ประชา สุวีรานนท์ : ‘ตัวเหลี่ยม’ อัตลักษณ์ความทันสมัย (2)

ตอน1

ความรุ่งเรืองของนิยายสิบสตางค์ เกี่ยวพันกับการตั้ง “คณะ” ซึ่งหมายถึงการที่สำนักพิมพ์และนักเขียน แยกตัวออกมาจากโรงพิมพ์ เพื่อรวมตัวกันในแบบมืออาชีพ

ซึ่งมีความสำคัญเพราะเป็นครั้งแรกๆ ที่มีการรวมตัวของกลุ่มคนที่เป็นสามัญชนที่ไม่ได้เป็นเจ้า ขุนนาง

ส่วนหนึ่ง เพราะระบบการศึกษาในรอบสิบปีก่อนหน้านั้นทำให้มีคนรู้หนังสือมากขึ้น

อีกส่วนหนึ่ง เพราะเมืองเติบโต ข่าวและนิยายยุคนั้น ซึ่งมีทั้งแนวบันเทิง สะท้อนสังคม การเมือง และวิทยาศาสตร์ เป็นที่ต้องการมากขึ้น และทำให้สามัญชนจำนวนหนึ่ง ไม่ยอมเข้าสู่ระบบราชการ แต่หันมาเอาดีทางนี้

การสังกัดกลุ่มอาชีพ มีนัยว่าการเขียนหนังสือไม่ได้เป็นงานอดิเรกของชนชั้นสูงอีกต่อไป นักเขียนสามารถดำรงชีพอยู่ได้ด้วยการเขียนเพียงอย่างเดียว

นอกจากนั้น ยังเป็นการประกาศว่าพวกเขาไม่ใช่ลูกจ้างหรือบริวาร ซึ่งต้องขึ้นต่อเจ้านายอย่างไร้เงื่อนไข แม้ไม่ได้เป็นเจ้าของกิจการ ก็มีความเป็นตัวของตัวเอง

ถือกันว่าบทบาทของกุหลาบ สายประดิษฐ์ ในการตั้งคณะสุภาพบุรุษ รวมทั้งหนังสือพิมพ์อื่นๆ เช่น ประชาชาติ และไทยใหม่ มีบทบาททำให้อาชีพนักเขียนและผู้จัดพิมพ์เป็นที่ยอมรับของสังคม

สำนักพิมพ์เฟื่องฟูขึ้นมาในช่วงเดียวกัน ตัวอย่างหนึ่ง คือ คณะเพลินจิตต์ ของ เวช กระตุฤกษ์ ซึ่งเปิดตั้งแต่ปี พ.ศ.2471 และดำเนินการมาอีกกว่าสี่สิบปี เคยมีนิยายออกทุกวัน วันละหลายเล่ม และบางเล่มมียอดพิมพ์กว่าหมื่น

ที่สำคัญ การตั้งคณะไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในหมู่นักเขียน แต่ในวงการศิลปะอื่นๆ เช่น ละครหรือลิเกด้วย ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ ศิลปินที่สร้างสรรค์ภาพและตัวอักษรบนหน้าปกก็รวมตัวกันเป็นคณะเช่นกัน

ฐานะของช่างหรือศิลปินเปลี่ยนไป จากกลุ่มคนซึ่งอยู่ปลายแถวในกระบวนการผลิตหรือเป็นหน่วยเล็กๆ หน่วยหนึ่งในโรงพิมพ์ กลายเป็นผู้กำหนดรูปแบบของสิ่งพิมพ์

และในที่สุดก็แยกตัวออกมาตั้งคณะ หรือ “ร้านบล๊อก” ของตนเอง ซึ่งมีงานพื้นฐานคือ รับจ้างทำบล๊อกและตรายาง รวมทั้งออกแบบโฆษณา

ร้านที่มีชื่อเสียง ได้แก่ ศิลปกรรม ศิลปาคาร คณะช่าง คณะเหม ห้องศิลป เสน่ห์ศิลป สยามศิลป ทาร์ซาน ซึ่งต่างเป็นคณะที่รวมเอาช่างหรือศิลปินที่มีฝีมือดีๆ ไว้ในสังกัด และส่วนมากก็จบมาจากโรงเรียนเพาะช่าง

ที่โด่งดังที่สุดคือ คณะช่าง ซึ่งดำเนินกิจการสืบต่อมาอีกกว่า 40 ปี เจ้าของคือ เปรื่อง แสงเถกิง ผู้เคยเป็นอาจารย์โรงเรียนเพาะช่าง

คณะช่างมีศิลปินที่มีชื่อเสียงมีหลายท่าน เช่น เหม เวชกร ซึ่งเคยร่วมก่อตั้งเพลินจิตต์ ได้เปิดสำนักงานช่างของตนเองขึ้นมาในชื่อ คณะเหม

