จ๋าจ๊ะ วรรณคดี : บาดหู-บาดใจ / ญาดา อารัมภีร

ญาดา อารัมภีร

 

 

บาดหู-บาดใจ

 

คําด่า คือคำหยาบที่เผ็ดร้อน ฟังแล้วบาดหูบาดใจ ทำให้โกรธแค้น วรรณคดีมีคำด่าสารพัดแบบ ในนิทานคำกลอนเรื่อง “พระอภัยมณี” บาทหลวงด่านางยุพาผกาและสุลาลีวัน ลูกเลี้ยงของนางละเวงว่า

“อียุพาลาลีอีตอแหล                ไม่ทันแก่จะเป็นหม้ายอีตายโหง

ช่างชักสื่อหาผัวอีตัวโกง            จนท้องโป่งป่องหยอดยอดตำแย”

ในบทละครนอกเรื่อง “ไกรทอง” นางตะเภาทองด่านางจระเข้วิมาลาที่ร่วมผัวเดียวกันกับนางทั้งผัวจระเข้ (ชาละวัน) และผัวคน (ไกรทอง)

“กูจะว่าให้สาสมใจ                  อีจัญไรร้อยแปดแพศยา

คำด่าแต่ละคำมีอายุการใช้งานต่างกัน คำว่า ‘ตอแหล ตายโหง จัญไร แพศยา’ ยังใช้มาจนทุกวันนี้ทั้งในชีวิตจริงและในละครทีวีหลายช่อง บางคำพบบ่อยใช้บ่อยในวรรณคดีหลายเรื่อง เช่น ‘ส่ำสาม’ ปัจจุบันเป็นคำพ้นสมัย ไม่มีใช้แล้ว “อักขราภิธานศรับท์” พ.ศ.2416 ของหมอบรัดเลย์ ให้ความหมายว่า

“ส่ำสาม, คือคนชาติไม่ดี ชนิดไม่ดี เช่นชั่วนั้น”

 

น่าสังเกตว่า คำว่า ‘ส่ำสาม’ ใช้ได้ไม่จำกัดเพศหรือชาติกำเนิด ด่าได้ทั่วถึงทั้งชายและหญิง ทั้งคน สัตว์ และอมนุษย์ ดังจะเห็นได้จาก “เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน” นางศรีมาลาใช้คำนี้ด่าอีเม้ยสาวใช้ ด่ากระทบนางสร้อยฟ้า

“จะด่าว่าสักเท่าไรทำไมเขา            การของเจ้าฤๅจึงร่าเข้ามาขวาง

อีส่ำสามราวกับหนามเที่ยวสะทาง   มิใช่การวานอย่าขวางให้เกิดความ”

ครั้งหนึ่งขุนช้างคับแค้นใจถึงกับด่าตัวเอง

“ถ้ารู้ว่าจะล้านแต่กำเนิด               กูไม่ปรารถนาเกิดอ้ายส่ำสาม

ขัดใจแค้นใจดังไฟลาม                  ลุกเดินผลีผลามเข้าห้องใน”

ตอนที่ขุนแผนด่าพะทำมะรง หรือผู้คุมนักโทษที่กระทำหยาบหยามไม่ให้เกียรติก็ใช้คำนี้เช่นกัน

“ทำมะรงขัดใจไม่บอกกู                ฉวยขุนแผนลากถูครู่ออกมา

ขุนแผนลุกโลดโดดคำราม             อ้ายส่ำสามข่มเหงพ่อหนักหนา”

ยิ่งไปกว่านั้นในเรื่อง “พระอภัยมณี” สารพัดอารมณ์ความรู้สึกชิงชัง คั่งแค้น รำคาญที่เกิดขึ้นเพราะถูกนางผีเสื้อสมุทรรุกเร้า ทำให้พระอภัยมณีบริภาษนางอย่างไม่ไว้หน้า

