คำ ผกา | แล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ

คำ ผกา

ช่วงนี้ฉันจำนนต่อประโยคที่ว่า “อะไรที่ไม่คิดว่าจะได้เห็นก็ได้เห็น”

และอะไรที่คิดว่าจะไม่ได้เห็นก็ได้เห็นมากที่สุด คือความตื่นตัวทางการเมือง ที่ไม่ได้จำกัดอยู่ในหมู่นิสิต-นักศึกษาที่บรรลุวุฒิภาวะแล้วเท่านั้น แต่นักเรียนที่ดูเหมือนว่าไม่เพียงแต่มัธยมต้น แต่ประถมปลายก็เข้ามามีส่วนในบทสนทนาและความตื่นตัวทางการเมืองนี้ด้วย

และที่มันย้อนแย้งมากคือ กลุ่มนักเรียน “เด็ก” ที่ตื่นตัวทางการเมืองมาก ออกมาปราศรัยแหลมคมมาก

มีความรู้เรื่องประวัติศาสตร์การเมืองไทยร่วมสมัยค่อนข้างดี

และแนวคิดเชิงวิพากษ์ต่อระบบอำนาจนิยมในโรงเรียนอย่างแหลมคม คือ กลุ่มนักเรียนจากโรงเรียนที่ค่อนข้างเป็นชนชั้นกลางระดับบนๆ เรียนโรงเรียน “ดัง” ซึ่งเรา (รวมทั้งตัวฉันเอง) สันนิษฐานว่า มันคือระบบการศึกษาที่มีไว้เพื่อผลิตเครื่องมือสืบทอดอุดมการณ์ “รัฐ” กระแสหลัก เพื่อดำรงไว้ซื่งอำนาจของกลุ่มอนุรักษนิยมไทย

คลิปหนังสั้นว่าด้วยบทสนทนาแม่ลูก เรื่องความเห็นต่างทางการเมืองล่าสุดที่ว่ากันว่าทำโดยกรมประชาสัมพันธ์ แต่กรมประชาสัมพันธ์บอกว่าตัวเองไม่ได้ทำ (แต่ก็ช่างเถอะ) สะท้อนความกังวลใจของฝ่ายอนุรักษนิยมไทยว่า “คุณค่า” อันเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจของตนเองกำลังถูกสั่นคลอนและอาจพังทลายลงในไม่ช้า

และไม่ใช่จาก “ควายแดง” ที่ไหน แต่มาจากลูกหลานในบ้านที่เราสู้อุตส่าห์ถนอมกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงดูมากับมือ

ขอวิเคราะห์อย่างหยาบๆ ซึ่งอาจจะผิด แต่เพื่อเอาไว้ไปถกเถียงกันต่อ

ความขัดแย้งของการเมืองไทยร่วมสมัยที่เป็นความขัดแย้งแบบแตกหักเชิงอุดมการณ์จริงๆ ไม่ใช่แค่ขัดแย้งเพราะไม่ชอบนายกฯ หรือเป็นความโกรธเกรี้ยวเรื่องการคอร์รัปชั่น

ในประเทศไทยที่ผ่านมา น่าจะมีแค่ 2475 และหลัง 6 ตุลาฯ ที่นักศึกษาและนักเคลื่อนไหวหันไปหาพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย

แต่หลังจากนั้นสังคมไทยไม่มีความขัดแย้งทางอุดมการณ์ทางการเมืองในระดับที่จะไม่ลงรอยกันในส่วนที่เป็น “แกน” ของการเมืองเลยแม้แต่น้อย (ยกเว้นในส่วนของสามจังหวัดภาคใต้ ซึ่งต้องแยกไปอภิปรายออกไปต่างหาก)

และแม้แต่พฤษภาทมิฬ ที่ไม่ได้มีปัญหากับการรัฐประหารด้วยตัวของมันเองเท่ากับตอนที่บอกว่า “ถ้าสุไม่เอาก็ให้เต้” พูดได้ว่าที่ปะทุเป็นเรื่องเป็นราวครั้งนั้นเป็นเรื่องของรายละเอียด แต่ไม่ใช่ตัวหลักการใหญ่

ตอนจบของพฤษภาทมิฬจึงสามารถปรองดองกันได้อย่างราบรื่น เพราะเราไม่ได้ขัดแย้งกันเรื่องอุดมการณ์จริงๆ

จนมีรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งฉันอยากจะเรียกว่านี่คือยุคทองของการเมือง “คนดี” ในภาค “ประชาสังคม”

รัฐธรรมนูญปี 2540 สร้างสมดุลของการมีประชาธิปไตย “เต็มใบ” นั่นคือ การออกแบบระบบการเมือง การเลือกตั้งที่นำไปสู่การมีพรรคการเมืองแค่สองพรรคใหญ่ จบสิ้นระบบนิเวศแบบหลายมุ้ง อันก่อให้เกิดงูเห่า, การเมืองแบบเจ้าพ่อระบบอุปถัมภ์, ได้นายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้ง ขณะเดียวกัน เหล่า “คนดี” ที่ขับเคลื่อนในภาคประชาสังคม สบายใจกับการมีองค์กรอิสระมาตรวจสอบการทำงานของนักการเมือง พรรคการเมือง นอกเหนือไปจากการถ่วงดุลแบบสามอำนาจปกติ คือ นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ

นอกจากการตรวจสอบรัฐบาลตามระบบรัฐสภา ก็มีการตรวจสอบรัฐบาลโดยองค์กรอิสระ สุดท้ายในยุคนั้น กลุ่มเอ็นจีโอและภาคประชาสังคมมีความเข้มแข็งอย่างยิ่ง และน่าจะเป็นยุคทองของเอ็นจีโอจริงๆ

ทั้งในแง่ของพลังในการตรวจสอบรัฐบาล (อีกด้านหนึ่งคือ ในยุคนั้น เอ็นจีโอขับเคลื่อนในระดับที่เข้าไปล็อบบี้กับฝ่ายการเมืองได้แล้วด้วยซ้ำ)

และการได้รับเงินทุนสนับสนุนบางส่วนจากรัฐบาลเองด้วยซ้ำไป

จนเกิดข้อครหาว่า อ้าว แล้วจะตรวจสอบการทำงานของรัฐได้จริงหรือไม่

ผลพลอยได้สองประการ จากรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่มันย้อนแย้งกันเองคือ

หนึ่ง เกิดพรรคการเมืองที่ผูกขาดเสียงข้างมากในสภา เพราะสามารถดำเนินนโยบายได้จริงตามที่ไปหาเสียงเอาไว้ เกิดกระแสทักษิณฟีเวอร์ จากคนรากหญ้า และด้วยกลไกของการปฏิรูประบบราชการ, การกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่น, นโยบายทางเศรษฐกิจที่ทำให้ภาคชนบทอู้ฟู่ขึ้นอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

ก่อให้เกิดตัวละครใหม่ในฉากทัศน์การเมืองไทยนั่นคือกลุ่มคนที่ครั้งหนึ่งถูกเรียกว่า ชาวบ้าน ชาวนา ชาวชนบท บ้านนอก โง่ จน และเจ็บ

คนเหล่านั้นในจำนวนมหาศาล กลายมาเป็น voters ทางการเมืองที่ทรงพลัง เสียงดัง มีอิทธิพลชี้เป็นชี้ตายต่อทิศทางการเมืองระดับชาติ

ปรากฏการณ์นี้คุกคาม status quo ของกลุ่มชนชั้นนำเก่า

และส่อแววว่ามันจะไปสั่นคลอน “ระเบียบทางการเมืองเก่า” ที่รัฐธรรมนูญ 2540 พยายามจะรักษาเอาไว้โดยละมุนละม่อม

ผลพลอยได้ประการที่ 2

ยุคทองของเอ็นจีโอและการเมืองภาคประชาสังคมแบบไทยบวกกับการออกแบบรัฐธรรมนูญให้มีองค์กรอิสระ ที่เราเชื่อกันว่าเป็นองค์กรที่อยู่เหนือการเมืองและมาจาก “คนดี” มากำกับนักการเมืองอีกทีหนึ่ง

ทำให้เกิดวัฒนธรรมการเมืองแบบหมอประเวศ วะสี ซึ่งฉันขอเรียกง่ายๆ ว่าเป็นวัฒนธรรมการเมืองแบบนีโอฮิปปี้

กลุ่มคนที่สมาทานความคิดนี้ จะเชื่อไว้ก่อนว่าการเมืองด้วยตัวของมันเองสกปรก ตะกละ จอมปลอม จากนั้นก็มองว่าภาวะตกต่ำล้มละลายของโลกและมนุษยชาติเกิดจากนักการเมืองที่โลภ เลว แสวงหาผลประโยชน์ ร่วมกับพวกทุนสามานย์ มีนโยบายการพัฒนาที่เน้นวัตถุ ละเลยมิติทางจิตวิญญาณ

