ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 12 - 18 เมษายน 2567 |
---|---|
ผู้เขียน | พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ |
เผยแพร่ |
ตั้งแต่ผมยังมีชั้นยศน้อยๆ เรื่อยไปจนสูงขึ้นไปเป็นชั้นนายพล
หากนำคดีที่ผมได้สืบสวนสอบสวนทั้งคดีเล็กคดีน้อย จนถึงคดีที่ยุ่งยากสลับซับซ้อน รวมกับเหตุการณ์แต่ละหัวข้อที่ได้นำเสนอเอาไว้ จะพบว่ามีรายละเอียดมากมาย มีเบื้องหน้าเบื้องหลัง
แต่ต้องบันทึกไว้ด้วยว่า เป็นเหตุการณ์ที่เกิดมานานมากแล้ว
มันมีข้อผิดพลาด หลงลืมตกหล่นไปบ้าง
และทุกอย่างไม่สมบูรณ์
เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2525 ณ ห้องประชุมชั้น 5 ตึกอำนวยการ โรงพยาบาลตำรวจ เป็นสถานที่สำหรับผู้ที่จบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ จะต้องมาเลือกสถานที่ที่จะไปทำงาน หลังจากเลื่อนมาครั้งก่อน จากเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2525 ผมตัดสินใจเลือกไปทำงานที่ภาคใต้ ที่ สภ.อ.เมืองระนอง
ด้วยการที่ผมไม่มีข้อมูลอะไรเกี่ยวกับจังหวัดระนอง ผมจึงเดินทางไปหาความรู้ที่หอสมุดแห่งชาติ เกี่ยวกับจังหวัดระนอง ภาคใต้และถ่ายเอกสารแผนที่ของจังหวัดระนองมาเก็บเอาไว้ และข้อมูลเมื่อ 41 ปีที่แล้วบันทึกไว้ดังนี้
ระนองครองความ “เป็นที่สุด” อยู่หลายด้าน
น้อยที่สุด
– ตั้งอยู่บนแผ่นดินคอดกิ่วสุดของแหลมทอง
– พลเมืองน้อยที่สุด
– คนว่างงานน้อยที่สุด
– กิจกรรม ไร่-นา น้อยที่สุด
– ได้รับเงินผันน้อยที่สุด
มากที่สุด
– ธรรมชาติเขียวชอุ่มมากที่สุด
– ฝนตกชุกที่สุด (4340 ม.ม.)
– น้ำพุแร่ร้อนที่สุด (65 องศาเซลเซียส)
– มีชายฝั่งอันดามันต่อชายแดนพม่ายาวที่สุด (100 ก.ม.)
– มีป่าชายเลนสมบูรณ์ที่สุด
– มีแหล่งตกปลาชุมที่สุด
ชาวระนองต่างมีงานทำ มีรายได้เฉลี่ยสูงเป็นอันดับสามของประเทศ เฉพาะแร่อย่างเดียวก็ช่วยให้รัฐได้ค่าภาคหลวงปีหนึ่งหลายร้อยล้านบาท
แต่ภาพพัฒนาของระนองเป็นรองอยู่อันดับท้าย ดังนั้น คนระนองจึงต้องช่วยกันคิดและทำให้แผ่นดินไทยส่วนนี้มีคุณค่าควรแก่การภูมิใจร่วมกันยิ่งขึ้นอีก
นายพร อุดมพงษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง เขียนไว้ในหนังสือ ระนอง’24 เมื่อสิงหาคม 2524
มีคำบรรยายระนองในอดีต ดังนี้
เดิมระนองขึ้นอยู่กับชุมพร ต่อมารัชกาลที่ 4 โปรดฯ ให้เป็นหัวเมืองจัตวาขึ้นต่อกรุงเทพฯ โดยรวม เมืองตระ (กระบุรี) เข้าด้วย เมื่อไทยเสียมะริดแก่อังกฤษและปักปันเขตแดนโดยใช้แม่น้ำกระบุรีเป็นพรมแดน ระนองก็มีฐานะเป็นเมืองชายแดนตลอดมา และโดยที่มีแร่ดีบุกสมบูรณ์ จึงเป็นแหล่งส่งอากรแร่แก่ท้องพระคลังให้ใช้จ่ายทำนุบำรุงบ้านเมืองมาแต่โบราณ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จมาระนองและประทับที่พระที่นั่งรัตนรังสรรค์ จึงใช้เป็นตราจังหวัดระนองสืบมาจนทุกวันนี้
