ประชา สุวีรานนท์ : ห่วงโซ่และอุปาทาน (จบ)

Inventor and cartoonist Rube Goldberg, 87, demonstrates his picture-taking apparatus at the Smithsonian Institution in Washington, Nov. 24, 1970. His drawing in background explains how the self-portrait is made. His ìRube Goldbergsî are on display at the museum. (AP Photo/Charles Tasnadi)

ตอน 1 

รู้บ โกลด์เบิร์ก เป็นนักวาดการ์ตูนชาวอเมริกัน งานของเขาล้อเลียนเครื่องจักรและระบบการผลิตของยุคอุตสาหกรรม หรือศตวรรษที่ 19

ในยุคนั้น เครื่องจักรเกิดจากการเอากลไกที่เรียบง่ายหลายๆ อันมาทำงานร่วมกัน กลไกอะไรก็ตาม จะเรียกว่าเป็นเครื่องจักร ต้องทำงานแบบ “ห่วงโซ่” และมีระบบที่ซับซ้อน เช่น รถยนต์คันหนึ่งจะวิ่งได้ก็ต้องมีระบบหรือการทำงานร่วมกันของอะไหล่หลายพันชิ้น และในหลายๆ กรณี ระบบดังกล่าวซับซ้อนเสียจนควบคุมให้ผลตามต้องการได้ยาก

โกลด์เบิร์กบอกว่างานของเขาเป็น “ด้านกลับ” ของวิธีคิดแบบนั้น หรือ “symbol of man”s capacity for exerting maximum effort to accomplish minimal results.”

เขาเกิดในปี 1883 ที่ซานฟราซิสโก และเรียนวิศวกรรมเหมืองแร่ที่ UC เบิร์กลี่ย์ ซึ่งในสมัยนั้นมีวิธีการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์แบบแปลกๆ มากมาย นี่อาจจะเป็นสิ่งที่ทำให้เขาพบว่า ความขบขันเกิดจากการเอาสิ่งที่ซีเรียสมากๆ มาผสมกับสิ่งที่เหลวไหลไร้สาระมากๆ

เมื่อเรียนจบและออกมาทำงาน การขุดอุโมงค์ยาว 2,000 ฟุตในหน้าร้อน และตามด้วยสำรวจท่อระบายน้ำของเมืองอีกหกเดือน ทำให้ตัดสินใจเลิกเป็นวิศวกร แต่อาชีพนี้ก็ทำให้เขามีความแม่นยำในการวาดรูปและเข้าใจกระบวนการทางวิทยาศาสตร์

จากนั้น เริ่มอาชีพนักวาดการ์ตูน เมื่ออายุได้ 24 ปี ย้ายไปทำงานที่นิวยอร์ก

การ์ตูนชุด “Inventions” เริ่มในปี 1914 ด้วย “Automatic Weight Reducing Machine” ตลอดห้าสิบปีหลังจากนั้น ปรากฏเดือนละหนึ่งถึงสองครั้ง และกระจายไปลงสิ่งพิมพ์อีกกว่าร้อยฉบับ

ในปี 1931 คำว่า Rube Goldberg machine ได้เข้าไปอยู่ในดิกชันนารีของ Merriam-Webster ในฐานะ adjective ที่มีความหมายว่า “doing something simple in a very complicated way that is not necessary.”

จากนั้นก็เข้าสู่วิถีของเซเลบ เช่นเขียนบทหนังให้ฮอลลีวู้ด และ เป็นนายกสมาคมนักวาดการ์ตูน ในปี 1942 มีการจัดนิทรรศการที่นิวยอร์ก งานบางชิ้น เช่น “Automatic Hitler-Kicking Machine” มีทั้ง แมว, หนู, นางระบำเปลื้องผ้า, และฮิตเลอร์ และไม่นานก่อนจะเสียชีวิต สถาบันสมิธโซเนียนก็จัดงานที่ชื่อ Do It the Hard Way

ในปี 1995 ไปรษณีย์สหรัฐออกแสตมป์ให้แก่เขา โดยใช้รูป Self-Operating Napkin (1931) หรือเครื่องเช็ดหน้าด้วยกระดาษทิชชู่ซึ่งมีขั้นตอนถึง 12 ขั้นตอน

ปัจจุบัน คำนี้ก็ยังแปลว่ากลไกที่ซับซ้อนแต่ให้ผลเพียงนิดเดียว นอกจากนั้น ยังหมายถึงการแก้ปัญหาต่างๆ ด้วยกระบวนการที่ใหญ่เทอะทะ เช่นระบบราชการ เพราะใช้ maximum effort to accomplish minimal results เช่นเดียวกัน

