เกี่ยวกับซิตี้แบงก์ (2)

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

ว่าด้วยธนาคารอเมริกันในไทย คงอยู่มานานกว่าครึ่งศตวรรษ ได้ลดบทบาททางธุรกิจสำคัญลงอย่างเป็นจริงเป็นจัง

เกี่ยวกับ ซิตี้กรุ๊ป (Citi Group) “ธนาคารชั้นนำของโลก ที่ให้บริการแก่ลูกค้ากว่า 200 ล้านราย ในกว่า 160 ประเทศและเขตปกครองทั่วโลก…” ข้อมูลของธนาคารปัจจุบัน อย่างที่อ้างไว้ในตอนที่แล้ว

ธนาคารแห่งนี้ ก่อตั้งมากว่า 2 ศตวรรษ ณ นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เข้ามาเมืองไทยครั้งแรกในยุคสงครามเวียดนาม อยู่มากว่าครึ่งศตวรรษ ขณะนั้นชื่อ First National City Bank

ซึ่งได้เปลี่ยนมาจาก Citi Bank of New York ในช่วงปี 2498 ด้วยการควบรวมกับอีกธนาคาร

เมื่อมาดำเนินการในเมืองไทยสักระยะ (2517) ได้มีการเปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น Citi Bank จากนั้นตามไทม์ไลน์ในปี 2522 First National City Development Finance Corporation (Thailand) จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น Citicorp Finance and Securities (Thailand) Ltd.

จุดเปลี่ยนที่อ้างไว้ (ตอนที่แล้ว) ปี 2527 “แบงก์ได้ซื้อกิจการสาขาประเทศไทยของธนาคารเมอร์แคนไทล์ ธนาคารสัญชาติอังกฤษ และได้ถอนหุ้นออกจากธนาคารหวั่งหลีในเวลาต่อมา”

มีความเชื่อมโยงโดยตรงกับแผนการโดยรวมของ Citi Bank ในระดับโลก

 

ธนาคารเมอร์แคนไทล์ ธนาคารสัญชาติอังกฤษ มีตำนานมาตั้งแต่ยุคอาณานิคม ชื่อเดิมสะท้อนความมีอิทธิพลและการเชื่อมโยงการค้ากับย่านตะวันออกของอาณานิคมอังกฤษ-Mercantile Bank of India, London and China โดยเฉพาะมีบทบาทสำคัญในการออกธนบัตรในฮ่องกงด้วย

ในปี 2502 Mercantile Bank ถูกซื้อกิจการเข้ามาอยู่เครือข่ายธนาคารอาณานิคมอังกฤษอีกแห่ง-Hongkong and Shanghai Banking Corporation (HSBC)

ในช่วงเวลาสหราชอาณาจักร-จีน ลงนามสัญญา (Sino-British Joint Declaration) จะคืนเกาะฮ่องกง (2527) ในปีเดียวกัน ธนาคารอังกฤษจึงปรับยุทธศาสตร์ HSBC ได้ขาย Mercantile Bank ให้กับ Citi Bank เป็นปีเดียวกันเช่นกันเกิดขึ้นที่เมืองไทยข้างต้น ว่าเฉพาะ Mercantile Bank ในไทย มีบทบาทมาตั้งแต่ยุคอาณานิคม แต่หยุดชะงักไปในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อญี่ปุ่นยึดครอง และกลับมาอีกครั้งหลังสงคราม ในฐานะสาขาธนาคารต่างประเทศ

จากนั้นไม่นาน เครือข่ายซิตี้แบงก์ในไทย มีแผนการอย่างชัดเจน เพื่อเข้าสู่ธุรกิจลูกค้ารายย่อย จากสาขาธนาคารเพียงแห่งเดียว

“2529 ธนาคารซิตี้แบงก์ สาขากรุงเทพฯ ได้เริ่มให้บริการธนาคารเพื่อลูกค้ารายย่อยอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน” ขยายสู่ธุรกิจเช่าซื้อด้วย

“2530 ก่อตั้งบริษัท ซิตี้คอร์ป ลิสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ให้บริการสินเชื่อรถยนต์และสินเชื่อเพื่ออุปกรณ์พาณิชย์”

