ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 26 เมษายน - 2 พฤษภาคม 2567 |
---|---|
เผยแพร่ |
คําแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีชุดนายเศรษฐา ทวีสิน ที่แถลงต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 11 กันยายน พ.ศ.2566 ระบุถึงนโยบายเร่งด่วนที่ต้องเร่งรีบดำเนินการ ดังนี้
และนโยบายเร่งด่วนสุดท้าย คือ การแก้ปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 เพื่อให้คนไทยได้มีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น โดยยึดรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และไม่แก้ไขในหมวดพระมหากษัตริย์ โดยรัฐบาลจะหารือแนวทางในการทำประชามติที่ให้ความสำคัญกับการทำให้ประชาชนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมออกแบบกฎ กติกาที่เป็นประชาธิปไตย ทันสมัยและเป็นที่ยอมรับร่วมกัน รวมถึงการหารือแนวทางการจัดทำรัฐธรรมนูญในรัฐสภา เพื่อให้ประเทศสามารถเดินต่อไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง
(ที่มา : หน้า 6 คำแถลงนโยบายของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แถลงต่อรัฐสภา วันจันทร์ที่ 11 กันยายน พ.ศ.2566)
แต่ถึงปัจจุบัน เป็นเวลาผ่านมากว่า 7 เดือน สิ่งที่รัฐบาลดำเนินการ กลับเหมือนการพายเรือในอ่าง
เริ่มจากการมีมติของคณะรัฐมนตรีในการประชุมนัดแรก ได้มีมติให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทําประชามติ เพื่อหาคำตอบว่า จะต้องมีการทำการออกเสียงประชามติอย่างไรให้ครบถ้วน ถูกต้อง
คณะกรรมการ ที่มีรองนายกรัฐมนตรีภูมิธรรม เวชยชัย เป็นประธาน เริ่มทำหน้าที่ตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ.2566
คณะกรรมการใช้เวลาไปร่วม 3 เดือน มีผลสรุปแถลงต่อประชาชนเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ.2566 ว่ามีความเห็นร่วมกันว่าควรทำประชามติทั้งหมด 3 ครั้ง
และเสนอคำถามประชามติเพียงข้อเดียวว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แก้ไขหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์”
และคาดว่าหากเสนอคณะรัฐมนตรีได้ในเดือนมกราคม พ.ศ.2567 การทำประชามติครั้งแรกจะเกิดในเดือนเมษายน หรือ พฤษภาคม พ.ศ.2567
ยังไม่ทันที่รายงานฉบับดังกล่าวจะเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 22 มกราคม พ.ศ.2567 สมาชิกสภาผู้แทนจากพรรคเพื่อไทยจำนวน 122 คน นำโดยนายชูศักดิ์ ศิรินิล ก็เสนอญัตติต่อที่ประชุมรัฐสภาเพื่อขอให้รัฐสภามีมติสอบถามไปยังศาลรัฐธรรมนูญเรื่องการทำประชามติตามคำวินิจฉัยที่ 4/2564 ของศาลรัฐธรรมนูญว่า จะต้องทำให้ขั้นตอนใดบ้าง
โดยที่ประชุมรัฐสภามีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ.2567
วันที่ 17 เมษายน พ.ศ.2567 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 7 : 0 ตีตกคำร้องของรัฐสภา โดยให้เหตุผลว่า คำวินิจฉัยที่ 4/2564 นั้น ศาลได้วินิจฉัยโดยละเอียดและมีความชัดเจนแล้ว ไม่ใช่เรื่องที่ต้องมาวินิจฉัยอีก
กว่า 7 เดือน ของการดำเนินการของรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน และรัฐสภาที่มีพรรคเพื่อไทยซึ่งมีฐานะเป็นพรรคหลักของรัฐบาลในสภาผู้แทนราษฎร จึงแทบเป็นความพยายามที่สูญเปล่า ไข่ยังไม่ทันได้ตั้ง ท่ามกลางความไม่ชัดเจนมึนงงว่าจะเดินต่อกันอย่างไร
คำถามเพื่อนำไปสู่ทางเลือก
มีคำถามที่รัฐบาลต้องตอบตัวเองเพื่อนำไปสู่ทางเลือกของการดำเนินการ คือ
หนึ่ง จะแก้ทั้งฉบับหรือแก้บางส่วน
และ สอง จะดำเนินการโดยรัฐสภา หรือจะให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญเป็นผู้ดำเนินการ (ดูแผนผัง)
