คำ ผกา : เหงาจุงเบย

คำ ผกา

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ออกมาขายข้าวช่วยชาวนา คนที่ไม่ชอบเธอก็บอกว่า เธอสร้างภาพ

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ออกมาเกี่ยวข้าวกับชาวนา คนที่ไม่ชอบอภิสิทธิ์ก็บอกว่าอภิสิทธิ์สร้างภาพ

ทหารลงเกี่ยวข้าวในนาพร้อมป้ายพร้อมรูป คนที่ไม่ชอบทหารก็บอกว่าสร้างภาพ

แต่คำถามคือในโลกนี้มีคนที่ไม่สร้างภาพสักคนไหม?

ยิ่งในยุคที่ทุกคนเป็นเจ้าของ “สื่อ” มีหน้าเฟซบุ๊กเป็นของตนเอง จะโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว เราต่างพยายามบริหาร “ภาพ” ของเราที่จะปรากฏต่อสายตาคนอื่นทั้งสิ้น

และเราเกือบทุกคนมักเชื่อว่าตนเองไม่ได้สร้างภาพ ทุกอย่างมีแต่ความจริงและความจริงใจล้วนๆ

และนี่อาจเป็นเสน่ห์ที่เย้ายวนที่สุดของโซเชียลมีเดียก็ได้

เมื่อเราเริ่ม “อ่าน” โซเชียลมีเดียประหนึ่งอ่านวรรณกรรมและพยายามจะอ่านระหว่างบรรทัด เพื่อหาความหมายแฝงจากสเตตัสต่างๆ ของ “เพื่อน” หรือผู้ที่เราติดตามเขาอยู่

เพื่อมิให้เกิดการปรักปรำผู้อื่น เมื่อฉันลองวิเคราะห์พฤติกรรมการโพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊กของตัวฉันเอง

 

ฉันพบว่า ตนเองมักโพสต์ภาพอาหาร โยคะ ต้นไม้ ดอกไม้ สลับกับข่าวสารที่เป็นรายการของตนเองและข่าวมี “สาระ” จากสำนักข่าวต่างประเทศ โดยเน้นประเด็น มนุษยธรรม ความงาม ศิลปะ ประชาธิปไตย สิทธิสตรี ประวัติศาสตร์นอกกระแสต่างๆ

ถามว่านี่คือตัวตนของฉันทั้งหมดหรือไม่

คำตอบคือ ไม่

เพราะถ้าถามต่อไปว่า ทำไมฉันไม่โพสต์เรื่องการไปนวด ไปทำเล็บ ไปช็อปปิ้ง ไปทำบุญบริจาคโลงศพ? – เพียงแค่เราคัดสรรเฉพาะบางพฤติกรรมของเราเพื่อนำเสนอต่อ “สาธารณะ” การสร้างภาพก็ได้เกิดขึ้นแล้ว

ยิ่งไปกว่านั้นการสร้างภาพไม่ได้เท่ากับการโกหกเสมอไป แต่อาจหมายถึงการคัดกรองเอาข้อเท็จจริงบางส่วนออก

ในทางกลับกัน อาจมีบางคนที่โพสต์แต่เรื่องทำเล็บ นวด ดูหนัง กินอาหาร บริจาคโลงศพ แต่อีกด้านหนึ่งที่ไม่ได้โพสต์อาจเป็นกิจกรรมทำสวน อ่านหนังสือ เข้าร่วมกิจกรรมการเมืองอย่างเข้มข้น ติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด ไปทุกงานเสวนาวิชาการ

แต่ได้สร้างภาพในโซเชียลมีเดียว่าเป็นคน “ไม่มีพิษมีภัย”

เพราะฉะนั้น การปักใจว่ามีใครสักคนในโลกใบนี้มีแต่ความจริงใจไม่สร้างภาพจึงเป็นความไร้เดียงสาอย่างที่สุดไม่ได้

ดังนั้น ก่อนอื่นเราพึงยอมรับว่ามนุษย์ทุกคนมีการ “สร้างภาพ”

บางคนสร้างมาก บางคนสร้างน้อย บางคนตั้งอกตั้งใจสร้างชนิดไปเรียนไปอบรมมา ไปมีสูตรสำเร็จว่าด้วยการสร้างภาพผ่านสื่อ การพูดการจา การวางตัวต่างๆ นานามาเลย

