นิธิ เอียวศรีวงศ์ : วัตรวิถีนอกรัฐ (2)

นิธิ เอียวศรีวงศ์

ตอน 1

กรณีพระพิมลธรรม (สมเด็จพระพุฒาจารย์ วัดมหาธาตุฯ) เป็นอีกกรณีหนึ่งที่วัตรปฏิบัติของท่านกระทบต่อ “ศาสนา” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของตรีมูรติชาติ, ศาสน์, กษัตริย์

มักอธิบายกรณีนี้ว่ามีเหตุจากความอิจฉาริษยาของพระเถระชั้นผู้ใหญ่ในองค์กรสงฆ์ จึงทำให้การวิเคราะห์ถูกจำกัดเป็นเรื่องบุคคล (หรืออาจเลยไปเรื่องความบาดหมางระหว่างนิกาย ซึ่งอาจมีส่วนอยู่บ้าง แต่ความขัดแย้งระหว่างนิกายไม่ใช่มิติหลักของกรณีนี้) แทนที่จะมองเห็นความบกพร่องในระบบความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและองค์กรศาสนา ซึ่งยังมีสืบเนื่องมาถึงทุกวันนี้

อาจกล่าวได้ว่า เจ้าคุณพระพิมลธรรม (ขอใช้สมณศักดิ์ของท่านในเวลาที่เกิดกรณีนี้) เป็นวีรบุรุษของ พ.ร.บ.สงฆ์ 2484 ซึ่งมุ่งหมายจะให้การบริหารกิจการคณะสงฆ์กระจายไปอยู่ในความรับผิดชอบของพระภิกษุสงฆ์อย่างกว้างขวาง แทนการกระจุกไว้ที่พระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่ไม่กี่รูปอย่าง พ.ร.บ.การปกครองคณะสงฆ์ที่ออกในสมัย ร.5 โดยพระภิกษุสงฆ์ที่เข้ามาบริหารกิจการคณะสงฆ์ตาม พ.ร.บ. 2484 ต้องรับผิด (accountable) ต่อสังฆสภาซึ่งได้รับเลือกตั้งจากพระภิกษุทั่วไป

แม้ว่าคณะสงฆ์ใน พ.ร.บ. ฉบับนี้ยังผูกติดอยู่กับรัฐเหมือนเดิม แต่ความสัมพันธ์ระหว่างกันแปรเปลี่ยนไป โดยคณะสงฆ์จะมีอิสรภาพมากขึ้นในการบริหารจัดการภายใน รัฐไม่สามารถแทรกแซงได้ง่ายๆ ด้วยเพียงการกราบทูลความประสงค์ของตนผ่านสมเด็จพระสังฆราชเท่านั้น

จะพูดไป ความเปลี่ยนแปลงนี้ก็เหมาะแก่กาลสมัย เพราะรัฐธรรมนูญทำให้ผู้บริหารรัฐต้องสลับสับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามแต่ผลการเลือกตั้งในแต่ละสมัย หากใช้ พ.ร.บ. เดิม ก็เท่ากับเปิดโอกาสให้ผู้บริหารที่เปลี่ยนหน้าไปตามการเลือกตั้ง เข้ามาควบคุมพระสงฆ์โดยตรง มีความโน้มเอียงที่ผู้บริหารอาจใช้พระสงฆ์เป็นประโยชน์ทางการเมืองของตน อย่างเดียวกับที่ผู้บริหารในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เคยใช้มาแล้ว ซึ่งนั่นจะเป็นภัยแก่คณะสงฆ์และพระศาสนายิ่งนัก

ดังนั้น ความเป็นวีรบุรุษของ พ.ร.บ. 2484 จึงเป็นที่พอใจยกย่องของคนกลุ่มหนึ่ง แต่ก็อาจไม่เป็นที่พอใจของคนอีกกลุ่มหนึ่งด้วย เรื่องของเรื่องจึงไม่ใช่ความอิจฉาริษยากันเองในหมู่สงฆ์เพียงอย่างเดียว

ที่ผมยกท่านเจ้าคุณพระพิมลธรรมเป็นวีรบุรุษของ พ.ร.บ. ใหม่ก็เพราะเมื่อดูประวัติของท่านจะเห็นได้ว่าท่านก้าวหน้าในองค์กรปกครองคณะสงฆ์อย่างรวดเร็ว เริ่มจากเคยดำรงตำแหน่งสมาชิกของสังฆสภา, เป็นเจ้าคณะตรวจการภาค 4, สังฆมนตรีช่วยว่าการศึกษา, จากนั้นก็เป็นสังฆมนตรีว่าการปกครอง 3 สมัยต่อกัน และดูเหมือนได้ขึ้นเป็นสังฆณายกด้วย

