สรชาติ บำรุงสุข : 100 ปี สยามเข้าสงครามโลก (4) การเตรียมกำลังทางยุทธศาสตร์

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ย้อนอ่าน 100ปี สยามเข้าสงครามโลก ตอน 3  2  1

“ในการที่ใครๆ เขาเห็นเราเป็นชาติเล็กชาติน้อยไม่เสมอหน้าเขาได้ ในคราวนี้เป็นโอกาสอันดีที่เปิดให้แก่เราทั้งหลายที่จะได้แสดงให้เห็นชัด ปรากฏแก่ตาโลกว่ามหาประเทศเขารับเราเท่าประเทศทั้งหลายแล้ว”

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

ราชการสงครามยุโรป

“พระราชสงคราม 2460” หรือการไปราชการสงครามในยุโรปครั้งนี้แตกต่างไปจากการสงครามทุกครั้ง เพราะยุทธบริเวณของการสงครามนั้นอยู่ห่างไกลจากสยามอย่างมาก ทหารอาสาสยามเดินทางเข้าสู่ “แนวรบด้านตะวันตก” ของมหาสงครามยุโรป

การไปราชการสงครามครั้งนี้จึงมีนัยสำคัญอย่างมาก เพราะด้านหนึ่งนั้นเป็นเสมือนกับการเอา “ธงไตรรงค์” ไปโบกสะบัดเหนือสนามรบของสมรภูมิยุโรป… ไม่ใช่พื้นที่การรบที่อยู่ใกล้เคียงกับสยามในสงครามแบบเดิมแต่อย่างใด

ครั้งนี้จึงเป็นครั้งแรกที่กองทหารสยามจะปฏิบัติภารกิจในสมรภูมิ “ไกลบ้าน”

น่าสนใจว่าคำประกาศการเตรียมกำลังของรัชกาลที่ 6 ในครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดทางการเมืองระหว่างประเทศในยุคสมัยของพระองค์ (และในฐานะผู้นำร่วมสมัยกับประธานาธิบดี วูดโร วิลสัน แห่งสหรัฐอเมริกา) ซึ่งจะขอเรียกในทางทฤษฎีว่าเป็น “สำนักคิดแบบศีลธรรมสัจนิยม” (Moral Realism) ที่อิงอยู่กับความเชื่อว่า แม้จะมีความจำเป็นต้องใช้กำลัง การใช้กำลังในกิจการระหว่างประเทศเช่นนี้ก็มีฐานคิดในเรื่องของศีลธรรมรองรับ

หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ อำนาจที่ใช้ในกิจการระหว่างประเทศเป็น “อำนาจกำลังรบควบคู่กับอำนาจทางศีลธรรม”

ไม่ใช่เรื่องของการใช้กำลังในแบบ “brute force” ที่ไม่คำนึงถึงมิติทางศีลธรรม

นอกจากนี้ การเตรียมส่งกำลังเข้าสู่การสงครามครั้งนี้ก็มีนัยถึงกระบวนการสร้างรัฐสมัยใหม่ของสยามให้มีสถานะเทียบเท่ากับรัฐสมัยใหม่อื่นๆ ในยุโรป

อันเนื่องจากการกำเนิดของความเป็น “สยามรัฐ” นั้นต้องถือว่าเป็นเรื่องใหม่ และเป็นปรากฏการณ์ที่มีอายุไม่มากนัก แตกต่างจากบรรดารัฐสมัยใหม่ของยุโรปที่มีการกำเนิดมาก่อนอย่างยาวนาน

กล่าวคือ พระองค์ทรงหวังว่าการสงครามในยุโรปครั้งนี้จะมีส่วนอย่างสำคัญในการแสดงให้เห็นถึงกำเนิดและบทบาทของสยามรัฐ

และที่สำคัญอีกประการก็คือราชสำนักสยามหวังเป็นอย่างมากว่าการเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 จะเป็นโอกาสของการประกาศให้เห็นถึง “สถานะที่เท่าเทียมกัน” กับบรรดารัฐมหาอำนาจอื่นๆ ในฐานะที่เป็นพันธมิตรการสงครามร่วมกัน

