นิธิ เอียวศรีวงศ์ : วัตรวิถีนอกรัฐ (4)

ตอน 1 2 3

ชุมชนคือกลุ่มคนที่ต่างรู้สึกว่ามีความสัมพันธ์ต่อกันเข้มข้นกว่าปรกติ แต่เนื่องจาก “ปรกติ” ของทุกสังคมย่อมแปรเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ชุมชนจึงเปลี่ยนรูปแบบไปเรื่อยๆ เหมือนกัน เช่น จากที่เคยมีฐานที่เครือญาติ, ที่อยู่อาศัยในเชิงภูมิศาสตร์, อัตลักษณ์ร่วมกัน, ฯลฯ ไปสู่คน “คอเดียวกัน” ในสื่อออนไลน์ ซึ่งอาจไม่เคยเห็นหน้าค่าตากันเลย แต่ที่ไม่เปลี่ยนก็คือสำนึกว่ามีความสัมพันธ์ต่อกันเข้มข้นกว่าปรกติ

ชุมชนจึงเป็นเรื่องของความรู้สึกโดยตรง โดยเฉพาะชุมชนที่เปิดให้มีความสัมพันธ์กันโดยตรงได้มาก ได้มีโอกาสทำอะไรร่วมกัน, แสดงออกซึ่งอัตลักษณ์ของกลุ่มร่วมกัน เช่น สวมเสื้อสีเดียวกัน หรือมีตราประทับอันเดียวกัน ผ่านหรือเข้าร่วมพิธีกรรมเดียวกันมา รู้สึกอบอุ่นและมั่นใจตนเองมากขึ้นเมื่ออยู่ในชุมชน

พุทธศาสนาที่เป็นทางการตัดอารมณ์ความรู้สึกเช่นนี้ออกไป ทั้งๆ ที่วัดเคยเป็นศูนย์กลางและพื้นที่หลักอันหนึ่งของชุมชนมาก่อน ความเคลื่อนไหวทางศาสนาในระยะหลัง (คือหลัง 2500 ลงมา อันเป็นช่วงที่สังคมไทยเปลี่ยนไปอย่างมากและรวดเร็ว) จึงมักเป็นความเคลื่อนไหวในลักษณะชุมชน แทนที่จะเป็นแต่หนังสือสิ่งพิมพ์, โพเดียมหรือธรรมาสน์, มหรสพทางวิญญาณ, รูปปั้นนรกสวรรค์, ฯลฯ อย่างแต่ก่อน

ชุมชนที่เกิดจากการเคลื่อนไหวทางศาสนาเช่นนี้คือชุมชนปฏิบัติธรรม ซึ่งไม่ใช่ชุมชนของนักบวชในวัดแต่เพียงอย่างเดียว หากเป็นชุมชนที่รวมผู้คนหลากหลายฐานะ, อาชีพ และเพศ ไว้ในชุมชนเดียวกัน ยิ่งกว่านั้นยังสร้างสายสัมพันธ์ของสมาชิกออกไปในชีวิตที่อยู่นอกสถานปฏิบัติธรรมด้วย

(ผมคิดว่า เรียกว่า “วัดพระธรรมกาย” ชวนให้หลง เพราะที่ตรงนั้นนอกจากเป็นวัดแล้ว ยังเป็นชุมชนขนาดใหญ่ของการปฏิบัติธรรม – ส่วนจะเป็นธรรมถูกหรือธรรมผิดอย่างไร ยกไว้ก่อน – ที่รวมทั้งพระและฆราวาสนานาประเภทไว้ด้วยกัน การใช้อำนาจรัฐไปบุกค้นจึงไม่ง่ายเหมือนไปบุกค้น “วัด” อื่นๆ)

 

ในช่วงหลัง 2500 ลงมา สวนโมกขพลาราม ซึ่งเคยเป็นสถานีใหญ่ในการเผยแผ่คำสอนของท่านพุทธทาส และสำนักสงฆ์ที่สมาทานการตีความพระพุทธศาสนาแบบของท่าน ก็เริ่มแปรเปลี่ยนไป มีสถานที่ให้ฆราวาสจำนวนหนึ่งเข้ามาพำนัก เพื่อได้เรียนรู้และปฏิบัติธรรม มีค่ายลูกเสือไว้ฝึกอบรมเยาวชน รวมทั้งค่ายลูกเสือนานาชาติ สำหรับเยาวชนต่างชาติ และเป็นที่พักของชาวต่างชาติไปพร้อมกัน แม้แต่ชื่อสวนโมกข์ ก็คงตั้งใจให้รู้แต่แรกแล้วว่า แม้ตั้งอยู่ในวัดธารน้ำไหล แต่ไม่ใช่วัด คือเป็นชุมชนของผู้ใคร่เรียนรู้ธรรม และใฝ่ปฏิบัติธรรม