ที่ท่านก้าวหน้าอย่างรวดเร็วเช่นนี้ก็เพราะมีคุณสมบัติอันเหมาะอย่างยิ่งกับเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ. ใหม่ เช่น ท่านมีความรู้และวุฒิในระบบการศึกษาแบบเก่าของสงฆ์ ไม่อาจเป็นที่ดูหมิ่นจากพระเถระชั้นผู้ใหญ่อื่นใดได้ แต่ที่เหนือกว่านั้นก็คือท่านใฝ่ศึกษาความรู้ของโลกสมัยใหม่ ก้าวหน้ากว่าพระเถระโดยทั่วไป นำการศึกษาในวัดมหาธาตุฯ ที่ท่านครองตำแหน่งเจ้าอาวาส และมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยให้ก้าวหน้าเป็นอย่างมาก

“ลานอโศก” ของวัดมหาธาตุฯ ในสมัยนั้น เป็นศูนย์กลางความเคลื่อนไหวของพุทธศาสนาไทยที่คึกคัก ท่านพุทธทาส, คุณเสถียร โพธินันทะ, ฯลฯ ต่างเคยแสดงปาฐกถาธรรมที่นั่น ก่อให้เกิดการถกเถียงอภิปรายประเด็นพุทธธรรมต่างๆ กันอย่างกว้างขวาง

ไม่ว่าท่านจะเป็นที่ริษยาของพระเถระอื่นหรือไม่อย่างไร แต่กิจกรรมของท่านที่กระทบต่อหลักการชาติ, ศาสน์, กษัตริย์ ที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากที่สุด ก็คือการทำให้ “อำนาจสถาปนาความจริง” (authority) ของศาสนาไปอยู่นอกการกำกับของรัฐ

ผมขอยกตัวอย่างการกระทำดังกล่าวเพียง 3 เรื่องเพื่อชี้ให้เห็นว่าจะมีผลโยกย้าย “อำนาจสถาปนาความจริง” ออกไปจากการกำกับของรัฐอย่างไร

พระพิมลธรรมเป็นหนึ่งในนักปราชญ์พุทธสมัยนั้นที่นำเอาการศึกษาพระอภิธรรมอย่างละเอียดลึกซึ้งเข้ามาสู่วงการศาสนาของไทย แม้ว่าพระอภิธรรมเป็นส่วนหนึ่งของพระไตรปิฎกไทยมาแต่โบราณ แต่ไม่ค่อยได้รับความสนใจศึกษากันมากนักในเมืองไทย ดังที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ตรัสเล่าไว้ว่า พระมอญเก่งพระวินัย พระไทยเก่งพระสูตร และพระพม่าเก่งพระอภิธรรม

ไม่ว่าพระอภิธรรมจะเป็นพุทธพจน์หรือไม่ (ดังมีข้อถกเถียงกันมาตั้งแต่สมัยนั้น) การเปลี่ยนหรือเพิ่มจุดเน้นในการศึกษา ทำให้ความรู้ทางพุทธศาสนาไทยเปลี่ยนไป ความรู้เปลี่ยน อำนาจก็เปลี่ยน เช่น ความรู้บาลีที่ใช้สอบเปรียญมาแต่โบราณ เกี่ยวเนื่องกับพระอภิธรรมน้อยมาก การสร้างผู้เชี่ยวชาญอภิธรรมขึ้นจำนวนมาก โดยไม่ได้เจตนา ย่อมทำให้ “อำนาจสถาปนาความจริง” ของเปรียญประโยคสูงๆ ทั้งหลายเกิดช่องโหว่ขึ้น

ผมยังไม่ได้พบงานศึกษาความเคลื่อนไหวทางศาสนาเนื่องด้วยการศึกษาพระอภิธรรมในครั้งนั้น แต่ในประสบการณ์จริงเมื่อเป็นหนุ่ม ผมได้พบคุณยาย, คุณป้า, คุณน้า จำนวนหนึ่งในที่ต่างๆ ซึ่งอ้างว่าเชี่ยวชาญพระอภิธรรม และมักจะอธิบายเรื่องจิต, เจตสิก ฯลฯ ที่ปรุงแต่งอารมณ์และความคิดของคนได้เป็นร้อยๆ ดวง โดยไม่ต้องเปิดตำราเลย (ถูกหรือผิด จริงหรือไม่ ผมไม่ทราบ)