บางคนก็สร้างโดยไม่รู้ตัวเป็นการคัดสรรตามธรรมชาติว่ามีด้านไหนในชีวิตที่อยากให้คนเห็น มีด้านไหนที่อยากเก็บไว้เพื่อปกป้องความเป็นส่วนตัว

บางคน “ภาพ” ถูกสร้างจาก audience เช่น ทีแรกก็เขียน ก็โพสต์ไปตามธรรมชาติ แต่พอมีแฟนคลับมาติมาชม มาถกเถียง คอนเทนต์ อารมณ์ ความรู้สึก การตอบสนองต่อปรากฏการณ์ต่างๆ ก็จะหันเหไปเพื่อตอบสนองต่อความคาดหวังของแฟนคลับ (หรือเพื่อน) ไปโดยธรรมชาติ และไม่รู้ตัวเท่าไหร่

และบางคนอาการหนักมากคือ ตั้งอกตั้งใจสร้างภาพโดยคิดว่าทำได้แนบเนียนที่สุด ไม่มีใครรู้ทัน แต่สร้างออกมาแล้วล้มเหลวทุกมิติ กลายเป็นตัวตลกไปก็มี

บางคนมาเหนือชั้น สร้างภาพด้วยการทำให้ทุกคนเห็นว่าทั้งหมดนั้นคือ “ดิบ” ปราศจากการสร้างหรือปรุงแต่งใดๆ ทั้งสิ้น

อุ๊ย จริงใจ ดิบ เถื่อน ซื่อตรงซะไม่มี

เมื่อใครๆ ในโลกล้วนสร้างภาพ สิ่งที่น่าสนใจคือ แนวคิดเบื้องหลังการสร้างภาพนั้นคืออะไร

ทำไมยิ่งลักษณ์เลือกขายข้าว? ทำไมมาร์คเลือกเกี่ยวข้าว? ทำไมทหาร ข้าราชการเลือกเกี่ยวข้าวในเครื่องแบบที่น่าจะทำให้ทั้งร้อนทั้งคัน?

คนที่เลือกสร้างภาพผ่านการเกี่ยวข้าวทำให้เรารู้ว่าคนเหล่านี้ตามไม่ทันความเปลี่ยนแปลงของเกษตรกรและวงการเกษตรกรรมไทย ทำให้เรารู้ว่า คนที่เลือกสร้างภาพผ่านการเกี่ยวข้าวเป็นกลุ่มคนที่ยังมีภาพเหมารวมของชาวนาว่ามีเพลงเต้นรำกำเคียว ลงแขก และทึกทักว่าชาวนาคือชาวบ้านซื่อๆ ใสๆ

เห็นคนใหญ่คนโตผู้ลากมากดีมาลงนาก็ปลื้มปริ่มยิ้มแก้มปริพร้อมจะหมอบราบคาบแก้วให้ว่า โถๆๆ พ่อคุณ ดูสิ มืออ่อนๆ บางๆ ชมพูๆ อุตส่าห์มาถือเคียวเกี่ยวข้าว โถ พ่อทูนหัวของบ่าว – อะไรทำนองนั้น

ส่วนคนที่ใส่เครื่องแบบไปเกี่ยวข้าว เราก็สันนิษฐานว่าคือกลุ่มคนที่อยู่ในจักรวาลวิทยาของรัฐแบบ “นาฏ” เฉกเดียวกับเวลาที่เราดูลิเก

จะเห็นว่าตลอดเรื่องของลิเก ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นตั้งแต่รบกับโจร เข้าป่า เดินไพร กลับสู่เมือง ฯลฯ ตัวละครในลิเกจะไม่เคยเปลี่ยน “ชุด” เลย เพราะทุกตัวละครล้วนมี “เครื่องทรง” เป็นของตนเองที่กำหนดไว้ตายตัวแล้ว

และเรายังเห็นร่องรอยของจักรวาลวิทยานี้ในละครโทรทัศน์สมัยใหม่ เช่น นางเอกตกน้ำ หรือนอนป่วยหนักก็ยังติดขนตาปลอม และแต่งหน้าแน่นมาก

นางเอกติดขนตาปลอมตลอดเวลาฉันใด ข้าราชการต่อให้ต้องลงไปเกี่ยวข้าวหรือดำนาก็ต้องลงไปในเครื่องแบบข้าราชการฉันนั้น

ส่วนคนที่ไปขายข้าวให้ชาวนา เราจะมองการสร้างภาพของเขาอย่างไร?

