สุรชาติ บำรุงสุข : 100 ปี สยามเข้าสงครามโลก (3) การดำเนินการทางยุทธศาสตร์

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ย้อนอ่าน 100 ปี สยามเข้าสงครามโลก ตอนที่  1  2

“เราทั้งหลายได้เข้าข้างฝ่ายผู้กระทำสงคราม เพื่อรักษาความศักดิ์สิทธิ์แห่งธรรมะระหว่างประเทศแล้ว และจะได้ตั้งใจช่วยสัมพันธมิตรผู้กล้าหาญของเราต่อไปจนกว่าจะได้มีความสงบสุขอย่างสมศักดิ์”

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

การตัดสินใจทางยุทธศาสตร์

เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 เกิดขึ้น สยามได้ประกาศนโยบายเป็นกลางในวันที่ 6 สิงหาคม 2457 (ค.ศ.1914) แต่ก็มีข้อสังเกตว่า ด้วยความใกล้ชิดระหว่างพระมหากษัตริย์สยามกับอังกฤษนั้น พระองค์ดูจะมีพระทัยเอนเอียงไปอยู่กับฝ่ายสัมพันธมิตรมากกว่าจะอยู่กับฝ่ายมหาอำนาจกลาง

ดังข้อสังเกตของพระยากัลยาณไมตรี หริอ ดร.ฟรานซิส บี. แซร์ (Dr. Francis B. Sayre) ว่า “ในวันที่ 22 กรกฎาคม ค.ศ.1917 ประเทศไทยได้เข้าทำสงครามกับจักรวรรดิเยอรมนีและพันธมิตร คือ ออสเตรีย-ฮังการี ด้วยเหตุที่มีความเห็นอกเห็นใจต่อฝ่ายสัมพันธมิตรมาก่อนหน้านั้นช้านานแล้ว การประกาศสงครามของประเทศอาจจะกระทำเร็วกว่าที่กล่าว ถ้าหากว่าไม่มีความจำเป็นในเบื้องต้นที่จะรักษาความปลอดภัยในประเทศไว้ก่อน…”

ข้อสังเกตของพระยากัลยาณไมตรีในข้างต้นน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

เพราะเท่ากับเป็นการบ่งชี้ถึงทิศทางที่เป็นจริงของยุทธศาสตร์ของราชสำนักสยาม มีทิศทางในลักษณะของการสนับสนุนฝ่ายสัมพันธมิตรอย่างอังกฤษและฝรั่งเศสมากกว่า

โดยเฉพาะในทางส่วนพระองค์ของรัชกาลที่ 6 นั้น พระองค์เสด็จไปศึกษาที่อังกฤษตั้งแต่พระชนมายุได้ 13 พรรษา และทั้งยังเข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนนายร้อยทหารบกแซนด์เฮิสต์ และบรรจุเข้าประจำการที่กองร้อยทหารราบเบาเดอรัม (The Durham Light Infantry Company) และยังศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ดอีกด้วย

ในอีกมุมหนึ่งอาจต้องประเมินว่า การที่รัชกาลที่ 6 ไม่ตัดสินพระทัยประกาศสงครามในเบื้องต้น ซึ่งเหตุผลสำคัญส่วนหนึ่งเป็นเพราะจะต้องมั่นใจว่ารัฐบาลสยามขณะนั้นสามารถควบคุมสถานการณ์ความมั่นคงภายในได้

ดังที่พระยากัลยาณไมตรีกล่าวว่าการที่ต้องคำนึงถึงปัญหาความมั่นคงภายในเป็นเพราะมี “ชาวต่างด้าวชนชาติศัตรูผู้พำนักในราชอาณาจักรเป็นจำนวนมากหลาย” และที่สำคัญอีกประการก็คือจะต้อง “แสวงหาผู้มาทำหน้าที่แทนชนชาติศัตรูผู้ชำนาญเฉพาะวิชาที่มีความสำคัญและรับราชการอยู่ในประเทศไทย”