ไทม์ไลน์ทางการระบุไว้

 

ในวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจเปิดฉากในปี 2540 ระบบการเงินไทยมีปัญหา สถาบันการเงินและธนาคารหลายแห่งมีอันเป็นไป ระบบธนาคารพาณิชย์ไทยเปิดช่องครั้งใหญ่ให้ธนาคารต่างชาติเข้ามาอย่างเต็มตัว

ธนาคารจากโลกตะวันตก ได้กลับมาอีกครั้งอย่างคึกคักพอสมควร

สถาบันการเงินอเมริกัน ก็มีความเคลื่อนไหวหลากหลายในช่วงคาบเกี่ยวนั้นเช่นกัน

กรณีนี้ควรอ้างถึง เครือข่าย GE Capital สถาบันการเงินเพื่อรายย่อยแห่งสหรัฐ เข้ามาเมืองไทยตั้งแต่ปี 2537 ดำเนินกิจการหลายอย่าง ตามโอกาสในวิกฤตเปิดกว้างขึ้น รวมทั้งได้เข้าถือหุ้นในธนาคารกรุงศรีอยุธยาระยะหนึ่ง (2550-2556) ด้วย ส่วนซิตี้แบงก์ อยู่เมืองไทยมามาน มีความเคลื่อนไหวอันตื่นเต้นเช่นกัน

เมื่อปลายปี 2540 (พฤศจิกายน) ซิตี้แบงก์ กับธนาคารมหานครร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) เป็นเรื่องฮือฮาในการเริ่มกระบวนการให้ซิตี้แบงก์เข้ามาถือหุ้น 50.1% ในธนาคารมหานคร ซึ่งกำลังเผชิญปัญหาความอยู่รอด

แต่แล้วเมื่อผ่านไปเพียง 3 เดือน (กุมภาพันธ์ 2541) ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศให้ธนาคารมหานครลดทุนเหลือหุ้นละ 1 สตางค์ แล้วทางการเข้าถือหุ้นทั้งหมด เข้ามาควบคุมกิจการเบ็ดเสร็จ

ต่อมาไม่นานธนาคารมหานครถูกควบรวมเข้าไปอยู่ในธนาคารกรุงไทย

เป็นอันทราบกันทันทีว่า ดีลระหว่างซิตี้แบงก์กับธนาคารมหานคร ล้มลงไม่เป็นท่า

 

ธนาคารมหานคร เดิมชื่อธนาคารตันเป่งชุน ก่อตั้งเมื่อปี 2477 เป็นธนาคารเก่าแก่แห่งที่สาม และถือกำเนิดโดยชาวจีนโพ้นทะเลยุคแรกๆ ผ่านการเปลี่ยนแปลงหลายครั้ง โดยเฉพาะเกิดจากปัญหาการบริหารภายใน หลายกรณีไม่เกี่ยวข้องกับภาวะเศรษฐกิจ

การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เกิดขึ้นอีกครั้งในปี 2530 เมื่อเครือข่ายธุรกิจภายใต้ เจริญ สิริวัฒนภักดี เข้ามาถือหุ้นใหญ่ และส่งคนเข้าบริหาร หลายๆ คนในขณะนั้น ดูมีความมั่นใจมากขึ้น เนื่องด้วยธนาคารมหานครได้เข้ามาอยู่ในเครือข่ายธุรกิจใหญ่ไทย กำลังเติบโต ทว่า เมื่อเผชิญวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจปี 2540 กลับเอาตัวไม่รอด

ว่าไปแล้ว ซิตี้แบงก์ในช่วงนั้นดำเนินการค่อนข้างคึกคัก และเป็นไปอย่างต่อเนื่อง เมื่อเทียบเคียงกรณีสถาบันการเงินอเมริกันรายอื่นๆ มักเข้ามาและออกไปอย่างรวดเร็ว ซิตี้แบงก์ให้ความสำคัญทั้งในบทบาทธนาคารและเครือข่าย กับกิจการเกี่ยวข้องกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ด้วยมีกิจการบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ด้วยมานานแล้ว

