ประชา สุวีรานนท์ | ‘ตัวเหลี่ยม’ อัตลักษณ์ความทันสมัย (จบ)

ตอน1 2 3

 

รัฐนิยม (Statism) เป็นส่วนผสมของชาตินิยมกับรัฐทหาร ซึ่งกำลังเฟื่องฟูในหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น และเป็นแนวทางการปกครองแบบเผด็จการ ซึ่งเกิดขึ้นในหลายประเทศ เมื่อเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 หรือสงครามมหาเอเชียบูรพา สยามได้เข้าข้างฝ่ายอักษะ ซึ่งหมายถึงญี่ปุ่น เยอรมนีและอิตาลี และประกาศสงครามกับฝ่ายตรงข้ามคือสัมพันธมิตร รัฐนิยมของสยามจึงเข้มข้นขึ้นไปอีก

ในด้านหนึ่ง รัฐนิยมคือชาตินิยมที่เน้นความเสมอภาค มีการเร่งสร้างประเพณีใหม่ๆ และความเป็นไทยที่ต่างจากเดิมมากมาย และอ้างว่าเพื่อกระตุ้นเตือนราษฎรว่าอยู่ในยุคใหม่ซึ่งกำลังพัฒนาไปสู่ความทันสมัย

แต่ในอีกด้านหนึ่ง ส่งเสริมระเบียบวินัยและความเลื่อมใสในผู้ปกครอง และทำให้ความเป็นไทยถูกกำหนดอย่างตายตัว มีการบังคับรูปแบบของเสื้อผ้า การตกแต่งบ้านเรือน ตึกของราชการ และกำหนดให้คนในชาติต้องใส่หมวก เคารพธงชาติ รักษาความสะอาด เลิกเคี้ยวหมาก ปลูกพืชผักสวนครัวในบ้าน

นอกจากนั้น ยังถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกวาดล้างฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง รวมทั้งหวาดระแวง ทั้งคนต่างชาติต่างภาษาและในภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศ

การสร้างชาติแบบนี้ทำให้สิ่งพิมพ์มีความสำคัญมากขึ้นเพราะเป็นสื่อหลักในการโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาล ผลงานด้านนี้มีหลายอย่าง

แต่ที่จดจำกันได้มากคือประกาศใช้คำสั่ง “การปรับปรุงตัวอักสรไทย” ซึ่งกำหนดให้ตัดสระ 5 ตัวคือ ใ, ฤ, ฤๅ, ฦ, ฦๅ ตัดพยัญชนะ 13 ตัวคือ ฃ, ฅ, ฆ, ฌ, ฎ, ฏ, ฐ, ฑ, ฒ, ณ, ศ, ษ, ฬ (ส่วน ญ ให้คงไว้ แต่ให้ตัดเชิงออกเสีย) และยกเลิกเลขไทย ฯลฯ

แม้จะเป็นการเปลี่ยนเพียงอักขรวิธี ไม่ได้เปลี่ยนรูปอักษร แต่มีผลต่อภาษาไทยมาก โครงการนี้สร้างความสับสนปั่นป่วนให้แก่วงการสิ่งพิมพ์ทั่วประเทศ และในภายหลัง นอกจากเป็นที่จดจำแล้ว ยังได้กลายเป็นสิ่งที่ทำให้รัฐนิยมถูกนำมาล้อเลียนอยู่เสมอ

อันที่จริง ยุคนี้มีผลงานอื่นด้วย เช่น ตั้งโรงเรียนช่างพิมพ์วัดสังเวช เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนช่าง เช่น ช่างพิมพ์และช่างเรียงตามโรงพิมพ์ต่างๆ ทั้งนี้เพราะมีแนวทางจะเพิ่มการรู้หนังสือ โดยรวมศูนย์การเขียนและพิมพ์ตำราเรียนสำหรับเยาวชนทั่วประเทศ

การตั้งโรงเรียนช่างเป็นก้าวแรกในการยกฐานะงานช่าง ทำให้อาชีพกลายเป็นวิชาและหลักสูตรที่สอนกันได้ ช่างจึงไม่ได้เป็นเพียงคนที่โตมากับการฝึกสอนในโรงพิมพ์อีกต่อไป แต่เป็นผู้ที่จบจากสถาบันการศึกษา

ตัวเหลี่ยมถูกสนับสนุนให้เป็นอักษรมาตรฐานในสิ่งพิมพ์ถูกผลิตออกมามากมาย ตัวอย่างได้แก่ หนังสือที่ออกในงานรัฐธรรมนูญ หรือวันชาติ ในช่วงปี พ.ศ.2482-2484 ซึ่งทำหน้าที่คล้ายรายงานประจำปีของรัฐบาล คำว่า “ไทย” ที่อยู่บนปกบอกความแข็งแรงและสง่างามด้วยตัวเหลี่ยม

