นิธิ เอียวศรีวงศ์ : วัตรวิถีนอกรัฐ (1)

นิธิ เอียวศรีวงศ์

ทําไมจึงต้องปราบธรรมกายจนสิ้นซาก และทำไมคนชั้นกลางในเมืองจำนวนหนึ่งจึงสะใจกับความพินาศของวัดพระธรรมกาย มีผู้พยายามตอบคำถามนี้หลายคนในโซเชียลมีเดีย ผมพยายามทำอย่างเดียวกันบ้าง แม้ไม่แน่ใจว่าคำตอบของผมจะดีกว่าของผู้อื่น

สรุปให้เหลือสั้นที่สุด คำตอบของผมก็คือธรรมกายหรือความเคลื่อนไหวทางศาสนาใดๆ ก็ตามที่ถูกวินิจฉัยว่าบ่อนทำลายอำนาจของชาติ ความเคลื่อนไหวนั้นจะต้องถูกระงับยับยั้ง หากใช้กระบวนการทางกฎหมายได้ก็ใช้ หากใช้ไม่ได้ก็ป้ายสีหรือสร้างพยานหลักฐานเท็จ เพื่อให้การทำลายล้างดูมีความชอบธรรม

คำตอบของผมดูเหมือนตรงไปตรงมา ชัดเจนเข้าใจง่ายดี แต่ที่จริงแล้วหาได้เป็นเช่นนั้น เพราะที่ว่า “อำนาจของชาติ” นั้น อยู่กับใครกันแน่ เป็นเรื่องที่ไม่คงที่ตายตัว ซ้ำยังหมายให้ตรงกันได้ยากอีกด้วย

ผมจะทิ้งประเด็นนี้ไว้ก่อน ค่อยนำกลับมาคุยกันใหม่ในตอนท้าย

 

วิธีหาคำตอบของผมคือย้อนกลับไปพิจารณาความเคลื่อนไหวทางศาสนาที่รัฐไม่ไว้วางใจในอดีต นับตั้งแต่รัฐไทยได้เปลี่ยนเข้าสู่ความเป็นรัฐสมัยใหม่ใน ร.5 เป็นต้นมา แต่ก่อนอื่นผมขอเตือนไว้ด้วยว่า รัฐสมัยใหม่ของไทยไม่ได้แยกศาสนาออกจากรัฐอย่างที่เกิดในรัฐสมัยใหม่ในโลกตะวันตก แต่สร้างความสัมพันธ์ใหม่กับศาสนาในลักษณะที่พุทธศาสนากลายเป็นส่วนหนึ่งของรัฐหรือ “ชาติ” อะไรที่เกิดกับพุทธศาสนาก็อาจกระทบถึง “ชาติ” และ “พระมหากษัตริย์” ได้ เพราะทั้งสามสถาบันนี้เป็นตรีมูรติ คือสามด้านของสิ่งเดียวกัน

Millenarian Movements หรือที่เรียกกันว่าความเคลื่อนไหวยุคพระศรีอาริย์, ผู้มีบุญ, ตนบุญ, หรือกบฏผีบุญ แม้ถูกรัฐเสนอเหมือนเป็นความเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่ที่จริงแล้วมีมิติทางศาสนาอย่างมาก ในความเป็นจริง เราคงแยกการเมืองและศาสนาออกจากกันในสังคมสมัยนั้นได้ยาก

เกือบทั้งหมดของผู้นำความเคลื่อนไหวเหล่านี้มักเป็นผู้สึกหาลาเพศจากภิกษุ มีความรู้ทางพุทธศาสนาจนเป็นที่นับถือของชาวบ้าน เชี่ยวชาญเวทมนตร์คาถา (ซึ่งต้องนับเป็นส่วนหนึ่งของพุทธศาสนาไทย) และ “เรื่องเล่า” พื้นบ้านกว้างขวาง (เรื่องเล่าเป็นแหล่งข้อมูลหลักในการสืบทอดวัฒนธรรมของชาวบ้าน)

