ตัวจริง สยามรัฐ ตัวตน สุจิตต์ วงษ์เทศ เก่า ปะทะ ใหม่

บทความพิเศษ

 

ตัวจริง สยามรัฐ

ตัวตน สุจิตต์ วงษ์เทศ

เก่า ปะทะ ใหม่

 

เพียงการเปลี่ยนรูปโฉมของหนังสือพิมพ์ “สยามรัฐ” โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากลักษณะเด่นอันเป็นของหนังสือพิมพ์ที่พบเห็นและได้อ่านในห้วงที่ศึกษาวิทยายุทธ์อยู่ ณ อิทะกะ มหาวิทยาลัยคอร์แนล

ก็ก่อให้เกิดความตื่นตระหนกเป็นอย่างสูง ไม่เพียงแต่ต่อคนในกองบรรณาธิการ หากแม้กระทั่งคนที่มักคุ้นอยู่กับ “สยามรัฐ” แบบเดิม

ก็มีความรู้สึกว่ามิอาจรับได้

เพราะนี่เท่ากับเป็น “สยามรัฐ” ในอีกโฉมหนึ่งซึ่งทำลายขนบและความเคยชินดั้งเดิมที่อาจจะได้รับแรงบันดาลใจมาจาก เดอะ ไทม์ แห่งลอนดอน

ขณะที่ไอเดียของ สุจิตต์ วงษ์เทศ ได้มาจาก เดอะ นิวยอร์ก ไทมส์

ไม่ว่าจะมองจากประสบการณ์ “เดิม” โดยพื้นฐานของอดีตบรรณาธิการอย่าง นายสละ ลิขิตกุล หรือ นายประจวบ ทองอุไร หรือแม้กระทั่ง นายนพพร บุณยฤทธิ์ ก็ย่อมจะบังเกิดความขัดเขินเป็นธรรมดา

แต่ที่หนักหนาสาหัสยิ่งกว่าการเปลี่ยนในทางรูปโฉมโนมพรรณ ที่ก่ออาการช็อกมากยิ่งกว่ากลับเป็นการนำ “เนื้อหา” ใหม่เข้ามา

เนื้อหาใหม่นั่นแหละที่ก่อให้เกิดการต่อต้าน

 

ผลสะเทือน ความคิด

กระแทก จากซ้ายใหม่

อย่างแรกที่สุดเห็นจะเป็นการได้รับแรงสะเทือนในทางความคิด “ประชาธิปไตย” ที่มิได้เดินไปตามแนวทางในแบบพรรคประชาธิปัตย์

หากไปไกลมากกว่านั้น

นั่นก็คือ ผลสะเทือนจากความคิดของ “คนรุ่นใหม่” ที่ คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยเตือนผ่านคอลัมน์ที่หน้า 5 ไว้แล้ว

นั่นก็คือ ผลสะเทือนบางส่วนจาก “ซ้ายใหม่”

เป็นซ้ายใหม่ที่ชำแรกแทรกซึมมากับนิตยสาร “สังคมศาสตร์ปริทัศน์” ตั้งแต่ยุค นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ กระทั่งยุค นายสุชาติ สวัสดิ์ศรี

สอดสวมมาด้วย “ชัยพฤกษ์ฉบับนักศึกษาประชาชน”

ยิ่งกว่านั้น ยังเป็นบรรยากาศแห่งการวิพากษ์วิจารณ์ผ่านหนังสือเล่มละบาทของกลุ่มอิสระที่เกิดขึ้นเหมือนกับอาการเบ่งบานแห่งดอกไม้ในทางความคิด

ไม่ว่าจะเป็น “คัมภีร์” ไม่ว่าจะเป็น “ภัยเขียว” ไม่ว่าจะเป็น “ภัยขาว”

นี่ย่อมเป็นบรรยากาศที่ สุจิตต์ วงษ์เทศ มีความสนิทชิดใกล้เป็นอย่างยิ่งเมื่อใช้ชีวิตอยู่ที่อเมริกา

