ประชา สุวีรานนท์ : ‘ตัวเหลี่ยม’ อัตลักษณ์ความทันสมัย (1)

ในช่วงปี พ.ศ.2470-2480 สิ่งพิมพ์มีความสำคัญเพราะเป็นทั้งที่มาของข้อมูลข่าวสาร เวที แสดงออกทางการเมือง และสัมพันธ์กับการเคลื่อนไหวทางด้านศิลปวัฒนธรรมที่กำลังเกิดขึ้นในทุกด้าน

โรงพิมพ์เกิดขึ้นใหม่นับร้อยแห่ง เพราะเปลี่ยนสถานะจากที่เคยเป็นของชนชั้นสูง เช่น เจ้านายหรือคหบดี มาเป็นของสามัญชน เช่นพ่อค้าทั่วไป

การพิมพ์เริ่มมีฐานะเป็นธุรกิจที่ใครๆ ก็เข้าถึงได้ หนังสือรวมทั้งงานอื่นๆ เช่น นามบัตร แบบฟอร์ม สัญญา การ์ด เริ่มมีตลาดที่แน่นอน

สิ่งพิมพ์เพิ่มปริมาณอย่างมหาศาล เปรียบเทียบกับยุคก่อน โรงพิมพ์หนึ่งอาจจะผลิตหนังสือได้ราวพันเล่มต่อปี

แต่ในปี พ.ศ.2455 หนังสือพิมพ์ เช่น กรุงเทพฯ เดลิเมล์ มียอดพิมพ์พันกว่าเล่มต่อวัน และในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ก็เพิ่มขึ้นอีก

นิตยสารรายสัปดาห์และรายเดือน เฉพาะด้านบันเทิงและไลฟ์สไตล์ เช่น ภาพยนตร์ นิยาย ผู้หญิง การศึกษา และศาสนา ของปี พ.ศ.2469 มีกว่าร้อยฉบับ

ภาพยนตร์ต่างประเทศหรือหนังเงียบที่เพิ่งเข้ามา ทำให้การอ่านแบบใหม่เจริญขึ้น หนังเงียบต้องมีการแปล จึงมีนิตยสารออกจำหน่ายตามโปรแกรมหนังของแต่ละวัน และทำหน้าที่อธิบายโครงเรื่อง บทสนทนา รวมทั้งเบื้องหลังของภาพยนตร์เรื่องนั้น

หนังสือจำนวนมาก อันได้แก่ผลงานของ หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง ดอกไม้สด ศรีบูรพา และ ยศ วัชรเสถียร เป็น “นวนิยาย” หรือวรรณกรรมแนวใหม่ และจะกลายเป็นคลาสสิคของไทยในยุคต่อมา

นอกจากนั้น นวนิยายแนว “อ่านเล่น” ที่รับใช้คนทั่วไป ทั้งเรื่องไทยและเรื่องแปลก็เฟื่องฟูมาก

สำนักพิมพ์มีจำนวนกว่า 14 แห่ง บางแห่งสามารถพิมพ์หนังสือหลายสิบเรื่อง และมียอดรวมหลายหมื่นเล่ม ภายในเดือนเดียว

การขยายตัวของสิ่งพิมพ์คือการเติบโตของชนชั้นใหม่และแนวคิดใหม่ สิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อการรู้หนังสือได้ขยายตัวออกไปในวงกว้าง ชนชั้นกลาง ซึ่งหมายถึงข้าราชการ พ่อค้า และไพร่กระฎุมพี แม้จะมีจำนวนไม่มากนัก แต่ก็กระหายข่าวสารทั้งในด้านการค้า การเมืองและบันเทิง และมีกำลังทรัพย์พอที่จะติดตามอ่านและอุดหนุนสิ่งพิมพ์

ในแง่สไตล์ อาคารแบบ “โมเดิร์น” หรือ “ทันสมัย” และการตกแต่งแบบ “อาร์ตเดโค่” กำลังเป็นที่นิยม โมเดิร์นหมายถึงการวางผังตึกแบบใหม่ ใช้รูปทรงเรขาคณิตซึ่งหมายถึงเส้นที่ตรงและโค้งมนอย่างชัดเจน รวมทั้งเน้นความเรียบเกลี้ยงของเปลือกผิว สไตล์ที่ประกาศหลักการนี้ ก่อตัวเป็นกระแสใหม่และขยายไปทั่วโลก

สถาปัตยกรรมใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในสยาม ได้แก่ อาคารศาลาเฉลิมกรุง ศาลากลางจังหวัดอยุธยา อาคารชุดถนนราชดำเนินใน และอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มีลักษณะคล้ายกันคือ เน้นการลดทอนลวดลาย และสิ่งรุงรังอื่นๆ ที่ไม่มีประโยชน์ใช้สอย และสะท้อนความทันสมัย