นอกจากรวบรวมผู้ศรัทธาได้จำนวนหนึ่งแล้ว (บางครั้งก็มากทีเดียว) มักพยายามสร้างสังคมใหม่ของตนเอง ให้เป็นอิสระมากบ้างน้อยบ้างจากรัฐ

 

แนวปฏิบัติและหลักการของความเคลื่อนไหวทางการเมือง-ศาสนาของผู้มีบุญมักประกอบด้วยสิ่งต่อไปนี้ ซึ่งผมอยากให้รายละเอียด แม้ว่าความเคลื่อนไหวเหล่านี้อาจไม่ใช่ความเคลื่อนไหวทางศาสนาล้วนๆ เพราะจะช่วยให้ความเข้าใจเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางศาสนาที่รัฐไม่ไว้วางใจในเวลาต่อมาด้วย

1.สะสมผู้คน ในทางปฏิบัติก็คือทำให้ผู้คนออกจาก “สังกัด” เดิมมาอยู่ร่วมกับกลุ่มใหม่ อย่าลืมว่าคนไทยสมัยก่อนล้วนมีสังกัด ซึ่งทำให้มีพันธะผูกพันกับนายทั้งในกฎหมายและนอกกฎหมาย การดึงคนออกมาจากสังกัดเดิมจึงสร้างความวุ่นวายปั่นป่วนแก่ระบบที่ดำรงอยู่ในท้องถิ่นพอสมควร

ผู้คนที่สะสมขึ้นใหม่นี้จะยังใช้ชีวิตในชุมชนเดิม หรือพากันยกไปตั้งชุมชนใหม่ของตนเองก็ตาม (ตามหลักฐานมีทั้งสองอย่าง) ย่อมท้าทายรัฐอย่างปฏิเสธไม่ได้ และทำให้รัฐไม่ปล่อยเอาไว้แน่นอน

(ผมอยากให้นึกถึงพื้นที่อันกว้างใหญ่ของ “เมือง” ธรรมกายที่คลองหลวง และจำนวนของผู้คนทั้งที่เป็นนักบวช และฆราวาส ภายใต้การกำกับดูแลอย่างทั่วถึงของ “หัวหน้า” ด้วยกฎระเบียบและกลไกการปกครองที่มีประสิทธิภาพ – กว่าที่รัฐไทยมี – น่ากลัวไหมครับ)

 

2.มักประกาศศีลธรรมที่กลับตาลปัตรกับที่ชาวพุทธไทยทั่วไปเชื่อถือ อันที่จริงจุดที่กลับตาลปัตรนั้นไม่ใช่บาปบุญคุณโทษที่เชื่อถือกันโดยตรง แต่สืบเนื่องกับการพลิกกลับความเหลื่อมล้ำต่ำสูงให้กลายเป็นความเสมอภาคสุดโต่ง ความเหลื่อมล้ำที่ชาวบ้านรู้สึกมากคือความเหลื่อมล้ำทางอำนาจและทางเศรษฐกิจ จึงมักจัดความสัมพันธ์ทางสังคมใหม่ (เช่น ทุกคนเป็นคนในครอบครัวเดียวกันหรือพี่น้องกัน) และทำลายสิทธิเหนือทรัพย์สมบัติส่วนบุคคลลงทั้งหมด (บางครั้งก็รวมการทำลายตัวทรัพย์สมบัตินั้นด้วย)

คงไม่ต้องอธิบายก็เห็นได้ว่า แบบปฏิบัติและหลักการข้อนี้ย่อมขัดแย้งกับรัฐไทยที่ยึดถือลำดับสถานะเป็นแกนกลางที่สำคัญที่สุดของรัฐ