แม้ว่าจะด้วยกระบวนท่าที่ โง่ เง่า เต่า ตุ่น ก็ตาม

คำถามก็คือ ผลสะเทือนในลักษณะแบบนี้เมื่อสะท้อนผ่านหน้าหนังสือพิมพ์ของ “สยามรัฐ” ดำเนินไปอย่างไร

ดำเนินไปในจุดเน้นว่าด้วย “สงครามเวียดนาม”

 

รูปแบบ ใหม่

เนื้อหา ใหม่

ตรงหน้ากลางของหนังสือพิมพ์ “สยามรัฐ” ในกาละอันเหมาะสมก็จะขยายหน้าเป็นจอกว้างเสนอเรื่องราวในลักษณะอันเป็น “สกู๊ปพิเศษ”

เมื่อเน้นไปยัง “สงครามเวียดนาม”

สิ่งที่หนังสือพิมพ์ “สยามรัฐ” ไม่เคยกล่าวถึงหรือให้ความสนใจมาก่อนเลยก็เริ่มมีการนำเสนออย่างเป็นระบบและละเอียด

นั่นก็คือ การเข้ามาของ “ฐานทัพสหรัฐ” ใน “ประเทศไทย”

ในพื้นที่ของนิตยสาร “สังคมศาสตร์ปริทัศน์” อาจพูดถึงการเข้ามาของสหรัฐอเมริกาเหมือนเป็นเรื่องปกติ

ไม่ว่าในด้าน “การลงทุน” ไม่ว่าในด้าน “การทหาร”

ยิ่งในห้วงที่สงครามเวียดนามขยายตัวเป็นสงครามอินโดจีน การเข้ามาของฐานทัพสหรัฐ ไม่ว่าจะเป็นที่อุบลราชธานี ตาคลี และอู่ตะเภา ยิ่งมีการนำเสนออย่างเป็นระบบ

เพิ่งจะมีในห้วงหลังรัฐประหารเดือนพฤศจิกายน 2514 นั้นหรอกที่หนังสือพิมพ์ “สยามรัฐ” ได้เข้าร่วมขบวนในการนำเสนอด้วย

และที่แหลมคมเป็นอย่างมากคือ ข่าวการเคลื่อนไหวของ “ไทยอิสระ”

มีการนำเสนอข่าวการเคลื่อนไหวของ สุนทร วงศ์หนองหว้า และ สุพจน์ บุนนาค อันมีฐานอยู่ในสวีเดน

นี่ย่อมเป็นการเสนอข่าวและความเห็นที่แหลมคม

เมื่อเทียบกับการนำเสนอเรื่องราวของ “สงคราม” ใน 3 ประเทศอินโดจีน เมื่อเทียบกับการนำเสนอความสัมพันธ์ที่กำลังได้รับการสถาปนาอย่างอึกทึกครึกโครมระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา

นี่ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นในพื้นที่ของ “สยามรัฐ”

 

กระแทก สยามรัฐ

ฐาน อนุรักษนิยม

หากมองจากสถานการณ์ในทาง “สากล” หากมองจากสถานการณ์ความตื่นตัวในทางความคิดและในทางการเมือง “ในประเทศ”

ในทางสากลอาจเป็นเรื่องธรรมดาอย่างปกติ

แต่กล่าวสำหรับสังคมประเทศไทย นี่ย่อมเป็นเรื่องใหม่ที่ต้องอาศัยการทำความเข้าใจอย่างเป็นพิเศษ

มิใช่จากพื้นฐาน “อนุรักษนิยม” ในแบบของ “สยามรัฐ”

หากแต่ต้องอาศัยความเป็น “เสรีนิยม” ค่อนข้างสูงในระดับใกล้เคียงอย่างยิ่งกับที่เห็นได้ใน “สังคมศาสตร์ปริทัศน์” ที่รับรู้ได้ผ่าน “ชัยพฤกษ์ฉบับนักศึกษาประชาชน” และนิตยสารประเภท “อันเดอร์กราวด์” ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมอย่างสูงในหมู่นิสิตนักศึกษาคนรุ่นใหม่