เพราะการยอมรับระหว่างรัฐเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่บ่งบอกถึงสถานะของรัฐในเวทีโลกนั่นเอง

ในการนี้พระองค์ทรงประกาศถึงพระราชประสงค์ดังความว่า

“เพื่อแสดงแก่ราชสัมพันธมิตรร่วมศึกว่า กรุงสยามเต็มใจแท้จริงที่จะช่วยสัมพันธมิตรหมู่ใหญ่ทำการสงครามสำหรับทรงไว้ซึ่งอิสรภาพแห่งประเทศทั้งปวงไม่ว่าน้อยใหญ่ ทรงไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์แห่งธรรมระหว่างประเทศ ปราบปรามผู้ที่ประพฤติผิดไม่ถือธรรมเป็นใหญ่นั้นให้รู้สำนึกตัว ทั้งกองทหารนี้จะได้นำธงชาติของไทยไปสู่ทวีปยุโรป แผ่เกียรติยศเกียรติคุณของชาติไทย เป็นพยานชัดว่าทำการร่วมศึกเสมอหน้ากับมหาอำนาจต่างๆ…”

(คัดจากสำเนาประกาศพระราชประสงค์ของกระทรวงกลาโหม จาก โอภาส เสวิกุล, ไทยกับสงครามโลกครั้งที่ 1, 2511)

การเตรียมกำลังทหาร

ในการเตรียมกำลังนั้น กองทัพบกได้จัดกำลังในรูปแบบทหารอาสา ซึ่งประกอบด้วยกองทหารบกรถยนต์ กองบินทหารบก และนอกจากจะมีกำลังหน่วยรบแล้ว ยังมีกำลังพลอีกส่วนเป็นช่างเครื่องยนต์ และเจ้าหน้าที่พยาบาล ซี่งในการประกาศรับทหารอาสานี้เปิดกว้างโดยไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นทหารมาก่อน เพราะต้องการให้ประชาชนได้มีโอกาสสมัครเข้าร่วมด้วย

อีกส่วนหนึ่งต้องการผู้ที่มีความรู้และความสามารถในการใช้ยานยนต์ เช่น ขับรถยนต์ หรือจักรยานยนต์ และอีกส่วนนั้นต้องการผู้ที่มีความรู้ในทางการแพทย์และพยาบาล

ในอีกส่วนหนึ่งก็ประกาศรับทหารประจำการ โดยมีคุณสมบัติหลัก 3 ประการคือ

1) มีประกาศนียบัตรเป็นนักบิน แต่ถ้าไม่มีก็มีความเต็มใจที่จะเข้ารับการฝึกเป็นนักบิน

2) มีความสามารถทางด้านเครื่องยนต์

3) มีความสามารถทางด้านการแพทย์ ซึ่งคุณสมบัติเช่นนี้อาจจะไม่แตกต่างจากบุคคลพลเรือน เว้นเสียแต่คุณสมบัติในเรื่องของนักบิน

และน่าสนใจว่าราชสำนักสยามไม่ได้ตัดสินใจส่งกำลังรบโดยตรง เช่น หน่วยทหารราบ แต่กลับเลือกบุคคลและทหารที่มีคุณสมบัติด้านเครื่องยนต์และการแพทย์ ซึ่งอาจตีความได้ว่า คุณสมบัติเช่นนี้จะช่วยสะท้อนให้เห็นถึงความก้าวหน้าของสังคมสยาม เพราะเป็นกิจการของโลกสมัยใหม่

แต่ก่อนที่กำลังทหารอาสาจะถูกส่งเข้าสงคราม ได้มีการแต่งตั้ง “คณะทูตทหารพิเศษ” จำนวน 11 นายขึ้น เพื่อเตรียมทำหน้าที่นายทหารประสานงานสำหรับทหารสยาม