ซึ่งประมาณการว่ามีชาวเยอรมันกระจัดกระจายทั้งในพระนครและต่างจังหวัดราว 200 คน

ปัจจัยทั้งสองนี้มีส่วนชะลอการตัดสินใจของรัชกาลที่ 6 โดยตรง

นอกจากนี้ ปัจจัยสำคัญอีกประการก็คือ ดูเหมือนว่าในสถานการณ์ของความขัดแย้งใหญ่ของรัฐมหาอำนาจยุโรปนั้น พระองค์ต้องการความมั่นพระทัยว่าหากสยามตัดสินใจเข้าร่วมสงครามแล้ว สยามจะต้องไม่กลายเป็น “ผู้แพ้”

กล่าวคือ ฝ่ายที่สยามเข้าร่วมรบด้วยนั้นจะต้องไม่กลายเป็น “รัฐผู้แพ้สงคราม”

เพราะหากผลของสงครามเป็นเช่นนั้นแล้ว ก็จะกลายเป็น “หายนะใหญ่” ของประเทศหลังจากการเผชิญกับการคุกคามของรัฐมหาอำนาจเจ้าอาณานิคมมาแล้ว

และขณะเดียวกันก็อาจส่งผลให้สยามตกเป็น “เมืองขึ้น” จากการตัดสินพระทัยในกรณีเช่นนี้ได้

ดังนั้น ก่อนที่สยามจะตัดสินใจประกาศสงครามในเดือนกรกฎาคม 2460 นั้น จุดพลิกผันของสงครามโลกครั้งที่ 1 เกิดขึ้นในวันที่ 2 เมษายน ค.ศ.1917 (พ.ศ.2459 ตามปฏิทินเก่า) ก็คือการประกาศเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรของสหรัฐอเมริกา ด้วยเหตุผลที่เรือดำน้ำเยอรมนีจมเรือโดยสารลูสิตาเนีย

และต้องไม่ลืมว่าในการนี้รัชกาลที่ 6 ได้แปลบทความเป็นภาษาไทย เช่น “การยุทธ์ทางทะเลในเดือนสิงหาคม” และ “กิจการของเรือใต้น้ำเยอรมนี”

การเข้าสู่สงครามของรัฐบาลอเมริกันมีผลต่อการตัดสินใจของรัฐบาลสยามอย่างแน่นอน

เพราะอย่างน้อยก็เป็นปัจจัยระหว่างประเทศที่ทำให้เกิดความมั่นใจแก่รัฐบาลสยามอย่างมีนัยสำคัญ

และในทางประวัติศาสตร์สงครามแล้ว การประกาศสงครามของประธานาธิบดี วูดโร วิลสัน คือเป็น “จุดเปลี่ยน” ของกระแสสงคราม และเป็นการยืนยันว่า โอกาสของเยอรมนีที่จะชนะสงครามเป็นไปได้ยากมากขึ้น

การชะลอการตัดสินใจประกาศสงครามของราชสำนักสยามจึงเป็นดัง “การซื้อเวลา” จนกระทั่งความมั่นใจเกิดขึ้นชัดเจนเมื่อปลายเดือนมิถุนายน 2460 เมื่อรัชกาลที่ 6 ทรงเรียกประชุมลับและมีพระราชวินิจฉัยว่า “สยามจะรักษาความเป็นกลางต่อไปไม่ได้ จำเป็นต้องประกาศสงครามกับประเทศเยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการี” ซึ่งการประชุมลับครั้งนี้ก็คือ การยืนยันว่าสยามพร้อมจะเข้าร่วมสงคราม…

เวลาที่รอคอยมาถึงแล้ว!