จากการให้บริการธนาคารเพื่อลูกค้ารายย่อยในปี 2529 ก้าวสู่สินเชื่อบุคคลอย่างเต็มตัวในปี 2548 ดูให้ความสนใจขยายธุรกิจเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในบทบาทสาขาธนาคารต่างประเทศในไทย มีการเปิดสาขาเพิ่มเติม แห่งที่ 2 และ 3 ติดต่อกันในช่วงปี 2554-2555

ขณะได้แยกธุรกิจ บริษัทเงินทุนและหลักทรัพย์ออกจากกัน ตามกระแสและโอกาสในเวลานั้น (ปี 2543) ท่ามกลางปรากฏการณ์ต่อเนื่อง แรงกระเพื่อมต่อจากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ เปิดช่องให้กิจการเครือข่ายธุรกิจต่างประเทศเข้ามามีบทบาทในฐานะนายหน้าซื้อขายหุ้น โดยเฉพาะเครือข่ายธุรกิจในระดับภูมิภาค รวมทั้งธุรกิจอเมริกันบางรายได้เข้ามีบทบาทด้วย

นอกจากซิตี้แบงก์แล้ว ก็มี JP Morgan โดยเข้ามาซื้อกิจการ บริษัทหลักทรัพย์ เจเอฟ ธนาคม ของกรณ์ จาติกวณิช (2544)

ปัจจุบันบริษัทหลักทรัพย์ เจพี มอร์แกน ประเทศไทย (JPM) โบรกเกอร์หมายเลข 4 ถือว่าเป็นนายหน้าค้าหุ้นที่เอาการเอางานรายหนึ่ง

 

ซิตี้แบงก์ดำเนินแผนการเกี่ยวข้องข้างต้น ค่อนข้างช้า จากปี 2549 บริษัทหลักทรัพย์ ซิตี้คอร์ป (ประเทศไทย) จำกัด หรือ CST เปิดธุรกิจนายหน้าค้าหลักทรัพย์ช่วง (sub-brokerage) อีกกว่าทศวรรษ (2562) ถึงได้ใบอนุญาตนายหน้าค้าหุ้นเต็มตัว (full brokerage) ในฐานะโบรกเกอร์หมายเลข 47

ในอีกมิติ มีความหมายว่า ซิตี้แบงก์คงมุ่งมั่นดำเนินธุรกิจในเมืองไทยอย่างจริงจังต่อไป

แต่จากนั้นไม่นาน (ปลายปี 2564) ซิตี้ได้ประกาศแผนการขายธุรกิจธนาคารกลุ่มลูกค้าบุคคล (Consumer Business) ในประเทศไทย “มากกว่า 1 ล้านราย” เป็นข่าวครึกโครมมาช่วงหนึ่ง เมื่อดีลจบลง (มกราคม 2565) เมื่อไม่กี่วันมานี้ ตื่นเต้นอีกครั้ง เมื่อมีการโอนธุรกิจเสร็จสิ้น

เชื่อกันว่า ชื่อซิตี้แบงก์ในสังคมไทยวงกว้างจะจางไป

เรื่องของเรื่อง เป็นแผนการใหญ่กว่าประเทศไทยอย่างที่เคยเป็นมา คงจำกันได้ถึงกระแสข่าวในช่วงนั้น (มกราคม 2565) มีถ้อยแถลงอย่างเป็นทางการ ในประเด็นว่าด้วย Citigroup ปรับยุทธศาสตร์ทางธุรกิจ ประกาศถอนตัวออกจากธุรกิจธนาคารกลุ่มลูกค้าบุคคล (Consumer Banking) ทั้งภูมิภาค ในประเทศไทย อินโดนีเชีย มาเลเชีย และเวียดนาม โดยหันมาให้ความสำคัญกับลูกค้ารายใหญ่ โดยเฉพาะกลุ่มที่เรียกว่า Institutional Clients Group

แต่นั่นเป็นเหตุและผลที่เกิดขึ้น และเป็นไปเมื่อกว่า 2 ปีที่แล้ว ส่วนเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นข้างหน้า ซิตี้แบงก์-ธนาคารอเมริกันเพียงรายเดียวอยู่กับสังคมไทยมามานทีเดียว จะเป็นไปเช่นไร คงต้องติดตามกันต่อไป •

 

วิรัตน์ แสงทองคำ | www.viratts.com