แม้ว่าวัฒนธรรมของส่วนโมกข์ไม่หวือหวาเหมือนวัดพระธรรมกาย แต่ก็มีวัฒนธรรมที่เป็นฐานให้แก่ “ชุมชน” อย่างดีเช่นกัน เช่น ไม่มีใครไปแต่งกายหรูหราที่สวนโมกข์ ทุกคนแต่งกายที่ถือว่าเรียบง่าย ผู้หญิงมักนุ่งผ้าถุง ผู้แก่กล้าก็ยังใช้ผ้าถุงในชีวิตจริงนอกสวนโมกข์เป็นปรกติด้วย จึงเหมือนมีเครื่องแบบโดยไม่ต้องบังคับ มี “ศัพท์” บางอย่างที่พูดแล้วก็เข้าใจกันเองได้ถึงธรรมที่ต่างยึดถือ เช่น “มันเป็นเช่นนั้นเอง”, “ตัวกูของกู”, “ชาล้นถ้วย”, ฯลฯ ศัพท์เหล่านี้ใช้สื่อสารกันเป็นปรกติทั้งในและนอกสวนโมกข์ เหมือนเป็นภาษาอีกชนิดหนึ่ง

การพากันไปนั่งฟังธรรมเทศนาของ “ท่านอาจารย์” ที่ลานหินโค้ง, กินข้าวมื้อเดียว, พยายามมีสติด้วยการกำหนดลมหายใจขณะทำงานคือการปฏิบัติธรรมไปด้วย, ฯลฯ อาจให้ผลในทางจิตใจอย่างไรก็ตาม แต่เป็นพิธีกรรมที่สมาชิกของชุมชนทำร่วมกันอยู่เป็นประจำ อย่างที่ชุมชนศาสนาทั้งหลายต้องมี

เจ้าสำนักสวนโมกข์ อาจไม่ได้เจตนาที่จะสร้างชุมชนขึ้น แต่เจตนาจะเผยแผ่คำสอนอย่างได้ผลมากกว่า “ชุมชน” สวนโมกข์เกิดขึ้นเองในลักษณะคลี่คลายไปเรื่อยๆ แต่ดูเหมือนกลายเป็นต้นแบบของการเคลื่อนไหวทางศาสนาทั่วไปหมด เมื่อไรใครจะสอนอะไรที่พุทธศาสนาที่เป็นทางการของไทยไม่สอน หรือไม่เน้นหนักเป็นพิเศษ ก็มักจะสอนโดยผ่าน “ชุมชน” ซึ่งตั้งใจทำให้เกิดขึ้น หรือเกิดขึ้นโดยธรรมชาติก็ตาม

จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ความเคลื่อนไหวทางศาสนาในรุ่นหลังๆ ลงมานี้ จึงกอปรด้วยมิติด้านอารมณ์ความรู้สึกทางศาสนา อันเป็นมิติที่ถูกพุทธศาสนาที่เป็นทางการละเลยมาก่อน
กรณีของสันติอโศกในตอนต้น เป็นแต่เพียง “ชุมชน” ของภิกษุ (ในสองนิกาย) ที่สนใจปฏิบัติธรรมตามแนวของท่านโพธิรักษ์ร่วมกัน ส่วนขยายขึ้นจนรวมฆราวาสทั้งหญิงและชายที่สนใจในภายหลัง ก็คงคล้ายกับสวนโมกข์ คือต้องการเผยแผ่คำสอนอย่างได้ผล พ่อท่านโพธิรักษ์เองหลีกเลี่ยงที่จะเรียกชุมชนสันติอโศกทั้งหลายว่า Community แต่เรียกว่า Co-Housing แทน เพราะเหตุใดผมก็ไม่ทราบ ได้แต่เดาว่าเพื่อไม่ให้มิติด้านอารมณ์ความรู้สึกเป็นจุดเน้นของคำสอนกระมัง