นอกจากนั้น การตั้งคณะหรือร้านบล๊อก ยังแยกไม่ออกจากบทบาทของ “ตัวประดิษฐ์” และเทคนิคการบล๊อกโลหะ ซึ่งเข้ามาเปลี่ยนกระบวนการผลิตและทำให้บทบาทของช่างเหล่านี้เพิ่มความสำคัญขึ้น

ตัวเหลี่ยมเป็นแบบหนึ่งของตัวประดิษฐ์ ซึ่งเป็นการวาดตัวอักษรด้วยมือ แล้วนำไปทำแม่พิมพ์หรือบล๊อกโลหะที่ทำด้วยกระบวนการทางเคมีอีกทีหนึ่ง

ตัวประดิษฐ์เกิดขึ้นไม่นานก่อนตัวพิมพ์กลุ่ม “โป้ง” เช่น โป้งแซ โป้งใหม่ และโป้งไม้ ซึ่งเป็นยุคที่การพิมพ์ขยายตัว วัตถุดิบและเครื่องจักรอื่นๆ ที่ใช้การพิมพ์ โดยเฉพาะแท่นพิมพ์และเครื่องหล่อตัวพิมพ์หลั่งไหลเข้ามาจากต่างประเทศ

การขยายตัวครั้งนี้หมายถึงการที่ตัวพิมพ์มีราคาถูกลงและซื้อหาได้ง่ายขึ้น บางแห่งมีแบบและขนาดตัวพิมพ์ที่หลากหลายมากขึ้น

แต่ตัวโป้งนั้นใช้สำหรับหนังสือพิมพ์รายวันเป็นหลัก

ผู้อ่านหรือความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในวงการหนังสือและนิตยสาร ซึ่งเป็นนิยายหรือเรื่องอ่านเล่น ทำให้ตัวพิมพ์มี ไม่มากพอจะตอบสนอง ทั้งในแง่มีแบบและขนาด

ในยุคที่หนังสือและนิตยสารต้องการความดึงดูดทางสายตา สำหรับข้อความสั้นๆ และไม่เน้นการอ่านมาก ทางออกหนึ่งที่นิยมกันมากคือตัวประดิษฐ์ ซึ่งเริ่มจากการวาดด้วยมือแล้วนำไปทำเป็นบล๊อก โดยให้ตัวพิมพ์ตะกั่วเป็นเพียงตัวพื้น แต่ตัวประดิษฐ์ทำหน้าที่เป็นหัวหนังสือ พาดหัวข่าว ชื่อคอลัมน์ และคำบรรยายภาพ นอกจากนั้น ยังสามารถคลี่คลายไปรับใช้งานแบบอื่นๆ เช่น ป้ายร้านค้า ตรายาง สมุดบัญชี ใบเสร็จรับเงิน และฉลากต่างๆ ได้

ถ้าเปรียบเทียบกับตัวตะกั่ว ตัวประดิษฐ์มีอิสระมากกว่า เพราะถ้าใช้ตัวตะกั่ว ผู้จัดพิมพ์ทำได้เพียงเลือกตัวและจัดหน้า แต่การใช้ตัวประดิษฐ์มีความยืดหยุ่นมากกว่า และเปิดโอกาสให้ศิลปินที่ชำนาญด้านการวาดรูปสามารถทำตัวอักษรด้วยตนเอง

นอกจากนั้น แนวทางการออกแบบปกยังขึ้นต่อความสามารถของปัจเจกบุคคลหรือศิลปินแต่ละคน สไตล์ของตัวประดิษฐ์ในยุคนี้ มีหลายแนวทาง โดยมีพื้นฐานคล้ายกับที่ริเริ่มไว้ในยุคก่อนๆ เช่น นริศซึ่งใช้พู่กันแบน โป้งใช้พู่กันจีน และตัวเหลี่ยม ซึ่งใช้ปากกาเขียนแบบ รวมทั้งพู่กันและปากกาแบน

ตั้งแต่ พ.ศ.2470 หรือช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ผลประการหนึ่งของการรวมกลุ่มเป็นคณะของช่างและศิลปิน คือการเกิดขึ้นของตัวเหลี่ยม

ตัวพิมพ์บนปกนิยายสิบสตางค์ เกิดขึ้นในยุคเปลี่ยนผ่านจากอาร์ตนูโวมาสู่อาร์ตเดโค่ จึงคล้ายเอาสองตระกูล ทั้งเส้นโค้งและตรงมาปนกัน หรือยังไม่เป็น “เหลี่ยม” มากนัก สันนิษฐานว่าเพราะยังใช้เครื่องมือแบบเดิม ต่อมาจึงเปลี่ยนเครื่องมือมาเป็นปากกาและคลี่คลายมาเป็นตัวเหลี่ยม

ที่สำคัญ ทำให้อักษรถูกมองว่าเป็นศิลปะแบบใหม่ แต่ละคณะพยายามวาดลวดลายที่เป็นของตัวเอง และแข่งกันนำเสนอสไตล์ต่างๆ เป็นจุดเด่นของตน