(ขอให้นึกถึงความสัมพันธ์ของญาติธรรมของธรรมกาย แม้ว่าธรรมกายยังเน้นลำดับสถานะของบุคคล ทั้งชาตินี้และชาติหน้าอยู่ก็ตาม แต่ทำลาย “สัญลักษณ์” ของลำดับนี้ลง เช่น เจ้าสัวก็ถูพื้นเหมือนคนอื่น)

3.ส่วนที่มีพลังอย่างมากในพุทธศาสนาไทยก็คืออภินิหารของผู้ “สำเร็จ” เพราะนอกจากทำให้เกิดความเลื่อมใสต่อบุคคลแล้ว ยังทำให้เลื่อมใสการปฏิบัติในแนวนั้นๆ ด้วย จึงไม่ประหลาดที่ความเคลื่อนไหวของผู้มีบุญมักประกอบด้วยอภินิหารต่างๆ ของหัวหน้าด้วย

อันที่จริงอภินิหารคืออำนาจ แต่เป็นอำนาจที่รัฐไทยไม่ค่อยชอบใจนัก เพราะคนอาจได้อำนาจนี้มาเองโดยไม่ผ่านการอนุมัติของรัฐ มีคำสอนและคำสั่งปรามการอวดอภินิหารทางศาสนามาแต่โบราณ ไม่ว่าจะเป็นอภินิหารของพุทธศาสนาหรือของศาสนาผี ล้วนน่าระแวงสงสัยแก่รัฐทั้งสิ้น

(การปฏิบัติแบบธรรมกายมีอภินิหารมาก โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับเจ้าสำนัก แต่ที่สำคัญกว่าก็คือการที่ธรรมกายสามารถทำให้สานุศิษย์ได้ประสบการณ์เชิงอภินิหารโดยตัวเอง เช่น การได้เห็นดวงแก้วหรือธรรมกายในกายตน หรือพิธีกรรมถวายข้าวพระพุทธเจ้า เป็นต้น)

 

4.ต้องทำอะไรที่ส่อไปทางผิดกฎหมายร้ายแรง โดยเฉพาะการสะสมอาวุธ อันนี้เป็นข้อกล่าวหาค่อนข้างประจำของรัฐ เพื่อทำให้คนอื่นรู้สึกว่าความเคลื่อนไหวทางศาสนานั้นมีอันตรายทั้งต่อรัฐและสังคมโดยรวม ในความจริงจะมีการกระทำเช่นนี้จริงหรือไม่ก็ไม่ทราบได้

ในสมัยที่ปราบความเคลื่อนไหวของตนบุญ รัฐไทยก็ต้องระวังมิให้มหาอำนาจต่างชาติมองว่าเป็นการละเมิดต่อเสรีภาพในการนับถือศาสนา ซึ่งรัฐไทยเคยให้สัญญากับฝรั่งไว้ ในสมัยต่อมาก็อาจขัดกับเสรีภาพในรัฐธรรมนูญ แม้ถูกฉีกทิ้งอยู่บ่อยๆ แต่เป็นข้อกำหนดที่ “ลงตัว” ดีอยู่แล้วในสังคมไทย ศาสนาส่วนน้อยก็อยู่ได้ ศาสนาของส่วนใหญ่ก็อยู่อย่างเหนือกว่าได้

(ข้อหาอย่างเป็นทางการแก่เจ้าสำนักธรรมกายนั้น สมมติว่าผิดจริง ก็เป็นเรื่องเล็กในสังคม คือเป็นหนึ่งในหมู่ผู้รับของโจรจำนวนหลายสิบหลายร้อย สมควรถูกลงโทษตามกฎหมาย แต่สังคมไม่รู้สึกว่าธรรมกายเป็นอันตรายมากไปกว่าปรกติ ดังนั้น ยิ่งวัดพระธรรมกายถูกล้อมปราบมากเท่าไร ก็ยิ่งพบอะไรที่ส่อไปทางผิดกฎหมายร้ายแรงมากขึ้นตามลำดับ)

 

