เสฐียรพงษ์ วรรณปก : พุทธวิธีสอนในพระไตรปิฎก (เกี่ยวกับตัวผู้เรียน)

พุทธวิธีสอนในพระไตรปิฎก (11) บทที่ 4 : หลักสำคัญที่ควรทราบ (3)

ย้อนอ่านตอนที่แล้ว คลิก

ข. เกี่ยวกับตัวผู้เรียน

1.พุทธองค์จะทรงสอนใคร ทรงดูบุคคลผู้รับการสอนหรือผู้เรียนก่อนว่าบุคคลนั้นๆ เป็นคนประเภทใด มีพื้นความรู้ ความเข้าใจ หรือความพร้อมแค่ไหน และควรจะสอนอะไร แค่ไหน

เวลาอ่านพระสูตร จะเห็นข้อความประเภทนี้บ่อยๆ คือ

“เหล่าสัตว์มีธุลีในดวงตาน้อยก็มี มีธุลีในดวงตามากก็มี มีอินทรีย์กล้าก็มี มีอินทรีย์อ่อนก็มี มีอาการดีก็มี มีอาการทรามก็มี ที่จะสอนให้รู้ง่ายก็มี ที่จะสอนให้รู้ยากก็มี ตระหนักถึงภัยในปรโลกก็มี” สรุปแล้ว ทรงดูบุคคลที่จะทรงสอนก่อนว่าเป็นอย่างไร

ในพระสูตรอีกนั่นแหละ ทรงจำแนกบุคคลไว้หลายระดับ ดังทรงพูดถึงบุคคล 4 ประเภท คือ

1. อุคฆติตัญญู คือบุคคลผู้อัฉริยะรู้ได้ฉับพลันเพียงยกหัวข้อธรรมขึ้นพูดเท่านั้นก็ “รู้” ทันที (คำว่ารู้ในที่นี้หมายถึงตรัสรู้)

2. วิปจิตัญญู คือ บุคคลผู้ฉลาด อธีบายขยายความให้พิสดาร ก็รู้ทันที

3. เนยยะ คือ บุคคลผู้พึงนำมาฝึกฝนอบรม ต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่ง สำหรับให้มีการฝึกฝน ในที่สุดก็รู้ได้

4. ปทปรมะ คือ บุคคลผู้รู้มาก สดับรับฟังมามาก รู้หลักวิชาการมาก แต่ไม่สามารถรู้ธรรมหรือตรัสรู้ได้ในชาตินี้ (แต่การที่เขาได้ฟังธรรมจากพระพุทธองค์ ก็จะเป็นเหตุปัจจัยแห่งมรรคผลในภพหน้า)

เมื่อทรงรู้ว่าใครเป็นบุคคลประเภทไหน พระพุทธองค์ก็ทรงสอนเนื้อหาที่เหมาะสำหรับบุคคลประเภทนั้น การสอนของพระองค์จึงสัมฤทธิผลทุกครั้งที่สอน

ครูทั่วไป พึงยึดถือพระพุทธองค์เป็นแบบอย่าง มิใช่ว่าสอนอยู่แต่เรื่องเดียว แบบเดียว วิธีเดียว ไม่ว่าผู้ฟังจะเป็นใครก็ตาม ดังหลวงตาอาจารย์ของเด็กชายตึ๋ง (ขอเล่านิทานหน่อย เปรี้ยวปากเต็มที)

หลวงตาอาจารย์ของเด็กชายตึ๋ง มีกัณฑ์เทศน์ “กัณฑ์เก่ง” อยู่คัมภีร์เดียว ไม่ว่าไปเทศน์งานไหน หลวงตาก็ให้เด็กชายตึ๋งถือคัมภีร์เล่มนั้นไปเทศน์ทุกครั้ง วันหนึ่งขณะที่หลวงตากำลังเทศน์อยู่ เด็กชายตึ๋ง ซึ่งออกมาเล่นลูกหินกับเด็กคนอื่นไม่ไกลจากศาลานัก ก็บอกเพื่อนว่า “เลิกแค่นี้เถอะ หลวงตากูใกล้จะเทศน์จบแล้ว”