“เขาเบือนเบื่อเหลือเกลียดขี้เกียจตอบ       ยังขืนปลอบปลุกปล้ำอีส่ำสาม

ทำแสนแง่แสนงอนฉะอ้อนความ             แพศยาบ้ากามกวนอารมณ์”

ทำนองเดียวกับเรื่อง “ไกรทอง” นางตะเภาทองด่านางจระเข้วิมาลาไม่มียั้ง เพราะหึงหวงไกรทอง

“ไม่เหมือนอีอุบาทว์ชาติกุมภีล์                ตัวกะลีกะลำส่ำสาม

ลอยหน้าลอยตาว่าข้างาม                     แต่งจริตติดตามผัวกูมา”

 

คําว่า ‘กะลีกะลำ’ หรือ ‘กระลีกระลำ’ ก็คือกาลี หรืออัปรีย์จัญไรนั่นเอง เมื่อรวมกับคำว่า ‘ส่ำสาม’ มีความหมายว่า นางวิมาลาเป็นตัวเสนียดจัญไรที่เลวทรามต่ำช้า

คำว่า ‘ส่ำสาม’ และ ‘ซ้ำสาม’ เป็นคำด่าที่มีความหมายว่า เป็นคนต่ำช้าไม่มีตระกูล ความหมายใกล้เคียงกับ ‘สำส่อนทางเพศ’ ในปัจจุบัน คือประพฤติตัวเหลวแหลก มีเพศสัมพันธ์โดยไม่เลือกกับบุคคลต่างๆ ดังที่เหล่านางพราหมณีรุมด่านางอมิตตดาในเรื่อง “มหาเวสสันดรชาดก” กัณฑ์ชูชก ว่า

“มันยัดยาพิษอะไรเข้าไปเรามิรู้มันได้มันจึ่งร้ายขึ้นมาจริงๆ เราจะนิ่งเสียหรือหือหานะอี่ชาวเรา ทั้งนี้เพราะใครเล่า เพราะอีสาวซ้ำสามซัดเซบ้าน มันให้เกิดความรำคาญถึงเพียงนี้”

คำด่าบางคำเลิกใช้ไปนานแล้ว แต่ยังรวบรวมไว้ใน “อักขราภิธานศรับท์” อาทิ

“อีขี้เ็ด, คือ เปนคำหยาบด่าหญิงชั่ว, ที่อยากมีผัวมากๆ นั้น

อีแดกแห้ง, คือเปนคำหยาบด่าประจานหญิงเด็กๆ ว่าหญิงนั้นมีผัวแต่อายุสิบสองปี, ยังแห้งอยู่ไม่มีระดู เปนต้น

อีร้อยค_ย, เปนคำด่าหญิงว่ามีผัวร้อยคน, ถ้าหญิงใดคบกับชายมากก็ย่อมเปนที่อายนัก

อีร้อยซ้อน, เปนคำด่าหญิงชั่วว่า อีร้อยซ้อน, อะธิบายความว่ามีผัวอยู่แล้วคบชายอื่นอีกร้อยคนนั้น”

คำด่าข้างต้นนี้สะท้อนภาพของสังคมที่มีขีดจำกัด และกรอบที่เหมาะสมเกี่ยวกับเพศสัมพันธ์ หญิงมากชู้หลายผัวและหญิงที่มีผัวก่อนวัยอันสมควร เป็นที่ดูหมิ่นเหยียดหยามในสังคมไทยสมัยก่อน

 

บางคำเปลี่ยนสถานะจาก ‘คำด่าในอดีต’ มาเป็น ‘คำธรรมดาในปัจจุบัน’ เช่น คำว่า ‘หน้าเป็น’ และ ‘หน้าสด’ สมัยนี้คำว่า ‘หน้าเป็น’ คืออาการที่ทำหน้ายิ้มๆ หรือหัวเราะอยู่เรื่อยๆ จะว่าหน้าทะเล้นก็ได้ คือมีสีหน้าท่าทีว่ารู้สึกขำอยู่ร่ำไป อะไรนิดอะไรหน่อยก็ขำ พร้อมที่จะหัวเราะ สมัยก่อนถือว่าเป็นคำด่าที่แรงไม่น้อย