กลไกรู้บ โกลด์เบิร์ก ปรากฏในหนังและการ์ตูนที่มีตัวละครแบบ “ศาสตราจารย์สติเฟื่อง” มากมายหลายพันเรื่อง ที่รู้จักกันมากคือ Back to the Future (1985) ของ โรเบิร์ต เซมีคิส และ สตีเฟน สปีลเบิร์ก

ใน Cog (2003) หนังโฆษณารถยนต์ฮอนด้า ซึ่งยาวถึง 120 วินาที หนังแสดงการถอดรถทั้งคันออกเป็นชิ้นๆ และประกอบขึ้นมาใหม่ในแบบของโกลด์เบิร์ก ซึ่งอาจจะเป็นการบอกว่า ความเรียบง่าย ซึ่งเป็นจุดขายของฮอนด้ามาแต่ไหนแต่ไรนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ แต่มาจากการครุ่นคิดและประสานกันอย่างดีของกลไกต่างๆ มากมาย

02-11chaintale2

ในปัจจุบัน ก็ยังมีอิทธิพลต่อการเรียนวิทยาศาสตร์ ในสถานศึกษา มีการเรียนการสอนเรื่องนี้มากมาย มหาวิทยาลัย Purdue จัด ประกวดเครื่องจักรแบบนี้ทุกปี งานที่ชนะเลิศเมื่อปี 2005 นั้นเป็นเครื่องกดปุ่มเปิดไฟฉายกระบอกเดียว แต่มีกลไก 125 ขั้นตอน ซึ่งประกอบด้วย จรวด ลูกหิน และกองไฟ ส่วนเว็บไซต์ที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ ก็มีนับร้อยไซต์

ในยุคที่บูชาความเรียบง่าย ระบบที่ไม่เรียบง่ายเอาเสียเลยเช่นนี้มีความสำคัญอย่างไร? เกี่ยวกับการก่อสร้างและออกแบบอย่างไร? และกลับมาได้รับความนิยมอีกเพราะอะไร?

คณะวิศวกรรมศาสตร์ของมหาวิทยาลัย Colorado Boulder ซึ่งเปิดสอนวิชา Rube Goldberg and the Meaning of Machines ให้คำตอบว่า วิชานี้เป็นการฝึกหัด “ประเมิน” คุณค่าของ “งานระบบ” ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับการออกแบบและสร้างสรรค์ของโลกทุกวันนี้

รวมทั้งทบทวนว่ากลไกต่างๆ จะเพี้ยนหรือบานปลายไปได้ขนาดไหน เพราะอะไรก็ตามที่เป็นระบบหรือมีความซับซ้อนมากเกินไป อาจจะทำให้เราหลงทางก็ได้

 

ถ้าพูดกึงการหลงทาง ที่น่าสนใจคือ This Too Shall Pass มิวสิกวิดีโอของวงดนตรีชื่อ OK Go (2010) ซึ่งโด่งดังขึ้นมาเพราะการเผยแพร่คลิปในยูทูป เฉพาะคลิปนี้มีผู้ดูกว่าสี่ล้าน และด้วยความยาวกว่าสี่นาที จะแสดงกลไกหลายขั้นตอนทั้งกระดานหก, อุโมงค์, ลูกล้อ, เปียโน, ร่มกันฝน ก่อนจะจบลงที่การยิงปืนใส่หมึกสีใส่หน้านักดนตรีสี่คน

เพลง This Too Shall Pass บอกว่า ความวิตกกังวลของเราเป็นเพียง “จุด” หรือขณะหนึ่งที่เล็กนิดเดียวในห่วงโซ่ขนาดมหึมา

และเสนอว่าอย่าไปหมกมุ่นครุ่นคิดนักเลย เพราะเราจะก้าวผ่านไปได้ในที่สุด

นิทาน “ยายกะตา” สอนให้เด็กรู้จักห่วงโซ่เหตุการณ์ วิธีคิดซึ่งเป็นหัวใจของ การคลัง โลจิสติกส์ หรือสื่อสาร

อย่างไรก็ตาม วิธีแบบนี้ แม้เริ่มต้นด้วยความต้องการแก้ปัญหา ก็อาจจะกลายเป็นตัวปัญหาหรืออุปสรรคเสียเอง

กลไก รู้บ โกลด์เบิร์ก ในฐานะด้านตรงข้ามของวิธีคิดแบบนั้น สอนว่า แม้จะให้ความสนุกตื่นเต้นขณะสร้างหรือเฝ้าดู ต้องไม่ลืมว่ามันอาจจะเป็นแค่ “อุปาทาน” หรือความซับซ้อนที่ไม่จำเป็นเลย