จดหมาย

จดหมาย | ประจำวันที่ 26 เม.ย.- 2 พ.ค. 2567

 

• “นก” ใน “กรง”

เก้าแต้ม แมวจากหลังวังบูรพา ข้างห้างขายยาบอมใบ

ถูกเจ้าของทำร้ายจนบาดเจ็บสาหัสแล้วหิ้วมาโยนทิ้งไว้ที่กองขยะข้างทาง

อีตาปิยพงศ์เดินไปเจอเข้า เลยเก็บมารักษาจนหายเป็นปกติ

แล้วอยู่ร่วมบ้านเดียวกันมาอย่างมีความสุข

เตี้ย ลูกหมาพเนจรผอมโซ

อีตาปิยพงศ์ไปเจอ ขณะเดินป้วนเปี้ยนอยู่แถวหน้าประตูโรงเรียนสตรีวิทยา

ด้วยความสงสาร เลยเก็บมาเลี้ยงดู

แต้ม-เตี้ย รักใคร่สนิทสนมกันอย่างเป็นสัตว์พันธุ์เดียวกัน

กินด้วยกัน นอนด้วยกัน

บางทีตอนนอนเตี้ยโอบขาหน้าทั้งสองกอดเก้าแต้มไว้กับอก นอนหลับปุ๋ยไปด้วยกันทั้งคู่

การชอบกอดเพื่อนของเตี้ยนี้ หากเก้าแต้มอารมณ์ดีก็ไม่มีอะไร

หากอารมณ์ไม่ค่อยจอย ก็มีการครางขู่เบาๆ

หากไม่ฟัง ก็กางเล็บตบเบาๆ ไปสองสามที

หากดื้อดึง ไม่ยอมฟังอีก

คราวนี้เก้าแต้มเอาจริง กางเล็บตบเปรี้ยงๆ ไปที่หน้าเตี้ยสามสี่ที

เจอเล็บแหลมๆ เข้าเตี้ยก็แหกปากร้องลั่น

โธ่น้องเก้าแต้ม ไม่น่าจะทำรุนแรงกับพี่เตี้ยนี้เลยนะ

ครับ…หวนนึกถึงเมษายน และพฤษภาคม 2553

ที่สี่แยกคอกวัว ราชดำเนิน และสี่แยกราชประสงค์

หากแบ่งเศษเสี้ยวของใจ ของความรักความเมตตา จากเก้าแต้มและเตี้ย มาใส่ในใจของตัวเองสักนิดหนึ่ง

คนที่แอบชี้เป้าบนที่สูง และคนยิงสไนเปอร์ใส่หัวประชาชนมือเปล่า

คงไม่ลั่นกระสุนเจาะหัวผู้คนมือเปล่าตายกลางถนนเป็นร้อย บาดเจ็บร่วมสองพัน

หนีเข้าไปหลบภัยในวัดแล้ว ยังส่องปืนบนรางรถไฟฟ้ายิงตายไปอีก 6 ศพ

เพียงแค่ขอการเลือกตั้งใหม่ และประชาธิปไตยที่เป็นประชาธิปไตยจริงๆ เท่านั้น

“ยิงนกในกรง” ทำกันลงคอ

ไม่มีอะไรในโลกนี้จะเหี้ยมโหดไปกว่ามนุษย์อีกแล้วหนอ

เหี้ยมโหด จนแตกแยกกันชนิดยังรวมกันไม่ติดมาจนถึงทุกวันนี้

ดารานำแสดง : เตี้ย และเก้าแต้ม แห่งกระต๊อบน้อย ซอยอารี พหลโยธิน กรุงเทพฯ เมืองฟ้าอมร

ตากล้อง : อีตา ปิยพงศ์ (เมืองหละปูน) เจ้าเก่า

ปิยพงศ์ (เมืองหละปูน)

 

นอกจากรำลึก

ความโหดเหี้ยม

ยิง “นกในกรง”

ห้วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 แล้ว

สิ่งที่มนุษย์กระทำต่อกันในตอนนี้

ทั้งยูเครน-รัสเซีย, อิสราเอล-ปาเลสไตน์

อิสราเอล-อิหร่าน, เมียนมา-ชนกลุ่มน้อย

ก็โหดเหี้ยมไม่ต่างกัน

สะเทือนไปทั้งโลก รวมถึงไทยด้วย

ชวนสลดใจจริง-จริง

• “คนแก่” ใน “เตียง”

ศ.ดร.วิชัย อึงพินิจพงศ์ อาจารย์คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

เปิดเผยว่า ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแบบสมบูรณ์ คิดเป็นสัดส่วน 20% ของประชากรทั้งประเทศ