“ไทยในสมัยสร้างชาติ” ออกมาในยุคเดียวกับที่ตะวันตกกำลังสนใจกราฟแบบรูปภาพหรืออินโฟกราฟิกส์ กราฟแบบนี้มีหลักการว่า รูปหนึ่งรูปเท่ากับมูลค่าหนึ่งๆ และถ้าจะบอกปริมาณที่มากขึ้น ก็เอาหลายๆ รูปมาเรียงกัน และเพื่อยืนยันความก้าวหน้าทางสังคมเศรษฐกิจภายใต้การนำของรัฐบาลใหม่ หนังสือจึงนำเสนอกราฟแบบนี้หลายอัน

อีกตัวอย่างคือ “สร้างตนเอง” นิตยสารของรัฐบาล บนปกฉบับมกราคม พ.ศ.2485 คำว่า “สร้างตนเอง” เกิดจากการแกะสลักของชายคนหนึ่งซึ่งใช้ค้อนและสิ่วเป็นเครื่องมือ เสื้อผ้าและพื้นหลังที่เป็นไร่นาและภูเขาบอกว่าเป็นชาวชนบท ปกบอกว่าคำนี้สัมพันธ์กับชีวิตชาวบ้าน

แต่ที่สำคัญ อักษรซึ่งเป็นตัวเหลี่ยม ทำหน้าที่บอกความแข็งแรงและทันสมัยของแนวทางดังกล่าว

นอกจากนั้น ปกนี้และฉบับอื่นๆ เป็นผลงานของ เหม เวชกร ซึ่งก็คล้ายศิลปินร้านบล๊อกอีกหลายคน คือมีฝีมือการวาดที่เป็นเลิศและเป็นที่รู้จักกันมากแล้ว

“สร้างตนเอง” ทำหน้าที่โฆษณานโยบายต่างๆ ของรัฐ เช่น สนับสนุนให้คนไทยทำการค้าขาย ทำสวนครัวในบ้าน กินก๋วยเตี๋ยว และส่งเสริมบทบาทของผู้หญิง ฯลฯ เมื่อมาถึงกลางปี พ.ศ.2485 ได้กลายเป็น “ส้างตนเอง”

แต่ในที่สุด ทุกอย่างก็พังครืนเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลงด้วยชัยชนะของฝ่ายสัมพันธมิตร รัฐบาลไทยกลายเป็นฝ่ายแพ้ และแม้ประเทศยังคงชื่อไทยเอาไว้ถึงปัจจุบัน แต่รัฐนิยมส่วนมากก็ประสบความล้มเหลวและจบลงอย่างรวดเร็ว

ในด้านหนึ่ง โครงการเหล่านี้มีนัยยะของการต่อต้านระบบการเมืองแบบเก่า ซึ่งหมายถึงการยกเลิกชนชั้น บรรดาศักดิ์ ราชาศัพท์ และพระราชประเพณี

แต่ในอีกด้านหนึ่ง เกิดขึ้นในระดับเปลือกนอกมากกว่าเนื้อแท้ เมื่อรวมถึงการนำไปใช้อย่างรีบเร่งและมีเวลาพิสูจน์ตนเองน้อย จึงไม่บรรลุผลในการสร้างจิตสำนึกใหม่ ลักษณะนี้มีอยู่ในทุกๆ นโยบายของรัฐบาล คล้ายการบังคับให้เอาเครื่องแต่งกายแบบ “สากล” มาสวมบนร่างกายของประชาชน โดยหวังว่าจะทำให้กลายเป็นพลเมืองยุคใหม่

ในแง่การออกแบบ แม้หลายตึกยังใช้การได้ดี แต่ความผิวเผินนั้นชัดเจน เพราะส่วนมากเป็นความทันสมัยที่หลอกตา เช่น มีหลังคา “ทรงตัด” ทั้งๆ ที่เป็น “ทรงจั่ว” แต่มีผนังคอนกรีตที่ก่อไว้เพื่อบังหลังคาจริง

สิ่งนี้เกิดขึ้นด้วยวิธีบังคับ เช่น เทศบัญญัติปี พ.ศ.2483 กำหนดให้ตึกแถว อาคารพาณิชย์ และอาคารสาธารณะ แลดูทันสมัยในแบบนี้

ตัวเหลี่ยม ซึ่งผ่านการเป็นอัตลักษณ์รัฐนิยม เพราะมีการลดทอนและแสดงจิตวิญญาณในการต่อต้านตัวหัวกลมโปร่งและตัวประดิษฐ์แบบเดิมๆ แม้จะไม่ได้รับข้อหารุนแรง แต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ถูกกำจัดออกจากระบบราชการ ด้วยเหตุผลว่าไม่มีลักษณะของอักษรไทยที่ดี เช่น “ไม่มีหัวกลมโปร่ง”

ในยุคต่อมา ตัวเหลี่ยมยังเป็นที่นิยมในสื่อต่างๆ

แต่ถูกส่งผ่านหรือกำหนดให้ใช้เฉพาะในวงการสิ่งพิมพ์ของเอกชน ทั้งที่เน้นข่าวสาร ความรู้ และบันเทิง

ภาพจาก khunmaebook.com