40 ปี รัฐประหาร 26 มีนาคม (4) เดิมพันชีวิตและคำสัญญาสุดท้าย | สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ตอน 1  2  3

 

“เมื่อเริ่มคิดจะทำการปฏิวัติก็ต้องรับรู้ด้วยว่า ฝ่ายปฏิวัตินั้นเป็นรอง ชนิด 100 เอา 1 เมื่อเทียบกับรัฐบาล ฝ่ายปฏิวัติเป็นฝ่ายเสียเปรียบทุกอย่าง ความพ่ายแพ้ของฝ่ายปฏิวัติหมายถึงชีวิต แต่รัฐบาลนั้นอาจจะเพียงแค่เสียอำนาจ”

พันโทรณชัย ศรีสุวรนันท์

ยุทธการยึดเมือง (2529)

ในช่วงราวบ่ายสองโมงของวันที่ 26 มีนาคม 2520 กองกำลังจากกาญจนบุรีก็เริ่มวางอาวุธ สภาวะเช่นนี้บ่งบอกอย่างชัดเจนถึงความพ่ายแพ้ที่กำลังจะเกิดขึ้นแก่คณะผู้ก่อการ แล้วหลังจากนั้นก็เกิดการเจรจาขึ้นระหว่างฝ่ายยึดอำนาจกับตัวแทนของรัฐบาล

และการพูดคุยจบลงด้วยการประกาศแถลงการณ์ฉบับที่ 8 ของกองอำนวยการรักษาความสงบทั่วไป สาระสำคัญของแถลงการณ์นี้ก็คือ “ผ่อนผันให้บุคคลชั้นหัวหน้าของกลุ่มจำนวน 5 คนเดินทางออกนอกประเทศได้”

ความพยายามในการก่อรัฐประหารของพลเอกฉลาดจบลงด้วยความพ่ายแพ้ และตามมาด้วย “คำสัญญา” ให้คณะผู้ก่อการเดินทาง “ลี้ภัย” ออกไปจากประเทศไทย

พลเอกฉลาด ซึ่งเพิ่งจะพบกับคำสัญญาที่ไม่เป็นจริงในการเคลื่อนกำลังในเช้าวันที่ 26 มีนาคม แต่เขาก็ยังคงเชื่อต่อคำสัญญาจากนายทหารชั้นผู้ใหญ่ในกรุงเทพฯ อีกครั้งอย่างไม่มีทางเลือก

คำสัญญาครั้งที่ 2 สำหรับพลเอกฉลาดและคณะ จึงเป็นความท้าทายกับชีวิตและอนาคตของพวกเขาเป็นอย่างยิ่ง

เจรจายุติศึก

ในสถานการณ์ที่ฝ่ายรัฐประหารเป็นฝ่ายถอยร่นอย่างมาก อันเป็นผลจากการขาดกำลังสนับสนุนจากหน่วยกำลังในกรุงเทพฯ ประกอบกับเกิดกรณีการเสียชีวิตของ พลตรีอรุณ ทวาทศิน ขึ้น ซึ่งส่งผลอย่างมากต่อภาพลักษณ์ของคณะผู้ก่อการ

และภายใต้แรงกดดันเช่นนี้ โอกาสที่คณะผู้ยึดอำนาจจะพลิกกลับสถานการณ์เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลย

ประกอบกับมีความพยายามในการเจรจายุติปัญหา และผู้ที่มีบทบาทอย่างสำคัญในการเจรจาที่จะต้องให้เครดิตอีกท่านหนึ่งก็คือ พันตรีสุรยุทธ์ จุลานนท์ (ยศในขณะนั้น) เพราะความเป็นเพื่อนนักเรียนเตรียมทหารรุ่นเดียวกันกับพันตรีอัศวิน (บุตรชายของพลเอกฉลาด)

การประสานของพันตรีสุรยุทธ์ก็เพื่อเปิดทางให้แก่ พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ (ดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการทหารสูงสุดในขณะนั้น) เป็นตัวแทนฝ่ายรัฐบาลเข้ามาพูดคุยหย่าศึก

ทุกอย่างดูจะเป็นไปได้ด้วยดี พลตรีสนั่นกล่าวถึงผลของการเจรจาว่า พลเอกเกรียงศักดิ์ได้พูดคุยกับพลเอกฉลาดและเสนอให้คณะผู้ก่อการทั้ง 5 นายลี้ภัยไปอยู่ที่ไต้หวัน