โดยเฉพาะในจังหวัดขอนแก่น มีผู้สูงอายุที่ติดเตียงถึง 20,000 คน

เป็นแรงบันดาลใจในการพัฒนา “โครงการพัฒนาส่งเสริมการผลิตเตียงพลิกตัวต้นทุนต่ำสำหรับผู้ป่วยติดเตียงโดยชุมชน”

ที่ร่วมกันระหว่างคณะเศรษฐศาสตร์ คณะเทคนิคการแพทย์ และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ดำเนินการภายใต้โครงการ CIGUS (C – community, I – industry, G – government, U – university, S – society) ที่มีความตั้งใจให้ผู้ป่วยในพื้นที่นำร่องใน 2 ชุมชน

ได้แก่ ตำบลบ้านโต้นและตำบลหนองแวง อำเภอพระยืน จังหวัดขอนแก่น ได้มีเตียงที่เหมาะสมสำหรับการใช้งาน

สามารถพลิกตะแคงตัวผู้ป่วยและลดการเกิดแผลกดทับ

อีกทั้งยังช่วยลดภาระผู้ดูแลผู้ป่วย และสร้างงานสร้างรายได้ให้กับช่างในชุมชน

ทั้งนี้ การพัฒนาเตียงอัจฉริยะได้เข้าสู่เวอร์ชั่น 3

โดยเตียงจะใช้วัสดุทำจากไม้และโลหะบางส่วน

ทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้าที่ผู้ป่วยและผู้ดูแลทำการกดสวิตช์ควบคุมเพื่อให้เตียงทำการพลิกตัว ส่วนงบประมาณในการจัดทำนั้นจะอยู่ที่ 10,000-15,000 บาทต่อเตียง ซึ่งเป็นราคาที่ผู้สูงอายุในชุมชนสามารถเข้าถึงได้

ด้าน นายชัยชาญ เพชรสีเขียว ตัวแทนกลุ่มผู้ผลิตเตียงในชุมชน กล่าวว่า ขณะนี้ทางชุมชนได้รับมอบแบบและวิธีการต่อเตียงมาเป็นที่เรียบร้อย

และอยู่ระหว่างการพูดคุยกับช่างไม้ภายในชุมชนที่น่าจะมีจำนวนที่มากพอในการทำงานนี้

อย่างไรก็ดี คงต้องรอความคืบหน้าเพราะยังเป็นช่วงเริ่มต้นเท่านั้น และยังไม่ได้จดทะเบียนวิสาหกิจชุมชน

หากทุกอย่างเริ่มลงตัว ทั้งแบบที่กำลังปรับให้สอดรับกับการใช้งานมากขึ้น และวัสดุที่นำมาใช้สร้างเตียง ซึ่งยังมีความเห็นที่หลากหลาย ทั้งไม้เต็ง ไม้เนื้อแข็ง ไม้สนนอก ที่มีน้ำหนักเบาและหาได้ง่าย รวมถึงนำเหล็กมาต่อเป็นเตียงเพื่อให้ถอดประกอบได้ ในส่วนของขนาดเตียงก็ปรับให้สามารถขนย้ายเข้าบ้านของผู้ป่วยได้ง่ายขึ้น

ข้อมูลจากหอผู้ป่วยเวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น พบผู้ป่วยที่เป็นแผลกดทับ มีค่าใช้จ่ายในการรักษาเฉลี่ย 48,000-55,000 บาทต่อคน ส่วนผู้ป่วยกลุ่มเปราะบาง มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 3,000-5,000 บาทต่อคนต่อเดือน

การพัฒนาเตียงอัจฉริยะ พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตเตียงให้ชุมชนสามารถผลิตใช้งานเองและนำไปต่อยอดสร้างรายได้ให้กับชุมชน

และอนาคตหากสามารถส่งต่อไปยังกลุ่มเป้าหมายในหลายจังหวัดทั่วประเทศ

จะเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยติดเตียงและผู้ดูแลให้ดีขึ้นด้วย

มหาวิทยาลัยขอนแก่น

 

ปัญหา ผู้สูงอายุ ทวีความรุนแรง

มากขึ้นทุกขณะ

อะไรที่ช่วยหรือบรรเทาปัญหาลงได้

ต้องสนับสนุน และให้กำลังใจในการดำเนินการ

กันเต็มที่

อย่างกรณีเตียงสำหรับผู้ป่วยติดเตียง ที่ มข.กำลังพัฒนา

อยากให้ประสบผล

และแพร่หลายสู่ผู้สูงอายุให้มาก-มาก และเร็วที่สุด •