ถัดจากความเคลื่อนไหวของผู้มีบุญ ผมอยากให้กลับมาพิจารณาความเคลื่อนไหว “สวนโมกขพลาราม” ในระยะแรก ซึ่งถูกรัฐระแวงสงสัยอยู่ระยะหนึ่งเช่นกัน

วัตรปฏิบัติและแนวทางคำสอนของท่านพุทธทาสในระยะแรก (2475-ประมาณ 2506) ชวนให้เป็นที่ระแวงสงสัยของรัฐหลายอย่าง นับตั้งแต่ออกไปตั้งวัดในเขตบ้านป่าเมืองดอย

ป่าและพระป่าไม่เป็นที่ไว้วางใจของรัฐไทยอยู่แล้ว อย่างมากที่ทำได้คือการธุดงค์ช่วงระยะเวลาหนึ่งนอกพรรษา แต่ยังมีที่อยู่ประจำในเขตเมืองคือกลับวัดมาจำพรรษา วัดในสายอรัญวาสีตั้งแต่โบราณ ก็ไม่ได้อยู่ป่า แต่อยู่ชานเมือง (เขตอรัญญิกของเมืองใหญ่ต่างๆ)

การไปตั้งวัดในเขตที่ห่างไกลอำนาจรัฐต่างจากการธุดงค์ เพราะวัดมีคนอยู่ประจำ (เท่ากับระดมคนได้) ทั้งยังอาจมีความสัมพันธ์ที่จิรังยั่งยืนกับชาวบ้านในบริเวณนั้น หรือไกลจากนั้น

ร้ายไปกว่านั้น ท่านพุทธทาสยังใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสื่อใหม่คือการพิมพ์นับตั้งแต่ปีแรกของสวนโมกขพลารามเลยทีเดียว คือออกหนังสือพิมพ์ “พุทธศาสนา” (เริ่มพิมพ์ใน 2476) ทำให้คำสอนแพร่กระจายออกไปจากวัดกว้างไกล

 

มาดูคำสอนของท่านในระยะแรก คืองานชุด “จากพระโอษฐ์” เริ่มชุด “ธรรมโฆษณ์” งานแปลจากมหายาน เช่น เว่ยหล่าง, ฮวงโป รวบรวมคำบรรยายของท่านพิมพ์เป็นเล่ม ผลงานที่สร้างความตระหนกแก่วงการพุทธศาสนาที่เป็นทางการของไทย คงจะเป็น “ภูเขาแห่งวิถีพุทธธรรม” ซึ่งชี้ว่าแม้แต่พระพุทธ, พระธรรม, พระสงฆ์เอง หากไปยึดติดกับส่วนที่เป็นวัตถุธรรม ก็กลับเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงพุทธธรรม “ปฏิจจสมุปบาท” และ “สุญญตา” ทำให้คำสอนทางศาสนาที่ทำกันมาในเมืองไทย แม้แต่หลังการปฏิรูปแล้ว กลายเป็นเปลือกเป็นกระพี้ไปหมด (แม้แต่ “นวโกวาท”)

นักวิชาการต่างประเทศท่านหนึ่ง ยังตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อนำคำสอนของท่านพุทธทาสไปถึงที่สุดในทางตรรกะแล้ว ย่อมหมายความว่าพระภิกษุสงฆ์ไม่สู้จะมีประโยชน์แก่บุคคลในการบรรลุความหลุดพ้น เพราะเมื่อเดินถูกทางแล้ว บุคคลย่อมบรรลุได้ด้วยตนเองทั้งนั้น จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ท่านพุทธทาสจึงท้าทายคุณค่าของคณะสงฆ์โดยปริยาย จะให้องค์กรคณะสงฆ์ไทยไว้วางใจท่านก็ย่อมยากอยู่ (แต่การที่ท่านไม่ได้สึก ก็มีความหมายย้อนแย้งไปในตัวว่า ภิกษุภาวะเป็นที่น่าพอใจ)