แต่ไม่ว่าจะเรียกอะไร หรือเจตนาอย่างไร ผู้ที่เคยเข้าไปพักในสันติอโศกก็ได้รับอารมณ์ความรู้สึกทางศาสนาอย่างเต็มเปี่ยม ผมขอยกคำพูดของบุคคลผู้หนึ่งที่เคยเข้าไปพักในสำนักแห่งหนึ่งของสันติอโศก โดยไม่ตั้งใจจะไปปฏิบัติธรรม แต่อยากไปเที่ยว

“ผู้คนที่นี่ก็ง่ายๆ เป็นมิตร ช่วยกันดี อบอุ่นครับ อบอุ่นมาก ไม่มีผลประโยชน์ใดๆ แอบแฝง เพราะแต่ละคนไม่มีทรัพย์สินอะไร …คนมาสันติอโศก เหมือนได้สามีภรรยาใหม่…” (จากข้อความในเพจพันทิพ)

คำบรรยายของสมาชิกอีกท่านหนึ่งในเพจของสันติอโศกเอง เรียกกลุ่มว่า “ชุมชนบุญนิยมสันติอโศก” มีการ “ประชุมชุมชน” กันทุกเดือน มีฆราวาสมาค้างปฏิบัติธรรมอยู่เสมอ “ชาวชุมชนอยู่กันอย่างเอื้อเฟื้อเกื้อกูล โดยระบบส่วนกลาง เรียกว่าสาธารณโภคี คือการเฉลี่ย แบ่งปัน…เราจึงอยู่ร่วมกันอย่างอบอุ่นเสมือนครอบครัวใหญ่ พึ่งพาอาศัย ช่วยเหลือดูแลกัน… ”

 

ในส่วนความเคลื่อนไหวทางศาสนาธรรมกายนั้น เป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่ามีลักษณะ “ชุมชน” อย่างเด่นชัด งานวิจัยของ อาจารย์อภิญญา เฟื่องฟูสกุล เรื่อง “ศาสนทัศน์ของชุมชนเมืองสมัยใหม่ศึกษากรณีของวัดพระธรรมกาย” ชี้ให้เห็นว่า ความสัมพันธ์ของชุมชนนี้ขยายออกไปนอกวัด และสมาชิกนำมันไปใช้ในด้านอื่นๆ นอกศาสนาด้วย เช่น ในทางธุรกิจส่วนตัว เป็นต้น

ไม่เฉพาะแต่สันติอโศกและธรรมกายเท่านั้น สำนักวิปัสสนาอีกหลายแห่งของฆราวาส ก็มักจะลอกเลียนความสัมพันธ์แบบชุมชนของความเคลื่อนไหวทางศาสนาทั้งสองนี้ไปใช้อยู่บ้าง เพราะสำนักเหล่านี้มีศิษย์ส่วนใหญ่หมุนเวียนไปเรื่อยๆ ในหมู่คนชั้นกลางในเมือง (เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ลูกค้า”) ที่จะให้เกิดชุมชนขึ้นจริงอย่างสันติอโศกและธรรมกายจึงเป็นไปไม่ได้ แม้กระนั้นก็มักจะมี “เครื่องแบบ” เช่น ชุดขาว, วัตรปฏิบัติในชีวิตที่เหมือนกัน, ทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น สวดมนต์และฟังธรรม ฯลฯ

กล่าวอีกนัยยะหนึ่งคือไม่ละทิ้งมิติด้านอารมณ์ความรู้สึกทางศาสนาไปเสียทีเดียวเหมือนพุทธศาสนาที่เป็นทางการ

โดยสรุปลักษณะที่รวมตัวเป็น “ชุมชน” คือลักษณะเด่นและสำคัญอย่างหนึ่งของความเคลื่อนไหวทางศาสนาในรุ่นหลัง โดยไม่ต้องการให้มีความหมายในเชิงเหยียดหยามแต่อย่างไร ผมอยากให้สังเกตว่า ความเคลื่อนไหวเหล่านี้ย้อนกลับไปเหมือนกับความเคลื่อนไหวของตนบุญหรือผู้มีบุญในอดีต โดยเฉพาะการแยกชุมชนออกไปจากสังคมโดยรวม

