ประชา สุวีรานนท์ | ‘ตัวเหลี่ยม’ อัตลักษณ์ความทันสมัย (3)

ตอน1 2

ต้นทศวรรษ 2470 เสียงเรียกร้องให้เปิดประชาธิปไตย มีการเลือกตั้ง และการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองดังขึ้น ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มความคิด การเมือง และชนชั้น รวมศูนย์ไปที่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งในที่สุดก็ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในปี พ.ศ.2475

ในขณะที่บางคนอธิบายว่าการปฏิวัติครั้งนั้นเป็นผลจากปัญหาเศรษฐกิจการเมือง เช่น ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ และความขัดแย้งในระบบราชการ

แต่ Matthew Phillip Copeland ผู้เขียนหนังสือชื่อ Contested Nationalism and the 1932 Overthrow of the Absolute Monarchy in Siam ชี้ว่าประเด็นสำคัญ คือ “ชาตินิยม” ซึ่งกำลังแผ่ขยายอิทธิพลไปทั่วโลก ได้ก้าวขึ้นมามีบทบาทเหนือความคิดอื่นๆ

สยามยุคนั้นมีชาตินิยมหลายแบบ เช่น ชาตินิยมของราชสำนัก ซึ่งหมายถึงเจ้านาย ขุนนางและข้าราชการบางส่วน

และของคนชั้นกลางในเมือง อันได้แก่ ข้าราชการบางส่วน พ่อค้า และปัญญาชน การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจึงเกิดจากการต่อสู้กันระหว่างชาตินิยมของกลุ่มเหล่านี้

การแบ่งค่ายของหนังสือพิมพ์ก็เช่นกัน

“ชาติ” ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ทางการเมือง และมีการถกเถียงกัน ตั้งแต่ว่ามันคืออะไร? ดีตรงไหน? ควรเป็นของใคร? ไปจนถึงจะสร้างชาติใหม่ขึ้นได้อย่างไร บางฉบับประกาศว่า ชาติคือราษฎร และเป็นของสามัญชน ไม่ใช่กษัตริย์หรือเชื้อพระวงศ์ที่ไหน ชาตินิยมของเขาจึงต่างกับของราชสำนักเป็นอย่างมาก

ในปี พ.ศ.2475 พระองค์วรรณ หรือพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ได้ตั้งหนังสือพิมพ์รายวันชื่อ “ประชาชาติ” ซึ่งมีบทบาทสนับสนุนระบบรัฐธรรมนูญของคณะราษฎร และเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยให้แก่สาธารณชน

พระองค์วรรณมีบทบาทมากในช่วงหลังการปฏิวัติ โดยเฉพาะในการบัญญัติศัพท์ทางการเมือง เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง เช่น “ปฏิวัติ” ซึ่งแปลมาจาก revolution “ประชาชน” ซึ่งแปลมาจาก people และ “ประชาชาติ” ซึ่งแปลมาจาก nation

สํานึกเรื่องชาติและบทบาทในเวทีโลก ทำให้คำว่า “ไทย” มีพลังมากขึ้น ในบทความเรื่อง ชาติ “ไทย” ที่เจ๊กสร้าง ของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ (มติชนสุดสัปดาห์ 24 กุมภาพันธ์ – 2 มีนาคม 2560) ผู้เขียนชี้ว่าชื่อ “ไทย” เป็นสังกัดใหม่ที่ “เจ๊ก” หรือลูกจีนรุ่นใหม่ใช้เรียกตัวเอง และแสดงว่าเขามีสำนึกชาตินิยมอีกชนิดหนึ่ง ที่มีลักษณะแตกต่างจากเดิม

ไทยเป็นคำเก่าและใช้เรียกคนในราชอาณาจักรอยู่แล้ว แต่ถูกนำมาใช้มากขึ้น คนชั้นกลางที่เป็นเจ๊กหรือลูกจีน ซึ่งประกอบอาชีพเป็นพ่อค้าและเจ้าของกิจการขนาดย่อม ใช้เป็นชื่อกลุ่มของตนเอง “พ่อค้าไทย” หมายถึงคนที่ไม่ใช่ทั้งจีนและสยาม