คณะทูตชุดนี้ออกเดินทางล่วงหน้าและถึงเมืองมาร์เซย์ ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 11 กันยายน 1918 (พ.ศ.2461 ตามปฏิทินสากล)

และขณะเดียวกันก็จัดตั้งคณะกรรมการคัดเลือกทหารอาสาขึ้น จำนวน 6 นาย ผลจากการประกาศทำให้มีผู้สมัครต้องการไปร่วมการสงครามครั้งนี้เป็นจำนวนมากเกินกว่าความต้องการหลายเท่า ซึ่งทำให้ต้องตัดคนส่วนหนึ่งออก

แต่ไม่ว่าบุคคลผู้นั้นจะได้รับการคัดเลือกหรือไม่ก็ตาม ทุกคนที่สมัครยื่นความจำนงในครั้งนี้จะได้รับหนังสือสำคัญคนละฉบับ

“เพื่อเป็นเกียรติแก่ตนเองและบุตรหลานผู้สืบสกุล” แต่ก็สัญญาว่าถ้ามีการเรียกกำลังเพิ่มเติม ก็จะเรียกบุคคลเหล่านี้ก่อน

ส่วนการจัดกำลังนั้น ได้แบ่งกำลังออกเป็น 3 กองบิน โดยมีหลวงทะยานพิฆาต (ทิพย์ เกตุทัต) เป็นผู้บังคับบัญชา และ 3 กองบินนี้แบ่งภารกิจสอดรับการสงครามทางอากาศ ได้แก่

กองบินที่ 1 เป็นกองบินขับไล่

กองบินที่ 2 เป็นกองบินลาดตระเวน

และกองบินที่ 3 เป็นกองบินทิ้งระเบิด

โดยในแต่ละกองบินจะมีทั้งนักบิน ช่างเครื่องยนต์ แพทย์ พยาบาล และพลทหาร ซึ่งแต่ละกองบินจะมีกำลังพลประมาณ 135 นาย

การจัดเช่นนี้ก็เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าสยามมีความก้าวหน้าในกิจการด้านการบิน ซึ่งเป็นกิจการทหารของโลกสมัยใหม่

สำหรับกองทหารบกรถยนต์นั้น มีกำลังพลทั้งหมดประมาณ 850 นาย และแบ่งการบังคับบัญชาออกเป็น 8 กองร้อย แต่ละกองร้อยจะมีนายทหาร นายสิบ และพลทหารประมาณ 100 คน และมีการจัดเพิ่มเติมเป็น 1 หมวดพยาบาล

อย่างไรก็ตาม การเตรียมกำลังเช่นนี้ดำเนินการสำเร็จตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2461 และพร้อมที่จะเคลื่อนย้ายได้

แต่ก็ประสบปัญหาใหญ่เนื่องจากเรือโดยสารที่ฝ่ายสัมพันธมิตรจะนำมารับนั้นยังมีความขาดแคลนอยู่มาก เพราะในภาวะเช่นนี้ฝ่ายสัมพันธมิตรมีความจำเป็นต้องใช้เรือในการลำเลียงกำลังพลและยุทธปัจจัยของตน จึงทำให้ไม่มีเรือโดยสารขนาดใหญ่ที่จะส่งมารับกำลังทหารอาสาสยาม ส่วนเรือเยอรมนีที่สยามยึดไว้ได้ก็ถูกสัมพันธมิตรเช่าไปจนหมด ทำให้ไม่มีเรือขนาดใหญ่ในการลำเลียงพลข้ามทวีปในครั้งนี้

