สุรชาติ บำรุงสุข : 100 ปีสยามเข้าสงครามโลก (5) การสงครามนอกพระราชอาณาเขต

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ย้อนอ่าน 100 ปีสยามเข้าสงครามโลก (4) (3)

“นักรบมโนรัก กิติศักดิ์สกุลวงศ์

เทิดไทยทหารพงษ์ นรเผ่าสหายหาญ

ไว้ชื่อถนอมชาติ วรราชนราบาล

ยอมปลิดอุทิศปราณ สละชีพสนองพลี”

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

คำจารึกอนุสาวรีย์ทหารอาสา สงครามโลกครั้งที่ 1

พระมหาพิชัยยุทธ

ในกระบวนการประกาศสงครามและเตรียมกำลังพลออกราชการสงครามในยุโรป หรือเรียกด้วยถ้อยคำของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกฯ ว่า “ราชการสงครามนอกพระราชอาณาเขต” นั้น ประเด็นสำคัญหนึ่งที่ละเลยไม่กล่าวถึงไม่ได้ก็คือ “พิธีกรรม” ของการประกาศสงคราม

เพราะพิธีนี้จะเป็นดังการ “สื่อสารทางการเมือง” ของราชสำนักสยามด้วย

ดังได้กล่าวแล้วว่า การลงพระปรมาภิไธยประกาศสงครามนั้นเกิดขึ้นในเวลาเที่ยงคืนของวันที่ 21 ต่อ 22 กรกฎาคม 2460 ดังนั้น จากช่วงระยะเวลาดังกล่าวจนถึงเช้าวันรุ่งขึ้นจึงเป็นดัง “ชั่วโมงวิกฤต” ที่จะต้องระมัดระวังปัญหาที่อาจจะเกิดจากฝ่ายเยอรมนีและฝ่ายนิยมเยอรมนีในสยามที่จะก่อเหตุบางอย่างขึ้นหรือไม่

แต่แล้วในที่สุดทุกอย่างก็ผ่านไปได้ด้วยดี ทรงรับรายงานว่า “เป็นไปตามแผนการทั้งสิ้น” จวบจนรุ่งเช้า

เช้าตรู่ของวันที่ 22 กรกฎาคม จึงดูจะเป็นช่วงเวลาของความโล่งใจ

รัชกาลที่ 6 มีพระบรมราชโองการให้จัดขบวนเสด็จพยุหยาตราไปยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพราะถือว่าวันนี้เป็นวัน “มหามงคล” ในรัชสมัยของพระองค์

ครั้นถึงเวลาพระฤกษ์ 07.00 น. พระองค์จึงเสด็จลงจากพระที่นั่งชั้นบนในฉลองพระองค์ชุด “พระมหาพิชัยยุทธ” อันเป็นเครื่องทรงในประวัติศาสตร์ตามราชประเพณี การฉลองพระองค์เช่นนี้เพื่อทรงแสดงออกให้เห็นถึงเจตนาอันแรงกล้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งฉลองพระองค์ชุดนี้เป็นดังพระมหากษัตริย์โบราณในการออกศึกสงคราม

และในการนี้ก็ยังทรงถือพระแสงดาบคาบค่ายขององค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช โดยถือว่าพระแสงดังกล่าวเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ขององค์พระมหากษัตริย์โบราณที่จะช่วยปกป้องคุ้มครองจากภยันตรายต่างๆ

และที่สำคัญ พระองค์มีพระราชประสงค์ให้ฉลองพระองค์ดังกล่าวเป็นสัญลักษณ์ของความศักดิ์สิทธิ์ในวาระอันสำคัญของสยามครั้งนี้

และที่สำคัญเป็นดังการบ่งบอกถึงการเป็น “วีรกษัตริย์” หรือ “พระมหากษัตริย์นักรบ” ของพระองค์อีกด้วย

ฉลองพระองค์ของพระมหากษัตริย์ในวาระพิเศษเป็นเรื่องที่ต้องสนใจ ดังนั้น การจงใจที่จะใส่ชุด “พระมหาพิชัยยุทธ” ถือว่าเป็นความตั้งใจที่จะส่งสัญญาณทางการเมืองถึงความตั้งใจของพระองค์ และยังน่าจะตีความได้อีกด้วยว่า ความตั้งใจที่จะแต่งชุดนี้ก็เพื่อให้เป็น “ภาพประวัติศาสตร์”