ในขณะเดียวกัน คอนกรีตเสริมเหล็ก เทคนิคและวัสดุแบบใหม่ที่เพิ่งนิยมกัน ก็ทำให้ลวดลายแบบศิลปะประเพณี เช่น หน้าจั่ว ช่อฟ้า ใบระกา ลายไทย ลดน้อยลง

สาเหตุหนึ่ง อาจจะเพราะง่ายต่อการออกแบบและก่อสร้าง แต่อีกสาเหตุหนึ่ง คือ เป็นสไตล์ใหม่ที่มีชื่อว่า “สถาปัตยกรรมเครื่องคอนกรีต” และได้รับการส่งเสริมโดยรัฐบาลคณะราษฎร

เช่นเดียวกัน ด้วยทรวดทรงสูงผอม เส้นตั้งที่หนา ความตรงและโค้งมนที่เป็นระบบระเบียบมากขึ้น ของตัวประดิษฐ์ที่เรียกว่า “ตัวเหลี่ยม” ก็บอกความโมเดิร์นหรือทันสมัย

ในช่วงนั้น ตัวอักษรละตินกำลังพัฒนาไปในแนวทางที่เน้นเส้นตรงและโค้งแบบเรขาคณิต เช่น กำจัดเชิง หรือเส้นกิ่ง (serif) ออกไปและกลายเป็น Grotesque ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 และ Futura ในช่วงนั้น

ตัวอักษรไทย โดยเฉพาะ “ตัวประดิษฐ์” มีแนวทางคล้ายกับตัวอักษรละตินคือ หันมาเน้นเส้นตั้งที่ตรงและหนา รวมทั้งการซ่อนหัวกลมโปร่งไว้ในรูปของสี่เหลี่ยม กลายเป็นแบบที่เรียกว่า “ตัวเหลี่ยม” และแม้จะไม่ใช่ตัวพิมพ์ที่เกิดจากการหล่อ เช่น ตัวพิมพ์ชุดโป้ง แต่ก็มีรูปลักษณ์ที่ทำให้ผู้อ่านรู้สึกถึงความทันสมัยได้ดี

นอกจากนั้น เพื่อเน้นความเป็นแถวแนวของเส้นบรรทัด ตัวเหลี่ยมยังมีความยืดหยุ่น เช่น สามารถบีบพยัญชนะบางตัวให้เล็กลง และย้ายสระ ที่เคยอยู่บนและล่างพยัญชนะ ให้มาอยู่บรรทัดเดียวกัน

ตัวอย่างการเรียงวิธีนี้จะเห็นได้ชัดใน ป้ายศาลาเฉลิมกรุง ป้ายสวัสดิโสภา ซึ่งเป็นประตูหนึ่งของวัดพระแก้ว และป้ายหลัก 6 ประการของคณะราษฎร อันได้แก่ เอกราช ปลอดภัย เศรษฐกิจ เสมอภาค เสรีภาพ การศึกษา ซึ่งอยู่บนรูปปั้นพานรัฐธรรมนูญและตั้งอยู่ในร้านกรมศิลปากร ในงานฉลองรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2480

 

ที่น่าสนใจคือตัวเหลี่ยมมาพร้อมกับกำเนิดของ “นิยายสิบสตางค์” และถูกใช้บนปกจำนวนมากของหนังสือประเภทนี้

ความรุ่งเรืองของนิยายสิบสตางค์ เกี่ยวพันกับความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง เช่น ในแง่วิชาชีพ ทำให้เกิดการตั้ง “คณะ” ซึ่งหมายถึงการที่นักเขียน ผู้จัดพิมพ์ ช่างและศิลปินแยกตัวออกมาจากโรงพิมพ์ เพื่อรวมตัวกันในฐานะมืออาชีพ

ในแง่เทคโนโลยี เพิ่มบทบาทของภาพปก ภาพประกอบ และตัวประดิษฐ์ ซึ่งเป็นผลมาจาก ระบบการพิมพ์ที่ใช้บล็อกหรือแม่พิมพ์โลหะมากขึ้น

งานวิจัยของ ชูศรี กาลวันตะวานิช เรื่อง “พัฒนาการของหนังสือปกอ่อนในประเทศไทย” บอกว่าช่วงนี้เป็นยุคทองของหนังสือปกอ่อน ซึ่งส่วนมากเป็นเรื่องอ่านเล่นแบบที่เรียกกันว่า “นิยายสิบสตางค์” ซึ่งมีทั้งของไทยและที่แปลจากภาษาจีน และมีบทบาทมากในการขยายอิทธิพลของหนังสือไปทั่วประเทศ

นอกจากปกที่พิมพ์สอดสีสวยงาม แต่ละเล่มมีความยาวร้อยกว่าหน้า และขายในราคาถูก คือ 10-15 สตางค์ ผู้จัดพิมพ์ที่ตั้งตัวเป็นคณะ ได้แก่ คณะเพลินจิตต์, คณะนายอุเทน, คณะวัฒนานุกูล, คณะ ล. เภตรารัตน์, คณะเหม ฯลฯ