กองทหารอาสาจึงอยู่ในระหว่างการพักรอและทำการฝึกเตรียมพร้อมรอการเคลื่อนย้าย

จนในวันที่ 3 เมษายน 2461 กำลังพลทั้งหมดจึงได้กระทำการปฏิญาณต่อธงชัยเฉลิมพล

และในตอนค่ำมีการรับประทานอาหารและเข้าร่วมงานรื่นเริงร่วมกันในที่ตั้ง

ต่อมาในวันที่ 25 พฤษภาคม กองทหารบกรถยนต์ได้แต่งเครื่องแบบเต็มยศเข้าเฝ้าฯ รัชกาลที่ 6 และในวันที่ 26 พฤษภาคม กองบินทหารบกแต่งเครื่องแบบเต็มยศเข้าเฝ้าฯ เช่นเดียวกัน

โดยในการนี้ รัชกาลที่ 6 ได้พระราชทานเสมาเงินแก่นายทหารทุกคน และมีคำจารึกที่เสมานี้ว่า “พระราชทานสำหรับงานพระราชสงคราม 2460”

วันเวลาที่รอคอย!

สําหรับการเข้าเฝ้าฯ ครั้งนี้ รัชกาลที่ 6 ได้ทรงย้ำให้นายทหารและกำลังพลตระหนักถึงความสำคัญของการที่สยามเข้าร่วมการสงครามในครั้งนี้

ซึ่งพระองค์ได้รับสั่งไว้ตอนหนึ่งว่า “นานมาแล้ว ทหารไทยเรายังมิได้ทำการยุทธนอกประเทศ เพราะฉะนั้นต้องนับว่าในการที่ได้มีโอกาสคราวนี้ เป็นโอกาสอันสำคัญอันหนึ่งในหมู่พวกเราที่เป็นทหารไทยควรจะรู้สึกว่าเราทั้งหลายที่ไปในครั้งนี้เป็นเหมือนผู้ที่จะไปทำให้พงศาวดารไทยรุ่งเรืองงดงาม เป็นผู้ประดิษฐ์หน้าอันหนึ่งในพงศาวดารชาติเราให้ลูกหลานผู้สืบสายโลหิตได้รู้สึกภูมิใจ เมื่อพลิกเห็นหน้านี้…” (พระราชดำรัสพระราชทานเลี้ยงแก่ทหารที่จะเดินทางไปปฏิบัติราชการสงคราม, 26 พฤษภาคม 2461 อ้างใน โอภาส เสวิกุล, ไทยกับสงครามโลกครั้งที่ 1, 2511)

นอกจากนี้ น่าสนใจอย่างมากว่า ในพระราชดำรัสช่วงสุดท้าย นอกจากจะอวยพรให้ทหารกลับมาอย่างปลอดภัยแล้ว รัชกาลที่ 6 ยังทรงถือว่าพระองค์เป็นดังเพื่อนของทหารอาสาเหล่านี้

ดังความว่า “ขอความสุขสวัสดีจงมีแก่ท่านทั้งหลาย ขอจงผ่านพ้นสรรพอุปัทวเหตุอันตราย ให้ได้กลับเข้ามาเต็มไปด้วยชัยชำนะ เพื่อที่จะได้มา เห็นหน้าข้าพเจ้าผู้เป็นเพื่อน (ตัวเน้นเป็นของผู้เขียน) และให้ ได้มานั่งร่วมโต๊ะกันอีกครั้งหนึ่ง (ตัวเน้นเป็นของผู้เขียน) เมื่อเสร็จสิ้นงานสงครามแล้ว” และในงานเลี้ยงวันนี้ พระองค์ไม่แต่เพียงประทับในงานตลอด แต่ยังได้โปรดให้มีการฉายภาพยนตร์ให้แก่บรรดาทหารเหล่านี้ได้ชมกันอีกด้วย พระองค์ประทับอยู่จน 3 นาฬิกาของวันใหม่ จึงเสด็จกลับ

แล้วเวลาของการรอคอยก็มาถึง ในวันที่ 16 มิถุนายน 2461 เรือโดยสารอังกฤษ “เอ็มไพร์” ที่รัฐบาลฝรั่งเศสขอเช่าเพื่อทำการลำเลียงพลก็มาถึงเกาะสีชัง และจอดทอดสมอรอ