และพลตรีสนั่นยังได้รับจดหมายของพลเอกเกรียงศักดิ์ โดยพลเอกเกรียงศักดิ์ให้ติดต่อกับเสนาธิการทหารของไต้หวัน ซึ่งเป็นเพื่อนกับท่านเอง ซึ่งในบันทึกของพลตรีสนั่นกล่าวถึงเหตุการณ์ในตอนนี้ว่า “ถ้าผมกับคณะไปถึงไต้หวัน ก็ให้เอาหนังสือฉบับนี้ให้กับ เสธ.ทหารไต้หวัน เขาจะดูแลอย่างดี ไม่ต้องห่วง”

แล้วคณะผู้ก่อการทั้งห้าก็ยอมที่จะยุติปัญหาการยึดอำนาจ พร้อมกับมีการสั่งถอนกำลังกลับกาญจนบุรี

พวกเขาออกจากสวนรื่นฯ ไปที่บ้านพลเอกฉลาด โดยมีพลเอกเกรียงศักดิ์นั่งไปในรถด้วย เพื่อเตรียมตัวเดินทางออกนอกประเทศ

พลตรีสนั่นกล่าวไว้ในบันทึกว่า เขาไม่ไว้ใจพลเอกเกรียงศักดิ์เท่าใดนัก เพราะทราบดีว่าความสัมพันธ์ระหว่างพลเอกเกรียงศักดิ์และพลเอกฉลาดนั้นอยู่ในลักษณะที่ “ทั้งสองปีนเกลียวกันมาก่อนแล้ว”

ความไม่ไว้วางใจเช่นนี้ทำให้พลตรีสนั่นกล่าวกับพลเอกเกรียงศักดิ์ว่า “ถ้าหักหลังผมยิงนะ” แต่พลเอกเกรียงศักดิ์ก็กล่าวอย่างใจเย็นว่า “จะทำอย่างนั้นได้อย่างไร ทหารเรากินข้าวกiะทะเดียวกันมา จะหักหลังกันไม่ได้ ฆ่ากันไม่ได้”

ว่าที่จริงแล้วบทสนทนาระหว่างผู้แพ้และผู้ชนะเป็นดังการวัดใจกัน และไม่ชัดเจนว่าในสถานการณ์เช่นนี้ ฝ่ายรัฐบาลได้เตรียม “ซ้อนแผน” การอนุมัติให้ลี้ภัยอย่างใดหรือไม่

เพราะในระหว่างที่พวกเขากำลังเก็บของเพื่อเตรียมลี้ภัยออกนอกประเทศนั้น แถลงการณ์ของรัฐบาลกลับระบุว่า ผู้ก่อการทั้ง 5 นาย “ได้เดินทางออกนอกประเทศไปแล้ว”

วันของผู้แพ้!

สําหรับผู้แพ้ที่ไม่มีกำลังทหารในมือนั้น ย่อมไม่มีแต้มต่ออะไรเหลืออยู่แต่อย่างใด คณะผู้ก่อการจำเป็นต้องยอมรับข้อเสนอของรัฐบาล แม้จะมองว่ามีแต้มต่อเหลืออยู่ประการเดียวก็คือ การมีพลเอกเกรียงศักดิ์อยู่ในมือก็ตาม

แต่เมื่อพวกเขาเดินขึ้นเครื่องของสายการบินไชน่าแอร์ไลน์ เที่ยวบิน 804 ที่จอดรอเพื่อเตรียมเดินทางสู่กรุงไทเป พลเอกเกรียงศักดิ์ได้แยกออกไป และขณะเดียวกันผู้ก่อการทั้งหมดถูกขอให้มอบอาวุธ เพราะจะต้องขึ้นเครื่องบินแล้ว

ถึงตอนนี้พลตรีสนั่นเล่าว่า “ผมและพวกเราก็ตายใจมอบอาวุธ แล้วเดินไปขึ้นรถที่เขาเตรียมไว้ให้”

พลตรีสนั่น ขจรประศาสน์

ในความเป็นจริงคงไม่มีใครคิดเป็นอื่นแล้ว เพราะพวกเขาเตรียมตัวขึ้นเครื่องบินไปไต้หวัน สถานการณ์รัฐประหารที่ล้มเหลวกำลังจะจบแบบ “แฮปปี้เอนดิ้ง” ตามแบบไทยๆ