คนที่เลือกขายข้าว ไม่เกี่ยวข้าว แสดงให้เราเห็นว่า เขาเข้าใจชีวิตของชาวนาดีพอสมควร

เขารู้ว่า ชาวนาสมัยนี้มีเครื่องหว่าน เครื่องไถ เครื่องนวด เครื่องเกี่ยวข้าว หรือหากไม่มีก็ใช้วิธีจ้าง แทบจะไม่มีชาวนาที่เดินใช้ควายไถนาหรือเกี่ยวข้าวทีละกอ เพราะภาวะขาดแคลนแรงงานและธุรกิจของชาวนาก็ต้องแข่งกับเวลาเช่นกัน

ดังนั้น สิ่งที่ชาวนาต้องการมากที่สุดคือ โอกาสทางเศรษฐกิจและการหมุนเวียนของเงินสด

การสร้างภาพแบบยิ่งลักษณ์ด้วยการลงมาซื้อข้าวจากชาวนาแล้วนำมาขายให้ผู้บริโภคคือนโยบายจำนำข้าวในยุคที่เธอเป็นนายกฯ นั่นเอง – รัฐบาลรับซื้อทั้งหมด, รัฐบาลขาย, รัฐบาลแบกรับการขาดทุนแทนชาวนา

ถามว่าการสร้างภาพของใครบรรลุความสำเร็จมากที่สุด

อันที่จริงทหารไม่จำเป็นต้องสร้างภาพเลย เพราะมีอำนาจและทรัพยากรต่างๆ ในการดำรงไว้ซึ่งอำนาจอยู่ในมือโดยปราศจากข้อกังขา จะสร้างหรือไม่สร้างก็มีผลต่อความมั่นคงทางอำนาจของพวกเขาน้อยมาก

อภิสิทธิ์ ดูแล้วเป็นที่น่าจดจำน้อยที่สุดเพราะดูเหมือนว่าฐานเสียง ปชป. ได้เทมาอยู่กับทหารหมดแล้ว คุณอภิสิทธิ์จะไปเกี่ยวข้าวอีกกี่ครั้ง ก็ไม่มีใครอุทานแล้วว่า “น่าเอ็นดูจัง”

ส่วนคุณยิ่งลักษณ์ งานนี้ต้องถือว่าได้ใจมวลชนและฐานเสียงพรรคเพื่อไทยไปเต็มๆ หลังจากที่กิจกรรมทางการเมืองของฝั่งนี้ซบเซามานาน

เขียนมาถึงตรงนี้ ฉันก็เอามือตบอก – นี่ไม่ใช่สัญญาณที่ดีสำหรับอนาคตการเมืองไทยเลย

โดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว สังคมการเมืองไทยเหลือเพียงคนที่เอาทหารกับคนที่นิยามว่าประชาธิปไตยคือการเลือกตั้งและผูกอัตลักษณ์นี้เข้ากับพรรคเพื่อไทยในฐานะที่เป็นสัญลักษณ์ของรัฐบาลพลเรือนที่ถูกรัฐประหาร

แต่เราสูญเสียมวลชนที่ต่อต้านรัฐประหารโดยที่ไม่เป็นฐานเสียงของพรรคเพื่อไทย ทักษิณ ยิ่งลักษณ์เลยหรือ?