ในอีกด้านหนึ่งต้องยกย่องถึงการประเมินสถานการณ์สงครามของสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ในฐานะเสนาธิการของกองทัพบกสยาม

พระองค์ได้ทรงงาน “เสนาธิการกิจ” เพื่อนำเสนอข้อพิจารณาการสงครามให้แก่ผู้บังคับบัญชา (รัชกาลที่ 6) ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากขีดความสามารถด้านการทหารของพระองค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระองค์มีอดีตเป็นนักเรียนนายร้อยรัสเซีย

และอีกส่วนยังเป็นผลมาจากการติดตามข่าวสงครามจากแหล่งข้อมูลในต่างประเทศ

เช่นเดียวกับรัชกาลที่ 6 ที่พระองค์ทรงตรวจสอบสถานการณ์จากแหล่งข่าวในต่างประเทศเพื่อให้เห็นสถานการณ์ที่แท้จริงของการสงคราม

และที่สำคัญก็คือรัชกาลที่ 6 ทรงเป็น “ศิษย์เก่าอังกฤษ” และเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกฯ ก็ทรงเป็น “ศิษย์เก่ารัสเซีย”

ซึ่งปัจจัยของความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับฝ่ายสัมพันธมิตรเช่นนี้เป็นสิ่งที่ละเลยไม่ได้ในกระบวนการกำหนดนโยบายทางยุทธศาสตร์ของสยาม และเป็นนโยบายในภาวะสงครามด้วย

ความคาดหวังทางยุทธศาสตร์

การดำเนินนโยบายต่างประเทศของรัฐใหญ่หรือรัฐเล็กก็แล้วแต่ จะต้องมีความคาดหวังว่านโยบายที่จัดทำขึ้นนั้นจะนำมาซึ่งผลตอบแทนที่รัฐปรารถนา

หรืออีกนัยหนึ่งก็คือนโยบายได้รับการจัดทำขึ้นเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่รัฐต้องการ

ซึ่งในบริบทของกระบวนการตัดสินใจที่จะพาสยามเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 1 นั้น จะเห็นได้ถึงความคาดหวัง (หรือวัตถุประสงค์) ของราชสำนักสยาม กล่าวคือ แม้สยามจะไม่ได้ถูกรัฐมหาอำนาจตะวันตกบุกเข้ายึดครองเป็นอาณานิคม แต่ปัญหาที่ดำรงอยู่ตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 หรือในสมัยที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์แล้วก็คือ ปัญหาสนธิสัญญาที่ผู้ปกครองสยามแต่เดิมได้ทำไว้กับชาติมหาอำนาจต่างๆ

โดยมีจุดเริ่มต้นจากสนธิสัญญาเบาว์ริ่งในปี 2398 (The Bowring Treaty, 1855) อันเป็นความตกลงระหว่างรัฐบาลสยามกับอังกฤษ และสนธิสัญญาฉบับนี้ในเวลาต่อมาได้เป็นแม่แบบให้กับการทำสนธิสัญญาของประเทศตะวันตกอื่นๆ รวมทั้งญี่ปุ่นด้วย

สาระสำคัญของสนธิสัญญาเช่นนี้ก็คือ การจำกัดอำนาจตุลาการ ซึ่งนำไปสู่ปัญหาสิทธิสภาพนอกอาณาเขต

และแต่เดิมสิทธิเช่นนี้ใช้กับชาวตะวันตกในฐานะบุคคลของรัฐผู้ลงนามความตกลงดังกล่าว แต่ต่อมาก็ขยายไปสู่ “คนในบังคับ” หรือจะเรียกว่า “คนในอารักขา” ของประเทศดังกล่าว

ซึ่งคนเหล่านั้นเป็นชาวเอเชียไม่ต่างจากชาวสยาม

ดังนั้น นับจากรัชสมัยรัชกาลที่ 5 พระองค์จึงทรงพยายามอย่างมากในการแก้ไขปัญหานี้ ได้แก่ การว่าจ้างชาวยุโรปมาดำเนินการแก้ไขตัวบทกฎหมายของสยาม

การปฏิรูปทางการศาลเพื่อเป็นหลักประกันของความยุติธรรม

ซึ่งทั้งหมดนี้ก็คือการสร้างให้ระบบยุติธรรมของสยามมีความมาตรฐานในแบบระบบกฎหมายสมัยใหม่ของอารยประเทศ

ฉะนั้น หากรัฐตะวันตกยอมรับถึงความเป็นมาตรฐานเช่นนี้ก็จะเป็นหนทางของการแก้ไขปัญหาสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ทิศทางจากรัชสมัยของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงที่ชัดเจนก็คือ สร้างความเป็นมาตรฐานของระบบกฎหมายไทยให้เป็นที่ยอมรับของสากล