ดังนั้น เราจะกู้โลกด้วยการมีประชาธิปไตยทางตรงบ้างล่ะ มีประชาธิปไตยแบบเน้นหาผู้นำตามธรรมชาติบ้าง (อารมณ์หมู่บ้านหนึ่งมีคนคนหนึ่งเป็นที่นับของชาวบ้าน ตัวเขาไม่เคยอยากเป็นผู้นำ ไม่เคยอยากสมัครเป็นผู้นำ แต่ก็ได้เป็นผู้นำเพราะชาวบ้านทุกคนยกย่องให้เขาเป็น)

เราต้องละทิ้งเกษตรอุตสาหกรรม หันไปทำเกษตรผสมผสาน พออยู่พอกิน

ช่วงนั้น เป็นยุคทองของปราชญ์ชาวบ้านด้วย เราต้องเป็นอิสระจากนายทุน ต้องไม่ซื้อปุ๋ย ซื้อยา ทำสวน ทำการเกษตรแบบคนขี้เกียจ

ทีนี้ในความนีโอฮิปปี้ ก็ต้องเน้นจิตวิญญาณ พุทธ เต๋า ปรัชญาตะวันออก โอโช ทะไลลามะ โยคะ ฯลฯ อะไรที่เป็นนิวเอจทางศาสนา จิตวิญญาณ นี่จะฮิตมากในหมู่ปัญญาชนสาธารณะไทย

จากนั้นก็มาสู่กระแสของการไปแห่แหนพระสงฆ์สายนิวเอจ ว่านี่คือ ความทันสมัย ร่วมสมัย ความเป็นสากล และความเป็นพุทธแท้ มีปรัชญา ความรู้ อะไรก็ว่าไป

ความย้อนแย้งมันจึงเกิดขึ้น ณ จุดนี้ด้วย นั่นคือ ภาวะนีโอฮิปปี้ ขัดแย้งกับวัฒนธรรมอำนาจนิยมแบบไทยๆ โดยเฉพาะที่เป็นมรดกตกทอดอยู่ในระบบราชการ ระบบการศึกษา แม้กระทั่งในอาณาบริเวณของงานศิลปหัตถกรรม ไลฟ์สไตล์ รสนิยม

ในยุคทองของเอ็นจีโอ และยุคทองของคนไทยชั้นกลางที่สมาทานรสนิยม ไลฟ์สไตล์ และความฝันแบบนีโอฮิปปี้บวกนิวเอจ จึงเกิดกระแสที่เรียกว่า อัลเทอร์เนทีฟ ในหมู่ปัญญาชน คนชั้นกลาง

ตั้งแต่เรื่องโฮมสกูล, โรงเรียนทางเลือก, ชีวิตทางเลือก (ออกจากงานประจำ ออกจากการเป็นเอเยนซี่ ศิลปิน นักเขียน ในกรุง ไปมีชีวิตทางเลือก เรียบง่ายกลางนา กลางดง กลางสวน) ฯลฯ

มรดกของความฮิปๆ ชีวิตทางเลือกนี้คือ การวิพากษ์วิจารณ์ ความอนุรักษนิยมทางวัฒนธรรม ไลฟ์สไตล์ รสนิยม และถ้าจะมีอะไรที่ใกล้เคียงกับความเป็นการเมืองมากที่สุดอันเกิดจากคนกลุ่มนี้คือ เรื่องเพศ เรื่องระบบการศึกษา และเรื่องสิ่งแวดล้อม

คนเหล่านี้เมื่อมีลูก ได้เลี้ยงลูกด้วยแนวคิดเยี่ยงคนมีการศึกษาของประเทศโลกที่หนึ่ง นั่นคือ เลี้ยงอย่างมีอิสระ ใช้วินัยเชิงบวก ถ้าไม่โฮมสกูลลูกเอง ก็เลือกโรงเรียน “ทางเลือก” ที่ห่างไกลจากการใช้วัฒนธรรมอำนาจนิยมอันเป็นมาตรฐานของโรงเรียนทั่วไป

