วัดพลัง ‘นิด-ทิน’ ชิงกลาโหม จับตาเกมรุก ‘ทักษิณ’ แก้ พ.ร.บ.กลาโหม เล่นกับไฟ ต้านรัฐประหาร

รายงานพิเศษ

 

วัดพลัง ‘นิด-ทิน’

ชิงกลาโหม

จับตาเกมรุก ‘ทักษิณ’

แก้ พ.ร.บ.กลาโหม

เล่นกับไฟ ต้านรัฐประหาร

 

แม้จะมีสัญญาณภายในกระทรวงกลาโหมว่า จะยังไม่มีการเปลี่ยนตัว รมว.กลาโหม บิ๊กทิน นายสุทิน คลังแสง จะได้ไปต่อ นั่งเก้าอี้สนามไชย 1 ต่อไปก็ตาม

แต่ก็ใช่ว่า นายสุทินจะเป็นได้ยาวครบเทอม 4 ปีได้ง่ายๆ เพราะเป็นแค่การชะลอเวลา เพื่อรอจังหวะที่เหมาะสม ที่จะให้ รมว.กลาโหมตัวจริง ที่เป็นบิ๊กทหารเก่า จะมานั่งตาม “ดีล” เมื่อครั้งจัดตั้งรัฐบาล หรือหากต่อรองได้ ก็จะเป็นนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่จะมาควบกลาโหม ในสักวันหนึ่ง

เพราะนายเศรษฐาเองก็ดูจะมีความพร้อมที่จะมาควบ รมว.กลาโหมเองทุกเมื่อ แม้แต่ในการปรับ ครม.ครั้งนี้ เพราะได้ปูพื้นความสัมพันธ์กับ ผบ.เหล่าทัพไว้ตั้งแต่ยังไม่มารับตำแหน่งนายกฯ อีกทั้งไม่ได้มีรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง เพราะนายกฯ คุมเอง ทั้งทหาร ตำรวจ นายเศรษฐาจึงสายตรง หรือเรียกมาพบเสมอๆ แม้แต่ในวันหยุด

ช่วงที่มีกระแสข่าวแรงตามหน้าหนังสือพิมพ์ ว่า นายเศรษฐาจะมาควบ รมว.กลาโหม บรรดา ผบ.เหล่าทัพ และบิ๊กๆ ในกองทัพก็เกาะติดข่าว เช็กข่าวกันว่าจริงหรือไม่ แต่ก็จะงดแสดงความคิดเห็นหรือท่าที ว่ายินดีต้อนรับนายกฯ หรือยังยินดีหากนายสุทินจะเป็น รมว.กลาโหมต่อไป

ถึงขั้นที่ในวันที่นายสุทินไปประชุมสภากลาโหมสัญจรที่ ทอ. มีรายงานข่าวว่า บิ๊กไก่ พล.อ.อ.พันธ์ภักดี พัฒนกุล ผบ.ทอ. ต้องตรวจลิสต์เพลง ที่ดุริยางค์ ทอ.จะแสดง ในระหว่างมื้อกลางวัน ให้เป็นเพลงลูกทุ่ง แนวที่นายสุทินชอบ แต่ระมัดระวังไม่ให้มีเพลงให้กำลังใจ เช่น เพลงศรัทธา แต่ก็ยังมีเพลงยังยิ้มได้ ของพลพล

ด้วยเพราะ ผบ.เหล่าทัพ ก็ลำบากใจกับสถานการณ์ช่วงที่มีกระแสข่าวว่านายเศรษฐาจะมาควบ รมว.กลาโหมแทนนายสุทิน ที่อาจต้องไปทำหน้าที่สภาให้พรรคเพื่อไทย ทั้งๆ ที่นายสุทินไม่อยากไป

เข้าทำนองที่ว่า คนหนึ่งอยากมา แต่อีกคนไม่อยากไป

 

ผบ.เหล่าทัพเองก็ไม่อยากถูกมองว่า อยากให้นายสุทินเป็นต่อไป หรืออยากให้นายเศรษฐามาควบกลาโหม