พระองค์ตระหนักดีว่า ถ้ากฎหมายไม่เป็นที่ยอมรับของสากลแล้ว โอกาสที่จะทำให้สยามรัฐเป็นอารยประเทศอย่างทัดเทียมกับตะวันตกจะเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย

หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ กฎหมายไทยต้องเป็นมาตรฐานเดียว คือ “มาตรฐานตะวันตก”

สยามไม่อยู่ในฐานะที่จะใช้กฎหมายแล้วอธิบายว่าเป็น “แบบไทยๆ” เพราะการยอมรับจากประชาคมระหว่างประเทศไม่ว่าในอดีตหรือปัจจุบันไม่ได้แตกต่างกัน ถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อสถานะของประเทศ… ต่อเกียรติภูมิของประเทศ และการยอมรับเช่นนี้ก็คือการยอมรับว่าสยามมีสถานะเป็นรัฐสมัยใหม่

ในอีกด้านหนึ่ง ปัญหาที่ตกค้างจากสนธิสัญญา 2398 ก็คือ สิทธิในการเก็บภาษีอากร ซึ่งถูกจำกัดเป็นอัตราคงที่คือร้อยละ 3 เท่านั้น

แต่การจะแก้ปัญหาตกทอดทั้ง 2 ประการได้จะต้องมีทั้ง “เงื่อนไข” และ “โอกาส” ที่จะเปิดช่องให้กษัตริย์สยามทรงสามารถจัดการปัญหาดังกล่าวได้จริง

เมื่อเป็นเช่นนี้สยามจะต้องใช้ “วิกฤต” ของปัญหาสงครามโลกครั้งที่ 1 ให้เป็น “โอกาส”

ซึ่งผลจากการวิเคราะห์สถานการณ์ไม่ว่าจะเป็นส่วนของพระองค์เอง หรือจากส่วนของเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกฯ มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน คือ ฝ่ายสัมพันธมิตรน่าจะเป็นผู้ชนะ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อทำเนียบขาวตัดสินใจประกาศสงครามกับเยอรมนีในเดือนเมษายน 2460 (นับตามปีปฏิทินสากล) แล้ว ก็ยิ่งสร้างความมั่นใจให้กับราชสำนักสยามโดยตรงว่า แนวโน้มการสงครามน่าจะเป็นไปในทิศทางแห่งชัยชนะของฝ่ายอังกฤษและฝรั่งเศส

และทิศทางเช่นนี้ถูกตอกย้ำในช่วงปลายปีดังกล่าวเมื่อสหรัฐประกาศสงครามกับออสเตรีย-ฮังการีในวันที่ 7 ธันวาคม 2460

การเข้าสู่สงครามของสหรัฐไม่เพียงจะเป็นกำลังใจสำคัญกับฝ่ายสัมพันธมิตรเท่านั้น หากแต่พลังอำนาจของสหรัฐทำให้เห็นชัดว่าโอกาสที่ฝ่ายของเยอรมนีจะเป็นผู้ชนะนั้น แทบจะเป็นไปไม่ได้แล้ว

ดังนั้น ถ้าฝ่ายสัมพันธมิตรชนะ สยามก็จะชนะด้วย และก็จะหลุดจากพันธกรณีกับประเทศที่แพ้สงครามโดยอัตโนมัติ ไม่จำเป็นต้องเปิดการเจรจาแต่อย่างใด

จะเหลือข้อผูกมัดอยู่กับประเทศมหาอำนาจที่ชนะสงครามเท่านั้น แต่สยามก็จะใช้โอกาสของการเป็นรัฐที่ชนะสงครามเช่นนี้เป็นช่องทางของการเจรจา เพื่อปลดพันธนาการจากสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมให้ได้ทั้งหมดในช่วงหลังสงคราม

