ทางเท้าไร้หัวใจ (จบ)

ชาตรี ประกิตนนทการ

ราวปลายทศวรรษ 2510 กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่เต็มไปด้วยความแออัด มลพิษ การจราจรติดขัด แม่น้ำสกปรก ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการพัฒนาเมืองตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ที่เริ่มต้นขึ้นอย่างจริงจังในช่วงหลัง พ.ศ.2500

ภาครัฐ นักวิชาการทางด้านเมือง และนักอนุรักษ์ทั้งจากหน่วยงานรัฐและเอกชนต่างเห็นพ้องว่าต้องมีการปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ในทุกภาคส่วนเพื่อทำให้กรุงเทพฯ มีสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น สวยงาม สะอาด และปลอดภัย

ส่งผลให้เกิดโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูเมืองมากมายตามมาในต้นทศวรรษ 2520 ที่หลายโครงการยังคงมีผลสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

ภายใต้กระแสดังกล่าว หาบเร่แผงลอยเริ่มกลายเป็นหนึ่งในจำเลยของความเสื่อมโทรมกรุงเทพฯ ที่นำมาซึ่งความสกปรกของพื้นที่สาธารณะและปัญหาด้านสุขอนามัย

ภาครัฐโดยกรุงเทพมหานครเริ่มออกมาตรการในการควบคุมและจัดระเบียบ มีการจัดตั้งเทศกิจเพื่อดูแลรับผิดชอบความสะอาดเรียบร้อยของเมือง เมื่อ พ.ศ.2516 ซึ่งงานหลักประการหนึ่งก็คือดูแลและควบคุมหาบเร่แผงลอย และนับตั้งแต่นั้นมา กทม. และรัฐบาลส่วนกลาง ก็เริ่มออกนโนยายมาโดยลำดับไล่ตั้งแต่การกำหนดขอบเขตการขาย ตีเส้นบนทางเท้าระบุพื้นที่ควบคุม การกำหนดโทษปรับ การห้ามขายในวันพุธ (ต่อมาเปลี่ยนเป็นห้ามขายวันจันทร์)

การออกพระราชบัญญัติความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 ไปจนถึงการกำหนดจุดผ่อนผัน ฯลฯ

(ดูรายละเอียดเพิ่มในบทความ Conflicts over streets : The eviction of Bangkok street vendors โดย Chaitawat Boonjuban และ บทความ ‘หาบเร่แผงลอย’ แหล่งอาหารที่กรุงเทพฯ ‘ทั้งรักทั้งเกลียด’ โดยเพจ Rocket Media Lab)

มาตรการทั้งหมดล้วนตั้งอยู่บนแนวคิดหลักที่มองหาบเร่แผงลอยคือสิ่งผิดและเป็นสาเหตุของความสกปรกไร้ระเบียบของเมืองที่ต้องถูกกำจัดออกไป

เมื่อเวลาผ่านไป แนวคิดก็พัฒนากลายเป็น “มายาคติร่วมของสังคม” ที่ทำให้ผู้คนมองเห็นแต่เพียงเพียงมิติด้านลบเพียงด้านเดียวจนละเลยและมองข้ามบทบาทหน้าที่ทางสังคมและเศรษฐกิจของหาบเร่แผงลอยที่มีต่อคนระดับรากหญ้าซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่เมืองหลายล้านคน

สุดท้าย มายาคตินี้ก็พัฒนาไปจนถึงขึ้นที่มองเห็นทางเท้ามีค่าเท่ากับทางสำหรับไว้เดินเพียงเท่านั้น

 

นโยบายว่าด้วย “จุดผ่อนผัน” ที่อนุโลมให้มีการขายของบนทางเท้าในบางจุดคือสิ่งที่สะท้อนมายาคตินี้ได้ดีที่สุด

แม้ในด้านหนึ่งนโยบายนี้เสมือนว่าเป็นความเห็นอกเห็นใจจนเกิดการ “ผ่อนผัน”

แต่หากพิจารณาให้ดีก็จะเห็นว่า การใช้คำว่า “จุดผ่อนผัน” คือการแสดงความหมายโดยตัวของมันเองว่าสิ่งนี้ยังคงเป็นสิ่งผิด และยืนยันอย่างชัดเจนว่า หาบเร่แผงลอยมิได้เป็นกิจกรรมที่มีสิทธิโดยชอบธรรมบนพื้นที่สาธารณะ การค้าขายที่เกิดขึ้นเป็นเพียงความสงสารจากภาครัฐและยอมอนุโลมให้เป็นบางจุดบางที่เท่านั้น