“มึงรู้ได้อย่างไร ว่าหลวงตามึงจะจบแล้ว” เพื่อนอีกคนถาม

“รู้สิ พอถึงนิทานลิงขยี้รังนก แสดงว่าใกล้จบแล้ว กูฟังมาห้าร้อยครั้งแล้ว” เด็กชายตึ๋งบอกเพื่อน

หลวงตาท่านไม่คำนึงว่า คนฟังเป็นใคร ท่านก็มีคัมภีร์เทศน์อยู่คัมภีร์เดียว ไปเทศน์ที่ไหนก็อ่านแต่คัมภีร์นั้น เทศน์สอนอย่างนี้กี่ปีกี่ชาติก็ไม่ได้ผล

ครูที่ทำหน้าที่สอนคนอื่น จึงไม่ควรเอาอย่างหลวงตาในนิทานนี้เป็นอันขาด

2.นอกจากดูความแตกต่างของผู้เรียนแล้ว ยังต้องดูความพร้อมของผู้เรียนด้วย ซึ่งทางพระเรียกว่า “ความสุกงอมแห่งอินทรีย์” (อินทรียปริปากะ) บางทีบางคนมีพื้นความรู้พอจะเข้าใจได้ แต่ยังไม่ถึงเวลาหรือยังไม่มีความพร้อมก็ไม่สามารถรู้ได้

ยกตัวอย่างเรื่อง นางรูปนันทาเถรี

ภิกษุณีรูปนี้ก่อนบวชเป็นสตรีที่สวยมาก และหลงใหลในความสวยของตนมาก

แม้เมื่อบวชเข้ามาแล้วยังไม่ทิ้งนิสัยรักสวยรักงาม เพื่อนภิกษุณีชวนไปฟังพระพุทธเจ้าเทศน์ก็ไม่ยอมไป เพราะรู้ว่าพระผู้ทรงเป็นพระเชษฐาของตน (นางรูปนันทาเป็นน้องสาวพระนันทะ เป็นพระกนิษฐาต่างพระมารดาของพระพุทธเจ้า) ชอบตรัสตำหนิความสวยงามว่าเป็นของไม่ยั่งยืนจึงไม่ประสงค์จะได้ยิน

พูดง่ายๆ ว่านางไม่อยากได้ยินใครมาพูดว่า ความสวยไม่จีรังยั่งยืน ฟังแล้วมันบาดหัวใจ ว่าอย่างนั้นเถอะ

พระพุทธองค์ทรงทราบว่า อินทรีย์ของนางยังไม่แก่กล้า จึงมิได้ทรงเรียกนางมาสั่งสอนอะไร หรือแม้นางจะมาฟังเทศน์กับภิกษุณีอื่นๆ เป็นบางครั้ง พระองค์มิได้ตรัสเตือนอะไรนาง

จนกระทั่งวันหนึ่ง เมื่อนางมี “ความพร้อม” ที่จะรู้ธรรมแล้ว พระองค์ทอดพระเนตรเห็น นางนั่งแอบอยู่ข้างหลังภิกษุณีอื่นๆ

ทรงใช้อิทธิฤทธิ์บันดาลให้นางมองเห็น ประดุจหนึ่งว่า มีพระพุทธองค์กับนางเพียงสองคนเท่านั้น

ขณะที่นางมองพระพุทธองค์อยู่ พลันสายตาก็มองเห็นภาพของหญิงสาววัยรุ่นกำดัดนางหนึ่งสวยสดงดงามมาก นั่งถวายงานพัดพระพุทธองค์

“หญิงสาวคนนี้เป็นใครกันหนอ ช่างสวยงามเหลือเกิน งามกว่าเราอีก” นางรูปนันทาภิกษุณี รำพึงเบาๆ สายตาจ้องดูนางไม่กะพริบ

ด้วยอิทธิฤทธิ์ของพระพุทธองค์ หญิงสาวนั้นก็ค่อยๆ เปลี่ยนสภาพจากสาวน้อยเป็นสาวใหญ่ เป็นหญิงมีบุตรหนึ่งคน สองคน สามคน เป็นหญิงชราแก่หง่อมหนังเหี่ยว จนกระทั่งตายเป็นศพขึ้นอืดมีหมู่หนอนไต่ยั้วเยี้ยๆ ส่งกลิ่นเหม็นหึ่ง