ดังที่นางทองประศรีด่านางสร้อยฟ้าหลานสะใภ้ในตอนหนึ่งของ “เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน” ว่า

“ทองประศรีชี้หน้าแกด่าโผง            อีตายโหงข่มเหงกูหนักหนา

ทำหลานกูด้วยช่วยมา                   ยังลอยหน้าหัวร่อคอเป็นเอ็น

ดูราวกับตำแยเที่ยวแหย่เพื่อน         ด่าเปื้อนไปทีเดียวเที่ยวเคี่ยวเข็ญ

ยกหัวเป็นกิ้งก่าอีหน้าเป็น             เต้นเจ้าเซ็นมาแต่วานจนป่านนี้”

“อักขราภิธานศรับท์” อธิบายความหมายของคำนี้ว่า

“…อีหน้าเป็น, คือคำหยาบด่าประจานหญิงว่าหน้าเปนคือ ไม่สลด, เช่น หญิงชั่วมากชู้หลายผัว, หัวเราะอยู่เสมอ เปนต้น”

สังคมไทยในอดีตให้ความสำคัญแก่ผู้อาวุโส ผู้น้อยเคารพผู้ใหญ่ เมื่อถูกผู้ใหญ่ตำหนิ ผู้น้อยควรรับฟังอย่างสำรวม กรณีของสร้อยฟ้าแทนที่จะสำนึกตัวว่าทำผิด สงบปากสงบคำ กลับตรงข้าม “ยังลอยหน้าหัวร่อคอเป็นเอ็น” ทั้งหัวเราะร่าท้าทายและเถียงฉอดๆ ไม่ยอมหยุด ทำให้นางทองประศรีซึ่งอยู่ในฐานะย่าของสามีสร้อยฟ้ายิ่งโกรธจัด

หลุดปากด่าว่า ‘อีหน้าเป็น’

 

นอกจากนี้ คำว่า ‘หน้าสด’ ปัจจุบันมักได้ยินบ่อยๆ เวลามีรายการทีวีไปเยี่ยมดาราหญิงถึงบ้าน หรือได้ยินจากโฆษณาขายครีมบำรุงผิว หมายถึงใบหน้าไร้เครื่องสำอาง ใช้เรียกผู้หญิงที่ไม่ได้แต่งหน้า คำนี้เมื่อเกือบ 150 ปีมาแล้วมีความหมายว่า

“…อีหน้าสด, คือ เปนคำหยาบ ด่าประจานหญิงว่าหน้าไม่แห้ง รื่นเริงอยู่เปนนิตย, เช่น หญิงคนชั่วนั้น…”

วรรณคดีเรื่อง “โอวาทกระสัตรี” ยกตัวอย่างของเมียที่ใช้จ่ายเกินตัวว่า

“เห็นผัวได้เงินมาทำหน้าสด                 มาปลิดปลดเอาไปมิได้หวง

ซื้อกินบ้างเล่นบ้างตั้งหลอกลวง            จะเติมตวงสักเท่าไรก็ไม่พอ”

‘หน้าสด’ ในที่นี้คือ ทำผิดแต่ยังทำหน้าระรื่น ไม่รู้สำนึก

บางส่วนของคำด่าที่ยกมานี้บอกให้รู้ว่าคนไทยร่ำรวยคำด่า และด่าได้ด่าดีไม่ว่าอดีตหรือปัจจุบัน อย่าลืมว่าคำด่าบาดหูและบาดใจ สมัยนี้ควรคิดก่อนด่า

ถ้าด่าก่อนคิด มีสิทธิ์ได้คิดในคุก