ด้วยมายาคตินี้จึงไม่แปลกที่เมื่อมีการตัดสินใจออกนโยบายจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยเพื่อขอคืนทางเท้าสำหรับคนเดินเท้าโดย ผู้ว่าฯ กทม. ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร เมื่อ พ.ศ.2557

ตามมาติดๆ ด้วยการใช้ ม.44 โดย คสช. สมัย ผู้ว่าฯ กทม. อัศวิน ขวัญเมือง เมื่อ พ.ศ.2559 ซึ่งนำมาสู่การยกเลิก “จุดผ่อนผัน” เป็นจำนวนมาก

ความเห็นของคนในสังคมเมืองโดยส่วนใหญ่ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเห็นที่ถูกสะท้อนออกมาจาก facebook page เป็นจำนวนมากที่คอยสอดส่องความเป็นระเบียบสวยงามของทางเท้า) จึงออกมาในท่วงทำนองที่ชื่นชมยินดีที่ทางเท้าจะได้สวยงามไม่รกรุงรังอีกต่อไป

และทางเท้าจะได้ถูกคืนกลับมาสู่การเป็นทางที่ใช้สำหรับเดินเพียงอย่างเดียวเสียที

 

จากการศึกษาของ Montouch Maglumtong และ Shigeru Fukushima เรื่อง Controlling Street Vending in a Rapidly Modernizing City : Consequences and Implications of the Policy of Returning Walkways to the Public in Bangkok, Thailand ในปี พ.ศ.2564 พบว่า นโยบายจัดระเบียบระหว่างปี พ.ศ.2557 จนถึง พ.ศ.2561 ได้มีการยกเลิกจุดผ่อนผันจากเดิมที่มี 683 จุด เหลือเพียง 205 จุด

และมีจำนวนหาบเร่แผงลอย ที่ลงทะเบียนอย่างถูกต้องลดลงจาก 20,275 ราย เหลือเพียง 6,069 ราย หรือหายไปมากถึง 70% (ไม่นับรวมหาบเร่แผงลอยที่ไม่ได้ลงทะเบียนอีกมหาศาลซึ่งถูกจัดการอย่างเต็มที่และหายไปจนเกือบหมด)

และจากการศึกษาชิ้นเดียวกันนี้ยังชี้ให้เห็นข้อมูลที่น่าสนใจว่า ผู้ค้าเหล่านี้ (จากสถิติในปี พ.ศ.2557) จำนวน 47.2% มีการศึกษาเพียงระดับประถม และ 32.5% ระดับมัธยม โดยมีอายุเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 40-50 ปี คิดเป็น 53.7% และ 60 ปีขึ้นไป 16.6% โดยส่วนใหญ่มากจากต่างจังหวัด และมาจากอีสานมากสุดในจำนวน 33%

จากข้อมูลทำให้เห็นชัดเลยนะครับว่า นโยบายดังกล่าวสร้างผลกระทบต่อชีวิตของผู้มีสถานะทางเศรษฐกิจต่ำ การศึกษาไม่สูง และมีอายุมาก อย่างมหาศาล

โดยกว่า 70% ของพวกเขาถูกผลักออกจากอาชีพการงานโดยที่เราไม่ทราบแน่ชัดว่าพวกเขาต้องจัดการชีวิตตัวเองอย่างไรต่อจากนั้น

และเราไม่ทราบแม้แต่น้อยเลยว่า การหายไปของหาบเร่แผงลอยมากมายขนาดนั้นได้ส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังค่าครองชีพของผู้มีรายได้น้อยในพื้นที่เมืองขนาดไหนและต้องทำให้พวกเขาประสบปัญหาชีวิตมากเพียงใด

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวิกฤตโควิดที่ผ่านมา

 

ความจริงอันแสนสะเทือนใจที่ถูกซ่อนอยู่ใต้ยอดภูเขาน้ำแข็งเหล่านี้ดำเนินไปอย่างเลือดเย็นภายใต้เสียงโห่ร้องยินดีและปลาบปลื้มของคนชั้นกลางกรุงเทพฯ ที่ได้มองเห็นทางเท้าเรียบโล่งสะอาดตา แม้ทางเท้าหลายแห่งจะกว้างขวางจนเพียงพอสำหรับแบ่งปันใช้สอยในกิจกรรมอื่นได้อีกมาก แต่พวกเขาก็ไม่ยอมแบ่งปันให้ใคร เพราะต่างหิวกระหายทางเท้าสะอาดตาที่ต้องมีไว้สำหรับเดินเท่านั้นอย่างไม่รู้จบ