ฉลองพระองค์พระมหาพิชัยยุทธประกอบด้วย “พระภูษาม่วงไหมสีแดงเลือดนก ทรงนุ่งโจงกระเบนแบบไทยเดิม ฉลองพระองค์แพรสีแดงเช่นเดียวกันแบบผ่าอกครึ่ง กลัดกระดุมโลหะห้าเม็ด คอตั้งแบบราชการ มีจีบรอบไหล่เล็กน้อย แขนยาวแบบราชการพับปลายข้อมือ ชายฉลองพระองค์นี้ยาวคลุมลงมาเหนือพระชงฆ์เล็กน้อย มีผ้าคาดฉลองพระองค์ ผูกห้อยชายไว้ข้างซ้าย ถุงพระบาทและฉลองพระบาทสีแดงทั้งชุด เครื่องราชอิสริยาภรณ์ย่อมทรงพระสังวาลย์นพรัตนราชวราภรณ์ พระแสงดาบคาบค่าย ทรงทัดใบสนที่พระกรรณเบื้องซ้าย ทรงถือใบยอพระหัตถ์เบื้องขวา แต่ไม่ทรงพระมาลา” (โอภาส เสวิกุล, ไทยกับสงครามโลกครั้งที่ 1, 2511)

อย่างไรก็ตาม น่าสนใจอย่างมากว่า พระองค์ทรงได้โปรดเกล้าฯ ให้เตรียมทำฉลองพระองค์ชุดนี้ไว้ล่วงหน้าเป็นพิเศษ

ซึ่งก็เท่ากับเป็นคำตอบที่พอจะกล่าวได้ว่าพระองค์ได้ทรงเตรียมการประกาศสงครามไว้ก่อนแล้วล่วงหน้า

ตลอดรวมทั้งได้ทรงเตรียมฉลองพระองค์ชุดนี้ไว้ล่วงหน้าเช่นกัน เพราะจะต้องใช้เพื่อให้เกิดการสื่อสารทางการเมืองถึงการตัดสินพระทัยครั้งสำคัญของพระองค์

เนื่องจากเหตุการณ์เช่นนี้ก็ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง จนต้องถือว่าวันนี้เป็นหนึ่งในวันสำคัญของประวัติศาสตร์สยามสมัยใหม่

ในการทรงฉลองพระองค์พระมหาพิชัยยุทธครั้งนี้ ทรงได้โปรดเกล้าฯ ให้ฉายพระบรมฉายาลักษณ์ไว้ด้วย เป็นผลให้พระบรมฉายาลักษณ์นี้เป็นภาพประวัติศาสตร์ไปโดยปริยาย

และคงจะต้องถือว่ารัชกาลที่ 6 เป็นพระมหากษัตริย์สยามพระองค์แรกที่ฉลองพระองค์ชุดนี้

และเป็นฉลองพระองค์ที่มาพร้อมกับวาระสำคัญคือ สยามประกาศเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 กับฝ่ายสัมพันธมิตร

การเสด็จวัดพระแก้วครั้งนี้ เริ่มมีประชาชนทราบข่าวการประกาศสงครามแล้ว ได้มาคอยเข้าเฝ้าฯ อยู่เป็นจำนวนมาก และยังมีข้าราชการทั้งพลเรือน ทหาร และบรรดาเสือป่ามาคอยเข้าเฝ้าฯ เป็นจำนวนมากเช่นกัน

รัชกาลที่ 6 ได้ทรงอธิษฐานต่อพระแก้วมรกตว่า

“…จงบันดาลให้ชัยชำนะมีแก่ประเทศทั้งปวงซึ่งร่วมกันเป็นสัมพันธมิตรหมู่ใหญ่นั้น โดยฉับพลัน ให้สันติภาพคือความสงบได้กลับคืนมามีในโลกนี้ พร้อมด้วยความมั่งคั่งสมบูรณ์ในประเทศเหล่านั้นและกรุงสยาม…”