กลับมาที่การสร้างภาพ – เกิดอะไรขึ้นกับพรรคประชาธิปัตย์ที่อยู่ๆ ก็สูญเสียพลังของพรรคการเมืองที่จะดีจะชั่วคุณก็เป็นสถาบันการเมืองที่สำคัญต่อระบอบประชาธิปไตย และยังเป็นพรรคที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศ เคยได้ชื่อว่าเป็นพรรคที่ระบบการบริหารงานในพรรคที่เป็นประชาธิปไตยมากที่สุด ไม่ใช่พรรคการเมืองของกลุ่มบุคคลหรือตระกูลใดตระกูลหนึ่ง

พรรคประชาธิปปัตย์จะมีผลงานเหลวแหลกขนาดไหน อย่างน้อยก็เคยมี “ชื่อเสียง” ว่า เป็นพรรคฝ่ายค้านที่มีคุณภาพที่สุดเท่าที่ในประวัติศาสตร์การเมืองจะมีได้

แต่ตอนนี้พอพูดถึงประชาธิปัตย์ ลำพังภาพการตั้งรัฐบาลในค่ายทหารก็แย่พอแล้วแต่ยังไม่แย่เท่ากับเมื่อพรรคประชาธิปัตย์ถูกไฮแจ็กโดยกลุ่ม คุณสุเทพ เทือกสุบรรณ และจัดตั้งมวลชน กปปส. ขึ้นมา

ความจริงเป็นอย่างไร ไม่สำคัญเท่ากับภาพลักษณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ตอนนี้เป็นอย่างไร

คุณอภิสิทธิ์นั้นหมดพลังทางการเมืองลงโดยสิ้นเชิง ไม่มีเสน่ห์ ไม่ดึงดูด ไม่ออกมา “เล่น” กับมวลชน หรือฐานเสียงของตนเองเลย และแทบไม่มีการสื่อสารทางโซเชียลมีเดียที่เป็นไวรัลให้คนฮือฮา ราวกับเป็นนักการเมืองที่ยังใช้ “สื่อใหม่” ไม่เป็น

มีใครอีกที่โดดเด่นในพรรคประชาธิปปัตย์ กรณ์ จาติกวณิช ออกมาเขียนบทความลงสื่อออนไลน์ก็เงียบ และแทบไม่กลายเป็นประเด็นหรือเป็นข่าวอะไรเลย ไม่มีใครตื่นเต้นเลย – เฮ้ยยย นี่ระดับครีมของพรรคนะ

คุณชวน หลีกภัย ก็ไม่ได้ยินชื่อมานานแล้ว คนที่ได้กระแสจากโซเชียลมีเดียต่อเนื่องกลับกลายเป็น มัลลิกา บุญมีตระกูล ส่วนคนที่มีพื้นที่สื่อสม่ำเสมอกลับกลายเป็น หมอวรงค์ เดชกิจวิกรม ซึ่งไม่แน่ใจว่ากระแสจากสองคนนี้จะช่วยสร้างภาพหรือทำลายภาพ

ส่วน คุณนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ที่พูดจาเข้าท่ากว่าใครในระยะหลังก็ไม่สามารถสร้างปรากฏการณ์เพื่อเสริมภาพลักษณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ว่ายังเป็นพรรคการเมืองภายใต้ระบอบประชาธิปไตย

ฉันอาจจะผิด แต่ก็อยากจะฟันธงว่า ในแง่ของ “ภาพ” พรรคประชาธิปัตย์ไม่เหลือภาพของการเป็น “พรรคการเมือง” ในฐานะที่เป็นสถาบันการเมืองอีกเลย

ในแง่ของ “ภาพ” พรรคประชาธิปัตย์ไม่สามารถเคลมความเป็นนักประชาธิปไตยได้อีกเลย

ในแง่ของการสร้างภาพ “จุดยืน” เป็นเรื่องสำคัญ

จุดยืนของ กปปส. ก็ชัดเจน จุดยืนของพระพุทธะอิสระก็ชัดเจน
จุดยืนของกองทัพก็ชัดเจน
จุดยืนของพรรคเพื่อไทยก็ชัดเจน
จุดยืนของ นปช. ก็ชัดเจน
จุดยืนของลิเบอรัล คนรุ่นใหม่ก็ชัดเจน
จุดยืนของอนุรักษนิยมไทยก็ชัดเจน

แต่จุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์นอกจากจะไม่ชัดแล้วดูเหมือนว่าตอนนี้จะไม่มี

การออกมาเกี่ยวข้าวเพื่อสร้างภาพของคุณอภิสิทธิ์และพรรคประชาธิปัตย์จึงวังเวงเหง่งหง่างและเหงาจุงเบย