เมื่อเริ่มต้น กลุ่มพ่อค้าเหล่านี้เรียกร้องการคุ้มครองจากรัฐบาลสยาม แต่ยังไม่ได้รับมากนัก การต่อสู้เรื่องชาติและนโยบายทางเศรษฐกิจของไทย ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง บทความในหนังสือพิมพ์บางฉบับเสนอความเห็นว่าการไม่สนับสนุนพ่อค้าเอกชน ที่กำลังเริ่มทำอุตสาหกรรมหลายอย่าง แสดงว่ารัฐบาลไม่เห็นแก่ประโยชน์ของชาติเท่าที่ควร

ตัวอย่างหนึ่งของการใช้คำนี้ ได้แก่ชื่อของสื่อสิ่งพิมพ์ เช่น ไทยใหม่ หนังสือพิมพ์รายวันที่มี นายเอก วีสกุล และ นายเล็ก โกเมศ เป็นเจ้าของ ออกมาในช่วงเดียวกับหนังสือพิมพ์อีกมากมาย เช่น ประชาชาติ สารนคร ปากกาไทย สยามรีวิว ศรีกรุง บางกอกการเมือง หลักเมือง หญิงไทย และสยามหนุ่ม

ไทยใหม่ฉบับปีแรกๆ มี กุหลาบ สายประดิษฐ์ เป็นบรรณาธิการ และมีคำขวัญว่า “ตั้งต้นชีวิตใหม่ โดยอ่านไทยใหม่” หนังสือพิมพ์มีบทบาทวิจารณ์ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบบรัฐสภาอย่างแข็งขัน กุหลาบและทีมงานเสนอข่าวและบทความที่ดีจนเป็นที่นิยม

ต่อมา มีนิตยสารอื่นๆ ในเครือ เช่น ไทยใหม่วันอาทิตย์ (มาลัย ชูพินิจ เป็นผู้ดูแล) และไทยใหม่วันจันทร์ นอกจากนั้น ยังออกสื่อที่เน้นด้านบันเทิงคดีอีกฉบับหนึ่ง ในชื่อ สุริยา โดยให้ โชติ แพร่พันธุ์ เป็นบรรณาธิการ และ สันต์ เทวรักษ์ เป็นผู้ช่วยบรรณาธิการ

ในช่วงหลังคือ พ.ศ.2481-2488 รายวันและรายอื่นๆ ของไทยใหม่ยังออกมาอย่างต่อเนื่อง และมีการปรับปรุงรูปแบบให้สวยงามอยู่เสมอ

อัตลักษณ์ไทยใหม่บอกทิศทางการพัฒนาของอักษร เช่น หัวหนังสือ ซึ่งเปลี่ยนจากตัวนริศมาเป็นตัวเหลี่ยม ในแง่เครื่องมือของช่างวาดคือเปลี่ยนจากพู่กันแบนมาเป็นปากกา หรือใช้ตัวเหลี่ยม ที่ตรง หนา และมีการลดทอน เพื่อเพิ่มความทันสมัยให้แก่อักษร

ที่น่าสนใจคือหัวของไทยใหม่วันจันทร์ ซึ่งเรียงตัวเหลี่ยมเป็นเส้นรอบวง วางไว้มุมซ้ายบนของปก นอกจากนั้น ยังใช้รูปถ่ายและคอลลาจในสไตล์ใหม่ เช่น Dada และ Russian Constructivist ซึ่งกำลังนิยมกันในต่างประเทศ

ต้นทศวรรษ 2480 เมื่อชาตินิยมในประเทศต่างๆ ทวีความเข้มข้น ความขัดแย้งในโลกก็เพิ่มขึ้น ในสยามก็เช่นกัน เมื่อก้าวเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สอง จอมพล ป. พิบูลสงคราม ในฐานะนายกรัฐมนตรี ก็ประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร และเริ่มโครงการสร้างชาติอย่างจริงจังขึ้นอีก

คำว่าไทยทวีความสำคัญ โดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลประกาศใช้นโยบาย “รัฐนิยม” ในปี พ.ศ.2482 ซึ่งเริ่มด้วยการเปลี่ยนชื่อประเทศ ชื่อใหม่ของสยามก็คือไทย

ในขณะเดียวกัน ตัวเหลี่ยมก็เข้า “รับราชการ” ตัวพิมพ์ที่เคยเป็นอัตลักษณ์ไทยใหม่ ถูกรัฐบาลนำไปใช้เป็นตัวแทนของประเทศ