ที่น่าสนใจเมื่อกลับมาหวนคิดถึงประสบการณ์เหล่านั้นก็คือ ประการแรก ส่วนใหญ่ของท่านเหล่านั้นเป็นผู้หญิง ข้อนี้อาจไม่แปลกมากนัก ถ้าคิดถึงคุณหญิงดำรงธรรมสาร (ซึ่ง Martin Seeger และ นริศ จรัสจรรยาวงศ์ ได้รวบรวมผลงานเขียนของท่านไว้อย่างดี) หรือแม้แต่ ม.จ.หญิงพูนพิสมัย ดิศกุล ผู้หญิงไทยมีบทบาทในความเคลื่อนไหวทางศาสนามาก่อนหน้านี้แล้ว แม้จะอย่างไม่เผยตัวเต็มที่ก็ตาม (กรณีคุณหญิงดำรงธรรมสาร) แต่คุณยาย, คุณป้า, คุณน้าที่ผมได้พบในฐานะผู้เชี่ยวชาญอภิธรรม ไม่ใช่ชนชั้นสูง ทั้งหมดเป็นคนชั้นกลางระดับล่างๆ หน่อย แม้เป็นคนที่อยู่ในเมือง มีความรู้อ่านออกเขียนได้ ฐานะทางเศรษฐกิจไม่ดีนัก แต่ก็ดีพอจะมีเวลาว่างให้ศึกษาเล่าเรียนสิ่งที่สนใจได้ หนึ่งในนั้นอ่านหนังสือไม่ออกด้วยซ้ำ แต่ใช้การเล่าเรียนแบบโบราณคือจำเอา

Authority หรือ “อำนาจสถาปนาความรู้” ทางพุทธศาสนา ได้เลื่อนหรือขยายมาสู่ “เพศ” และ “สถานะ” ทางเศรษฐกิจ-สังคมที่ไม่เคยอยู่ในวงอำนาจนั้นมาก่อน

ท่านเจ้าคุณพระพิมลธรรมสนับสนุนการศึกษาพระอภิธรรมทั้งในหมู่พระสงฆ์และฆราวาสหญิง-ชาย และหนึ่งในการสนับสนุนนั้น คือการขอพระอาจารย์ขั้นธัมมาจริยะจากพม่ามาสอนพระอภิธรรมในเมืองไทย การกระทำเช่นนี้ของท่านคือการเคลื่อนส่วนหนึ่งของ “อำนาจสถาปนาความจริง” ในพระพุทธศาสนาออกไปนอกรัฐไทยเลยทีเดียว

พระมหากษัตริย์และเจ้านายในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้เคลื่อน “อำนาจสถาปนาความจริง” ออกไปนอกรัฐมาก่อนแล้ว แต่ล้วนเป็น “ความจริง” ทางเทคโนโลยี และการบริหารจัดการแบบใหม่ ฝรั่งหลายชาติ (และญี่ปุ่น) เป็นที่ปรึกษาของรัฐบาลไทยสืบเนื่องมาหลายรัชกาล แม้หลัง 2475 โดยเฉพาะเมื่อไทยสมัครใจยืนอยู่ฝ่ายสหรัฐในสงครามเย็น ก็มีที่ปรึกษาและคำปรึกษาหลั่งไหลมาจากวอชิงตันเป็นปรกติ การเคลื่อน “อำนาจสถาปนาความจริง” ออกไปจากรัฐจึงเป็นสิ่งเราคุ้นเคยอยู่แล้ว แต่ต้องไม่ใช่ “ความจริง” เกี่ยวกับชาติ, ศาสนา, พระมหากษัตริย์ นี่เป็นแดนแห่ง “ความจริง” สามอย่างที่มีลักษณะเฉพาะของตนเอง ซึ่งไม่อาจใช้ “ความจริง” จากที่อื่นมาพิจารณาได้

ตราบจนถึงทุกวันนี้

 

กิจกรรมอีกอย่างหนึ่งของท่านเจ้าคุณฯ ก็คือขวนขวายส่งนักเรียนที่จบศาสนบัณฑิตจากมหาจุฬาฯ ไปศึกษาต่อในขั้นปริญญาโทและเอกในต่างประเทศ (พม่า, อินเดีย และลังกา)