ขณะนางมองดูความเปลี่ยนแปลงแห่งภาพข้างหน้า นางก็ค่อยๆ ได้คิดตามลำดับว่า ทุกสิ่งทุกอย่างไม่จีรังยั่งยืน แม้รูปร่างที่สดสวยงามนี้ก็เปลี่ยนแปรไปเป็นไม่สวยงามและในที่สุดก็แตกดับสลาย เมื่อได้คิดก็มองเห็นไตรลักษณ์ เมื่อพระพุทธองค์ตรัสย้ำอีกว่า

“ร่างกายนี้ธรรมชาติสร้างให้เป็นเมืองกระดูก

ฉาบด้วยเนื้อและโลหิต

เป็นที่สถิตแห่งชราและมรณะ

ความเย่อหยิ่ง และความดูถูกบุญคุณกัน”

ถึงตอนนี้ นางรูปนันทามีความพร้อมจะรู้ธรรมแล้ว เมื่อได้ฟังพุทธดำรัสตรัสเตือนเท่านั้น นางก็บรรลุธรรมทันที

3.สอนให้ผู้เรียนทำด้วยตนเอง บางทีพูดปากเปียกปากแฉะ ผู้ฟังก็ยังไม่แจ่มกระจ่าง ถ้าอยากจะให้ “แจ้งจางปาง” จริง ๆ ขอให้ผู้เรียนได้ทำด้วยตนเอง จะได้เกิดประสบการณ์ตรง

ดังเรื่อง พระจูฬปันถกเป็นตัวอย่าง

เอ่ยแล้วไม่เล่าดูกระไรอยู่ ขอเล่าให้ฟังเสียเลย

จูฬปันถกเป็นน้องชายของพระมหาปันถก ซึ่งเป็นพระนักปราชญ์มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย

ท่านจูฬปันถกเป็นพระหัวทึบ ท่องคาถาสี่บาทสี่บรรทัดสามเดือนจำไม่ได้ พี่ชายจึงประณาม (ขับไล่) ออกจากวัด

ท่านจูฬปันถกเสียใจมากจึงคิดจะไปฆ่าตัวตาย บังเอิญพระพุทธเจ้าเสด็จมาพบเข้า ตรัสถาม ทรงทราบเรื่องราว แล้วจึงตรัสปลอบใจว่า ท่องไม่ได้ก็ไม่เป็นไร เธอยังมีทางอื่นที่จะเข้าใจได้โดยไม่ท่อง อะไรทำนองนี้

ท่านจูฬปันถกได้ยินดังนั้น กำลังใจก็มาทันที นึกภูมิใจและมั่นใจในตนเองว่า ตนเองมิใช่คนไร้ค่าโดยสิ้นเชิง

พระพุทธองค์ตรัสว่า มีทางจะเข้าใจธรรมได้ เมื่อพระพุทธองค์ทรงเห็นว่าจูฬปันถกมีความพร้อมเต็มที่แล้ว จึงประทานผ้าขาวให้ผืนหนึ่ง ตรัสสั่งให้เอามือลูบพร้อมบริกรรม (ท่อง) คำสั้นๆ ว่า “รโชหรณัง รโชหรณัง” (แปลว่าผ้าเช็ดธุลีๆ)

ขณะนั้นผ้าที่ขาวสะอาดเมื่อไม่กี่นาทีที่ผ่านมาถูกเหงื่อมือเข้าก็กลายเป็นผ้าสกปรก จูฬปันถกฉุกใจคิดว่า เอ ผ้าขาวสะอาดเมื่อครู่บัดนี้กลายเป็นผ้าสกปรกไปแล้วเพราะเหงื่อมือ

จิตใจคงเหมือนผ้าขาวผืนนี้ เดิมทีก็คงสะอาดหมดจด แต่เมื่อถูกกิเลสจรมาครอบงำก็กลายเป็นจิตสกปรกได้

เมื่อนึกเปรียบเทียบดังนี้ จิตใจก็เห็นแจ้งไตรลักษณ์ (อนิจจัง ทุกขัง อนันตตา) ไม่ช้าไม่นานก็บรรลุธรรม

พระจูฬปันถก ได้ลงมือทำด้วยตนเอง คือ สัมผัสผ้าขาวด้วยตนเอง เมื่อผ้าขาวเปลี่ยนแปลงเป็นผ้าสกปรกเพราะเหงื่อ ก็ฉุกคิดได้ข้อเปรียบเทียบกับจิตใจของตนเดินเข้าสู่ทางแห่งวิปัสสนาโดยไม่รู้ตัว