สยามพร้อมแล้วที่จะเดินหน้าสู่สนามรบในยุทธบริเวณยุโรป แต่ก็มีระยะเวลาของการเตรียมกำลังอีกระยะหนึ่งเพื่อให้เกิดความพร้อมรบ

ราชการสนาม 2460

เมื่อทุกอย่างพร้อมแล้ว เรือเอ็มไพร์ที่ทำหน้าที่ในการพาทหารอาสาสยามสู่ยุโรป จึงออกเดินทางจากเกาะสีชังในวันที่ 20 มิถุนายน 2461 (ค.ศ.1918) และในวันที่ 23 เรือก็เดินทางถึงสิงคโปร์และแวะพักพร้อมกับการที่คณะนายทหารสยามเข้าเยี่ยมคำนับผู้สำเร็จราชการแผ่นดินและผู้บัญชาการทหารอังกฤษ

ต่อมาในวันที่ 25 เรือออกเดินทางจากสิงคโปร์ไปศรีลังกา เรือเดินทางถึงเมืองโคลัมโบในวันที่ 2 กรกฎาคม และคณะนายทหารสยามเข้าเยี่ยมคำนับผู้บัญชาการทหารอังกฤษ ในวันที่ 4 กรกฎาคม

เรือออกเดินทางต่อมุ่งหน้าสู่คลองสุเอซ และถึงปากคลองสุเอซในวันที่ 18 กรกฎาคม เดินทางต่อสู่เมืองปอร์ตเสดอันเป็นเมืองสำคัญทางยุทธศาสตร์ของอังกฤษในบริเวณดังกล่าว

ที่ปอร์ตเสดนี้นับเป็นครั้งแรกที่ทหารสยามได้พบกับทหารสัมพันธมิตรจากชาติต่างๆ

ต่อมาในวันที่ 22 กรกฎาคม เรือเอ็มไพร์ได้ออกเดินทางเข้าสู่ยุโรป การคมนาคมทางเรือนับจากนี้ต้องถือว่าเป็นจุดอันตรายอย่างยิ่งเพราะเป็นพื้นที่ที่มีปฏิบัติการของเรือดำน้ำเยอรมนีอยู่บ่อยครั้ง

การเดินทางจึงต้องจัดเป็นขบวนเรือใหญ่ มีรายงานว่าขบวนเรือชุดนี้มีถึง 16 ลำ โดยเรือบรรทุกทหารสยามอยู่ตรงกลาง

และในการเดินทางครั้งนี้ทหารสยามได้ทำหน้าที่เป็นพลปืนประจำเรือร่วมกับทหารสัมพันธมิตรอีกด้วย

แม้จะเป็นการเดินทางที่อึดอัดเพราะมีระเบียบเข้มงวดไม่ให้ส่งเสียงดัง ห้ามสูบบุหรี่ และต้องอยู่แต่ในเรือเท่านั้น

ในที่สุดเรือก็เดินทางเข้าสู่จุดหมายปลายทางที่ฝรั่งเศสอย่างปลอดภัย

ในวันที่ 30 กรกฎาคม เรือเดินทางถึงเมืองท่ามาร์กเซย์ และกำลังพลเดินแถวเรียงสี่พร้อมเครื่องสนามพร้อมกับมีแตรวงนำขบวนเข้าสู่ที่พัก และในวันที่ 31 กรกฎาคม

พระองค์เจ้าจรูญศักดิ์กฤดากร ทูตไทยประจำฝรั่งเศสได้ทรงตรวจแถวทหารกองเกียรติยศ

ต่อมาในวันที่ 2 สิงหาคม ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 15 ของฝรั่งเศส ซึ่งเป็นหน่วยที่ทหารสยามจะต้องขึ้นการบังคับบัญชาด้วยได้ตรวจพลสวนสนาม หลังจากนั้นกำลังพลในแต่ละส่วนได้ถูกส่งไปฝึกตามสายงานเฉพาะของตน ได้แก่ การฝึกบิน และการฝึกขับและบำรุงรักษายานยนต์

