ขโมยและโจรผู้ร้ายในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา

ณัฐพล ใจจริง

ภาวะอัตคัดขัดสนทางเศรษฐกิจในช่วงแรกของสงครามนั้น การลักขโมยยังมีไม่ชุกชุมนัก เนื่องจากผู้คนยังตื่นตระหนกตกใจในสงครามกันอยู่

ต่อมาเมื่อพระนครเผชิญหน้ากับน้ำท่วมใหญ่เมื่อปลายปี 2485 อีก และเมื่อสินค้าขาดแคลนมากยิ่งขึ้นส่งผลให้ราคาสินค้าในท้องตลาดพุ่งขึ้นสูง มีผลทำให้โจรผู้ร้ายเห็นว่าขบวนขนสินค้าและยุทธปัจจัยของกองทัพญี่ปุ่นคือขุมทรัพย์ ทำให้สารวัตรทหารญี่ปุ่นออกปราบปรามขบวนการขโมยสินค้าญี่ปุ่นอย่างหนัก

สภาวะสงครามทำให้เกิดขโมยและโจรผู้ร้ายทั่วไปในสังคมไทย

การขโมยเรือในช่วงสงคราม

นับแต่พระนครเผชิญกับน้ำท่วมเมื่อปลายปี 2485 ไม่แต่เพียงหน่วยราชการ สำนักงาน ร้านค้าจะยุติการดำเนินการเท่านั้น แต่รวมถึงกิจการอื่นๆ ที่จ้างแรงงาน เช่น ก่อสร้าง รถราง ท่าเรือสินค้าที่เป็นแหล่งงานของคนที่หาเช้ากินค่ำต้องหยุดลงด้วยเช่นกัน

ความอดอยากที่เกิดขึ้นทำให้เกิดปัญหาลักขโมยขึ้น

ชีวิตคนทำงานราชการหรือทำงานออฟฟิศในครั้งนั้นยังคงต้องออกจากบ้านทุกเช้า แม่บ้านจะพายเรือออกจากบ้านมาส่งพ่อบ้านไปขึ้นรถรางหรือรถประจำทาง หรือบางคนลุยน้ำต่อไปบ้าง ตอนเย็น แม่บ้านก็พายไปรอรับกลับเข้าบ้าน (สรศัลย์, 98)

ด้วยภาวะน้ำท่วมส่งผลให้เรือมีราคาสูง ดังนั้น เรือจึงเป็นทรัพย์ที่ถูกจับจ้องจากเหล่าขโมย หากใครจอดเรือในที่ลับตาคนหรือไม่ระมัดระวังรักษาให้ดี เรือจะถูกขโมยได้ช่วงนั้น มีการโจรกรรมเรือมาขายต่ออย่างชุกชุม

ขุนวิจิตรมาตราบันทึกไว้ว่า ขนาดเขาจอดเรือในเมือง เรือยังหายได้ ทำให้เขาต้องซื้อเรือในคราน้ำท่วมครั้งนี้ถึง 3 ลำ (ขุนวิจิตรมาตรา, 475)

รัฐบาลประกาศเตือนภัยประชาชนผ่านวิทยุและหนังสือพิมพ์ให้เก็บรักษาเรือให้ปลอดภัยจากขโมย

ดังที่มีผู้บันทึกถึงการขโมยเรือไว้ว่า “จนมีผู้ ลักเรือ เถือเขามา เที่ยวการค้า ทุกที่ มีน้ำไหล หนังสือพิมพ์ กล่าวเตือน เพื่อคนไทย อย่าไว้ใจ ซื้อนาวา ที่ถูกลัก ส่วนลักเล็ก ลักน้อย มีบ่อยมาก เพราะคนยาก อัตคัด ขัดสนหนัก เคยค้าขาย เล็กน้อย ถอยหยุดพัก จึงต้องหัก ใจหา มารัปทาน” (พระยาอรรถศาสตร์, 37)

สำหรับในพื้นที่ชานเมืองนั้น เหม เวชกร ให้ร่องรอยปัญหาขโมยในช่วงน้ำท่วมไว้ว่า

“พวกขโมยเป็นผู้เตรียมพร้อมดีจริง มีเรือเล็กๆ พายคล่องๆ เที่ยวพายขโมย เมื่อบ้านใดหลับใหลเผลอตัว การมิดชิดไม่มีในยามเมืองแช่น้ำ จึงเหมาะสำหรับตัดช่องย่องเบา พวกเจ้าของทรัพย์แม้รู้ตัวตื่นขึ้น การจะไล่ขโมยนั้นไม่ทันแน่ เพราะต้องลุยน้ำ ส่วนขโมยพายเรือหนีสบาย ผ่านบ้านใครก็มีเสียงดัง ส่วนผู้นั้นต้องลุยน้ำซู่ซ่า ผมเองเคยไล่ขโมยเหมือนกัน แต่ก็อย่างว่านั่นแหละ เสียเวลาเปล่าๆ เปียกเปล่าๆ เหม็นน้ำเน่าเปล่าๆ” (เหม, 163)