นักปกครองในอดีต คือ พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) ซึ่งมีผลงานไว้หลายแห่งในภาคใต้ ก็มีระนองเป็นแผ่นดินเกิด
จังหวัดระนองมีพื้นที่ราบเพียงเล็กน้อย จึงไม่ได้เพาะปลูกมากนัก
แต่มีการทำเหมืองแร่ถึง 130 แห่ง มีคนงานเหมือง 3,690 คน ผลิตดีบุกปีละ 40,000 หาบหลวง วุลแฟรม 775 หาบหลวง ค่าภาคหลวงแร่ปี 2523 จำนวน 208 ล้านบาท จึงมีชื่อว่า “ระนองเมืองแร่นอง” อีกชื่อหนึ่ง
การประมง มีเรือประมง 826 ลำ ลูกเรือ 9,950 คน ใช้น้ำมันเดือนละ 1.6 ล้านลิตร จับสัตว์น้ำได้ปีละ 130,000 ตัน มูลค่า 1,500 ล้านบาท นอกจากนั้น ยังมีการทำโรงเลื่อย และเตาเผาถ่าน
ระนองมีเกาะประมาณ 62 เกาะ เกาะใหญ่ได้แก่ เกาะสินไห เกาะช้าง เกาะพยาม เกาะหาดทรายดำ เกาะคนฑี เกาะตาครุฑ เกาะกำ ราษฎรยึดอาชีพประมง และปลูกมะม่วงหิมพานต์ มีการติดต่อประจำวันกับจังหวัดได้สะดวก อย่างช้าที่สุดใช้เวลา 3 ช.ม. และมีโรงเรียนประชาบาลในมาตรฐานเดียวกับจังหวัด
ความสัมพันธ์ชายแดน
ระนองมีช่องทางเข้าออกชายแดนไทย-พม่า ตามข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางชายแดน 3 ช่องทาง คือ ระหว่างปากน้ำเมืองระนองกับเกาะสอง (พม่าเรียกว่าเขาทอง) หรือแหลมวิกตอเรีย, ระหว่างอำเภอกระบุรีกับหมาราง และระหว่างทับหลีกับตลิ่งชัน โดยผ่อนผันให้ข้าราชการและประชาชนของทั้งสองประเทศได้ไปมาหาสู่เพื่อเยี่ยมเยียนญาติและซื้อขายเครื่องอุปโภคบริโภคกันได้ในรัศมีพื้นที่พรมแดนให้ผ่านเข้าออกทางช่องทางที่กำหนด โดยมีบัตรผ่านแดนที่ทางการของประเทศทั้งสองออกให้ ระหว่างเวลา 06.00-18.00 น.
มีคณะกรรมการชายแดนในระดับชาติ ระดับจังหวัด และระดับอำเภอ ปรึกษาหารือกันในปัญหาความมั่นคง การปราบปรามอาชญากรรมบริเวณชายแดน และการแลกเปลี่ยนข่าวสาร ซึ่งได้ประสานงานแก้ไขปัญหาต่างๆ ตลอดมา
ธรรมชาติที่ระนองทั้งป่าเขา ลำธาร น้ำตก ชายทะเล และเกาะน้อยใหญ่หลายสิบแห่ง ล้วนงดงามโดยไม่ต้องอาศัยการปรุงแต่ง มีว่านซึ่งขึ้นงอกงามเพราะอุณหภูมิระนองเฉลี่ยเพียง 22 องศาเซลเซียส จึงชุ่มเย็นตลอดปี ภูเขาลาดชันสลับซับซ้อนคล้ายยุโรป ภาพธรรมชาติของระนองปรากฏในเอกสารท่องเที่ยว และนิตยสารต่างๆ มากขึ้น และขณะนี้กำลังเป็นที่นิยมของนักกีฬาตกปลาว่ามีปลาชุมที่สุด
การติดต่อตามชายแดนกับพม่า มีท่าเรือที่สะพานปลา ปากน้ำระนองมีเรือหางยาวรับจ้างเกือบร้อยลำ ให้ความสะดวกรับส่งผู้โดยสารไปมากับเกาะสองของพม่าหรือแหลมวิกตอเรีย ใช้เวลาเดินทางเพียง 20 นาทีเท่านั้น
สถานที่น่าสนใจในระนอง
คอคอดกระ
พื้นดินส่วนที่แคบที่สุดของแหลมทอง อยู่ในอำเภอกระบุรี เป็นจุดสนใจของนานาชาติ ทางด้านเศรษฐกิจและยุทธศาสตร์การเดินเรือระหว่างประเทศ เมื่อมีการดำริที่จะขุดคลองย่นระยะทางการเดินเรือที่อ้อมแหลมมลายู
ถ้ำพระขยางค์
ภายในมีหินงอกหินย้อยงดงาม บนเขาเป็นดงว่านสรรพคุณขึ้นชื่อ อยู่ที่ตำบลลำเลียง ห่างจากอำเภอกระบุรี 16 ก.ม. แยกจากถนนเพชรเกษมเข้าไปเพียง 1 ก.ม.เศษ