ในการนี้มีการออก “ข้อบังคับพิเศษแสดงหลักการปกครองทหารไปราชการสงครามนอกพระราชอาณาเขต” โดยให้เริ่มใช้ตั้งแต่วันแรกที่ทหารสยามถึงดินแดนของฝรั่งเศสโดยทันที และเลิกใช้เมื่อทหารทั้งหมดกลับมาถึงสยาม

ระเบียบนี้น่าสนใจถึงความใส่ใจทหารว่าถ้าบาดเจ็บจนทำสงครามไม่ได้ ก็ให้ผู้บังคับบัญชาหาทางว่า “ควรจะให้เรียนอะไรต่อไป หรือจะให้เข้าโรงงานอย่างใด”

แต่ถ้าเสียชีวิตก็ให้ “จัดการปลงศพไปตามแบบทหารฝรั่งเศส ไม่ต้องมีพิธีพิเศษ”

แต่ก็ให้หาทางเอากระดูกกลับมาให้ญาติบำเพ็ญกุศลตามประเพณีไทยต่อไป

การเตรียมความพร้อมรบ

เมื่อแยกสายการฝึกตามความชำนาญเฉพาะเหล่าแล้ว ทหารอาสาสยามได้รับการคัดเลือกเป็นศิษย์การบินของฝรั่งเศส 104 นาย แต่สำเร็จการบินได้เพียง 95 นาย

การฝึกบินซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 5 สิงหาคม 2461 และต้องใช้เวลาพอสมควรนั้นจะสิ้นสุดในวันที่ 20 มีนาคม 2462 แต่สงครามโลกครั้งที่ 1 ยุติลงในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2461

จึงเป็นอันว่ากองบินทหารบกสยามไม่มีโอกาสเข้าร่วมรบกับฝ่ายสัมพันธมิตร และโดยที่กองบินนี้ยังไม่มีธงประจำหน่วยของตน รัชกาลที่ 6 จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานธงไชยเฉลิมพล

และมีการมอบธงดังกล่าวแก่กองบินทหารบกสยามที่ฝรั่งเศสในวันที่ 25 มีนาคม 2462

สำหรับกองทหารบกรถยนต์อยู่ในสถานการณ์ที่แตกต่างออกไป ด้วยการที่มีกำลังพลถึง 850 นายจึงถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วนเพื่อทำให้สามารถทำการฝึกได้อย่างทั่วถึง

อย่างไรก็ตาม หนึ่งในประเด็นที่น่าสนใจก็คือ บรรดากำลังพลระดับล่างจากสยามจะรับประทานอาหารอย่างไร เพราะนายสิบและพลทหารหลายๆ นายไม่เคยออกไปใช้ชีวิตในโลกตะวันตกมาก่อน หรืออาจกล่าวได้ว่ากำลังพลหลายนายมาจากต่างจังหวัด

ดังนั้น ในช่วงต้น ฝ่ายฝรั่งเศสพยายามเอาใจด้วยการหุงข้าวให้รับประทาน แต่ผู้บังคับบัญชาของสยามได้ขอให้ค่อยๆ ลดข้าวลง เพื่อให้กำลังพลเหล่านี้คุ้นเคยกับอาหารฝรั่งเศส จนสามารถรับประทานอาหารฝรั่งเศสได้ในที่สุด

ส่วนนายทหารสยามนั้นรับประทานอาหารร่วมกับนายทหารฝรั่งเศส สิ่งเหล่านี้พอเป็นคำตอบที่บอกแก่เราว่าในมิติของเสบียงอาหารนั้น ทหารสยามพร้อมแล้วที่จะใช้ชีวิตในสมรภูมิฝรั่งเศสอย่างทหารฝรั่งเศส

และขณะเดียวกัน ผลจากการฝึกอย่างหนักทั้งในที่ราบ บนภูเขา และในที่ทุรกันดาร ตลอดรวมถึงการบำรุงรักษารถยนต์ในรูปแบบต่างๆ ทำให้การจัดหน่วยยานยนต์ของสยามมีความพร้อมที่จะเข้าสู่แนวรบอย่างแท้จริง

