ประชา สุวีรานนท์ : ห่วงโซ่และอุปาทาน (1)

คําว่า “ห่วงโซ่ของเหตุการณ์” หรือ chain of events หมายถึงการที่หลายสิ่งหลายอย่างเกิดขึ้นอย่างเป็นเหตุ-ผล และเรียงร้อยกันเป็นทอดๆ และต่อเนื่องกันเป็นกระบวนการยืดยาว

ในแง่การออกแบบและวิศวกรรม การเข้าใจห่วงโซ่และข้อต่อ เป็นตรรกะพื้นฐานที่ทำให้เข้าใจ “อุปทาน” (chain of supply) และ logistic รวมทั้ง มองเห็นข้อต่อต่างๆ ถ้าเป็นการสื่อสารออนไลน์ จะทำให้เข้าใจว่าในข้อต่อเหล่านี้ อาจจะมี Malware หรือข้อความที่หลอกเราเพื่อที่จะแพร่มันออกไป ซึ่งก็คล้ายกับ “เมล์ลูกโซ่” ที่เข้ามาป่วนเป็นประจำนั่นเอง

ในแง่ประวัติศาสตร์ มันทำให้นึกถึงคำถามที่ว่า “เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?”

เพราะประวัติศาสตร์มักจะสอนว่า สิ่งที่กำลังเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างโดดๆ แต่เป็นผลพวงของเหตุการณ์มากมายที่เกิดขึ้นในอดีต และต่อกันมาเป็นทอดๆ แบบห่วงโซ่

ซึ่งต้องบอกไว้ก่อนว่า จริงหรือเปล่าก็ไม่รู้

 

การมองสิ่งที่เกิดขึ้นว่าต่อเนื่องกันคล้ายห่วงโซ่ เป็นวิธีคิดของมนุษย์ ซึ่งถ้าสืบสาวกันไป ก็จะเห็นว่าปลูกฝังกันด้วยนิทาน เกม และการ์ตูนมากมาย เช่น “ยายกะตาปลูกถั่วงาให้หลานเฝ้า”

นิทานเรื่องนี้อยู่ในหนังสือเรียนวิชาภาษาไทย ชื่อ “วรรณคดีลำนำ” ชั้นประถมปีที่ 2 ของกระทรวงศึกษาธิการ มีความยาวร่วมยี่สิบหน้า ซึ่งเริ่มต้นว่า

ยายกะตาปลูกถั่วปลูกงาให้หลานเฝ้า หลานไม่เฝ้า กามากินถั่วกินงาเจ็ดเมล็ดเจ็ดทะนาน ยายมายายก็ด่า ตามาตาก็ตี

หลานจึงไปขอความช่วยเหลือจากนายพราน สัตว์ และพลังในธรรมชาติต่างๆ แต่ไม่สำเร็จ ประโยคเด่นคือคำตอบที่ว่า “ไม่ใช่กงการอะไรของข้า” นายพรานไม่ช่วยยิงกา หนูไม่ช่วยกัดสายธนูนายพราน แมวไม่ช่วยกัดหนู หมาไม่ช่วยกัดแมว ไม้ค้อนไม่ช่วยย้อนหัวหมา ไฟไม่ช่วยไหม้ไม้ค้อน น้ำไม่ช่วยดับไฟ ตลิ่งไม่ช่วยพังทับน้ำ และช้างไม่ช่วยถล่มตลิ่ง

ถ้านับจำนวนผู้ที่หลานเดินทางไปหาก็มีนับสิบ เช่น แมลงหวี่, ช้าง, ตลิ่ง, น้ำ, ไฟ, ค้อน, หมา, แมว, หนู และนายพราน

ในที่สุด แมลงหวี่ยอมช่วยและบินไปตอมตาช้าง เรื่องจะเดินย้อนกลับมาตามเส้นทางเดิม จนกระทั่งนายพรานยอมตกลงไปยิงกา กาจึงเอาถั่วเอางาเจ็ดเมล็ดเจ็ดทะนานมาคืนหลาน

ยายกะตาจึงเลิกด่าเลิกตีหลานแต่นั้นมา

02chaintale

นี่เป็นหนึ่งในนิทานแบบ “ห่วงโซ่” (chain tale) หรือ cumulative tale ลักษณะเด่นคือ พล็อตมีนิดเดียว แต่มีการซ้ำ (repetition) มากมาย และพอกพูนเข้าไปได้อย่างไม่ข้อจำกัด ในแง่หนึ่ง จะเปิดโอกาสให้คนเล่าแสดงความสามารถ นั่นคือ พูดซ้ำๆ ได้ดีและรวดเร็ว

มีมากมายหลายสิบเรื่อง เช่น This Is the House That Jack Built รวมทั้ง Old MacDonald Had a Farm ที่คล้ายกับเรื่องยายกะตามากที่สุดคือ “The Old Woman and Her Pig.” ของอังกฤษ ซึ่งก็มีอีกหลายฉบับ เช่น Moorachug and Meenachug, The Wife and Her Bush of Berries และ The Wifie an Her Kidie ของสกอตแลนด์ และ Nanny Who Wouldn’t Go Home to Supper ของนอร์เวย์

“The Old Woman and Her Pig.”

