ขอแสดงความนับถือ

ขอแสดงความนับถือ | ฉบับประจำวันที่ 3-9 พฤษภาคม 2567 ฉบับที่ 2281

 

“มติชนสุดสัปดาห์” ฉบับนี้

เริ่มนำเสนอ เรื่องสั้น กวีนิพนธ์ และการ์ตูนสะท้อนสังคม-การเมือง ที่เข้ารอบ “มติชนอวอร์ด 2024”

ขอทำความเข้าใจให้ตรงกันสักเล็กน้อย

การนำเสนอ เรื่องสั้น กวีนิพนธ์ และการ์ตูนสะท้อนสังคม-การเมือง ที่เข้ารอบ “ก่อน” หรือ “หลัง” นั้น

มิได้มีผลต่อการตัดสินในรอบสุดท้ายแต่อย่างใด

เพียงแต่เป็นการทยอยนำเสนอให้อ่านและพิจารณาเท่านั้น

จึงเรียนมาเพื่อทราบ

 

3 ผลงานที่เข้ารอบ และประเดิมให้อ่านนี้

เริ่มจากเรื่องสั้นของ ปรัชญา พงษ์พานิช

เรื่อง “กายวิภาคโครงกระดูกฝูงปลานิล”

เป็นฝูงปลานิล ที่สืบเนื่องมาจากการถม “สระน้ำ” ของโรงเรียนแห่งหนึ่ง

แล้วปลานิลฝูงนี้ ถูกนำไปสู่การเลี้ยงดูอย่างอิ่มหมีพลีมันของเหล่า “คุณครู”

 

“…นักการภารโรงนำคุณครูผู้ชายลงลุยโคลนเลนจับปลา

เสียงปลานิลดึกดำบรรพ์ดีดสะบัดหางดิ้นพล่านอลเวง

สายน้ำกระเซ็นเหม็นกลิ่นสาบโคลน…

…ปลานิลนึ่งมะนาวเปิดเผยธาตุแท้ฝีมือการปรุงอาหารของคุณครูวิชาประวัติศาสตร์

ปลานิลทอดกระเทียมหอมกรุ่นร้อนระอุภายใน เนื้อสีขาวสดฉ่ำหวานไม่หยาบกระด้างแห้งกร้านอย่างที่คิด น้ำซุปต้มยำหัวปลาเรียกฟื้นคืนชีวิต กับแกล้มเลิศรส พร้อมเครื่องดื่มเข้าสังคม เหมาะสมกับบรรยากาศซึ่งอวลอุ่นไปด้วยมิตรภาพเช่นนี้

เศษซากก้างกระดูกปลานิลถักทอสอดประสานโครงข่ายจนคล้ายภูเขากระดูกปลานิลขนาดย่อม

มีปลานิลสละชีวิตไปทั้งสิ้นสิบห้าตัว…”

 

อ่านเพียงแค่นี้ แล้วอาจนึกว่า “กายวิภาคโครงกระดูกฝูงปลานิล” เป็นเหมือนแค่เรื่องการสังสันทน์ ที่มักเกิดขึ้นบ่อยครั้งในโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศ

แต่กระนั้น หากอ่านอย่างพิจารณาตลอดเรื่องแล้ว

นี่มิใช่เป็นเรื่อง กายวิภาคโครงกระดูกฝูงปลานิล เท่านั้น

หากแต่โยงลึกไปถึงกายวิภาคโครงสร้างระบบการศึกษาของประเทศเราด้วย

แน่นอน มิได้ “โอชะ” ดังเนื้อปลานิล

หากแต่ในเนื้อปลานั้น

มากด้วย “ก้าง” ที่พร้อมจะ “ติดคอ” ครู และเด็กๆ นักเรียน อันเป็นอนาคตของชาติอยู่ตลอดเวลาต่างหาก

 

เช่นเดียวกับกวีนิพนธ์มติชนอวอร์ด ที่เข้ารอบ

เป็นกวีนิพนธ์ของ “วชิรญาโณ”

ที่ว่าด้วย “ขวัญอ่อนยังนอนไม่อุ่น”

“…มาเด้อขวัญนาและขวัญบ้าน

กลับมาอยู่เรือนชานอย่างที่หวัง

อยู่เฮือนนอนเหย้าเนารัง

อย่างตั้งใจไว้ให้ถาวร

มาอยู่เฮือนกินข้าว

มาอยู่เหย้ากินปลา

มาอยู่บ้านกับปู่ย่า

อย่าเที่ยวท่องคะนองไพร”

อ่านเพียงเท่านี้ อาจเข้าใจว่าเป็นการเอิ้นขวัญธรรมดา

แต่หากอ่าน “ขวัญอ่อนยังนอนไม่อุ่น” จบทั้งบท

แน่นอนนี่ย่อมไม่ได้เป็นการเรียกขวัญ “บักหล่าอี่หล่า” ที่ไหน

หากแต่เชื่อมโยงไปสู่ปัญหาโครงสร้าง “ที่อยู่-ที่กิน”

ที่ชาวบ้านมากมายในประเทศแห่งนี้เผชิญชะตากรรมปัญหา

ทำให้สิ่งที่ “ฝากผีฝากไข้” หลุดลอยออกจากครัวเรือน

ต้องเอิ้นหาขวัญ ให้กลับคืนมา

แต่จะกลับคืนมาอย่างมั่นคง ถาวรแค่ไหน

นี่คือปัญหาใหญ่ของประเทศนี้

 

เป็น “ปัญหาใหญ่” เหมือนกับ “ปัญหาใหญ่” ที่สะท้อนผ่านการ์ตูนสะท้อนสังคมการเมือง ของ “ฟ้ารุ่ง”

มิได้เป็นปัญหาใหม่

มิได้เป็นปัญหาที่ทุกคนไม่รู้

เป็นปัญหาเดิมๆ ซ้ำๆ ซากๆ ที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาเนิ่นนาน

แต่ก็ยังแก้ไขไม่ได้

มิหน้ำซ้ำยังฝังราก หยั่งลึก ลงสู่โครงสร้างสังคม อย่างไม่รู้ว่าจะถอนรากถอนโคนอย่างไร

สิ่งที่ “ดำมืด” ซึ่งเกิดขึ้นในองค์กร “พิทักษ์สันติราษฎร์” ขณะนี้

ทำให้ตัวละครที่ปรากฏในการ์ตูนของ “ฟ้ารุ่ง” ดูจะ “แรง”

แต่เมื่อนำไป “เทียบเคียง” กับสิ่งที่เกิดขึ้นและสาวไส้กันอยู่ในตอนนี้

ตัวละครของ “ฟ้ารุ่ง” ไม่ได้ “แรง” เลย ไม่ใช่หรือ?!?