ควรกล่าวไว้ด้วยว่า ความอยากกระหายทางเท้าที่ต้องมีไว้แค่เดิน ส่วนหนึ่งเป็นผลโดยตรงจากนโยบายการจัดการพื้นที่ทางเท้าที่แย่มากของภาครัฐในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา

ไม่ว่าจะเป็นนโยบายเอาใจรถยนต์ส่วนบุคคลมากจนทำให้ถนนหลายสายถูกขยายกินพื้นที่ทางเท้า

การสร้างสะพานลอยแบบส่งๆ โดยไม่ดูตำแหน่งให้ดีจนหลายที่จุดขึ้นลงคร่อมทางเท้าจนแทบเดินไม่ได้

การสร้างป้อมตำรวจจารจรหลายจุดที่ใหญ่จนเกินพอดีและเบียดจนทางเท้าหายไปทั้งหมด

การออกแบบตำแหน่งเสาไฟฟ้าและป้ายริมถนนต่างๆ ที่เบียดแย่งพื้นที่ทางเท้า ไปจนถึงการทำผิวทางเดินเท้าที่ไร้คุณภาพตำปุ่มตะป่ำเป็นอันตรายต่อคนเดินถนน ฯลฯ

กล่าวให้ชัดก็คือ การบริหารจัดการทางเท้าที่ไม่ได้เรื่องนักของภาครัฐที่ผ่านมาในหลายส่วนต่างหากคือตัวการที่แท้จริงที่ทำให้ปัญหาทางเท้าทวีความรุนแรงมาโดยลำดับ

โดยที่ภาครัฐเองก็ไม่ค่อยย้อนมองปัญหาในส่วนที่เกิดขึ้นจากตนเองเท่าที่ควร แต่กลับเลือกใช้วิธีหาจำเลยมาเป็นตัวแทนในการระบายอารมณ์ของคนเมืองแทนตัวเอง นั่นก็คือ หาบเร่แผงลอย

 

ยํ้าอีกครั้งนะครับว่า หาบเร่แผงลอยหลายกรณีสร้างปัญหาให้เกิดกับทางเท้าแน่ ประเด็นนี้คงไม่มีใครปฏิเสธ แต่ความเป็นจริงที่อยากจะให้ทุกคนยอมรับเช่นกันก็คือ หาบเร่แผงลอยมีบทบาทสำคัญมากทางสังคมและเศรษฐกิจในพื้นที่เมือง เป็นเครื่องมือหนึ่งในการช่วยบรรเทาปัญหาความเหลื่อมล้ำ บรรเทาภาระค่าใช้จ่าย และทำให้คนจนเมืองสามารถมีชีวิตที่ไม่ลำบากมากจนเกินไป

ด้วยการมองเห็นบทบาทและความสำคัญนี้ เราต้องเริ่มต้นด้วยการทำลายมายาคติว่าด้วยหาบเร่แผงลอย และเลิกใช้นโยบาย “จุดผ่อนผัน” อย่างสิ้นเชิง

โดยเปลี่ยนแนวคิดใหม่ มองหาบเร่แผงลอยว่าเป็นหนึ่งในผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholders) บนทางเท้าที่มี “สิทธิ” ในการใช้พื้นที่สาธารณะในเมือง ไม่ต่างจาก “สิทธิ” ในการเดินบนทางเท้า ปั่นจักรยานบนทางเท้า สร้างสะพานลอยบนทางเท้า สร้างป้อมจราจรบนทางเท้า ฯลฯ

จากนั้นก็เริ่มสร้างกระบวนการปรึกษาหารืออย่างเท่าเทียมและจริงใจ มองปัญหาทางเท้าอย่างรอบด้านโดยไม่ยกใครทิ้งออกจากสมการ โดยเฉพาะปัญหาอันเกิดจากภาครัฐที่ใช้ทางเท้าอย่างสิ้นเปลืองและไร้คุณภาพ

ในทัศนะผม มีเพียงการทำลายมายาคติ “ทางเท้ามีไว้แค่เดิน” และ “หาบเร่แผงลอยคือตัวสร้างปัญหาหลักของทางเท้า” ออกไปเท่านั้นที่จะทำให้ปรากฎการณ์ “ทางเท้าไร้หัวใจ” หมดสิ้นไป และเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่สำคัญที่จะทำให้กรุงเทพฯ กลายเป็นเมืองที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างล่างได้อย่างแท้จริง