ช่วงที่นายสุทินแถลงข่าวหลังประชุมสภากลาโหม และถูกนักข่าวถามเรื่องการถูกปรับออกจาก ครม. ผบ.เหล่าทัพ ที่นายสุทินเชิญมายืนเป็นแผงหลังอยู่ตามธรรมเนียม ทั้ง ผบ.อ๊อบ พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผบ.ทหารสูงสุด และ พล.อ.อ.พันธ์ภักดี ก็ไม่รู้จะทำหน้าอย่างไร จึงต้องทำหน้านิ่ง ออกแนวเครียด

โดยที่วันนั้น ขณะที่กระแสนายกฯ ควบกลาโหม ยังแรงอยู่ แถมทั้งการประชุมดูไม่คึกคัก เพราะบิ๊กต่อ พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ ผบ.ทบ. ก็ไปเยือนสหรัฐอเมริกา ส่วนบิ๊กดุง พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผบ.ทร. และนายทหารชั้นผู้ใหญ่ของ ทร. ไปรับเสด็จ จึงไม่ได้มาประชุม

แต่บางเสียงสะท้อนว่า กองทัพสบายใจในสไตล์การทำงานของนายสุทินอยู่แล้ว หากนายเศรษฐามาควบ รมว.กลาโหม ก็ต้องปรับตัวกันใหม่ และได้เห็นสไตล์การทำงานของนายเศรษฐามาแล้ว

แต่บางเสียงก็มองว่า นายกฯ เป็น รมว.กลาโหมด้วย ทำให้สายการบังคับบัญชาสั้นลง มีอะไรก็ถือว่าคุยตรงกับนายกฯ ได้เลย เพราะที่ผ่านมา ความสำคัญของนายสุทินก็ลดน้อยลง เพราะนายกฯ คุยตรงกับ ผบ.เหล่าทัพในบางเรื่อง ก็ข้ามหัวนายสุทินไปเลย เพราะ ผบ.เหล่าทัพเองก็จะข้ามนายสุทินไปเช่นกัน เพราะคนตัดสินใจคือนายกฯ

แต่จากนี้ ไป หากนายสุทินยังได้เป็น รมว.กลาโหมต่อไป ก็สะท้อนถึงความไม่ธรรมดาของ “ทิน สารคาม” ส.ส.ครูบ้านนอก ที่คาดว่า เป็นเพราะสนิทสนมกับนายพายัพ ชินวัตร และสายตรงคุยกับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ได้

เช่นที่นายสุทินเปิดเผยว่า ได้เข้าพบนายทักษิณแบบสองต่อสอง ที่บ้านจันทร์ส่องหล้า ตั้งแต่ 9 เมษายน ไปสวัสดีปีใหม่สงกรานต์ เพื่อสยบดราม่าที่ว่า นายทักษิณเมินไม่มอง ไม่รับพวงมาลัยจากนายสุทิน

 

ที่เป็นไม้เด็ดของนายสุทิน คือ การเปิดประเด็นเรื่องการยกร่างแก้ไข พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ฉบับใหม่ ทดแทน พ.ร.บ.กลาโหม ปี 2551 ที่ออกมาในยุครัฐประหาร 2549 ในยุคบิ๊กแอ้ด พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ที่เป็นเกราะป้องกันไม่ให้ฝ่ายการเมืองแทรกแซงกองทัพ โดยเฉพาะการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารชั้นนายพล

นายสุทินต้องการจะสื่อว่า ตนเองมีมิชชั่นสำคัญที่ต้องทำ และต้องเป็น รมว.กลาโหมต่อไป ตามนโยบายพรรคเพื่อไทยที่ได้หาเสียงในเรื่องการปฏิรูปกองทัพและการป้องกันการปฏิวัติรัฐประหาร