นอกจากมิติทางอารมณ์ความรู้สึกที่ชุมชนสามารถปลุกเร้าขึ้นได้แล้ว ความขาดแคลนชุมชนในชีวิตของสังคมสมัยใหม่ไทยก็มีส่วนที่ทำให้เกิดศรัทธาเลื่อมใสในหมู่ผู้คนด้วย การเข้าไปปฏิบัติธรรมกับความเคลื่อนไหวทางศาสนาเหล่านี้ นอกจากได้ปฏิบัติศาสนาตามความเชื่อของตนแล้ว ยังได้สำนึกความมั่นคงปลอดภัยที่เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนที่สัมผัสได้จริง

แต่รัฐไทยไม่ค่อยไว้วางใจชุมชนมาตั้งแต่เมื่อปฏิรูปประเทศเข้าสู่ความเป็นรัฐสมัยใหม่แล้ว เพราะชุมชนย่อมเกิดขึ้นนอกการกำกับควบคุมของรัฐ จะเห็นความไม่ไว้วางใจของรัฐในแง่นี้ได้ดีจากกฎหมายจัดตั้งสมาคม, มูลนิธิ, สหกรณ์, สหภาพ, ฯลฯ ที่บังคับให้ต้องขออนุญาตจากรัฐเสมอ ส่วนชุมชนที่เกิดเองตามธรรมชาติของสังคมโบราณก็หมดหน้าที่ และสูญสลายไปเป็นธรรมดา แม้แต่วัดก็ไม่ได้ทำหน้าที่ของศูนย์กลางชุมชนอย่างเดิมอีกแล้ว

ผมควรชี้ไว้ด้วยว่า ชุมชนของสังคมสมัยใหม่เกิดขึ้นจากความสมัครใจของสมาชิก ไม่เหมือนชุมชนโบราณซึ่งมักเกิดขึ้นด้วยความ “บังเอิญ” (อยู่หมู่บ้านเดียวกัน, ทำบญวัดเดียวกัน, นับถือศาลปู่ตาเดียวกัน, ทำนาร่วมกัน, เป็นญาติทั้งจริงและเสมือนในกลุ่มเดียวกัน ฯลฯ) และเพราะชุมชนเกิดจากความสมัครใจนั่นแหละ ยิ่งน่ากลัวแก่รัฐมากขึ้น เพราะอาจเป็นภัยแก่รัฐก็ได้

 

ทั้งหุบผาสวรรค์, สันติอโศก และธรรมกาย ล้วนเป็นความเคลื่อนไหวทางศาสนาที่รัฐเห็นว่าเป็นภัยอย่างใดอย่างหนึ่ง และใช้อำนาจรัฐเข้าไปปราบในที่สุด แต่ก็น่าสังเกตว่าสันติอโศกยังดำรงอยู่ต่อมาอย่างแข็งแกร่งทีเดียว ส่วนธรรมกายนั้น แม้ว่ารัฐใช้วิธีใกล้เคียงกับที่จัดการกับหุบผาสวรรค์ แต่ก็ไม่สามารถขจัดความเคลื่อนไหวของธรรมกายลงได้อย่างสิ้นเชิง (ที่จริงสานุศิษย์ยังตั้งสำนักงานของหุบผาสวรรค์สืบมาจนทุกวันนี้ แต่ไม่ได้ดำเนินการกว้างขวางอย่างสมัยที่คุณสุชาติยังทำอยู่) แสดงว่าลักษณะชุมชนน่าจะให้ความเข้มแข็งบางอย่างแก่ความเคลื่อนไหวทางศาสนาที่รัฐไม่สามารถขจัดไปได้ง่ายๆ อีกแล้ว

ชุมชนทางศาสนาที่มีเสรีภาพจะเชื่อและปฏิบัติศาสนาพุทธไปตามการตีความของเจ้าสำนักแต่ละคน ซึ่งแตกต่างกัน ย่อมไม่ตรงกับความหมายของคำว่า “ศาสนา” ในตรีมูรติชาติ, ศาสน์, กษัตริย์แน่ เพราะจะเกิดความหลากหลายในความเชื่อและวัตรปฏิบัติที่อาจไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับสถาบันที่เหลือได้ ด้วยเหตุดังนั้น รัฐจึงต้องต่อต้านปราบปรามความเคลื่อนไหวทางศาสนาที่มีลักษณะชุมชน เพื่อรักษาสถาบันหลักของชาติไว้ให้คงเดิม

น่าสังเกตอีกอย่างหนึ่งด้วยว่า ในการปราบปรามหรือต่อต้านการเคลื่อนไหวทางศาสนาของรัฐในระยะหลัง ทั้งกรณีสันติอโศกและกรณีธรรมกาย ข้อถกเถียงเรื่องคำสอนถูกต้องตามพระธรรมวินัยหรือไม่ กลายเป็นประเด็นหลักขึ้นมา