แม้ในเวลาต่อมา เมื่อคำสอนเหล่านี้เริ่มเป็นที่ไว้วางใจของรัฐมากขึ้น เพราะมีชนชั้นนำจำนวนหนึ่งเข้าไปสมาทานคำสอนเหล่านี้อย่างเปิดเผย ก็ยังมีบางส่วนที่ชนชั้นนำของรัฐไทยไม่ค่อยวางใจนักอยู่นั่นเอง เพราะยังมีบางประเด็นที่อาจกระทบต่อชาติ, ศาสน์, กษัตริย์ได้ ดังจะเห็นได้จากความเห็นของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ใน “วิวาทะ”

ความระแวงสงสัยนี้มลายหายสูญไปในภายหลัง เมื่อท่านพุทธทาสได้เขียนงานที่เกี่ยวข้องกับการเมืองและสังคมมากขึ้น (เช่น “ธัมมิกสังคมนิยมแบบเผด็จการ”, 2517) อันเป็นเครื่องแสดงว่า แม้ท่านจะมีความเห็นทางศาสนาแตกต่างอย่างไรก็ตาม แต่ท่านยังมีจุดยืนทางการเมืองและสังคมไม่ต่างจากชนชั้นนำไทย และผู้มีอำนาจในรัฐไทยแต่อย่างใด

 

อันที่จริงก่อนหน้าท่านพุทธทาส พระป่าสายธรรมยุติก็เป็นที่ระแวงไม่ไว้วางใจของรัฐไทยและองค์กรคณะสงฆ์มาแล้ว นอกจากไม่อยู่ประจำที่แล้ว พระภิกษุสายนี้ในระยะแรกยังเที่ยวพเนจรไปในพื้นที่ซึ่งรัฐไม่มีอำนาจ หรือมีอย่างเบาบางเต็มทีด้วย คำสอนของท่านก็เน้นด้านการปฏิบัติ และการฝึกจิต อันเป็นสองด้านที่พุทธศาสนาที่เป็นทางการของไทยไม่ค่อยให้ความสำคัญ

ที่น่ากลัวกว่าท่านพุทธทาสเสียอีกก็คือ ในระยะแรกพระป่ามักมีความสัมพันธ์และมีอิทธิพลต่อประชาชนระดับล่างสุด ไม่ใช่ชนชั้นกลางในราชการ ตุลาการ นายแพทย์ ปัญญาชน หรือเจ้านาย อย่างท่านพุทธทาส ทั้งยังมีการอ้างถึงอิทธิปาฏิหาริย์ของอาจารย์พระป่าอยู่บ่อยๆ จนดูเหมือนไม่ต่างจากหัวหน้าของความเคลื่อนไหวตนบุญทั้งหลาย

ฝ่ายปกครองขององค์กรคณะสงฆ์ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองพยายามกีดกันและกลั่นแกล้งพระป่าสายธรรมยุตในระยะแรกอย่างไร ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึง เพราะแพร่หลายอยู่ในประวัติของพระอาจารย์มั่นและลูกศิษย์รุ่นแรกๆ อยู่แล้ว

โดยสรุปก็คือ คำสอนทางศาสนาใดๆ ที่ไม่ลงรอยกับความเชื่อของชนชั้นนำในสมัยนั้นๆ ก็จะถูกวินิจฉัยว่าไม่ใช่ “พุทธแท้” และอาจเป็นภัยแก่ “ศาสนา” ในสถาบันหลักคือชาติ, ศาสน์, กษัตริย์ได้ ย่อมน่าระแวง เพราะอาจมีผลกระทบ (ทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ) ต่อสถาบันหลักอื่นๆ ด้วย จำเป็นต้องขจัดออกไป หรือดึงให้เข้ามาอยู่ในการกำกับควบคุมของชนชั้นนำ (ดังเช่นคำสอนของพระป่าและท่านพุทธทาส เป็นต้น)

(ยังมีต่อ)