นายสุทิน เริ่มมิชชั่นนี้ตั้งแต่ขอให้นายเศรษฐาเสนอ ครม. แต่งตั้ง นายจำนงค์ ไชยมงคล มาเป็น ผช.รมต. เพื่อมาช่วยเรื่องข้อกฎหมาย ตั้งแต่พฤศจิกายน 2566

จากนั้น นายสุทินก็ลงนามในคำสั่งกระทรวงกลาโหมที่ 477/2566 ลงวันที่ 19 ธันวาคม 2566 แต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนแก้ไขร่างกฎหมายความมั่นคงของกลาโหมในรัฐสภา เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ในการสนับสนุนข้อมูลเกี่ยวกับร่างกฎหมายความมั่นคงของกลาโหมในรัฐสภา เป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยมีบิ๊กอั๋น พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา ที่ปรึกษา รมว.กลาโหม เป็นประธานคณะทำงาน

ที่น่าสังเกตคือ ในคณะ 9 คน มีทหารนอกราชการ 1 คน และทหารในราชการ 7 คน และมีพลเรือนเพียงคนเดียว คือ นายจำนงค์ ไชยมงคล ผช.รมว.กห. เป็นที่ปรึกษาคณะทำงาน

ร่วมด้วย พล.ร.อ.สุพพัต ยุทธวงศ์ รองปลัดกลาโหม เป็นรองประธานคณะทำงาน พล.อ.พิสิษฐ์ นพเมือง เจ้ากรมพระธรรมนูญ พล.อ.ยุทธนินทร์ บุนนาค ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ สป. พล.ต.พรพจน์ เมธาวุฒินันท์ ผช.ผอ.สนผ.กห. พล.ต.เจนวิทย์ เด็ดแก้ว ผช.เจ้ากรมเสมียนตรา เป็นคณะทำงาน

โดยมี พล.ต.พัฒนชัย พัฒนจริญ ผช.เจ้ากรมพระธรรมนูญ เป็นคณะทำงานและเลขานุการ และ พ.อ.เสนีย์ พรหมวิวัฒน์ เป็นผู้ช่วยเลขานุการ

 

จึงกล่าวได้ว่า เป็นร่างแก้ไข พ.ร.บ.กลาโหม ฉบับของกลาโหมนี้ ร่างโดยทหารเอง เพื่อนำไปสู้กับร่างของพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย

ทั้งนี้เพราะนายสุทินได้รับสัญญาณจากพรรค ให้ร่างฉบับกลาโหมขึ้นมาเป็นทางเลือกที่ 3 ที่จะเป็นฉบับที่รอมชอมมากที่สุดเพราะร่างโดยทหาร เพราะทางพรรคเพื่อไทยก็ไม่ต้องการหักหาญฝ่ายกองทัพมากนัก เพราะอย่างน้อยก็มี “ดีล” ร่วมรัฐบาลกันมา

แต่ด้วยเคยหาเสียงไว้ และต้องแสดงจุดยืนในการต่อต้านรัฐประหาร และต้องปฏิรูปกองทัพเพื่อหยุดการรัฐประหาร แต่ก็ต้องรอมชอมกับฝ่ายทหาร จึงมีการแก้ไขมาตรา 25 และอีกหลายมาตรา เพื่อสกัดกั้นรัฐประหาร

โดยมีสาระสำคัญที่ให้ รมว.กลาโหมเสนอนายกรัฐมนตรี เสนอ ครม. ออกคำสั่ง “พักราชการ” ทหารผู้ที่จะก่อการรัฐประหาร ยึดอำนาจ เพื่อระงับยับยั้งการรัฐประหาร ก่อกบฏ

จะเห็นได้ว่า ใช้แค่ “พักราชการ” ไม่ใช่ “ปลด” ออกจากราชการ เพราะทหารระดับนายพล เป็นตำแหน่งที่โปรดเกล้าฯ มา จึงไม่ไปแตะต้องพระราชอำนาจ

 