น้ำท่วมบริเวณตึกไทยคู่ฟ้า ในทำเนียบสามัคคีชัย 2485

ตีนแมวที่โรงพยาบาลศิริราช

เมื่อสงครามทอดระยะเวลาไปนานมากเข้า ความอดอยากยากแค้นยิ่งมีมากขึ้น การโจรกรรมมีเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว และยิ่งมีการพรางไฟป้องกันการโจมตีทางอากาศยิ่งทำให้ความมืดเข้าครอบคลุมพระนครมากขึ้น อีกทั้งเมื่อโรงไฟฟ้าถูกทำลายความมืดก็เข้าปกคลุมพระนครไปทั่วสภาพเช่นนี้อำนวยให้การลักขโมยทรัพย์สินทำได้โดยง่าย แม้กระทั่งโรงพยาบาลศิริราชก็ประสบทรัพย์สินหายเช่นกัน อาทิ แอลกอฮอล์เช็ดแผล ผ้าก๊อซ สำลี เสื้อของผู้ป่วย ผ้าปูที่นอนที่เก่า มุ้งเด็ก เสื้อผ้าของนักเรียนแพทย์ที่หอพักล้วนถูกตีนแมวบุกขโมย (เสนอ อินทรสุขศรี, 2548, 86)

ในช่วงสงคราม ในโรงพยาบาลศิริราชเกิดข่าวลือในหมู่คนไข้ว่า มีผีเข้ามาในห้องพักคนไข้ในยามดึก มีคนเห็นการคนเงาคน เดินตะคุ่มๆ เดินดูตามเตียง ตามโต๊ะของคนไข้ คนไข้เล่าว่า เขาคิดว่าเป็นพยาบาล เมื่อเอ่ยทัก พยาบาลกลับก็ไม่ตอบ แต่รีบเดินออกจากห้องคนไข้ไป คนไข้บางคนตกใจมากพูดไม่ออก พอเช้าขึ้นมา พบว่า ของมีค่าของคนไข้ เช่น กระเป๋าเงิน นาฬิกาข้อมือ สร้อยคอที่วางไว้หัวเตียงหายไปจึงรู้ว่า ผีนั้นคือขโมยนั่นเอง (เสนอ, 87)

บ้านของคนชั้นผู้ดีครั้งน้ำท่วม 2485 เครดิตภาพ : ประวิทย์ สังข์มี

การจี้ปล้นในพระนคร

ในช่วงปลายสงคราม เมื่อความมืดเข้าครอบคลุมพระนครการจี้ปล้นเอาทรัพย์มีอยู่ทั่วไป พอค่ำลงผู้คนไม่ค่อยสัญจรกันแล้ว ถนนมืด คนร้ายเหล่านี้จะซ่อนตัวตามมุมมืดรอคอยเหยื่อ ใครเคราะห์ร้ายเดินมาจะถูกขู่เข็ญเอาทรัพย์สิน

เพื่อนนักเรียนแพทย์คนหนึ่งของหมอเสนอ เพิ่งรับเงินเดือน 150 บาทข้ามฟากไปธุระฝั่งพระนคร และค่ำข้ามกลับมาที่ศิริราช ระหว่างเดินผ่านสนามหลวงเพื่อมาท่าพระจันทร์ ตรงมุมวัดมหาธาตุฯ มีโจรกระโดดลงมาจากกำแพงวัดเอามีดจ่อเรียกเอาทรัพย์สินทั้งหมดไป (เสนอ, 2548, 87)

สิ่งของมีค่าทุกอย่างถูกขโมย แม้กระทั่งป้ายบ้านเลขที่ ตัวอักษรที่เป็นโลหะหรือทองเหลืองตามประตูบ้าน ตามตึก สะพาน ตามเสาไฟตามถนน หรือแม้แต่หลอดไฟฟ้าที่หน้าประตูบ้านก็ถูกขโมย (เสนอ, 2548, 87-88)

ตลาดบกแห่งหนึ่งในพระนคร ยามน้ำท่วม เครดิตภาพ : ประวิทย์ สังข์มี

การขโมยสินค้าของญี่ปุ่น

นับแต่สงครามระเบิดขึ้น สินค้า วัสดุอุปกรณ์ อาหาร เสื้อผ้า ยารักษาโรคที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศนั้นไม่สามารถนำเข้ามาได้ ทำให้สินค้าเหล่านี้มีราคาถีบตัวสูงขึ้นมาก บางชนิดแม้นมีเงินก็ไม่สามารถหาซื้อได้ ทำให้ขบวนขนส่งสินค้าและยุทธปัจจัยจากคลังสินค้าของทหารญี่ปุ่นไปยังแนวหน้าด้วยทางรถไฟ ทางรถยนต์หรือแม้แต่ทางเรือตกเป็นเป้าหมายของเหล่าโจร

