สว.2567 สิ้นหวัง หรือ สมหวัง

วิกฤตการเมือง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา วุฒิสภากลายเป็นหนึ่งในสนามแสดงออกซึ่งอำนาจนำในสังคมอย่างมีนัยยะสำคัญ ส่วนใหญ่ถูกครอบนำด้วยอำนาจอนุรักษนิยมที่ยึดอำนาจประเทศ และอำนาจการเขียนรัฐธรรมนูญ มายาวนาน

ย้อนไปดูจะเห็นว่า ช่วงที่ประเทศเราต้องการให้โครงสร้างการเมืองเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น วุฒิสภาขณะนั้นก็เคยมาจากการเลือกตั้ง “ทางตรง” ของประชาชน คล้ายการเลือกตั้งวุฒิสภาของสหรัฐ

แต่ในวันที่ “อำนาจเก่า” ต้องการแช่แข็งโครงสร้างการเมืองไทย รังเกียจนักการเมืองจากเลือกตั้ง กังวลว่าหากให้ประชาชนเลือก จะได้ผู้มี “อิทธิพลท้องถิ่น” มานั่งในสภาสูง ก็กำหนดให้วุฒิสภามาจากการสรรหา โดยอ้างคุณสมบัติ ความรู้ ความดีงามส่วนตัว เหนือกว่าคนธรรมดา

ที่มาของ ส.ว.จึงสลับสับเปลี่ยน ถกเถียงกันชุลมุนวุ่นวาย ตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมา

มีมาจากการ “เลือกตั้งทางตรง” มาจากการ “สรรหา” โดยคณะรัฐประหาร และล่าสุด มาจากการ “เลือกทางอ้อม”

 

ต้องยอมรับว่าวุฒิสภาที่มาจากการสรรหาและเลือกในรัฐบาล คสช.ที่ดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2562-2567 แช่แข็งการพัฒนาของระบบการเมืองมากที่สุด ร้ายยิ่งกว่าแช่แข็งก็คือการ “ทำลายโอกาสในการสร้างประชาธิปไตย”

เพราะย้อนกลับไปถึงที่มา รากฐานปรัชญาความคิดก่อนจะเป็นวุฒิสภาชุดดังกล่าว ก็จะเห็น “สำนึก” ของการไม่ไว้วางใจประชาชน ลดประชาชนมีส่วนร่วมให้มากที่สุด ยิ่งทำให้วุฒิสภามีคุณภาพมากเท่านั้น

ตลอด 5 ปีของการดำรงตำแหน่งของ ส.ว.ชุดมรดกระบอบ คสช.จึงเต็มไปด้วยการเมืองของการก่อร่างสร้างการเมืองแห่งความ “สิ้นหวัง” ลดทอนอำนาจประชาชน

และไฟเขียว “การเมืองมรดก คสช.” ให้ “เติบโต-เบ่งบาน”

 

ย้อนดูผลงานวุฒิสภาชุดลากตั้ง ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา จะพบหลักๆ 5 ประการ

1. รักษาระบอบ คสช.

ตั้งแต่วาระแรกๆ ของการดำรงตำแหน่งคือการยกมือโหวต พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ ชนิดที่ไม่มีแตกแถว ต่อมา ผลงานการพิจารณากฎหมายที่ผ่านการพิจารณาแทบทั้งหมด ล้วนเป็นกฎหมายที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ในขณะนั้นเห็นชอบและนำเสนอเข้ามา

2. ตั้งองค์กรอิสระตามใจชอบ

โดยเฉพาะคนที่มีประวัติความคิดทางการเมืองสอดคล้องไปกับรัฐบาลขณะนั้น จะผ่านการพิจารณาคุณสมบัติอย่างรวดเร็ว กลับกัน ผู้สมัครหรือเสนอตัวเข้ารับการคัดเลือกองค์กรอิสระต่างๆ แม้จะไม่ได้แสดงความเห็นการเมืองใดๆ มีผลงานทางวิชาการประจักษ์ชัด หากพบว่ามีประวัติที่ต้องสงสัยว่าอาจเชื่อมโยงส่วนตัวกับฝ่ายตรงข้ามการเมือง ก็พร้อมโหวตคว่ำทันที

เช่นกรณีการโหวตคว่ำ ศ.ดร.อารยะ ปรีชาเมตตา อดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ไม่ให้เป็น ป.ป.ช. แม้กรรมการสรรหาที่มีประธานศาลฎีกาเป็นประธานให้การรับรองแล้ว เพราะแค่เคยเสนอแนวคิดนำมิติทางเศรษฐศาสตร์เข้าไปประยุกต์ใช้กับการสืบสวนสอบสวนของ ป.ป.ช. โดยได้ยกตัวอย่างคัดค้านกรณีนายทหารที่ไม่ได้แจ้งบ้านที่ยังสร้างไม่เสร็จในบัญชีหนี้สินทรัพย์สิน รวมถึงการวิจารณ์คดีอื้อฉาวอย่างเรื่องนาฬิกายืมเพื่อน