เริ่มต้นด้วยการที่ยายแก่คนหนึ่งไปซื้อหมูตัวหนึ่งจากตลาด และต้องการจะพากลับบ้าน แต่หมูไม่ยอมกระโดดข้ามรั้ว ยายจึงต้องไปขอความช่วยเหลือจากคนอื่นๆ ซึ่งเป็นทั้งมนุษย์ สัตว์ และธาตุต่างๆ เช่น ดิน น้ำ ลม ไฟ และในที่สุดก็ทำให้หมูกระโดด ทั้งยายและหมูจึงกลับบ้านได้

การเน้นห่วงโซ่ของเหตุการณ์เป็นการบอกว่าสิ่งต่างๆ ล้วนมีเหตุปัจจัยที่ทำให้มันเกิดขึ้น บางคนเห็นว่าคล้ายคำพระ : “เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี” หรือ อิทัปปัจจยตา นั่นเอง

จะเห็นได้ว่ามีความเก่าแก่ และหนังสือเรียนจะพูดถึงเรื่องนี้มาก อีกทั้งบอกว่าถูกวาดเป็นภาพบนบานหน้าต่างอุโบสถของวัดโพธิ์ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 แต่เป็นไทยแท้หรือเปล่า ยังเป็นปัญหา

 

ที่สำคัญ แม้จุดวกกลับของนิทานแบบนี้จะต่างกัน เช่นใน ยายกะตา อยู่ที่แมลงหวี่ ส่วน The Old Woman อยู่ที่ชาวนา แต่ที่เหมือนกันคือทำให้เกิดการเปรียบเทียบว่าสิ่งที่มาทีหลังย่อมยิ่งใหญ่ “กว่า” สิ่งที่มาก่อนหน้านั้น

มองในแง่นี้ นิทานห่วงโซ่มีมาตั้งแต่หกร้อยปีก่อนคริสตกาล เช่น ในคัมภีร์ชื่อ Jewish Midrash ในตอนที่เกี่ยวกับอับราฮัม ขณะถูกจับมาเข้าเฝ้ากษัตริย์นิมรอด และถูกสั่งให้บูชาไฟ อับราฮัมทูลว่าบูชาน้ำดีกว่า เพราะน้ำดับไฟได้ มันจึงมีอำนาจมากกว่า

เมื่อนิมรอดเห็นด้วย เขากลับบอกว่า เพราะเมฆเก็บน้ำไว้ได้ มันจึงน่าบูชามากกว่าน้ำ แต่เพราะลมพัดเมฆได้ มันจึงมีอำนาจมากกว่าเมฆ

ในตอนท้าย อับราฮัมบอกนิมรอดว่า “แต่คนยืนต้านลมได้ ลู่ลมได้ หรือหลบเข้าบ้านได้ คนจึงแข็งแรงที่สุด มากกว่าดินน้ำลมไฟเสียอีก”

 

อย่างไรก็ตาม คำนี้ทำให้คิดถึง Rube Goldberg machine ซึ่งหมายถึงอุปกรณ์ที่มีไว้ทำงานง่ายๆ แต่กลับมีกลไกที่สลับซับซ้อนหรือ กระบวนการที่ยืดยาวเกินจำเป็น พูดอีกอย่าง เป็นด้านลบของ “ห่วงโซ่ของเหตุการณ์”

บรรดาคนชอบการออกแบบและการ์ตูนต้องรู้จัก รู้บ โกลด์เบิร์ก (1883-1970) ซึ่งเป็นนักวาดการ์ตูนอเมริกันผู้มีชื่อเสียงและผลิตงานออกมาในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 เนื่องจากเคยเรียนวิศวกรรมและทำงานระบบ เขาจึงเอาความรู้ด้านนี้มาวาดเป็นการ์ตูนและกลายเป็นที่นิยมมาก

เครื่องจักรของเขาใช้ทั้งนก, ลิง, สปริง, รอก, เฟือง, ขนนก, นิ้วมือ, จรวด และกลไกแบบ “ห่วงโซ่” ที่จะไปแก้ปัญหา เช่น เช็ดรอยเปื้อนบนเสื้อ จุดบุหรี่ขณะขับรถ หรือตกปลาที่อยู่ในขวด

นอกจากไร้ประโยชน์แล้ว ยังเป็นกับดักที่สร้าง “อุปาทาน” ของการใช้ตรรกะมากเกินไป

ตอนจบ