ความรู้ความเข้าใจแจ่มแจ้ง ซึ่งสภาวะธรรมทั้งหลายอย่างนี้ ถ้าเพียงแต่ฟังคนอื่นบรรยายเฉยๆ อาจไม่เกิดขึ้นได้

ต่อมาผู้ปฏิบัติได้ทำด้วยตนเอง ได้ทดลองด้วยตนเองนั้นแหละ จึงเกิดการหยั่งรู้อันเป็นประสบการณ์ตรงเอง

4.ผู้เรียนจะต้องมีบทบาทร่วมด้วย เวลาสอนนั้นมิใช่ครูตั้งหน้าตั้งตาบรรยายไปคนเดียว โดยผู้ฟังไม่มีส่วนร่วมในกระบวนการเรียน การสอนเลย ควรจะให้ผู้ฟังมีส่วนร่วมด้วย เช่น อาจจะเป็นการสอนกึ่งสนทนา เป็นการถาม-ตอบ โดยคนสอนตั้งคำถามให้ผู้เรียนช่วยกันคิด และช่วยกันตอบ

พระพุทธเจ้าเมื่อทรงเทศน์สอนปัญจวัคคีย์ ก็ทรงถามให้พวกเธอตอบดังในอนัตตลักขณสูตร นั่นไงล่ะครับ แทนที่จะทรงบรรยายพระองค์เดียว พระองค์กลับตั้งคำถามให้พวกเธอช่วยกันคิดว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แต่ละอย่างมันเที่ยงหรือไม่เที่ยง เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ เมื่อพวกเธอกราบทูลหลังจากคิดหลายตลบแล้วว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ พระองค์ก็ทรงถามให้คิดอีกว่า ถ้ามันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ควรจะยึดถือมันเป็นของเขาหรือว่าเรา เป็นเช่นนั้นไหม พวกเธอก็ตอบว่าไม่ควรอย่างยิ่ง

การให้ผู้ฟังมีส่วนร่วมด้วยนี้ ดูเหมือนว่าจะเป็นวิธีที่พระพุทธองค์ทรงใช้บ่อยและเป็นวิธีที่ได้ผลด้วยผู้ฟังบางคน พอได้โอกาสแสดงความคิดเห็นของตนก็เกิดความภูมิใจ มั่นใจ และพร้อมที่จะรับฟังด้วยความสนใจ

เมื่อมีความสนใจเต็มที่ ไม่ว่าจะสอนอะไร เขาก็รับรู้ได้ง่ายดังพุทธวจนะว่า สุสฺสูสํ ลภเต ปญญํ ฟังด้วยดีย่อมได้ปัญญาแล

5.ครูต้องเอาใจใส่ผู้เรียนที่มีปัญหาเป็นพิเศษ

ในหมู่ผู้เรียนอาจมีบางคนที่มีปัญหาเช่นเรียนไม่ทัน เพราะมีความว้าวุ่นในใจบางอย่าง ไม่เกี่ยวกับวิชาเรียน แต่มัน effect การเรียน ว่าอย่างนั้นเถอะ

ยกตัวอย่างนักเรียนคนหนึ่ง แต่ไหนแต่ไรมาก็เรียนได้คะแนนดี แต่ต่อมาการเรียนตกลง มาโรงเรียนก็สาย

ครูเห็นผิดปกติ ตามไปดูบ้านจึงรู้ว่า นักเรียนคนนี้ต้องรับภาระเลี้ยงยายผู้พิการ ก่อนไปโรงเรียน ก็หุงข้าวหุงปลาไว้ให้ ขณะพักเที่ยงก็รีบมาดูยายที่บ้าน เสร็จแล้วจึงวิ่งไปที่โรงเรียน บางครั้งก็ไม่ทัน

พอโรงเรียนเลิกก็ต้องรีบกลับบ้าน

เมื่อครูรู้ปัญหาก็เปิดเผยความจริงให้สังคมทราบ สังคมก็ยินดีให้ความช่วยเหลือสนับสนุน เพราะเห็นว่าเป็นเด็กกตัญญู

หลังจากนั้นมาเด็กคนนี้ก็ไม่มีปัญหาในการเรียน