หรือกรณีการโหวตขวาง ศ.ดร.วิษณุ วรัญญู นั่งประธานศาลปกครองสูงสุด แม้จะเป็นชื่อที่คณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง (กศป.) เสนอ โดยมีการส่งต่อข้อมูลกันว่า เพราะ ศ.ดร.วิษณุ ไปเป็นประธานในงานแต่งงานของนายปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่

3. ต่อต้านการเปลี่ยนแปลงจากฝ่ายค้าน

กฎหมายที่นำเสนอโดยฝ่ายค้านถูกปัดตกทันที แม้ ส.ส.ฝั่งรัฐบาลจะเห็นชอบมาแล้วก็ตาม ก็ยังไม่สามารถผ่านด่าน ส.ว.ไปได้ เช่น ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับของพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล โหวตคว่ำการปิดสวิตช์ ส.ว. โหวตคว่ำการทำประชามติ คว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญปลดล็อกกระจายอำนาจท้องถิ่น เป็นต้น

ยอมผ่านกฎหมายเดียวคือ พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. พลิกสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อจากหาร 100 เป็นหาร 500 เพื่อหวังพลิกเกมเลือกตั้งในปี 2566 ให้กับขั้วอำนาจเก่า

4. ปกป้องคนของฝ่ายตนเอง

ชัดเจนคือการโหวตลงคะแนนลับอุ้ม ส.ว.รายหนึ่งที่ถูกร้องเรียนทำตัวเป็นผู้มีอิทธิพล กรณีเข้าไปเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งที่วัดบางคลานไม่ทำผิดจริยธรรมตามที่ถูกร้อง เมื่อเดือนกันยายน 2566

หรือกรณีมีมติท่วมท้น 174 : 7 ไม่ส่งตัว ‘ส.ว.อีกราย’ ให้ ตร.ดำเนินคดีตามที่ขอ ในอีก 1 เดือนต่อมา กรณี ส.ว.คนดังกล่าว ถูกร้องเกี่ยวข้องกับฟอกเงินยาเสพติด จนถูก ส.ส.ฝ่ายค้านนำข้อมูลมาแฉในสภาจนเป็นข่าวดัง

5. ภารกิจต่อสู้ทางความคิดแบบอนุรักษนิยม

ตลอดเวลาของการดำรงตำแหน่ง ส่วนใหญ่ของ 250 ส.ว. กลายเป็นกระบอกเสียงให้กับระบอบ คสช. มีวิวาทะทางความคิดต่อกลุ่มอำนาจใหม่ แสดงตัวต่อต้าน “พลังการเปลี่ยนแปลง” ออกสู่สังคมอย่างต่อเนื่อง เป็นที่ประจักษ์ชัด ไม่ว่าจะเป็นม็อบราษฎรในปี 2563 กลุ่มรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างไอลอว์ เป็นต้น

ภารกิจครั้งสุดท้ายในฐานะ “ผู้พิทักษ์ขั้วอำนาจเก่า” คือการขัดขวางนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ไม่ให้เป็นนายกฯ แม้ชนะการเลือกตั้งอันดับ 1 รวมเสียง ส.ส.ได้ถึง 312 เสียงแล้วก็ตาม โดยอ้างว่า นายพิธามีแนวคิดแก้ไขมาตรา 112 ถือเป็นการล้มล้างการปกครอง

 

5 ปีภายใต้วุฒิสภาชุดลากตั้งที่หมดวาระแล้วในสัปดาห์นี้ จึงเป็นการเมืองแห่งความ “สิ้นหวัง” หากมองในมุมของผู้ที่ต้องการ “เปลี่ยนแปลง”

คำถามต่อไปหลังจากการหมดวาระของ ส.ว.ชุดลากตั้ง คือ ส.ว.ชุดปี 2567 ที่กำลังจะมีขึ้น จะเป็น “ความหวัง” ได้หรือไม่

ประเด็นแรกที่ต้องวิเคราะห์คือที่มาของกฎกติกา สะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างที่มาที่ออกแบบโดยรัฐธรรมนูญปี 2560 ในแง่ไม่มีประชาชนเป็นส่วนร่วมแต่แรก