แต่เมื่อพวกเขาขึ้นไปบนเครื่อง สถานการณ์ดูจะกลายเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

พลตรีสนั่นกล่าวถึงเหตุการณ์ในขณะนั้นว่า

“ผมถึงกับสะดุ้ง เมื่อมองไปข้างหลังเห็นคนนั่งกันเต็มหมด แต่ไม่มีใครใส่เสื้อนอกสักคนเดียว มีแต่ใส่เสื้อเชิ้ตธรรมดา แล้วที่นั่งเหลือเอาไว้ให้เราเพียงห้าที่ข้างหน้าเท่านั้น ผมถึงกับกระซิบบอก พลเอกฉลาด หิรัญศิริ ว่า เราถูกหักหลังแล้ว เพราะดูแล้วพวกที่นั่งบนเครื่องบินนี่เป็นทหารทั้งสิ้น”

พลตรีสนั่นถึงกับกล่าวยอมรับว่า “ผมนั่งอย่างไม่เป็นสุข” แล้วต่อมาก็มีคนมาแจ้งว่าเครื่องขัดข้อง พร้อมกับมีการเสิร์ฟอาหาร

แต่สักพักใหญ่ก็มีคนมาเชิญลงจากเครื่อง เนื่องจากเครื่องขัดข้องและอาจจะต้องเปลี่ยนเครื่องบินลำใหม่

แต่พลตรีสนั่นก็แปลกใจว่าเป็นการ “เชิญเฉพาะพวกเราห้าคนเท่านั้น” ออกจากเครื่อง

นับจากนี้ไปจะเป็นเรื่องที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน เพราะทันทีที่พวกเขาทั้ง 5 คนลงถึงพื้นสนามบิน พลตรีสนั่นเล่าว่า “ชายฉกรรจ์กลุ่มใหญ่ก็กรูกันเข้ารวบตัวพวกเราใส่กุญแจมือ พร้อมผลักให้ขึ้นรถตู้”

และระหว่างที่กลุ่มชายฉกรรจ์เหล่านี้กำลังเข้ารวบตัวจับพลเอกฉลาดใส่กุญแจมือ เขาจึงตะโกนห้ามพวกเขาว่าจะทำอย่างนี้กับ “นายทหารแห่งกองทัพบก” ไม่ได้…

“เท่านั้นแหละ เกือบทั้งกลุ่มก็รวมศูนย์มาที่ผมคนเดียว ทั้งพานท้ายปืนอูซี่ ทั้งไอ้โอ๊บ ไม่รู้เบอร์อะไรบ้างประเคนเข้ามา แรกเลยคือพานท้ายปืนอูซี่ฟาดเข้าเต็มแรงตรงกรามด้านขวา จนกรามแตก ผมเซหน้าผงะหลัง ล้มไม่ได้อยู่พักใหญ่ จนหนำใจกันทั้งกลุ่ม มันจึงหิ้วร่างโชกเลือดของผมโยนขึ้นบนปิกอัพของทหารอากาศ…” พร้อมกับเสียงของทหารอากาศคนหนึ่งในกลุ่มนั้นดังขึ้นว่า “พวกมึงมันทำให้บ้านเมืองเดือดร้อน”

ภาพลักษณ์ที่ถูกสร้างสำหรับฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลทหารเสมอๆ ในทุกยุคทุกสมัยก็คือ เป็นพวกที่ทำให้บ้านเมืองเดือดร้อน การระบายสีด้วยภาพลักษณ์เช่นนี้เป็นสิ่งที่ใช้ได้เสมอในทุกสถานการณ์

พลเอกฉลาดต้องพานพบกับคำสัญญาที่เป็น “คำลวง” อีกครั้ง และเป็นครั้งสำคัญในชีวิตเช่นกัน… เช้าสัญญาว่ากำลังในกรุงเทพฯ จะเคลื่อนออกมาสนับสนุน ก็ไม่มา

บ่ายสัญญาว่าจะให้ลี้ภัยไปนอกประเทศ ก็ไม่ให้ไป…

คำลวงเช่นนี้ไม่เพียงแต่จะนำไปสู่ความพ่ายแพ้ในการทำรัฐประหารเท่านั้น หากแต่ยังต้องจ่ายด้วยราคาแพงของชีวิตของท่านอีกด้วย

