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ (ก่อน) มันไม่มีทางหรอก

 

ตอนนี้ ถึงเวลาแล้ว ที่เราต้องพูดคุยกับทุกฝ่ายจริงๆ เพื่อที่จะออกแบบว่า เราจะไปมีความสัมพันธ์ที่ดีในเชิงสร้างสรรค์ในทางบวกกับชนกลุ่มน้อยอย่างไร?

เมื่อก่อนเรามี ในยุคก่อนนายกฯ ทักษิณ (ชินวัตร) เรามีกรอบนี้ตลอดเวลา นายพลของไทยเรามีความสัมพันธ์ที่ดีมากๆ กับผู้นำกะเหรี่ยง อย่าง “นายพลโบเมียะ” มาไทยเป็นว่าเล่น คุยกันเป็นว่าเล่น แต่ปัจจุบัน ไม่ได้มีความสัมพันธ์เป็นทางการแบบนี้

[ใครต้องเป็นคนนำกระบวนการนี้? – ผู้ดำเนินรายการ] กระทรวงการต่างประเทศ (ต้องนำ) “ศูนย์ปฏิบัติการร่วม” ที่เขาตั้ง วันนี้ (12 เมษายน) ท่านปานปรีย์ (พหิทธานุกร – รองนายกฯ และ รมว.การต่างประเทศ) ถึงลงไปแม่สอดไง อันนี้ รู้สึกประทับใจที่รัฐบาลไทยซีเรียสกับเรื่องนี้

แต่มันยังไม่พอ คือมันต้องทำอย่างต่อเนื่อง แล้วต้องรวมเอาองค์ความรู้ที่หน่วยงานความมั่นคงทุกแห่งมี กองทัพไทย (บก.สส.) กองทัพบก กองทัพอากาศก็จะเกี่ยวข้อง มี สมช. (สภาความมั่นคงแห่งชาติ) มีหน่วยงานที่ทำงานด้านการข่าว กระทรวงการต่างประเทศ หรือแม้แต่มหาดไทยที่เขาทำเรื่องคนเข้าเมือง เรื่องการศึกษา มันมีความเกี่ยวข้องกันหมด

ดังนั้น “ศูนย์ปฏิบัติการร่วม” ที่นายกฯ แต่งตั้งตอนนี้ มันเป็นความหวังจริงๆ นะ ที่ไม่ใช่เราหวังอย่างเดียว แต่มีคนที่รู้จักกันที่เขาทำเอ็นจีโอหรือองค์การระหว่างประเทศ ที่ถามว่า มันจะเป็นอย่างไรต่อไป? ยูมีความหวังไหมกับท่าทีของรัฐบาลไทยในปัจจุบัน?

เราก็ต้องบอกว่าใจเย็นๆ นี่คือจุดเริ่มต้น แต่เราก็คาดหวังว่ารัฐบาลจะเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้ เพราะนี่ไม่ใช่เราเอาจริงเอาจังเพื่อจะไปช่วยเอสเอซี (รัฐบาลทหารพม่า) หรืออะไร มันคือ “ผลประโยชน์ของชาติ” ของเรา

ถ้าประเทศฝั่งนู้นเขาสงบ คนอพยพก็จะไม่ได้เข้ามาเต็มชายแดนแบบนี้ ธุรกิจผิดกฎหมาย-ยาเสพติด ถ้าเศรษฐกิจฝั่งนั้นดี มันก็เบาบางไปด้วย นี่คือการตรึงชายแดนของเรา

เราอย่าคิดว่า ฝ่ายความมั่นคงอันนี้ทำอย่างนี้ อีกคนหนึ่งไปอีกทางหนึ่ง แต่เรามารวมตัวกันได้ไหม มีคำใหญ่ๆ อยู่ข้างบน ก็คือ “ผลประโยชน์แห่งชาติ” และ “ความมั่นคงตามแนวชายแดน” ทำให้ได้อย่างนี้ ทุกคนแฮปปี้