ในสมัยนั้นพระภิกษุไปศึกษาเอาปริญญาจากต่างประเทศยังไม่มี ดังนั้น การกระทำของท่านจึงเป็นการเคลื่อน “อำนาจสถาปนาความจริง” ออกไปจากรัฐและวัดอย่างเป็นรูปธรรมทีเดียว ว่ากันว่าทำความไม่พอใจให้พระเถระชั้นผู้ใหญ่หลายรูป รวมทั้งสมเด็จพระสังฆราช (ซึ่งตาม พ.ร.บ. ที่ใช้ในขณะนั้น ไม่ได้เป็น “สกลมหาสังฆปริณายก”)

นอกจากนี้ ท่านเจ้าคุณ ยังได้ตั้งสำนักวิปัสสนากัมมัฏฐานขึ้นในวัดมหาธาตุฯ และขยายออกไปยังวัดอื่นๆ ด้วย โดยอาศัยพระจากพม่าที่ทรงสมณศักดิ์สูงด้านวิปัสสนาธุระมาช่วยสอน

พระสงฆ์ไทย (หรือแม้แต่ฆราวาส) เล่าเรียนด้านวิปัสสนากัมมัฏฐานมาแต่โบราณ ซ้ำทำจริงจังมากกว่าปัจจุบันด้วย (ดังที่ คุณกมลา ติษยวณิช ได้ศึกษาไว้แล้วเป็นอย่างดีเยี่ยม) แต่ในการปฏิรูปคณะสงฆ์ในสมัย ร.5 ลงมา เพื่อนำให้คณะสงฆ์เข้ามาอยู่ในการกำกับของรัฐส่วนกลางมากขึ้น ความรู้ด้านวิปัสสนาธุระไม่ได้ถูกรวมไว้ในหลักสูตรการศึกษาแผนใหม่ของคณะสงฆ์ ท่านอ้างว่าเพราะไม่สามารถ “สอบ” ความรู้นั้นได้ ผิดจากความรู้ด้านคันถธุระซึ่งอาจ “สอบ” ได้และให้วุฒิได้

ผมขอเตือนไว้ด้วยว่าการ “สอบ” คือการวางมาตรฐานของ “อำนาจสถาปนาความจริง” โดยตรง ความรู้ใดที่สอบไม่ได้ ก็คือการเปิดเสรีให้ความรู้ถูกสร้างไปในทิศทางใดก็ได้ จึงเป็นอันตรายต่อรัฐ เพราะกำกับไม่ได้ (อันที่จริง “ความรู้” อย่างที่ท่านพุทธทาสสอนในระยะแรก ก็มีลักษณะดังกล่าว ใครจะ “สอบ” ความมีสติรู้ตัวทั่วพร้อมได้ นอกจากเจ้าตัว)

ดังนั้น แม้องค์กรคณะสงฆ์ที่เป็นทางการไม่ได้ขัดขวางวิปัสสนาธุระ แต่ก็ไม่ได้รวมไว้ในวุฒิของพระภิกษุ ซึ่งใช้เป็นบรรทัดฐานในการเลื่อนสถานะในองค์กรปกครองเหนือเจ้าอาวาสขึ้นไป พูดง่ายๆ คือพระที่มีคุณวิเศษด้านวิปัสสนาธุระไม่อาจเข้าไปอยู่ในองค์กรปกครองระดับสูงได้ แม้อาจเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของมหาชนอย่างกว้างขวางก็ตาม

ท่านเจ้าคุณพระพิมลธรรมซึ่งเป็นพระชั้นผู้ใหญ่ในองค์กรคณะสงฆ์ตาม พ.ร.บ. ที่ใช้ในขณะนั้น กำลังทำอะไรที่อาจกระเทือนต่อสถาบันหลักสามด้านของชาติ เพราะท่านกำลังผลิตพระภิกษุที่มี “คุณวุฒิ” อีกชนิดหนึ่ง ซึ่งอาจทำให้รัฐกำกับคณะสงฆ์ไม่ได้ หรือได้อย่างยากขึ้น

ข้อใส่ร้ายท่านเจ้าคุณฯ ที่ว่าเป็น “พระคอมมิวนิสต์” นั้น แม้ไม่เป็นความจริง แต่ดูเหมือนตรงกับความระแวงสงสัยของ “บ้านเมือง” พอดี คือทำอะไรที่ทำให้อำนาจของรัฐถูกถ่วงดุลจากองค์กรอื่น โดยเฉพาะองค์กรสงฆ์ซึ่งเป็นตัวแทนของ “ศาสนา” ในตรีมูรติ ชาติ, ศาสน์, กษัตริย์เสียด้วย

(ยังมีต่อ)