แม้ว่านายกรัฐมนตรีมีอำนาจตาม พ.ร.บ.บริหารราชการแผ่นดิน ในการโยกย้ายข้าราชการประจำได้อยู่แล้ว แต่คณะทำงานมองว่า หากระบุไว้ใน พ.ร.บ.กลาโหม จะเป็นการระงับยับยั้งการรัฐประหารได้โดยตรงมากกว่า ก่อนที่ทหารจะฉีกรัฐธรรมนูญ

แม้ในความเป็นจริง หากทหารรัฐประหาร จะฉีกกฎหมายทุกฉบับได้ก็ตาม แต่การแก้กฎหมายนี้ ถือเป็นสัญลักษณ์ที่ประชาชนส่งสัญญาณถึงทหาร ว่าไม่ต้องการให้มีการรัฐประหาร เพราะกฎหมายนี้จะต้องผ่านสภา ออกเป็น พ.ร.บ. ที่ต้องรอดูว่า ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล จะโหวตให้ผ่านหรือไม่ โดยเฉพาะพรรคสายอนุรักษนิยม เช่น พรรครวมไทยสร้างชาติ และพรรคพลังประชารัฐ

ที่สำคัญคือ จะไม่แตะต้องแก้ไขคณะกรรมการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารชั้นนายพลของกลาโหม หรือ “บอร์ด 7 เสือกลาโหม” ที่มีอำนาจโยกย้ายนายพลเท่านั้น ยังคงมี รมว.กลาโหม รมช.กลาโหม ปลัดกลาโหม ผบ.ทหารสูงสุด ผบ.ทบ. ผบ.ทร. ผบ.ทอ. ตามเดิม

 

ส่วนการแก้ไขสัดส่วนสมาชิกสภากลาโหม จากเหล่าทัพใหม่ และเพิ่มเติมสมาชิก ผู้ทรงคุณวุฒิ จาก 3 เป็น 5 คน โดยให้ ครม.แต่งตั้งนั้น ไม่เกี่ยวข้องกับการแต่งตั้งโยกย้ายนายพล เพราะ “สภากลาโหม” ไม่มีหน้าที่ในการแต่งตั้งโยกย้ายนายพล แต่เป็นอำนาจของ “บอร์ด 7 เสือกลาโหม” เท่านั้นตามเดิม

อีกทั้งนโยบายปฏิรูปกองทัพ ปรับโครงสร้างกองทัพ และลดจำนวนนายพล จึงมีการแก้ไขเพิ่มเติมระบบการคัดกรองนายพล ด้วยการเพิ่มคุณสมบัติของผู้ที่เหมาะสมเป็นนายพล จะต้องไม่มีคุณสมบัติต้องห้าม 3 ข้อ คือ

1. ต้องไม่เคยเป็นผู้มีอิทธิพล ไม่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ค้ามนุษย์ ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ

2. ต้องไม่เป็นคู่สัญญากับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงกลาโหม ประกอบธุรกิจหรือกิจการ

3. ต้องไม่อยู่ในระหว่างถูกสอบสวนทางวินัย ระหว่างถูกดำเนินคดีอาญา ทั้งนี้ เพื่อให้ภาพลักษณ์ของนายพล เป็นที่ยอมรับของประชาชน ว่าผ่านการพิจารณาคัดกรองมาแล้ว นอกเหนือจากการลดจำนวนนายพล

 

ทั้งนี้ ที่ประชุมสภากลาโหม 19 เมษายน 2567 ยังไม่ได้ให้ความเห็นชอบ เพราะเป็นแค่ “รับทราบ” เท่านั้น ว่ามีการแก้ไข พ.ร.บ.กลาโหม และมีคณะทำงานในการแก้ไข พ.ร.บ.กลาโหม แต่ยังไม่ได้ “อนุมัติ” หรือ “เห็นชอบ” เพราะยังร่างไม่เสร็จสมบูรณ์

