โด๊ปยา-เงินรางวัล ประเด็นท้าทาย ‘แก่น’ แห่งโอลิมปิก

ต้นปีนี้ วงการกีฬาโลกต้องสั่นสะเทือนเมื่อนักธุรกิจชาวออสเตรเลียนาม อารอน ดิโซซ่า เสนอแนวคิดสุดท้าทายศีลธรรมและความบริสุทธิ์ยุติธรรมของการแข่งขันกีฬา กับไอเดียการแข่งขัน เอ็นฮานซ์เกมส์ (Enhanced Games) มหกรรมกีฬาที่อนุญาตให้นักกีฬาใช้สารต้องห้าม หรือ “โด๊ปยา” ได้อย่างอิสระ!

แนวคิดของดิโซซ่าตั้งอยู่บนความเชื่อที่ว่า ปัจจุบันมีนักกีฬาโด๊ปยามากถึง 44 เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมด

การจะกวาดล้างหรือตรวจสอบให้วงการกีฬาใสสะอาดบริสุทธิ์ปราศจากการใช้สารกระตุ้นไปเลยนั้นเป็นไปได้ยาก

การที่ตรวจไม่พบไม่ได้หมายความว่าไม่มี ดังนั้น แทนที่จะปล่อยให้แข่งขันกันอย่างมีข้อกังขา ก็เปิดโอกาสให้นักกีฬาแต่ละคนสามารถใช้สารต้องห้ามได้อย่างอิสระ ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดของผู้เชี่ยวชาญ

โดยไม่ฝืนโด๊ปจนเป็นอันตรายต่อร่างกายไปเลยดีกว่า

เท่านั้นไม่พอ เจ้าของไอเดียเอ็นฮานซ์เกมส์ยังเสนอว่าจะเฉลิมฉลองให้กับความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ในการยกระดับศักยภาพเพื่อท้าทายขีดจำกัดของมนุษย์

ด้วยการตั้งเงินรางวัล 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (36 ล้านบาท) ให้กับนักกีฬาที่สามารถทำลายสถิติโลกได้สำเร็จ และมีแนวคิดที่จะมอบเงินสนับสนุนให้แก่นักกีฬาที่เข้าร่วมอีกด้วย

 

การเสนอเงินรางวัลให้กับนักกีฬาดังกล่าวนั้น คือประเด็นสำคัญที่ดิโซซ่าและเอ็นฮานซ์เกมส์พยายามจี้จุด โดยย้ำว่านักกีฬาต้องทุ่มเทพยายามฝึกซ้อมเพื่อเข้าร่วมโอลิมปิกเกมส์ที่ 4 ปีจะมีสักครั้ง ความสำเร็จในสนามแข่งขันย่อมนำมาซึ่งเกียรติยศชื่อเสียงและความภาคภูมิใจทั้งต่อตัวเองและประเทศชาติ

แต่กว่าจะไปถึงจุดนั้น นักกีฬาหลายคนไม่ได้รับการสนับสนุนด้านการเงินอย่างเพียงพอ

การที่เอ็นฮานซ์เกมส์ทำการแข่งขันกันในช่วงระยะเวลา 3 ปีที่ไม่มีการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ จะช่วยแบ่งเบาภาระเรื่องทุนรอนให้นักกีฬาได้ไม่มากก็น้อย

ปรากฏว่าประเด็นนี้ทำเอาคนที่ต่อต้านแนวคิดของเอ็นฮานซ์เกมส์ถึงกับอึกอัก

เช่น สตีฟ แพร์รี่ อดีตเหรียญทองแดงว่ายน้ำ ผีเสื้อ 200 เมตรชาย โอลิมปิกเกมส์ 2004 ของสหราชอาณาจักร กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของเอ็นฮานซ์เกมส์เพราะขัดกับหลักการที่ตัวเองยึดถือปฏิบัติ รวมถึงขัดกับแก่นของโอลิมปิกด้วย

อย่างไรก็ตาม เห็นด้วยกับเรื่องรายได้ข้อนักกีฬา แต่คิดว่าเงินไม่ใช่ทุกอย่าง ถ้าถามนักกีฬาโอลิมปิกว่าทำไมถึงทุ่มเทฝึกซ้อม เชื่อว่า “เงิน” ไม่ใช่คำตอบอย่างแน่นอน