ทหารสยามสอบได้เกือบทุกคน และได้รับประกาศนียบัตรรับรองคุณวุฒิ มีเพียงไม่กี่คนที่สอบตก ซึ่งคนเหล่านี้จะถูกส่งไปทำงานเสมียน งานสูทกรรม หรือเป็นทหารรับใช้

และต่อมาก็ได้รับแจกเครื่องแบบตลอดจนเครื่องสนามเช่นเดียวกับทหารฝรั่งเศส เพราะเครื่องแบบที่นำไปจากสยามนั้นไม่สามารถป้องกันอากาศหนาวได้…

พวกเขาพร้อมแล้วที่จะเข้าร่วมรบกับกองทัพบกฝรั่งเศส ไม่น่าเชื่อว่าเมื่อย้อนกลับไปไม่กี่ปีที่ผ่านมาในปี 2436 (ค.ศ.1893) สยามเกือบจะเข้าสู่สงครามกับฝรั่งเศส แต่ครั้งนี้เรากลับร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับทหารฝรั่งเศส และหลังจากพักและเตรียมตัว ในวันที่ 8 กันยายน 2461 ทหารสยามก็เดินทางเข้าสู่สนามรบ

การจัดกำลังภายใต้การควบคุมทางยุทธการของกรมรถยนต์ที่ 1 ของฝรั่งเศส ทหารสยามจึงจัดเป็นกองพันรถยนต์ และแบ่งออกเป็น 3 กองร้อย แต่ละกองร้อยจะมีนายทหารฝรั่งเศสประจำการ 1 นาย เพื่อทำหน้าที่เป็นล่ามและนายทหารติดต่อ และมีนายสิบฝรั่งเศสมาประจำอยู่ด้วยในยามที่จะต้องออกปฏิบัติการ เพราะทหารสยามไม่มีความคุ้นเคยกับภาษาและภูมิประเทศ

ต่อมาในเดือนตุลาคม 2461 ผู้บัญชาการกองทัพสนามของฝรั่งเศสได้จัดส่งรถมาประจำอยู่ในหน่วยของทหารสยามประมาณ 200 คัน แต่เป็นรถเก่าและเป็นรถที่ใช้ในการสงครามมาแล้ว

รถเหล่านี้ยี่ห้อ “เรโนลต์” ขนาดสองตันครึ่ง ซึ่งสามารถบรรทุกทหารพร้อมอาวุธและเครื่องสนามได้ 20 นาย และรถต้นขบวนของทุกคันมีธงไตรรงค์ปักที่หน้ารถเป็นสัญลักษณ์

คณะผู้บังคับบัญชา

การจัดกำลังทหารอาสาไปราชการสนามในยุโรปครั้งนี้ อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของเสนาธิการทหารบก เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ

และขณะเดียวกัน ท่านยังเป็นผู้ควบคุมทูตทหารพิเศษของสยามที่จัดตั้งขึ้นเพื่อภารกิจนี้อีกด้วย

แต่สำหรับกองกำลังในสนามนั้นขึ้นการบังคับบัญชากับพันเอกพระเฉลิมอากาศ (สุณี สุวรรณประทีป) โดยได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่ง “ผู้บังคับกองทหารซึ่งไปในงานพระราชสงคราม” (ชื่อทางการ)

ขณะเดียวกัน ในเชิงโครงสร้างและภารกิจ กำลังทหารอาสาแยกเป็น 2 ส่วนคือ กองทหารบกยานยนต์ อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของร้อยเอกรามฤทธิรงศ์ (ต๋อย หัสดิเสรี) ซึ่งต่อมาได้รับการเลื่อนยศในสนามเป็นพันตรีหลวงทยานพิฆาต (ทิพย์ เกตุทัต)

ส่วนหมวดพยาบาลนั้นขึ้นอยู่กับกองทหารบกยานยนต์ มีร้อยตรีชุ่ม จิตต์เมตตา เป็นผู้บังคับหมวด

(ข้อมูล : ประวัติกองทหารอาสาซึ่งไปในงานพระราชสงครามข้ามทะเล พระพุทธศักราช 2460-2461-2462 พิมพ์ปี 2463)