ที่ถูกจับตามองคือ การแก้ไขสัดส่วนสมาชิก “สภากลาโหม” จากเดิมที่มี รมว.กลาโหม รมช.กลาโหม จเรทหารทั่วไป ปลัดกระทรวงกลาโหม รองปลัดกระทรวงกลาโหม สมุหราชองครักษ์ รองสมุหราชองครักษ์ เสนาธิการกรมราชองครักษ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด เสนาธิการทหาร ผู้บัญชาการทหารบก รองผู้บัญชาการทหารบก ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก เสนาธิการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ รองผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารเรือ เสนาธิการทหารเรือ ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ ผู้บัญชาการทหารอากาศ รองผู้บัญชาการทหารอากาศ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารอากาศ เสนาธิการทหารอากาศ รวม 24 คน และมีสมาชิกสภากลาโหม ผู้ทรงคุณวุฒิอีก 3 คน และยังมี ผอ.สำนักนโยบายและแผนกลาโหม (ผอ.สนผ.กห.) เป็นเลขาฯ สภากลาโหม

โดยในร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.กลาโหม ให้มีการเพิ่มสมาชิกสภากลาโหม ผู้ทรงคุณวุฒิ จาก 3 คน เป็น 5 คน และให้ รมว.กลาโหม เสนอชื่อให้ ครม.แต่งตั้ง ส่งมาทดแทน จากเดิมที่ รมว.กลาโหม แต่งตั้ง และเสนอให้สภากลาโหมเห็นชอบ

โดยลดจำนวนฝ่ายทหารลง ด้วยการตัดรองปลัดกลาโหม และ ผช.ผบ.เหล่าทัพ ออกจากสมาชิกสภากลาโหม แล้วมาเพิ่มสมาชิกสภากลาโหม ผู้ทรงคุณวุฒิ จาก 3 คน เป็น 5 คน จากเดิมที่เป็นทหารเกษียณ ที่อาจแต่งตั้งบุคคลที่ไม่ใช่ทหารมาได้ เพราะตามระเบียบระบุว่า ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งเป็นผู้มีความรู้และความเชี่ยวชาญเป็นที่ประจักษ์ในด้านการทหาร ด้านความมั่นคง ด้านการบริหารราชการ ด้านกฎหมายหรือด้านอื่นที่เกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ของกระทรวงกลาโหม

แต่แม้จะมีการแก้ไขสัดส่วนสมาชิกสภากลาโหม แต่จะไม่มีการแก้ไขอำนาจหน้าที่ของสภากลาโหม ให้มาเกี่ยวกับการแต่งตั้งโยกย้ายนายพลแต่อย่างใด อำนาจในการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารชั้นนายพลยังคงเป็นอำนาจบอร์ด 7 เสือกลาโหม ต่อไปตามเดิม

อย่างไรก็ตาม การระบุคำว่า ยึดอำนาจ ลงในตัวบทกฎหมาย อาจทำให้ถูกมองว่า เป็นเรื่องละเอียดอ่อน เพราะมีการนำไปบิดเบือน ปลุกปั่น ว่า นายสุทินจะแก้สัดส่วนสมาชิกสภากลาโหม เพื่อหวังให้เสียงฝ่ายการเมืองมากขึ้น เพื่อหวังแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารชั้นนายพล แต่ทว่าในความจริงแล้ว สภากลาโหมไม่มีอำนาจหน้าที่ในการแต่งตั้งโยกย้ายทหารแต่อย่างใด

ในทางกลับกัน ร่างแก้ไข พ.ร.บ.กลาโหมฉบับนี้ จะเป็นทางสายกลางที่สุด เมื่อเทียบกับร่างของพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทยที่กำลังจะออกมา เพราะร่างของฉบับกลาโหมนั้น ร่างโดยทหารเอง

 

หากนายสุทินจะยังได้เป็น รมว.กลาโหมต่อไป คงมีมิชชั่นหลายอย่างที่ต้องทำ รวมถึงการเปลี่ยนระบบการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์เป็นแบบรวมการแพ็กเกจ และการแก้ปัญหาเรื่องเรือดำน้ำจีนที่ยังค้างอยู่