ใครอยากมีส่วนร่วม ต้องจ่าย 2,500 บาทก่อนเพื่อซื้อสิทธิในการเลือก โดยจะต้องเป็นคนที่มีอายุมากกว่า 40 ปีเท่านั้น และไม่ใช่ข้าราชการ

แค่เงื่อนไข 3 ข้อนี้ ประเมินกันว่าก็ทำให้คนที่ผ่านคุณสมบัติและมีความสนใจที่จะเข้ามาต่อสู้ในสนามนี้ มีจำนวนไม่มาก คนส่วนใหญ่ของประเทศหลุดออกจากกติกานี้ไปแล้ว

ยังมีปัญหาเชิงกติกา กฎ ระเบียบ ที่กำลังเป็นปัญหาอย่างมากขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นกติกาการเลือกที่ว่ากันว่าเป็นการเลือกที่ซับซ้อนมากที่สุดในโลก จากการที่ต้องเลือกกันหลายครั้ง หลายระดับ เข้าใจยาก

ตามมาด้วยการออกกฎกติกาของ กกต.ข่มขู่การชักชวนลงสมัคร ส.ว.มีความผิดสูงลิบ ทั้งยังไม่สามารถแนะนำตัวหรือพูดสิ่งที่อยากจะทำสู่สาธารณะได้

สร้างความมึนงงเป็นอย่างมากว่า นี่เรากำลังเลือก ส.ว.กันแบบใด ทำไมผู้จัดการเลือกจึงออกกฎที่ไม่สามารถเข้าใจได้ด้วยวิธีคิดแบบโลกปกติ

 

ท่ามกลางกติกาที่ชวนปวดหัว ต้องจับตา นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ที่ประกาศออกตัวเดินหน้ารณรงค์อย่างไม่เกรงกลัวคำขู่ กกต. ขอให้คนที่พอมีอันจะกิน จ่ายเงิน 2,500 เพื่อไปใช้สิทธิเลือก ส.ว.อิสระ สู้กับ ส.ว.จัดตั้งจากขั้วอำนาจเก่าซึ่งเป็นผู้ออกแบบรัฐธรรมนูญ กฎกติกานี้

ต้องยอมรับว่า นายธนาธร คือหนึ่งคนที่ถูกกระทำด้วยรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 มากที่สุดคนหนึ่ง เป็นคนที่ถูกกระทำจาก 250 ส.ว.มาอย่างหนัก จึงเห็นความสำคัญของการแก้ไข หรือยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่

ซึ่งแน่นอนว่าด่านสำคัญก็คือ ส.ว.ชุดปี 2567 ที่อย่างน้อยต้องได้ ส.ว.ที่มีอุดมการณ์ประชาธิปไตย หรืออยากเปลี่ยนประเทศไปในแนวทางประชาธิปไตยมากขึ้นอย่างน้อยต้อง 1 ใน 3

การเลือก ส.ว.ชุดใหม่ ปี 2567 จึงสำคัญในแง่ของการเป็นสนามการต่อสู้ทางการเมืองต่อเนื่องของขั้วอำนาจเก่า และกลุ่มอำนาจใหม่ จะเป็นสนามทางการเมืองที่สะท้อนการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองครั้งสำคัญของประเทศ หลังขั้วอำนาจเก่า-ฝ่ายอนุรักษนิยมจารีต ครอบนำทางการเมืองมานานกว่า 1 ทศวรรษ

 

ขณะนี้นายธนาธรเดินเกมสู้ในสนามการเมืองสำคัญอย่างน้อย 2 สนามใหญ่ๆ คือ สนามการเลือกตั้งท้องถิ่น และสนามเลือก ส.ว.

น่าจับตาว่าในสถานการณ์ทางการเมืองที่ฝ่ายผู้ต้องการการเปลี่ยนแปลง หรือกลุ่มขั้วอำนาจใหม่ ถูกกระทำทางการเมืองมาอย่างต่อเนื่อง แม้จะสามารถชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย แต่ก็ไม่สามารถเข้ามามีอำนาจรัฐได้ ต้องพ่ายให้กับกลไกทางการเมืองที่ขั้วอำนาจเก่าวางไว้

ซ้ำยังถูกเล่นงานด้วยนิติสงครามต่อเนื่อง ถูกจัดการผ่านกลไกทางการเมืองกฎหมายมาตลอด ถูกจำกัดรุกคืบไปจนกระทั่งริบคืนพื้นที่การเมือง

เวที ส.ว.ครั้งนี้ เป็นอีกสนามต่อสู้ทางการเมือง ที่จะพิสูจน์ว่า “ประชาชนไม่ยอมจำนน”

จะ “สิ้นหวัง” หรือ “สมหวัง” ไม่นานเดี๋ยวรู้กัน