คำตอบของแต่ละคำถาม จะนำไปสู่จำนวนครั้งของการทำประชามติที่แตกต่างกัน
หากไม่แก้ทั้งฉบับ และให้รัฐสภาเป็นผู้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเอง ก็อาจมีการทำประชามติเพียงครั้งเดียว หลังจากแก้ไขหากเป็นกรณีที่การแก้นั้นไปเกี่ยวข้องกับ หมวด 1 หมวด 2 เกี่ยวกับคุณสมบัติและการทำหน้าที่ของศาลและองค์กรอิสระ หรือเป็นการแก้เกี่ยวกับวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ แต่ถ้าไม่เกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ก็ไม่ต้องมีการทำประชามติแม้แต่ครั้งเดียว
แต่หากไม่แก้ทั้งฉบับ แต่ประสงค์จะให้มี ส.ส.ร. มาทำหน้าที่แก้ไขแทนรัฐสภา ก็ต้องเสนอแก้ มาตรา 256 ของรัฐธรรมนูญเพื่อเปิดโอกาสให้มี ส.ส.ร. ซึ่งหากรัฐสภาผ่านร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ก็ต้องทำประชามติเพราะเป็นการแก้เกี่ยวกับวิธีการแก้ตามมาตรา 256(8) ที่บังคับว่าต้องทำประชามติ
จากนั้นเมื่อ ส.ส.ร.ทำงานเสร็จ ก็สมควรทำประชามติอีกครั้งเพื่อให้ประชาชนให้ความเห็นชอบในฐานะผู้สถาปนารัฐธรรมนูญ ทางเลือกนี้จึงมีการทำประชามติ 2 ครั้ง
สุดท้าย หากเป็นการแก้ทั้งฉบับ โดยมี ส.ส.ร.เป็นผู้แก้ ต้องมีการทำประชามติ 3 ครั้ง คือ ครั้งแรกก่อนเริ่มต้นดำเนินการ ครั้งที่สองหลังจากแก้มาตรา 256 ให้มี ส.ส.ร. และครั้งที่สาม หลังจาก ส.ส.ร.ร่างรัฐธรรมนูญเสร็จเป็นที่เรียบร้อย
ใครต้องเป็นผู้เริ่มต้น
เมื่อเป็นนโยบายของคณะรัฐมนตรีและยังเป็นนโยบายเร่งด่วนที่ประกาศต่อรัฐสภา คณะรัฐมนตรีจึงสมควรเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการ โดยมีมติให้มีการทำประชามติ จำนวน 3 ครั้ง (หากแก้ไขทั้งฉบับ) หรือเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 256 ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ และจัดให้มีการทำประชามติจำนวน 2 ครั้ง (หากไม่แก้ทั้งฉบับ)
เพราะตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2564 การตัดสินใจให้มีการทำประชามติในขั้นท้ายสุดอยู่ที่คณะรัฐมนตรีไม่ว่าข้อเสนอการทำจะมาจากรัฐสภา หรือจากประชาชนก็ตาม ท้ายสุด คณะรัฐมนตรีจะเป็นผู้ตัดสินว่าจะให้ทำหรือไม่
เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติให้มีการทำประชามติ วันที่ให้ประชาชนมาลงประชามติจะถูกกำหนดโดยการปรึกษาร่วมกันระหว่างคณะรัฐมนตรีและคณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยต้องจัดในเวลาไม่น้อยกว่า 90 วันและไม่เกิน 120 วัน
ดังนั้น หากคณะรัฐมนตรีมีมติให้ทำประชามติในเดือนเมษายน วันที่จะทำประชามติครั้งแรกจะล่วงไปถึงเดือนสิงหาคม พ.ศ.2567 แล้ว
หากยึดทำประชามติ 3 ครั้ง
เมื่อใดจะได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่
ทุกอย่างมีกรอบเวลาที่ใช้ในการดำเนินการ หากเริ่มวันนี้ ตารางที่เป็นไปได้คือ (ดูตาราง)
จากตารางเวลาที่ประมาณการโดยไม่มีอะไรติดขัด กว่าจะเห็นโฉมหน้ารัฐธรรมนูญใหม่ คือปลายปี พ.ศ.2569 และเหลืออีกไม่กี่เดือนก็จะครบวาระ 4 ปีของรัฐบาลในวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ.2570
แต่ต้องไม่ลืมว่า ยังมีกฎหมายลูก หรือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญการเลือกตั้งอีก 10 ฉบับที่ต้องแก้ไขให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญที่ต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นด้วย อาทิ พ.ร.ป.การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ร.ป.พรรคการเมือง พ.ร.ป.คณะกรรมการการเลือกตั้ง
ย้วยมา 7 เดือนขนาดนี้ อะไรจะเกิดก็ต้องเกิดแล้ว
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022