แต่ก็ใช่ว่านายสุทินจะได้เป็น รมว.กลาโหมไปยาวครบเทอม 4 ปี เพราะเมื่อถึงจังหวะหนึ่ง นายเศรษฐาก็ต้องมาควบกลาโหม

เพราะหากครั้งนี้ นายเศรษฐาไม่ได้มาควบ รมว.กลาโหม ก็อาจจะเสียฟอร์มนายกฯ ไปบ้าง แต่อาจเพราะเป็นเรื่องเงื่อนไขเวลาและความเหมาะสม รวมถึงการเดินเกมของนายทักษิณ ในการต่อรองกับฝ่ายอนุรักษนิยม ที่มีการทวงดีลเก้าอี้ รมว.กลาโหม

ท่ามกลางกระแสข่าวว่านายเศรษฐาอาจจะมาควบกลาโหมในช่วงใกล้การแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารปลายปีในเดือนสิงหาคม-กันยายนนี้ เพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรองของการเป็น รมว.กลาโหม แต่เป็นนายกรัฐมนตรีด้วย และเพิ่ม รมช.กลาโหม เพื่อให้ฝ่ายการเมืองมี 2 เสียง เพราะเป็นการแต่งตั้งโยกย้ายครั้งใหญ่ที่จะเปลี่ยนทั้ง ผบ.ทบ. ผบ.ทร. และต้องเตรียมวางตัวคนที่จะมาเป็นปลัดกระทรวงกลาโหม ผบ.ทหารสูงสุด และ ผบ.ทอ.

แต่ในเวลานั้น อาจจะไม่ใช่ชื่อของบิ๊กเล็ก พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขานุการ รมว.กลาโหม ที่ครั้งนี้กลุ่มคนเสื้อแดงออกมาต่อต้าน โดยอ้างว่าเป็นมือวางแผนรัฐประหาร สมัย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และมีส่วนเกี่ยวข้องกับการปราบคนเสื้อแดง

เพราะหากฝ่ายการเมืองต้องการเสียงเพิ่ม ก็จะต้องตั้งนายทหารสายพรรคเพื่อไทย สายชินวัตร หรือทหารแตงโม มาเป็น รมช.กลาโหม แต่ก็อาจจะเกิดปัญหากับคีย์แมนสายอนุรักษนิยม ที่เคยดีลกันไว้

หรืออีกกระแสหนึ่ง คือจะให้นายสุทินเป็น รมว.กลาโหมให้ครบ 1 ปี แล้วจึงจะมีการปรับเปลี่ยน เพราะนายทักษิณเองก็ต้องการยื้อเวลาที่จะทำตามดีล ในการยอมให้ทหารมาเป็น รมว.กลาโหม

 

ปัญหาความขัดแย้งจึงรออยู่เบื้องหน้าทั้งระหว่างนายทักษิณกับคีย์แมนสายอนุรักษนิยม และรอยร้าวในใจ ระหว่างนายเศรษฐากับนายสุทิน จากศึกชิงกลาโหมครั้งนี้ ด้วยเพราะเป็นที่รู้กันว่านายเศรษฐาก็ไม่สนิทสนมกับนายสุทิน อาจเป็นเพราะความแตกต่างในเรื่องสถานะทางสังคม เส้นทางการเติบโต การศึกษา

อีกทั้งการที่นายสุทินมีแบ๊กอัพเป็นสายชินวัตร และสายตรงถึงนายทักษิณได้ ก็อาจทำให้นายเศรษฐาไม่ค่อยแฮปปี้มากนัก

ปัญหานานา จึงรออยู่เบื้องหน้า ท่ามกลางการปลุกกระแสรัฐประหารและการตอกลิ่มความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับกองทัพจากการแก้ พ.ร.บ.กลาโหม ที่ไม่เคยมีใครกล้าแตะต้องมากว่า 15 ปี