พลเอกเกรียงศักดิ์กล่าวแก้ในภายหลังว่า

“เมื่อผมกลับบ้านแล้วเครื่องบินไม่ออก ก็เป็นเรื่องของทหารอากาศ ที่จะจัดการควบคุมตัวเอาไว้ ซึ่งทั้งหมดนี้ถือว่าทำตามสัจจะแล้ว พวกเรามาคิดกันอีกว่า เมื่อห้าผู้ก่อการหาประเทศอื่นไปไม่ได้ ถ้าพวกเราทำอย่างอื่นก็เป็นการผิดกฎหมายของบ้านเมือง เราจึงเห็นพ้องต้องกันว่าต้องทำตามกฎหมายของแผ่นดิน…ขออย่าว่าเป็นการกระทำที่ไม่รักสัจจะ หรือพวกเราอาฆาต…”

ซึ่งก็ดูจะขัดกับสาระของแถลงการณ์ของกองอำนวยการรักษาความสงบทั่วไป ฉบับที่ 8 ที่ประกาศในเวลาประมาณ 20.40 น. ที่กล่าวรายงานแก่สาธารณชนว่า ผู้ก่อการทั้งห้าคน “ได้เดินทางออกนอกประเทศไปแล้ว จึงแถลงมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน”

แต่ของจริงก็คือ พวกเขาทั้งห้าถูกนำตัวลงจากเครื่องบินและถูกจับ แน่นอนว่าคนที่เจ็บช้ำน้ำใจมากที่สุดในกรณีนี้ก็คือ พลเอกฉลาด!

 

นักโทษกบฏ…ชีวิตของผู้แพ้

ในช่วงแรก นายทหารกลุ่มนี้ถูกจับขังอยู่ในส่วนของกองทัพอากาศ และต่อมาได้ถูกโยกย้ายไปยังเรือนจำมณฑลทหารบกที่ 1 หรือที่รู้จักกันในชื่อของ “ตึกดิน” ซึ่งก็คือเรือนจำทหารนั่นเอง

และน่าสนใจว่าแม้พวกเขาจะเป็นทหาร แต่ก็เป็น “ผู้แพ้” จึงถูกปฏิบัติอย่างเข้มงวด หรือที่พลตรีสนั่นอธิบายว่า “เขาปฏิบัติกับเราเช่นนี้ เพราะเขาถือว่าเราเป็นกบฏ” และเป็นที่รู้กันโดยทั่วไปในการเมืองไทยว่า ผู้แพ้ในการยึดอำนาจก็คือ “กบฏ” แต่ถ้าชนะก็จะเป็น “รัฐบาล” หรือเป็นเจ้าของอำนาจรัฐนั่นเอง

ชีวิตของผู้ชนะและผู้แพ้ในบริบทการเมืองไทยชุดนี้จึงแตกต่างกันอย่างมาก (ดังคำกล่าวของพันโทรณชัยในข้างต้น)

สภาวะของการเมืองแบบนี้ หากเรียกเป็นทฤษฎีก็คงต้องเรียกว่า การต่อสู้ทางการเมืองแบบที่มี “ผลรวมเป็นศูนย์” (หรือที่เรียกในภาษาทางทฤษฎีว่า “zero-sum game”)

กล่าวคือ ผู้ชนะจะได้ทุกอย่าง และผู้แพ้จะสูญเสียทุกอย่าง

ซึ่งการต่อสู้ทางการเมืองเช่นนี้ไม่สามารถที่จะนำไปสู่จุด “สมดุล” ของการพัฒนาทางการเมืองได้แต่อย่างใด เพราะผู้ชนะก็จะพยายามดำรงผลได้และการคงไว้ซึ่งสถานะเดิมของตนให้อยู่อย่างมั่นคงในทุกวิถีทาง

ส่วนผู้แพ้ก็จะต้องสู้ทุกอย่างเพื่อทำลายการคงไว้ซึ่งสถานะเดิมให้ได้ แม้ว่าจะต้องใช้ความรุนแรงเพียงใดก็ตาม

และยิ่งหากเป็นการต่อสู้ระหว่างผู้นำทหาร/กลุ่มทหารที่ต่างก็มีกำลังอยู่ในการควบคุมและบังคับบัญชาของตนเองด้วยแล้ว การต่อสู้ในเกมเช่นนี้เป็นสิ่งที่ไม่อาจจะหลีกเลี่ยงจากการใช้กำลังและความรุนแรงได้แต่อย่างใด