ข้อถกเถียงนี้ก็เคยมีมาตั้งแต่สมัยที่ปราบ “กบฏ” ตนบุญหรือผู้มีบุญมาแล้ว แต่ไม่ใช่ประเด็นหลักเท่ากับการขัดขืนอำนาจรัฐของความเคลื่อนไหว การกล่าวหาว่าท่านพุทธทาสและพระพิมลธรรมเป็นคอมมิวนิสต์ ก็คือหลีกเลี่ยงไม่ต้องถกเถียงกันเรื่องพระธรรมวินัย เพราะแม้ทั้งสองท่านสอน “ถูก” ก็ยังผิดอยู่ดีที่เป็นคอมมิวนิสต์ หรือการปราบปรามสำนักหุบผาสวรรค์ เท่าที่ผมพบหลักฐานในภายหลัง ก็พูดกันแต่เรื่องการเตรียมการแข็งข้อต่อรัฐ เพิ่งมาสันติอโศกและธรรมกายนี้เอง ที่ประเด็นเรื่องพระธรรมวินัยหรือการตีความพุทธธรรมกลายเป็นประเด็นหลัก

(ผมได้ทราบจากเพื่อนคนหนึ่งที่จำเรื่องหุบผาสวรรค์ได้ว่า ก่อนที่รัฐจะลงมือปราบ มีพระในวัดธรรมยุตใหญ่แห่งหนึ่ง เขียนและให้สัมภาษณ์โจมตีความเชื่อของหุบผาสวรรค์อย่างหนักมาก่อน ไม่พอใจเพราะมีรูปเคารพของศาสนาอื่น หากจริงตามนี้ กรณีหุบผาสวรรค์ก็มีประเด็นพระธรรมวินัยเข้ามาเกี่ยวข้องเหมือนกัน แต่ผมและเพื่อนก็ไม่ทราบเหมือนกันว่า กรณีนี้เป็นเหตุให้รัฐลงมือปราบหรือไม่)

ประเด็นเรื่องธรรมวินัยเป็นเพียงข้ออ้างให้แก่รัฐ เพื่อทำให้ประชาชนทั่วไปยอมรับได้เท่านั้นใช่หรือไม่? ผมไม่ทราบหรอกครับ แต่ถึงใช่ ก็แสดงว่าการตีความพระพุทธศาสนากลายเป็นเรื่องสำคัญพอที่จะต้องยกมาอ้าง (ซึ่งสมัยหนึ่งไม่สำคัญพอจะอ้างด้วยซ้ำ)

ทำไมความถูกต้องหรือไม่ถูกต้องตามพระธรรมวินัยจึงกลายเป็นประเด็นสำคัญทางศาสนาของไทยขึ้นมา Orthodoxy หรือความถูกต้องตรงตามตำรา ไม่ใช่เรื่องสำคัญในพุทธศาสนาแบบไทยมาก่อน แท้จริงแล้ว ผมคิดว่าความไม่เคร่งกับลัทธิสอนอย่างเคร่งครัดนี่แหละ ที่ทำให้พุทธศาสนามีพลังในเมืองไทย สามารถอยู่ร่วมกับลัทธิความเชื่อนานาชนิด โดยมีพุทธเป็นสัญลักษณ์นำอยู่ได้เสมอ (“ขอคุณพระศรีรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในสากลโลก…”) ไม่แต่เฉพาะศาสนาผีและพราหมณ์อย่างที่พูดกันเท่านั้นนะครับ แต่รวมวิทยาศาสตร์และศาสตร์สมัยใหม่อื่นๆ, เสด็จพ่อ ร.5, เจ้าแม่กวนอิม, จตุคามรามเทพ, ไสยศาสตร์ที่ปรับเปลี่ยนสืบมา, รวมทั้งประชาธิปไตยและเผด็จการไปพร้อมกัน

Orthodoxy หรือความเคร่งครัดในลัทธิคำสอนจึงเป็นลักษณะใหม่ของพุทธศาสนาไทย

 

คําสอนของหลวงพ่อธัมมชโยนั้น ไม่ได้ต่างอะไรจากคำสอนของพระภิกษุในเมืองไทยจำนวนมาก ซึ่งมีมาแต่โบราณแล้ว ท่านไม่เคยเถียงกันเรื่องพระนิพพานเป็นอัตตาหรืออนัตตาหรอกครับ แต่ยอมรับไหมว่าพระสาวกทั้งหลายซึ่งล้วนบรรลุอรหัตผลแล้ว ยังมีฤทธิ์เดชปกป้องคุ้มครองผู้นับถือบูชาอยู่ตลอดมา เราสวดคาถาชินบัญชรทำไม ผมได้ยินเขาอธิบายว่าอัญเชิญพุทธคุณบรรดามีลงประทับทั่วร่างกายของผู้สวด

ส่วนทำบุญแล้วจะได้ผลตอบแทนที่ถูกใจเนื้อหนังมังสา ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า เป็นคำสอนใหม่แน่หรือ ลองอ่านไตรภูมิพระร่วงดูสิครับ ส่วนทำบุญก็เน้นการให้ทานทางวัตถุ ก็สอนหรือแนะกันมาอย่างนี้แต่โบราณแล้วไม่ใช่หรือครับ

ปราศจากฐานความเชื่อที่สั่งสมกันมาไม่รู้จะกี่ชั่วคน จะมาจ๊ะๆ จ๋าๆ ทางทีวีให้คนศรัทธาเลื่อมใสเป็นหมื่นเป็นแสนอย่างนี้เป็นไปไม่ได้หรอกครับ

 

ทําไมรัฐจึงต้องปราบธรรมกาย มีเหตุผลทางการเมืองอย่างไรผมไม่ทราบ แต่การที่รัฐต้องยก Orthodoxy ขึ้นมาเป็นข้ออ้างต่างหากที่น่าสนใจ

ผมเข้าใจว่า ศาสนาซึ่งเป็นหนึ่งในชาติ, ศาสน์, กษัตริย์นั้น เป็นศาสนาที่ไม่มีเนื้อหาเคร่งครัดนัก ตรงกันข้ามศาสนาที่กำหนดเนื้อหาไว้เคร่งครัดเสียอีก ที่อาจเป็นอันตรายต่อสถาบันอื่นได้ โดยเฉพาะหากมีเนื้อความที่ท้าทายอำนาจของสถาบันอื่น เช่น เน้นความเสมอภาคของมนุษย์ เป็นต้น

แต่คนชั้นกลางในเมือง และคนชั้นกลางระดับล่างที่เกิดขึ้นใหม่ในสังคม ล้วนต้องการศาสนาที่มีเนื้อหาชัดเจนแน่นอนขึ้น อย่าลืมว่าศาสนาของคนชั้นกลางไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตปรกติเหมือนคนโบราณ สำนักศาสนาและความเคลื่อนไหวทางศาสนา จึงต้องมีเนื้อหาที่ชัดเจนแน่นอนมากขึ้น จนอาจจะไม่สอดคล้องกับ “ศาสนา” ในชาติ, ศาสน์, กษัตริย์ก็ได้

การปราบปรามความเคลื่อนไหวทางศาสนาที่รัฐเห็นว่าเป็นอันตราย จึงต้องทำลายความน่าเชื่อถือของลัทธิคำสอนไปพร้อมกันด้วย

หลักเสรีภาพในการนับถือศาสนาซึ่งรัฐไทยให้คำรับรองมาตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ถูกทดสอบอย่างจริงจังเป็นครั้งแรก ไม่ใช่กับผู้นับถือต่างศาสนา นั่นมันเรื่องเล็กเพราะมีจำนวนนิดเดียวในหมู่ประชากร แต่หมายถึงชาวพุทธด้วยกัน ซึ่งอาจมีความเชื่อที่มีเนื้อหาที่แตกต่างกันได้หลากหลาย

หากรัฐจะกลายเป็นผู้ปกป้อง Orthodoxy หรือความเคร่งคัมภีร์ของศาสนา กรณีธรรมกายจะไม่ใช่กรณีสุดท้ายแน่ รัฐธรรมนูญฉบับนี้เอ่ยถึง “เถรวาท” เป็นครั้งแรก ฉบับหน้าคงจะเอ่ยถึง “ลังกาวงศ์” และฉบับต่อไปต้องเป็นลังกาวงศ์สายวัดมหาวิหาร และพระพุทธโฆษาจารย์ด้วย

เมื่อนั้น ยังจะเหลือเสรีภาพในการนับถือศาสนาในประเทศไทยอยู่อีกหรือ