การควบคุมข้าศึกและยึดทรัพย์สิน

หลังจากการประกาศสงครามอย่างเป็นทางการกับฝ่ายมหาอำนาจกลางของยุโรปแล้ว รัฐบาลสยามได้ประกาศตัดสัมพันธไมตรีกับรัฐบาลเยอรมนี และออสเตรีย-ฮังการี และทั้งยังเข้าควบคุมบุคคลของชาติทั้งสองในสยามให้มีสถานะเป็น “เชลยศึก”

การตัดสินใจเช่นนี้ต้องยอมรับว่าเป็น “ความยุ่งยากใจ” พอสมควร เพราะผู้คนในสยามเองไม่ได้มีความรู้สึกต่อต้านเยอรมนีแต่อย่างใด

ในทางตรงกันข้ามกลับมีความรู้สึกชื่นชมเสียด้วย แต่เมื่อตัดสินใจประกาศสงครามไปแล้ว ทุกอย่างก็เดินหน้าไปตามเงื่อนไขของสงคราม

ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลสยามดำเนินการกับฝ่ายมหาอำนาจกลางหลังจากการประกาศสงครามก็คือ

1) เข้ายึดเรือของเยอรมนีที่จอดอยู่ในน่านน้ำของสยาม ซึ่งเรือที่ถูกยึดนี้มีระวางขับน้ำรวมแล้วประมาณ 18,000 ตัน และสัมพันธมิตรถือว่าเรือข้าศึกที่ถูกยึดนี้เป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐบาลสยาม

แต่รัฐบาลสยามก็ “แสดงน้ำใจ” แก่ฝ่ายสัมพันธมิตร เพราะในช่วงเวลาดังกล่าว ฝ่ายสัมพันธมิตรขาดเรือที่ใช้ในการลำเลียงพลและยุทธปัจจัยอย่างมาก รัฐบาลสยามจึงให้สัมพันธมิตรเช่าเรือเหล่านี้ในอัตราที่ต่ำมากคือตันละ 15 ชิลลิงต่อเดือน

ซึ่งอัตราเช่นว่านี้ถือว่าต่ำจนแทบเสมือนในคำอธิบายของ ดร.ฟรานซิส บี. แซร์ ก็คือ “มอบให้เป็นบรรณาการ” แก่ฝ่ายสัมพันธมิตรนั่นเอง

2) เมื่อประกาศสงครามแล้ว ก็เท่ากับว่าบุคคลสัญชาติเยอรมันและออสเตรีย-ฮังการี เป็น “ชนชาติศัตรู” ไปโดยทันที

รัฐบาลสยามได้บุกเข้าจับกุมบุคคลเหล่านี้และกิจการของชาติเหล่านี้ก็ถูกปิดลงด้วย ซึ่ง ดร.แซร์ อธิบายว่า “เป็นการตัดรอนโดยกะทันหัน ซึ่งโอกาสที่จะวางแผนหรือคบคิดกันในส่วนนั้นของโลก” จึงเป็นอันยุติลง และนอกจากนี้ ยัง “ทำให้เป็นการปลอดภัยสำหรับกำลังทหารของอังกฤษและของฝรั่งเศส…(เพื่อที่) ไปรับภาระที่สำคัญในแนวรบด้านตะวันตก”

3) เชลยศึกชาวเยอรมันที่ถูกจับกุมนั้น รัฐบาลสยามได้ดูแลเป็นอย่างดี และต่อมาสัมพันธมิตรได้ขอให้สยามส่งเชลยศึกเหล่านี้ไปคุมขังที่อินเดีย ซึ่งสยามก็จัดการให้

นอกจากจะควบคุมเชลยศึกแล้ว รัฐบาลสยามยังแสดงท่าทีสนับสนุนฝ่ายสัมพันธมิตรอย่างเต็มที่ และการสนับสนุนที่สำคัญก็คือ การตัดสินใจเตรียมส่งกำลังพลอาสาสมัครชาวสยามเข้าสู่สนามรบในยุโรป ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ทหารสยามออกรบในสมรภูมิตะวันตก

การตัดสินใจเช่นนี้เป็นการเปิดบทบาทใหม่ ทั้งในทางการเมืองและการทูตอย่างมีนัยสำคัญต่ออนาคตของสยามรัฐอย่างแน่นอน!