บ้างก็ให้ลูกเข้าโรงเรียนที่ดังที่สุด มีเด็กเรียนเก่งที่สุด ระบบของโรงเรียนบ้าอำนาจที่สุด แต่ก็ยังสามารถสอนให้ลูกรู้เท่าทันระบบอำนาจนิยมในโรงเรียน และความที่พ่อ-แม่มีการศึกษา มีฐานะ ก็สามารถสร้างอำนาจต่อรองกับทางโรงเรียนได้

และยังอาจช่วยสนับสนุนให้ลูกก่อการ “ขบถ” ให้โรงเรียนได้สำเร็จอย่างน่าภาคภูมิใจอีกด้วย

เช่น ช่วยให้ลูกต่อรองเรื่องระเบียบทรงผมกับทางโรงเรียนได้

ความย้อนแย้งที่น่าชวนหัวที่สุดจึงบังเกิด เพราะทั้งหมดนี้มันทำให้เราเห็นว่า อ้อ กลุ่มคนที่เลี้ยงลูกแบบลิเบอรัลที่สุดส่วนใหญ่คือกลุ่มพ่อ-แม่สลิ่ม และพ่อ-แม่สลิ่มนี่แหละที่เกลียดทักษิณ เกลียดนักการเมือง และรังเกียจ “การเมือง” แบบการเลือกตั้งมากที่สุด

แล้วก็บังเอิ๊นนนนว่า ทั้งทักษิณ ทั้ง “สลิ่ม” ก็เป็นผลพลอย (ไม่อยาก) ได้ของรัฐธรรมนูญปี 2540 ด้วยกันทั้งคู่

ลองคำนวณเล่นๆ ถ้าคนเหล่านี้มีลูกปี 2543 ตอนนี้ลูกๆ พวกเขาอายุ 20 ถ้าคนเหล่านี้มีลูกปี 2549 ตอนนี้ลูกๆ พวกเขาอายุ 14

และคือคนในเจเนอเรชั่นนี้ใช่หรือไม่ที่กำลังออกมาแผลงฤทธิ์ใส่เผด็จการอย่างไม่เกรงหน้าอินทร์หน้าพรหมอยู่ตอนนี้

ฉันไม่อยากจะฟันธงว่าพ่อ-แม่สลิ่มนี่แหละด้วยความพาซื่อไปเลี้ยงลูกแบบสมัยใหม่ให้เสรีภาพในการคิดการพูด เสริมทักษะการอ่าน การคิด ทักษะภาษาอังกฤษ คอมพิวเตอร์ ไอที กีฬา ความคิดสร้างสรรค์ ศิลปะ เพลง ดนตรี ภาพยนตร์ การอ่าน ทุกอย่างเต็มเหนี่ยว ด้วยคิดว่ามันคือการสะสมพริวิเลจ สำหรับการครองตัวครองตนเป็น “ชนชั้นนำ” ต่อไปในอนาคต

ซึ่งถ้าไม่มีรัฐประหารสองครั้งติดๆ กัน จากปี 2549 มาปี 2557 โลกมันจะสดสวยสมความฝันสลิ่มที่ได้ให้การศึกษาลูกหลานตัวเองมาอย่างถูกต้อง

ส่วนลูกหลานประชาชนชาวรากหญ้าก็คงมีชีวิตดีไปตามกลไกตลาดเสรี เรียนฟรี 12 ปีแรก จากนั้นกู้ กยศ.เรียนต่อเมื่อจบมัธยม ทำงานสร้างเนื้อสร้างตัวในประเทศที่อย่างน้อยก็มีประชาธิปไตย มีการเลือกตั้ง มีความพยายามสร้างช่องทางในการเข้าถึงโอกาสในทุกเรื่องให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

แต่เรื่องไลฟ์สไตล์และความเก๋ ความชิค ในการใช้ชีวิตนั้นก็ย่อมเป็น “ทุน” ของกลุ่มปัญญาชนคนชั้นกลางนิวเอจอย่างที่ไม่มีใครช่วงชิงไปได้อยู่แล้ว

แต่การณ์กลับไม่เป็นเช่นนั้นเมื่อเกิดการ fabricate เรื่องราวว่าด้วยผีทักษิณขึ้นมาจนเกิดรัฐประหารปี 2549