 

“แก่น” ของโอลิมปิกที่แพร์รี่เอ่ยถึงนั้น คือหลักการดั้งเดิมเมื่อครั้ง บารอน ปิแอร์ เดอ คูแบร์แตง บิดาแห่งโอลิมปิกเกมส์สมัยใหม่มอบไว้เมื่อตอนผลักดันให้เกิดการแข่งขันครั้งแรกที่กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ เมื่อปี 1896

บารอนเดอ คูแบร์แตง ต้องการให้โอลิมปิกเป็นมหกรรมกีฬาของนักกีฬา “สมัครเล่น” ไม่ใช่มืออาชีพที่มีเงินรางวัลเป็นสิ่งตอบแทน

เพราะมองว่าโอลิมปิกเกมส์ยุคโบราณก็เป็นเวทีแข่งขันของนักกีฬาสมัครเล่นเช่นกัน จึงมอบคอนเซ็ปต์โรแมนติกให้กับโอลิมปิกเกมส์ยุคใหม่ว่า สิ่งสำคัญไม่ใช่ชัยชนะ แต่เป็นการทุ่มเทพยายามฝ่าฟันเพื่อไปสู่เป้าหมายต่างหาก

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา โอลิมปิกเกมส์จึงเป็นมหกรรมกีฬาที่ตัวการแข่งขันไม่มีค่าตอบแทนให้นักกีฬา

ส่วนประเทศบ้านเกิดของนักกีฬาคนนั้นๆ จะตกรางวัลสำหรับความสำเร็จเป็นเงินอัดฉีดหรือสิ่งของใดๆ ก็สุดแล้วแต่แต่ละชาติ

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็วๆ นี้ สหพันธ์กรีฑาโลก ได้ทำลายหลักการอันเป็นแก่นของโอลิมปิกเกมส์ที่ว่า ด้วยการประกาศเป็นสหพันธ์กีฬานานาชาติแห่งแรกของโลกที่จะมอบเงินรางวัลให้กับนักกีฬา ประเดิมครั้งแรกใน โอลิมปิกเกมส์ 2024 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส กลางปีนี้

ทั้งนี้ นักกรีฑาที่คว้าเหรียญทองจาก “ปารีส 2024” จะได้รับเงินรางวัลเหรียญละ 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ (1.8 ล้านบาท) รวมเงินรางวัลทั้งสิ้น 2.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (86.4 ล้านบาท)

โดยงบประมาณก้อนนี้แบ่งสรรมาจากงบฯ อุดหนุนที่สหพันธ์ได้รับจาก คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี) เป็นประจำทุก 4 ปี

สหพันธ์กรีฑาโลกระบุว่า เหตุผลที่มอบเงินรางวัลเพื่อเป็นการแสดงออกให้นักกีฬาได้รับรู้ว่าพวกเขาเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การแข่งขันประสบความสำเร็จ และมีแผนที่จะพิจารณาเพิ่มเงินรางวัลสำหรับคนที่ได้เหรียญเงินและเหรียญทองแดงในการแข่งขันครั้งต่อๆ ไป

 

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกคนที่จะขานรับการตัดสินใจของสหพันธ์กรีฑาโลกด้วยดี

โดยเฉพาะบรรดาสหพันธ์กีฬานานาชาติที่รุมจวกกรีฑาโลกว่าทำอะไรไม่ปรึกษากัน เพราะแต่ละสหพันธ์ย่อมโดนเปรียบเทียบอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

จึงพุ่งเป้าโจมตีว่าไม่ควร “ประเมินค่า” เหรียญทองโอลิมปิกแบบนี้

บ้างถึงขั้นคาดว่า ลอร์ด เซบาสเตียน โค ประธานสหพันธ์กรีฑาโลก อาจจะทำเพื่อหาเสียงเตรียมชิงตำแหน่งประธานไอโอซีที่จะว่างลงในปีหน้าก็เป็นได้

เรียกว่าจากเรื่องหนึ่งนำไปสู่อีกเรื่องหนึ่ง กลายเป็นประเด็นถกเถียงวุ่นวายช่วงไม่กี่เดือนสุดท้ายก่อนโอลิมปิกเกมส์ที่ปารีสจะเปิดฉากไปเสียแล้ว! •

 

Technical Time-Out | SearchSri