สภาวะขาดแคลนสินค้าเกิดไปทั่วประเทศ แม้แต่ขโมยในจังหวัดอุบลราชธานีก็ยังมุ่งเป้าไปที่ขบวนสินค้าของทหารญี่ปุ่น “เพราะสมบัติข้าวของมันเยอะ” แต่หากขโมยถูกสารวัตรทหารญี่ปุ่นหรือเคมเปไทจับไป ตำรวจไทยมักจะขอตัวขโมยมาดำเนินคดีเอง ด้วย “แค็มเป้สอบสวน มันซ้อมทารุณหนัก เช่น ใช้น้ำมันเบนซินกรอกปากเพราะขโมยน้ำมัน เอาข้าวสารยัดปากเพราะขโมยข้าวสาร กว่าฝ่ายไทยจะได้ตัวมาก็สะบักสบอมแทบทุกราย” (นายหนหวย, 2537, 214)

ที่พระนครนั้น สถานีรถไฟบางกอกน้อยมีหน้าที่ส่งสัมภาระ เช่น อาหาร กระสุน น้ำมันเชื้อเพลิง เวชภัณฑ์ ปืนใหญ่ ปืนครก เสื้อ กำลังพลและม้าไปยังแนวหน้า (โยชิกาวา โทชิฮารุ, 2538, 372-375)

ที่สถานีรถไฟบางกอกน้อยจึงเป็นคลังเก็บเวชภัณฑ์ เสบียง ยุทโธปกรณ์และข้าวสารจึงมักพบการลักขโมยน้ำมัน ยางรถยนต์ แอสไพลินและเพนิซิลลินเสมอ เนื่องจากสินค้าเหล่านี้ในช่วงสงครามหายากและมีราคาแพง

จากความทรงจำของคนไทยร่วมสมัยเล่าว่า หากทหารญี่ปุ่นจับขโมยได้ ทหารจะจับขโมยมัดมือและกรอกน้ำมันให้กิน ไม่มีใครช่วยเหลือได้ หากสารภาพจะส่งให้ตำรวจไทยดำเนินคดีต่อไป ในบริเวณสถานีบางกอกน้อยมีตู้ขบวนรถไฟ 2 ตู้ฝังไว้ในดินเพื่อใช้สอบสวนขโมย ชาวบ้านแถบนั้นเรียกว่าตึกดิน (สุภาภรณ์ จินดามณีโรจน์, 2553, 262)

ด้านหน้าของตึกอำนวยการโรงพยาบาลศิริราช สมัย 2 ชั้น

อย่างไรก็ตาม นายทหารสารวัตรผสมไทย-ญี่ปุ่นนายหนึ่ง บันทึกถึงคดีโอละพ่อในคดีขโมยน้ำมันครั้งหนึ่งว่า ครั้งหนึ่ง ตำรวจไทย สน.นางเลิ้งจับกุมขโมยที่ลักขโมยน้ำมันญี่ปุ่นจึงติดต่อยังสารวัตรทหาร เขาจึงรีบไปที่เกิดเหตุได้ความว่า

มีคนไทยไปซื้อน้ำมันเบนซิน 8 ปีบมาจากทหารญี่ปุ่น ตำรวจจับคนร้ายได้ขณะที่พายเรือมาตามลำคลอง ต่อมาทางสารวัตรทหารไทยจึงประสานงานไปยังคลังน้ำมันทหารญี่ปุ่นที่ตั้งที่สนามม้านางเลิ้ง ทางทหารญี่ปุ่นรายงานว่า จำนวนน้ำมันอยู่ครบ ฝ่ายไทยจึงเชิญให้ทหารญี่ปุ่นกลับ เนื่องจากไม่มีผู้เสียหายแล้ว และฝ่ายไทย “ไม่อยากให้ญี่ปุ่นมายุ่งเกี่ยวด้วย” ไม่ต้องการให้มีการทรมานคนไทยด้วยการให้ดื่มน้ำมัน

ขโมยสารภาพว่า ตนเองไปซื้อน้ำมันจากทหารญี่ปุ่นจริง แต่ทหารญี่ปุ่นกลัวความผิดจึงรายงานเท็จกัน (เสถียร, 2518, 138-139)

ทหารสารวัตร หรือ เคมเปไท ขึ้นชื่อเรื่องความดุดันและโหดเหี้ยม