น้ำตกปุญญบาล
น้ำตกไหลจากผาสูงตลอดปี อยู่ริมถนนเพชรเกษม ก่อนถึงระนอง 16 ก.ม. มีที่พักริมทาง ร้านอาหาร ร้านจำหน่ายของที่ระลึกและที่จอดรถสะดวกสบาย
หาดส้มแป้น
หาดทรายน้ำจืด ที่เกิดจากการทำเหมืองแร่ปล่อยทรายและหินภูเขาลงมาตามลำธาร ปัจจุบัน “หาดส้มแป้น” เป็นชื่อตำบล ห่างจากตัวเมือง 6 ก.ม. มีปลาพลวงขนาดใหญ่คล้ายปลาไนหรือปลาจีนนับหมื่น ว่ายเคล้าเคลียอย่างคุ้นเคยกับชาวบ้านที่ลงอาบน้ำในลำธารน้ำใส
หงาว
ชื่อตำบลริมถนนเพชรเกษม ด้านตะวันออกมีน้ำตกจากยอดผาสูงมองเห็นจากที่ไกล ด้านตะวันตกเป็นเนินหญ้า เหมือนปูพรมธรรมชาติโล่งไกลสวยงาม ชาวบ้านบางครั้งเรียก ภูเขาหัวโล้น เป็นที่พักผ่อนยามเย็น ชมธรรมชาติรอบด้านที่มีทั้งทิวเขาและชายฝั่งทะเล และเป็นสถานที่ที่เป็นฉากถ่ายทำภาพยนตร์หลายเรื่อง
บ่อน้ำแร่ร้อน
น้ำแร่ธรรมชาติร้อน 65-70 องศาเซลเซียส มีแร่ธาตุทรงคุณค่าทางอนามัยทั้งดื่มและอาบ พุจากใต้ดินที่ไหล่เขาริมฝั่งธารอยู่ในเขตเทศบาลเมืองระนอง มีผู้ขอสัมปทานนำไปกลั่นเป็นน้ำแร่สำหรับดื่ม จำหน่ายแข่งกับต่างประเทศ และมีโรงแรมต่อท่อตรงให้กับผู้พักได้อาบ องค์การบริหารส่วนจังหวัดระนองต่อท่อเข้าสระว่ายน้ำในสนามกีฬา นับเป็นสระว่ายน้ำแห่งเดียวในประเทศไทย ที่ใช้น้ำแร่แท้ให้อาบว่าย
สุสานเจ้าเมืองเก่า
สุสานก่อสร้างแบบจีน ที่ฝังศพตระกูล ” ณ ระนอง” ตั้งแต่ต้นตระกูล คือ พระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอซูเจียง) เจ้าเมืองระนองคนแรก สมัยรัชกาลที่ 3 อยู่ที่เชิงเขา “ระฆังทอง” ทิศตะวันตกของตัวเมือง
หาดบางเบน
หาดทรายธรรมชาติล้ำค่า และแหล่งกีฬาตกปลา อยู่ในโครงการส่งเสริมของจังหวัดให้เป็นที่พักผ่อนชายทะเล ห่างตัวเมือง 48 ก.ม. มีทางแยกจากถนนเพชรเกษมเข้าหาด 10 ก.ม. สามารถนั่งเรือไปเที่ยมชมธรรมชาติตามเกาะใกล้เคียงได้สะดวก
หาดประพาส
หาดสะอาดสวยงามตามธรรมชาติ แยกจากถนนเพชรเกษมเข้าไปเพียง 3 ก.ม. ที่ตำบลกำพวน อำเภอกะเปอร์ แหล่งปลาชุกชุมอีกแห่งหนึ่ง
ชมรมกีฬาตกปลาจังหวัดระนองได้จัดแข่งขันตกปลาครั้งแรกที่หาดประพาส
ชื่อ ระนอง มาจากคำว่า “แร่นอง” หมายถึงเป็นจังหวัดที่มีแร่อุดมสมบูรณ์ และป่าไม้ เป็นจังหวัดชายทะเล
ด้านตะวันตกติดต่อกับมหาสมุทรอินเดีย (ทะเลอันดามัน) และสหภาพพม่า
รูปร่างของจังหวัดเป็นรูปยาวรีและแคบ ความยาวจากเหนือสุดใต้ 169 กิโลเมตร และตอนที่แคบที่สุด 9 กิโลเมตร
มีเนื้อที่ 3,426 ตารางกิโลเมตร
ลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาและป่าไม้ 84% ตามชายทะเลมีเกาะเล็กเกาะน้อย 62 เกาะ อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ 580 กิโลเมตร หรือบางแห่งบอกว่า 614 กิโลเมตร
ทั้งหมดเป็นความรู้ที่ผมได้รับในเวลานั้น โดยที่ยังไม่เคยเห็นหน้าตาของจังหวัดระนองมาก่อนเลย
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022