เกมของผู้ถือปืน ย่อมตัดสินด้วยการใช้ปืนเสมอ

ในขณะที่คณะผู้ก่อการทั้ง 4 คนยังคงถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำทหารบก พลเอกฉลาดกลับถูกส่งเข้าขังที่เรือนจำกลางบางขวาง (ผู้เขียนในฐานะที่เคยมีโอกาสได้รู้จักและพูดคุยกับท่านหลายครั้งในช่วงเวลาดังกล่าว จึงอดรำลึกถึงท่านไม่ได้ และเป็น 21 วันสุดท้ายที่ไม่มีใครคาดคิด)

สมมติลองคิดเล่นๆ ว่า ถ้าโจทย์การเมืองผกผันเหมือนอย่างที่เวลาสอนหนังสือ และทดลองให้นิสิตรัฐศาสตร์ลองย้อนเวลา พร้อมกับตั้งต้นคิดใหม่ว่า หากถ้าผู้แพ้กลายเป็นผู้ชนะ และผู้ชนะกลายเป็นผู้แพ้ของเหตุการณ์การเมืองชุดใดชุดหนึ่งแล้ว อะไรจะเกิดขึ้น และสิ่งที่เกิดขึ้นจะเปลี่ยนการเมืองไทยไปในทิศทางใด

สมมติว่าถ้าผู้ก่อการในวันที่ 26 มีนาคม 2520 ประสบความสำเร็จในการยึดอำนาจได้จริง แน่นอนว่าการเมืองไทยก็คงจะเปลี่ยนโฉมไปเป็นอีกแบบหนึ่ง

และที่สำคัญก็คือ พลเอกฉลาดก็คงไม่ถูกตัดสินประหารชีวิต พันโทสนั่น (ยศในขณะนั้น) ก็คงไม่ถูกซ้อมและถูกจับ และการคุมขังนายทหารทั้งหมดในกรณีนี้ก็คงไม่เกิดขึ้น

แล้วถ้าเช่นนั้นรูปร่างหน้าตาของรัฐบาลใหม่หลังรัฐประหารจะเป็นอย่างไร และใครจะมาเป็นนายกฯ ตลอดรวมถึงนโยบายทางการเมืองหลังจากนี้จะเป็นเช่นไร

แต่เราต่างก็ทราบกันดีในความเป็นจริงว่า ไม่มีใครเปลี่ยนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วในประวัติศาสตร์ได้ และเมื่อเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นและเดินไปข้างหน้าด้วยแรงขับเคลื่อน ทั้งจากปัจจัยเดิมของตัวและจากปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ แล้ว ประวัติศาสตร์จึงเป็นสิ่งที่มีแต่เดินไปข้างหน้า ไม่มีโอกาสเดินถอยหลังกลับมาให้ใครได้แก้ไขแต่อย่างใด เราจึงได้แต่เพียงตั้งโจทย์ด้วยคำถามที่ไม่เป็นจริง เพราะความจริงพวกเขาทั้งหมดถูกจับ

หลังจากการใช้มาตรา 21 ของรัฐบาลในการตัดสินประหารชีวิตพลเอกฉลาด และการลงโทษคณะผู้ก่อการทั้งหลายแล้ว เป็นที่รับรู้กันว่าความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำทหาร โดยเฉพาะในหมู่นายทหารระดับกลางที่เป็นผู้คุมกำลังกับรัฐบาลนั้น ไม่ค่อยราบรื่นเท่าที่ควร

พลเอกฉลาด หิรัญศิริ

และหลังจากความล้มเหลวในวันที่ 26 มีนาคม 2520 แล้ว ในตอนต้นเดือนมิถุนายน 2520 กลุ่มนายทหารระดับกลางนี้ก็ตัดสินใจยึดอำนาจ พวกเขาประสบความสำเร็จในการยึดอำนาจครั้งนี้ แต่ก็กลายเป็นเพียง “การทดลอง” เพราะนายทหารระดับสูงไม่พร้อมที่จะเข้ารับตำแหน่งทางการเมือง

และเรื่องราวของรัฐประหารมิถุนายน 2520 จึงเป็นดัง “เสียงกระซิบลอยลม” ที่รับรู้กันในวงในของผู้นำทหาร

จนความพร้อมมาเกิดขึ้นจริงในวันที่ 20 ตุลาคม 2520 อันนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ของพลเอกเกรียงศักดิ์…

แล้วการเมืองไทยก็พลิกโฉมอีกครั้งหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ!