นิธิ เอียวศรีวงศ์ : วัตรวิถีนอกรัฐ (3)

นิธิ เอียวศรีวงศ์
ภาพปกหนังสือจากสมาชิกเว็บไซต์พันทิป ชื่อบัญชี "ไม่คิดมาก"

ตอน 1 2

ความเคลื่อนไหวทางศาสนาอีกครั้งหนึ่งที่เข้าใจได้ยากมากว่าเหตุใดรัฐจึงมองว่าเป็นศัตรู คือที่รู้จักกันว่าหุบผาสวรรค์ ความยากอาจเกิดขึ้นเนื่องจากผมมีข้อมูลเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวนี้น้อยก็เป็นได้ แต่จะขอวิเคราะห์จากข้อมูลจำนวนน้อยนี้

คุณสุชาติ โกศลกิติวงศ์ เป็นร่างทรงให้หลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืดมาตั้งแต่ พ.ศ.2503 เมื่ออายุได้ 17 เท่านั้น ตั้งสำนักอยู่ทางฝั่งธนฯ ได้รับความเชื่อถืออย่างกว้างขวางในด้านการรักษาโรคภัยไข้เจ็บ อีก 6 ปีต่อมา หลวงปู่ทวดจึงประกาศผ่านร่างของคุณสุชาติว่าท่านได้รับมติจากโลกวิญญาณซึ่งควบคุมโลกมนุษย์อยู่ ให้ลงมาช่วยมนุษย์ จึงจะจัดตั้งสำนักปู่สวรรค์ขึ้นอย่างเป็นทางการ เพราะขณะนั้น (2509) โลกมนุษย์กำลังอยู่ในขั้นวิกฤตอาจถึงขั้นวิบัติได้ด้วยสงครามขนาดใหญ่

โครงการช่วยเหลือคือตั้งหุบผาสวรรค์หรือสำนักปู่สวรรค์เมืองศาสนาขึ้นในโลกมนุษย์ สานุศิษย์ของหลวงปู่และคุณสุชาติจึงเที่ยวหาพื้นที่และรวบรวมเงินจนสามารถสร้างเมืองศาสนาขึ้นได้ ณ เทือกเขาเสือหมอบ หรือถ้ำพระ ต.ดอนทราย อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี ใน พ.ศ.2513

 

ผมเข้าใจว่าความสำเร็จในระยะเวลาอันสั้นนี้อธิบายได้ด้วยสถานการณ์สงครามเย็น ซึ่งทำให้ผู้คนจำนวนหนึ่ง ไม่เฉพาะแต่ในเมืองไทย แต่ทั่วโลก รู้สึกหวั่นเกรงว่าจะลงเอยด้วยสงครามนิวเคลียร์ คนกลุ่มหนึ่งเลือกจะเสนอทางสายกลางที่เป็นสากล คือใช้ศาสนาหรือศีลธรรมของศาสนาต่างๆ เป็นแกนกลาง ในการดึงให้ประชากรโลกหันมาอยู่ร่วมกันโดยปราศจากความขัดแย้ง ในสหรัฐมีขบวนการ MRA เป็นต้น (ผมไม่ทราบว่าขบวนการเหล่านี้ได้รับการอุดหนุนจาก CIA หรือไม่อย่างไร)

เฉพาะในเมืองไทย 2513 สงครามเย็นกำลังร้อนที่สุด เพราะสงครามเวียดนามได้ขึ้นสู่จุดสูงสุดของการปะทะกัน ในขณะที่นโยบายของรัฐบาลไทยก็ยิ่งผูกพันไปกับฝ่ายสหรัฐอย่างแนบแน่นเต็มที่ สงครามอาจลามเข้าสู่ประเทศในรูปใดรูปหนึ่งได้ทุกเมื่อ (เช่นจีนและเวียดนามเพิ่มความช่วยเหลือ พคท. ถึงระดับที่สามารถสถาปนาเขตปลดปล่อยที่มั่นคงในเมืองได้)

ความเคลื่อนไหว “หุบผาสวรรค์” จึงได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวางจากคนระดับสูงของสังคมไทยด้วย เช่น นายทหาร, ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัย และนักธุรกิจชั้นนำ สายสัมพันธ์ของคนเหล่านี้ ทำให้สำนักหุบผาสวรรค์สามารถเชื่อมต่อไปยังบุคคลสำคัญทางศาสนาได้ด้วย เช่น สมเด็จพระสังฆราช (วัดราชบพิธฯ) เสด็จไปวางศิลามงคลการก่อสร้าง “สันติเจดีย์” บนยอดเขาเสือหมอบ ส่วนประชาชนทั่วไปก็ให้ความเลื่อมใสยิ่งขึ้น เพราะ “ผู้บริสุทธิ์” จากโลกวิญญาณได้เพิ่มจากหลวงปู่ทวด มารวมหลวงพ่อโตวัดระฆัง และ “ท้าวมหาพรหมชินนะปัญจะระ” (ซึ่งสำนักอ้างว่าเป็นหัวหน้าของรูปพรหมทั้งสิบหกชั้น และได้ “สำเร็จ” ตั้งแต่ครั้งพุทธกาลแล้ว)

นอกจากนี้ สำนักหุบผาสวรรค์ยังได้สร้างรูปเคารพในศาสนาอื่นๆ ไว้อีกหลายรูป เช่น พระแม่มารี และพระพิฆเนศ เป็นต้น

พื้นที่อันเป็นที่ตั้งของหุบผาสวรรค์เมืองศาสนานั้น ที่จริงแล้วเป็นทั้งโบราณสถานที่ประกาศขึ้นทะเบียนแล้ว และป่าสงวนฯ แต่สำนักสามารถใช้พื้นที่นี้ได้ก็ด้วยเส้นสายของคนระดับสูงในสังคมดังกล่าว แม้ไม่ใช่วัด แต่ก็มีภิกษุเข้ามาอยู่ประจำเพื่อปฏิบัติธรรมจำนวนมาก ภายใต้การกำกับดูแลของศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สุชาติ โกศลกิตติวงศ์ ซึ่งขณะนั้นยังเป็นฆราวาส

 

แม้ในระยะแรก พื้นที่ดังกล่าวอาจอยู่ไกลจาก “รัฐ” เพราะว่ากันว่าเคยเป็นพื้นที่ซึ่ง “ผู้ก่อการร้าย” เคยอยู่อาศัยมาก่อน จะหมายถึงใครก็ตาม แต่ต้องเป็นใครที่ติดอาวุธและแข็งข้อกับรัฐ (เช่น ซ่องโจร เป็นต้น) แต่รัฐก็ดูไม่ขัดข้องที่สำนักหุบผาสวรรค์จะตั้งขึ้นที่นั่น กว่าจะกลายเป็นเรื่องที่ความเคลื่อนไหวนี้ถูกปราบปรามก็ตกถึง พ.ศ.2525 อันเป็นเวลาที่พื้นที่ดังกล่าวไม่ได้อยู่ไกลจาก “รัฐ” อีกแล้ว

พื้นที่, สิ่งก่อสร้าง และกิจกรรมหลายอย่างของสำนักจึงไม่อยู่ในลักษณะความเคลื่อนไหวทางศาสนาที่น่าระแวงสำหรับรัฐไทย และเท่าที่หาข้อมูลได้ องค์กรคณะสงฆ์ที่เป็นทางการก็ไม่ได้แสดงความรังเกียจแต่อย่างไร

ถ้ามองการกระทำของคุณสุชาติในทัศนะโบราณ ที่การเคลื่อนไหวทางศาสนาไปกระทบ “แผ่นดินแผ่นทราย” ก็อาจมีกิจกรรมอยู่สองอย่างที่เข้าข่ายเช่นนั้น

(แต่ก็อยากเตือนไว้ด้วยว่า กิจกรรมทั้งสองอย่างนั้นไม่ได้กระทำหลัง 24 มิถุนายน 2475 เพียงอย่างเดียว แต่หลังวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ไม่นานด้วย สำนึกว่า “แผ่นดินแผ่นทราย” เป็นสมบัติของทุกคนจึงมีอยู่ทั่วไป และไม่มีใครคิดว่าคุณสุชาติ “อาจเอื้อม” แต่อย่างใด)

อย่างแรก ในกิจกรรมสองอย่างนั้นคือระหว่าง 2517-2525 ตั้งตัวเป็นทูตสันติภาพ จนได้เข้าพบบุคคลชั้นนำของโลกหลายคน นับตั้งแต่พระสันตะปาปา, เจ้าหน้าที่ชั้นสูงขององค์การสหประชาชาติ และผู้นำอีกบางประเทศ จนในที่สุดก็ได้จัดตั้งสมาคมศาสนาสัมพันธ์ขึ้น และมีแผนการที่จะจัดประชุมสันติภาพอันถาวรในโลกมนุษย์ขึ้นที่หุบผาสวรรค์ สำนักอ้างว่าได้การตอบรับจากบุคคลสำคัญด้านสันติภาพทั่วโลก แต่ในช่วง 2524-2525 ก็ถูกใส่ร้ายจากรัฐและสื่ออย่างหนัก จนในที่สุดก็ต้องหลบหนีไป

อันที่จริงเมื่อตกถึง 2525 สงครามเย็นในระดับโลกใกล้จะจบลงแล้ว แต่ภัยคุกคามประเทศไทยยังมีอยู่ คือเวียดนามบุกยึดกัมพูชา ดึงให้จีนลงมาช่วยเขมรแดงซึ่งหลบหนีเข้ามาในประเทศไทย เกิดปรากฏการณ์ประหลาดทางการเมือง คือจีนร่วมมือกับสหรัฐและไทยในการสนับสนุนกองกำลังเขมรแดงให้ก่อกวนรัฐบาลกัมพูชาภายใต้อิทธิพลเวียดนาม ทำให้การยึดครองกัมพูชาของเวียดนามมีราคา “แพง” เกินไป เปิดให้สหประชาชาติเข้ามาไกล่เกลี่ยได้

ในช่วงนั้นมี “ค่าย” ทหารเขมรแดงตั้งกระจายอยู่ตามชายแดนไทยหลายแห่ง รวมทั้งการระบาดของอาวุธสงครามในตลาดมืด ความรู้สึกไม่ปลอดภัยมีสูง ดังนั้น ความพยายามด้านสันติภาพของสำนักปู่สวรรค์จึงยังน่าจะได้รับการสนับสนุนจากเศรษฐีไทยบางคนอยู่

อย่างไรก็ตาม การที่เอกชนเที่ยวติดต่อคนสำคัญทั่วโลกโดยไม่ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาล หรือจัดประชุมนานาชาติขึ้นอย่างใหญ่โตโดยไม่ได้รับ “อนุมัติ” จากรัฐบาล คือการสร้างอำนาจขึ้นนอกรัฐอย่างแน่นอน แม้ว่าอำนาจนั้นยังไม่ได้ต่อต้านขัดขวางรัฐก็ตาม

 

กิจกรรมอีกอย่างหนึ่งที่อาจสร้างความไม่พอใจให้แก่อำนาจที่ร่วมกันผดุงสถาบันชาติ, ศาสน์, กษัตริย์ไว้อาจเป็นคำทำนายอนาคตของคุณสุชาติ ซึ่งเผยแพร่ในเดือนพฤษภาคม 2517

คุณสุชาติทำนายว่าจากปีนั้นไปอีก 10 ปี จะเกิดสงครามโลก ถ้าไม่มีการช่วยเหลือจากโลกวิญญาณ คุณสุชาติเชื่อว่าคำทำนายนี้ตรงกับพุทธทำนายที่ว่าระหว่าง 2510-2550 จะเกิดภัยพิบัติต่างๆ ที่ทำให้มนุษย์และสัตว์ตายไปครึ่งหนึ่ง

แต่คำทำนายดังกล่าวเมื่อมาฟังหลัง 6 ตุลา แล้วอาจก่อความระคายเคืองอย่างหนักก็คือ คุณสุชาติทำนายว่าใน พ.ศ.2550 “พวกศักดินาจะถูกลัทธิคอมมิวนิสต์และประชาธิปไตยทำลายอำนาจหมดลง” และระหว่าง 2650-2850 เป็น 200 ปีที่ “ลัทธิคอมมิวนิสต์จะครองโลก”

อันที่จริงทั้งความคิดและสำนวนที่ใช้ไม่ได้น่าประหลาดใจตรงไหน ที่ทำนายในช่วงหลัง 14 ตุลา แสดงว่าทั้งคุณสุชาติและโลกวิญญาณของคุณสุชาติไม่ตกกระแสแต่อย่างใด
แม้กระนั้นก็เข้าใจได้ยากว่า ใน พ.ศ.2525 รัฐร่วมกับสื่อทำลายสำนักหุบผาสวรรค์ทำไม การทรงเจ้าเข้าผีเป็นส่วนหนึ่งของพุทธศาสนาแบบไทยมาแต่โบราณ และกลับเฟื่องฟูขึ้นกว่าโบราณเสียอีกมาก่อนหน้าคุณสุชาติแล้ว อีกด้านหนึ่งของสำนักหุบผาสวรรค์คือการส่งเสริมพุทธศาสนาแบบขององค์กรคณะสงฆ์ เช่น เปิดพื้นที่ “ปฏิบัติ” ธรรม รวมทั้งเป็นสำนักสงฆ์ที่มีพระภิกษุจำนวนมากอาศัยอยู่ การนับถือเทพในศาสนาอื่นก็เป็นอีกส่วนหนึ่งของพุทธไทยมาแต่โบราณ ปรากฏทั้งในพิธีหลวงและพิธีราษฎร์

อย่างไรก็ตาม ความเชื่อหรือแม้แต่การปฏิบัติศาสนกิจตามความเชื่อแตกต่างจากความเคลื่อนไหวทางศาสนา สำนักทรงทั่วประเทศไม่ใช่ความเคลื่อนไหวทางศาสนา เพราะไม่ได้มุ่งจะเผยแพร่ความเชื่ออย่างเป็นระบบ และแก่มหาชนมากไปกว่า “ลูกค้า” หรือผู้ที่น่าจะเป็น “ลูกค้า”

สำนักปู่สวรรค์และหุบผาสวรรค์เป็นความเคลื่อนไหวทางศาสนาแน่ มีมหาชนจำนวนมากและหลายชนชั้นร่วมเป็นสาวก มีลักษณะของความเคลื่อนไหวที่คล้ายมากกับความเคลื่อนไหวทางศาสนา-การเมืองของตนบุญในภาคเหนือ หรือผู้มีบุญในภาคอีสาน เพียงแต่ไม่มีความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ต่อต้านอำนาจรัฐเท่านั้น แต่หากถามว่ามีศักยภาพที่จะนำความเคลื่อนไหวไปสู่การเมืองต่อต้านรัฐหรือไม่ เท่าที่ผมมีข้อมูลอย่างจำกัด ก็อยากประเมินว่าทำได้ แต่จะมีผลน้อยมาก อย่าลืมว่าหุบผาสวรรค์ใน พ.ศ.2525 อยู่ใกล้รัฐจนแทบจะเรียกว่าใต้จมูก และส่วนใหญ่ของสาวกไม่ได้ถูกดึงเข้ามาด้วยเหตุทางการเมือง

หากคุณสุชาติเป็นตนบุญ ก็เป็นตนบุญที่อยากก้าวขึ้นไปตามระบบ มากกว่าแหกระบบ

 

ที่น่าประหลาดอีกอย่างหนึ่ง (เมื่อเทียบกับปัจจุบัน) คือในกระบวนการทำลายอิทธิพลของสำนักหุบผาสวรรค์นั้น สื่อร่วมมือกับรัฐเพื่อสร้างมโนภาพของสำนักให้เป็นแหล่งซ่องสุมผู้คนและอาวุธเพื่อต่อต้านรัฐ บางสื่อถึงกับอ้างว่าเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการคอมมิวนิสต์แฝงรูป ประเด็นการทำลายศาสนากลับเป็นรอง ในที่สุดก็ส่งกำลังตำรวจไปบุกค้นหุบผาสวรรค์ ตั้งข้อหาคุณสุชาติหลายเรื่อง ส่งฟ้องศาล คุณสุชาติหลบหนีไปเป็นเวลา 4 ปี แล้วกลับมาสู้คดีเมื่อเรื่องซาลงแล้ว ปรากฏว่าศาลยกฟ้องทุกคดี

คุณสุชาติจึงไปบวชและมรณภาพใน พ.ศ.2548

 

จะว่าไปความเคลื่อนไหวทางศาสนาของหุบผาสวรรค์มีลักษณะทั้งเก่าและใหม่ปนกันอยู่ และนับว่าน่าสนใจ

ดังที่กล่าวแล้วว่า ในแง่หนึ่ง ขบวนการหุบผาสวรรค์อาจเปรียบเทียบได้กับการเคลื่อนไหวทางศาสนา-การเมืองของตนบุญและผู้มีบุญ เช่น มีการตั้งชุมชนแยกต่างหากออกไปในพื้นที่ของตนเอง ชุมชนให้ความเคารพศรัทธาต่อ “หัวหน้า” อย่างสูง แม้ว่าสมาชิกส่วนหนึ่งเป็นพระสงฆ์ก็ตาม ส่วนหนึ่งของความเคารพศรัทธานั้นเกิดจากคุณสมบัติพิเศษของหัวหน้า เช่น สามารถติดต่อกับวิญญาณบริสุทธิ์เช่นหลวงปู่ทวดหรือหลวงพ่อโตได้ ยังไม่พูดถึงสายสัมพันธ์กับบุคคลสำคัญในโลกเท่าที่อ้างให้เห็นได้จากรูปถ่าย เราจึงอาจมองขบวนการหุบผาสวรรค์ว่าสืบทอดประเพณีการเคลื่อนไหวของชาวบ้าน (ในภาคเหนือและอีสาน) ที่เคยมีมาแต่โบราณ จะแตกต่างจากขบวนการของตนบุญและผู้มีบุญก็ตรงที่ หุบผาสวรรค์ไม่ได้เคลื่อนไหวทางการเมือง อย่างน้อยก็ไม่กระทบต่ออำนาจของรัฐโดยตรง

แต่ในทางตรงกันข้าม หุบผาสวรรค์เป็นความเคลื่อนไหวทางศาสนาที่แตกต่างจากที่เคยเกิดขึ้นในเมืองไทยมาก่อน แตกต่างจากการเกิดธรรมยุต เพราะนั่นคือการตั้งสำนักอาจารย์ใหม่ในวงการสงฆ์ หุบผาสวรรค์ไม่เจตนาจะสร้างประเพณีใหม่ของคณะสงฆ์แต่อย่างใด จนเมื่อสำนักหุบผาสวรรค์ถูกปราบปราม ก็ยังไม่ใช่วัด และไม่มีโบสถ์ที่จะบวชพระภิกษุได้

หุบผาสวรรค์ไม่มีความพยายามจะเข้าไปเปลี่ยนแปลงอะไรในองค์กรสงฆ์ อย่างกิจกรรมของท่านเจ้าคุณพระพิมลธรรม ไม่ได้มุ่งเผยแพร่การตีความหลักธรรมใหม่ให้ขยายไปในสังคมอย่างท่านพุทธทาส และเจ้าคุณพระพิมลธรรม

โดยสรุปก็คือ การเคลื่อนไหวทางศาสนาที่มีการตั้งชุมชนของผู้ศรัทธาเลื่อมใสขึ้น ประกอบด้วยคนหลายจำพวกเหมือนที่มีในสังคมปรกติ เข้ามาอยู่ร่วมกันหรือเชื่อมโยงเกาะเกี่ยวกันเป็นชุมชน ทั้งที่เป็นรูปธรรมและในสำนึก แต่ก็ไม่คิดจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขความเชื่อและหลักปฏิบัติของพุทธศาสนาที่มีมาในเมืองไทย

 

ผมคิดว่าควรเข้าใจการเคลื่อนไหวในลักษณะชุมชนของหุบผาสวรรค์ เพราะจะเป็นการเคลื่อนไหวทางศาสนาของกลุ่มอื่นอีกหลายกลุ่มในเวลาต่อมา (ความจริง หากถือว่าสันติอโศกเริ่มขึ้นเมื่อพ่อท่านโพธิรักษ์ประกาศลาออกจากมหาเถรสมาคมใน พ.ศ.2518 การเคลื่อนไหวในลักษณะชุมชนก็ไม่ได้เป็นของสำนักหุบผาสวรรค์เพียงขบวนการเดียว)

ผมคิดว่าการปฏิรูปพุทธศาสนาในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อันทำให้เกิดพุทธศาสนาแห่งชาติสืบมานั้น ได้ลิดรอนสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งออกไปจากพุทธศาสนาที่เคยมีมาในเมืองไทยมาก่อน นั่นคืออารมณ์ทางศาสนา

มิติด้านอารมณ์มีความสำคัญในทุกศาสนา คนเราไม่ได้นับถือศาสนาด้วยเหตุผลและศรัทธาที่เกิดจากการไตร่ตรองด้วยสติปัญญาเท่านั้น แต่เพราะศาสนาทำให้คนมีความพอใจ ความสงบ ความกล้าหาญ ความปลาบปลื้ม ความเชื่อมั่นด้วย แต่มิติด้านอารมณ์ไม่ได้มาจากหลักธรรมคำสอนมากนัก ส่วนใหญ่มาจากพิธีกรรม, ชาดก, เทศน์มหาชาติ, จุลกฐิน, การปลุกเสก, หลวงตาและอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ของท่าน, รูปเคารพ ฯลฯ

นักวิชาการฝรั่งคนหนึ่งเล่าถึงการ “เข้ากรรม” ของพระภิกษุในกัมพูชารูปหนึ่ง ชาวบ้านสร้างตูบเล็กๆ ที่มีพื้นที่พอนั่งได้เท่านั้น แล้วหลวงพ่อก็มุดเข้าไปปิดบานหับอยู่ในนั้น ไม่โผล่ออกมาอีกเลยหลายวัน ถึงวันที่ท่านจะ “ออกกรรม” คนแทบทั้งหมู่บ้านมานั่งรออยู่หน้าตูบ พอท่านเปิดบานหับมุดออกมา ชาวบ้านร้องสาธุกันลั่น แล้วก้มกราบ บางคนน้ำหูน้ำตาไหล นักวิชาการท่านนั้นวิเคราะห์ไว้ด้วยว่า ตูบที่ชาวบ้านสร้างมีลักษณะเหมือนมดลูก และการ “ออกกรรม” ก็ดูเหมือนกับการเกิด

นี่แหละครับคืออารมณ์ทางศาสนา พิธีกรรมที่กระตุ้นเข้าไปที่ส่วนลึกสุดของคนในวัฒนธรรมนั้นๆ

 

ศาสนาพุทธแห่งชาติที่เป็นทางการ ไม่มีมิติทางอารมณ์อย่างนี้อีกแล้วนะครับ เพราะอายฝรั่ง กลัวมันดูถูก เหลือแต่หลักธรรมคำสอนและหลักปฏิบัติที่ “ดูดี” แก่ฝรั่งเท่านั้น

ความแห้งแล้งด้านอารมณ์ของพุทธศาสนาที่เป็นทางการของไทยนี่แหละครับ ที่ทำให้การเคลื่อนไหวทางศาสนาในยุคใหม่มักมีลักษณะชุมชนอยู่ด้วยเสมอ

ชุมชนไปเกี่ยวกับอารมณ์ทางศาสนาอย่างไร ขอยกไปคุยครั้งหน้า เพราะตอนนี้มันยาวกว่าที่ผมคาดไว้แล้ว

(ยังมีต่อ)