กลุ่มชนชั้นกลาง ส่วนใหญ่ของปัญญาชนไทยที่คิดว่าตัวเองเก๋มาก อินเตอร์มาก ชิคมาก เก๋มาก มีความรู้มาก รสนิยมดีมาก และเลี้ยงลูกได้ทันสมัย เสรีนิยมมากนั้นกลับเป็นกลุ่มคนที่ตกม้าตายในเรื่องประชาธิปไตย 101 มากที่สุด

คือกลุ่มคนที่ตกเป็นเหยื่อโฆษณาชวนเชื่อของลัทธิไทยนิยม (ความเป็นไทยๆ ที่ดีกว่าใคร และไม่จำเป็นต้องเหมือนใคร เพราะเรามีสิ่งที่ไม่มีใครเหมือน) ที่เกิดขึ้นในช่วงสงครามเย็นมากที่สุด

และคือกลุ่มคนที่ตกเป็นเหยื่อวาทกรรมการเมืองเรื่องคนดีที่สร้างขึ้นโดยสำนักหมอประเวศหนักที่สุด และทำให้พวกเขากลายมาเป็นกลุ่มคนที่เราเรียกว่า “สลิ่ม” มาจนถึงทุกวันนี้

สําหรับไพร่เสื้อแดงในวันนู้น ถ้ามีลูก โอกาสที่ลูกจะกลายเป็นสลิ่มจะมีกี่เปอร์เซ็นต์ ฉันไม่แน่ใจ

แต่สำหรับสลิ่มในวันนู้น (และในวันนี้)

โอกาสที่ลูกจะกลายมาเป็นกลุ่มวัยรุ่นที่เรียกร้องหาความเป็นประชาธิปไตย ต้องการล้างบางวัฒนธรรมอำนาจนิยมนั้น น่าจะมีอยู่สูงมาก มากเสียจนสามารถแปรเป็นแฮชแท็ก ทำอย่างไรให้พ่อ-แม่เลิกดู “เนชั่น” ได้

พูดให้ง่ายลงไปอีกคือ ลูกของสลิ่มในวันนู้นคือ anti-สลิ่มในวันนี้ ซึ่งก็ช่วยไม่ได้ เพราะสลิ่มดันเลี้ยงลูกแบบ “อินเตอร์” ซึ่งมันไม่สอดคล้องกับระบบการเมืองที่สลิ่มอยากรักษาเอาไว้

และยิ่งเจอตัวเร่งปฏิกิริยาเป็นรัฐบาลที่ห่วยในทุกมิติอย่างช่วยไม่ได้ ก็ยิ่งทำให้เด็กที่ถูกเลี้ยงดูมาเพื่อให้ฉลาด รับไม่ได้และเข้าใจไม่ได้ว่าทำไมพ่อ-แม่ของเขารับได้

จึงช่วยไม่ได้ที่เขาจะบอกว่า “พอแล้ว ให้มันจบที่รุ่นเรา”

คลิปวิดีโอแม่ๆ ลูกๆ ที่เผยแพร่ในยูทูบของกรมประชาสัมพันธ์นั้นจึงเละเป็นโจ๊ก เพราะมันเปิดเปลือยความดัดจริตเป็นเสรีชนของอีกคนที่เป็นแม่สะท้อนตัวตนความเป็นสลิ่มที่ fake ตัวเองว่ามีรสนิยม และไลฟ์สไตล์แสนศิวิไลซ์ เลี้ยงลูกมาแบบสมัยใหม่เต็มที่

แต่ลึกๆ แล้วไม่ได้เห็น “ความสมัยใหม่” นั้นเท่ากับศักดิ์ศรีและความเสมอภาคของมนุษย์

แต่แค่หวังใช้ “ความสมัยใหม่” นั้นเป็นเครื่องมือในการต่อทุนสืบทอดของพริวิเลจของตัวเองบนหลังคนจนและคนด้อยโอกาส

ถึงวันนี้ใครที่มีพ่อ-แม่สลิ่ม ลูกๆ เขาก็คงอยากจะบอกพ่อและแม่ว่า เขาก็รักและรู้ซึ้งถึงความรักความทุ่มเทที่พ่อ-แม่มีให้แก่ลูกแหละ

แต่รักก็ส่วนรัก เรารักพ่อ-แม่ แต่มันไม่มีเหตุผลอะไรที่เราต้องเป็นสลิ่มเหมือนพ่อ-แม่

นั่นแหละ และความเคลื่อนไหวจึงปรากฏ

พี่ช่ง พี่ชาติ อะไรก็ไม่ต้องพยายามแล้วนะ