ไม่ว่าจะเป็น “ภัยขาว” จากโดมเจ้าพระยา ท่าพระจันทร์ ไม่ว่าจะเป็น “วลัญชทัศน์” จากดอยสุเทพ หรือแม้กระทั่ง “เล็บ” จากกลุ่มสตรี

อาจเป็นเรื่องธรรมดาเมื่อ สุจิตต์ วงษ์เทศ มองเห็นที่ “อิทะกะ”

แต่กล่าวสำหรับการเมืองในประเทศไทยนี่ย่อมเป็นเรื่องใหม่ เป็นเรื่องที่อาจเรียกได้ว่า แปลกสภาวะ หรือ แปลกแยก

ไม่ว่าในวงการ “การเมือง” ไม่ว่าในวงการ “หนังสือพิมพ์”

 

1 เดือน แหลมคม

1 เดือนเปลี่ยนแปลง

เมื่อมองย้อนกลับไปยังสภาพที่เกิดขึ้นตลอด 1 เดือนแห่งการเปลี่ยนแปลงภายในหนังสือพิมพ์ “สยามรัฐ” รายวัน

ย่อมก่อให้เกิดความตื่นตระหนกเป็นอย่างสูง

ที่เหตุผลซึ่งระบุในคำสั่งไล่ออก สุจิตต์ วงษ์เทศ ขรรค์ชัย บุนปาน ที่ว่า “บ่อนทำลายความมั่นคงของหนังสือพิมพ์สยามรัฐ” นั้น

ชัดเจน

เนื่องจากไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงในด้าน “รูปแบบ” อันเป็นหน้าตาของหนังสือพิมพ์ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงบในด้าน “เนื้อหา” อันดำรงความเป็นอนุรักษนิยมมาอย่างยาวนาน

การเปลี่ยนแปลงของ สุจิตต์ วงษ์เทศ ดำเนินไปอย่างท้าทาย

แม้หากมองอย่างเห็น “พัฒนาการ” สิ่งที่ สุจิตต์ วงษ์เทศ นำเสนอจะเป็นเรื่องธรรมดาอย่างยิ่งสำหรับในทางสากล หรือแม้กระทั่งในแวดวงหนังสือพิมพ์ไทยในปัจจุบัน

แต่ที่เกิดขึ้นในปี 2515 นั้นมิได้เป็นเรื่องธรรมดาอย่างปกติ

ไม่ว่าโดยบรรทัดฐานของหนังสือพิมพ์โดยทั่วไป ไม่ว่าโดยบรรทัดฐานของหนังสือพิมพ์ “สยามรัฐ” เอง

จึงเป็น “การเปลี่ยนแปลง” ที่มิอาจยอมรับได้

 

ไล่ สุจิตต์ วงษ์เทศ

หวนกลับ ฐานเดิม

กล่าวสำหรับหนังสือพิมพ์ “สยามรัฐ” บทบาทของ สุจิตต์ วงษ์เทศ โดยการหนุนเสริมของ ขรรค์ชัย บุนปาน จึงเป็น “อันตราย”

มิอาจเอาไว้ได้

แม้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช จะเคยฝากความหวังไว้กับ “สองกุมารสยาม” เป็นอย่างสูง แต่สิ่งที่ “สองกุมารสยาม” เท่ากับเป็นการทุบทำลาย “ปฏิมา” อันหนังสือพิมพ์ “สยามรัฐ” ก่อรูปมาอย่างยาวนาน

จึงจำเป็นต้องตัดไฟตั้งแต่ต้นลม

ความต้องการโดยพื้นฐานก็คือ ต้องการให้หนังสือพิมพ์ “สยามรัฐ” หวนกลับไปยังฐานเดิมที่เคยก่อรูปมาตั้งแต่ยุค จอมพล ป.พิบูลสงคราม

ภายใต้การร่วมมือของ “บรรณาธิการ” ผู้มีชื่อเสียงและมีความจัดเจน

ไม่ว่าจะเป็น รำพรรณ พุกกะเจียม ไม่ว่าจะเป็น สละ ลิขิตกุล ไม่ว่าจะเป็น ประจวบ ทองอุไร และโดยเฉพาะ นพพร บุณยฤทธิ์

ภายใต้การนำของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช