รู้จัก ‘บล็อก’ เข้าใจฝนฟ้าอากาศ

ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติhttps://www.facebook.com/buncha2509

Multiverse | บัญชา ธนบุญสมบัติ

www.facebook.com/buncha2509

 

รู้จัก ‘บล็อก’ เข้าใจฝนฟ้าอากาศ

 

ในบทความเรื่อง รู้จักคลื่นความร้อนให้ถึงแก่น (1) ก่อนหน้านี้ หรืออ่านได้ที่ https://www.matichonweekly.com/column/article_754337 ผมได้เล่าว่าสาเหตุของคลื่นความร้อน ได้แก่ การที่มีความกดอากาศสูงระดับสูงมาปกคลุมอยู่เหนือพื้นที่หนึ่งๆ เป็นเวลานาน ลักษณะลมฟ้าอากาศเช่นนี้อาจมองให้อีกแง่หนึ่งเรียก บล็อก (block)

บล็อกคืออะไร? มีรูปแบบหลักๆ อะไรบ้าง? และแต่ละรูปแบบสำคัญยังไง? ลองมาดูกันครับ

บล็อกในบรรยากาศ (Atmospheric Blocking) คือ สภาวการณ์ซึ่งความกดอากาศสูง และ/หรือความกดอากาศต่ำ เกิดขึ้นเหนือบริเวณหนึ่งๆ และกีดขวางการไหลของกระแสอากาศไม่ให้ทะลุผ่านเข้าไปในบริเวณนั้น ผลก็คือ สภาวะฝนฟ้าอากาศในแต่ละบริเวณที่มีความกดอากาศสูง (หรือต่ำ) จะคงตัวอยู่ในสภาพหนึ่งๆ ค่อนข้างนาน อาจจะหลายวัน หรือหลายสัปดาห์ก็ได้

ขอแนะนำบล็อกแบบแรก ได้แก่ บล็อกกิ้งไฮ (Blocking High) ในภาพที่ 1 ตัวอักษร H คือ ความกดอากาศสูง (High) ซึ่งจะกดอัดอากาศที่อยู่ต่ำกว่าให้จมลง ผลก็คือท้องฟ้าในบริเวณที่อากาศจมตัวลงจะปลอดโปร่ง อากาศในบรรยากาศชั้นล่างอุ่นขึ้น และเกิดสภาพอุณหภูมิผกผัน (inversion) ทำให้ความร้อนถูกเก็บกักที่พื้นผิวโลก นั่นคือเกิดคลื่นความร้อน (heat wave)

ในสหรัฐอเมริกาพบว่าบล็อกกิ้งไฮมักจะเกิดในช่วงฤดูร้อน และเป็นสาเหตุของคลื่นความร้อนครั้งสำคัญๆ

Blocking High-diagram
ภาพที่ 1 : บล็อกกิ้งไฮ

คราวนี้มาดูบล็อกอีกแบบ ได้แก่ เร็กซ์บล็อก (Rex Block) ในภาพที่ 2 กันบ้าง

รูปแบบคือการไหลของกระแสอากาศคล้ายกับตัว S พลิกกลับตามดิ่ง โดยทางฝั่งใกล้ขั้วโลกมีความกดอากาศสูง H และอีกฝั่งมีความกดอากาศต่ำ L คำว่า Rex ตั้งตามชื่อของ Dr. Daniel F. Rex ผู้วิเคราะห์รูปแบบนี้ในปี ค.ศ.1950

บริเวณความกดอากาศต่ำจะมีพายุฝนฟ้าคะนอง ในขณะที่บริเวณความกดอากาศสูงจะมีสภาพอากาศแห้ง ในกรณีที่เร็กซ์บล็อกคงตัวอยู่นาน พื้นที่ใต้บริเวณความกดอากาศต่ำอาจเกิดน้ำท่วม และพื้นที่ใต้บริเวณความกดอากาศสูงอาจเกิดภัยแล้งในช่วงสั้นๆ

รูปแบบเช่นนี้จะคงตัวอยู่จนกว่าจุดศูนย์กลางของความกดอากาศตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งมีกำลังแรงเปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้รูปแบบโดยรวมไม่สมดุล

บล็อกอีกแบบหนึ่งความกดอากาศสูง H อยู่ทางเหนือ และความกดอากาศต่ำอยู่ทางใต้ ทำให้กระแสลมกรดที่มาจากทิศตะวันออกแยกออกเป็นสองสายดังภาพที่ 3 แบบนี้เรียกว่า ดิฟฟลูเอินต์บล็อก (Diffluent Block) คำว่า diffluent แปลว่า ไหลแยกออกไปในทิศทางแตกต่างกัน

Rex Block-diagram
ภาพที่ 2 : เร็กซ์บล็อก

แบบสุดท้ายในบทความนี้ ได้แก่ โอเมก้าบล็อก (Omega Block) ในภาพที่ 4 นั่นคือ ความกดอากาศสูง H ถูกประกอบสองข้างซ้ายและขวาด้วยความกดอากาศต่ำ ส่งผลให้การไหลของกระแสอากาศหรือกระแสลมกรดมีแนวเบี่ยงโค้งเป็นรูปตัวอักษรกรีก?

พื้นที่บริเวณความอากาศสูงท้องฟ้าจะแจ่มใสและอากาศอุ่น ส่วนพื้นที่บริเวณความกดอากาศต่ำจะเย็นกว่าและอาจมีหยาดน้ำฟ้าตกลงมาได้

น่ารู้ด้วยว่าโอเมก้าบล็อกนี่เองที่เป็นสาเหตุการเกิดคลื่นความร้อนที่ยุโรปหลายครั้ง

แม้ว่าบล็อกในบรรยากาศทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นตัวอย่างในต่างประเทศ แต่เรื่องฝนฟ้าอากาศเป็นเรื่องใกล้ตัวและควรใส่ใจ อย่างน้อยๆ คุณผู้อ่านก็จะได้เข้าใจข่าวได้ลุ่มลึกยิ่งขึ้น หรือถ้าจำเป็นต้องเดินทางไปยังพื้นที่อื่นๆ ในโลก ยิ่งควรศึกษาประเด็นนี้ให้ชัดเจน เพื่อให้เตรียมตัวรับกับมือกับสภาพฝนฟ้าอากาศที่กำลังเกิดขึ้นในพื้นที่นั้นๆ ครับ

Diffluent Block-diagram
ภาพที่ 3 : ดิฟฟลูเอินต์บล็อก
Omega Block-diagram
ภาพที่ 4 : โอเมก้าบล็อก