จนทุกอย่างมีความพร้อมแล้ว สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ เสนาธิการกองทัพบก จึงได้กำหนดความพร้อมการเคลื่อนย้ายกำลัง เวลา 03.30 น. ในวันที่ 19 มิถุนายน และพระองค์ทรงตรวจแถวในเวลา 04.00 น. และเช่นเดียวกันกับพระราชดำรัสในงานพระราชทานเลี้ยง

เจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกฯ ทรงเน้นถึงความสำคัญของการไปราชการสงครามในครั้งนี้ว่า

“ท่านทั้งหลายจะเป็นผู้นำเกียรติคุณของชาติไปแผ่ให้ประจักษ์แก่ตาโลก ในท่ามกลางสมรภูมิในประเทศฝรั่งเศส ขณะนี้มีทหารทุกชาติทุกภาษาประชุมอยู่พร้อมกัน ท่านจะนึกถึงแต่ตัวของท่านเองเป็นคนคนไม่ได้เป็นอันขาด จงอย่าลืมว่าเกียรติยศแห่งชาติไทยอยู่ในกำมือของท่าน… พยายามรักษาเกียรติยศของชาติไทยไว้ กระทำให้คนทั้งหลายสรรเสริญว่าไทยเรามีนิสัยดีงาม สมควรได้รับความยกย่องเสมอเหมือนกับชาติใหญ่ทั้งปวง…”

ตัวอย่างพระราชดำรัสและพระโอวาทเช่นนี้สะท้อนให้เห็นว่าผู้นำสยามให้ความสำคัญต่อการปฏิบัติตัวของกำลังพลเหล่านี้อย่างมาก

และที่สำคัญก็คือต้องการตอกย้ำว่าการไปราชการสงครามครั้งนี้จะทำให้สยามได้รับการ “ยกย่องเสมอเหมือนกับชาติใหญ่ทั้งปวง” เพราะสถานะความเท่าเทียมในเวทีระหว่างประเทศของสยามในยุคนั้นต้องถือว่าเป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย

เพราะไม่เพียงแต่สยามจะเป็นรัฐเล็กๆ เท่านั้น หากแต่ยังเป็นรัฐเอเชียที่ยากจะมีสถานะเสมอกับรัฐมหาอำนาจตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงเวลาดังกล่าวเป็นยุคอาณานิคมที่มีการจัดลำดับชั้นของรัฐในระบบระหว่างประเทศมีความชัดเจนระหว่างรัฐตะวันตกกับรัฐที่ไม่ใช่ตะวันตก

การไปราชการสงครามของทหารอาสาในครั้งนี้จึงเป็น “เครื่องมือ” ในนโยบายต่างประเทศที่จะทำให้เกิดการยอมรับโดยตรงต่อสถานะความเป็นรัฐสมัยใหม่ของสยาม

ท่าราชวรดิษฐ์ในเช้าตรู่ของวันที่ 19 มิถุนายน จึงคับคั่งไปด้วยข้าราชการทหารชั้นผู้ใหญ่ อาทิ จอมพล เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต (เสนาบดีกระทรวงกลาโหม) จอมพลเรือ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนครสวรรค์วรพินิต (เสนาบดีกระทรวงทหารเรือ) พลเรือโท กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ (เสนาธิการทหารเรือ)… แล้วในเวลา 06.00 น. กองทหารอาสาก็ลงเรือออกจากท่าดังกล่าว โดยมีสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกฯ เสด็จไปส่ง

เรือแล่นไปตามลำน้ำเจ้าพระยาออกปากน้ำเดินทางสู่เกาะสีชัง ปากน้ำในปี 2461 เป็นเวลาของความเปลี่ยนแปลง… เป็นเวลาที่สยามไปช่วยฝรั่งเศสรบ แต่ปากน้ำในอดีตเป็นเวลาที่สยามรบกับฝรั่งเศส… โลกเปลี่ยน ภัยคุกคามเปลี่ยน

สยามเปลี่ยน!