คุยกับทูต อะศิม อะห์มัด ไปดูกันว่าไทย-ปากีสถาน เป็นหุ้นส่วนอะไรกันบ้าง ?

คุยกับทูต อะศิม อะห์มัด ไทย-ปากีสถาน 67 ปีแห่งความสัมพันธ์ ที่ใกล้ชิดกันในทุกมิติ (จบ)

ย้อนอ่านตอน (2)

ความร่วมมือระหว่างกองทัพไทยกับกองทัพปากีสถาน นับเป็นรากฐานสำคัญที่จะช่วยยกระดับความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างสองประเทศให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกรอบความร่วมมือด้านส่งกำลังบำรุง (Thailand-Pakistan Joint Logistics) ซึ่งเป็นกลไกทวิภาคีเดียวระหว่างกองทัพไทยกับกองทัพปากีสถาน โดยมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง และขยายขอบเขตความร่วมมือที่เป็นไปได้เพื่อประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่าย

เอกอัครราชทูตปากีสถานประจำประเทศไทย นายอะศิม อะห์มัด กล่าวถึงประเด็นที่ช่วยในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางการทูต

“นอกจากความร่วมมือด้านการทหารแล้ว ยังมีการผลักดันความร่วมมือไทย-ปากีสถานในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การท่องเที่ยวและการศึกษาควบคู่กันไป รวมทั้งความร่วมมือต่อต้านการก่อการร้าย ซึ่งเห็นว่าเป็นภัยต่อประชาคมโลก”

“ปากีสถานและไทยเป็นหุ้นส่วนระหว่างกัน มีการส่งเสริมความสัมพันธ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจ รวมทั้งมีความร่วมมือที่เพิ่มมากขึ้นทั้งในด้านการป้องกัน การรักษาความปลอดภัย และงานด้านข่าวกรอง ปากีสถานกำลังแบ่งปันประสบการณ์ในฐานะผู้สนับสนุนหน่วยรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ จากบทบาทและความสำเร็จของเราในการต่อสู้กับการก่อการร้าย”

ภารกิจรักษาสันติภาพของสหประชาชาติเกี่ยวข้องกับประเทศปากีสถาน ซึ่งครอบคลุมการปฏิบัติการประมาณ 40 แห่งในอัฟกานิสถานและอาซาดแคชเมียร์ ปากีสถานเข้าร่วมสหประชาชาติเมื่อวันที่ 30 กันยายน ค.ศ.1947 โดยกองทัพปากีสถานมีจำนวนทหารสูงมากที่สุดในหน่วยรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ

“เรายังต้องเรียนรู้จากประเทศไทยในด้านการพัฒนาชุมชนและการท่องเที่ยวซึ่งไทยมีความเชี่ยวชาญและได้รับประโยชน์จากประสบการณ์ดังกล่าว เรามุ่งมั่นที่จะส่งเสริมความใกล้ชิดต่อกัน ซึ่งบางกรณีไม่จำเป็นต้องเป็นโปรแกรมใหญ่ เช่น สถานเอกอัครราชทูตและชุมชนปากีสถานร่วมกับโรงพยาบาลศิริราชจัดกิจกรรมบริจาคโลหิต เมื่อวันที่ 14 สิงหาคมที่ผ่านมา เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 สภานายิกสภากาชาดไทย เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 85 พรรษา วันที่ 12 สิงหาคม และวันที่ 14 สิงหาคม เป็นวันประกาศอิสรภาพของปากีสถาน”

“ด้านความสัมพันธ์ระหว่างปากีสถานกับอาเซียน(ASEAN) ปากีสถานถือว่าอาเซียนเป็นองค์กรระดับภูมิภาคที่มีประสิทธิภาพและเป็นรูปแบบความร่วมมือระดับภูมิภาค ปากีสถานมีความสัมพันธ์ที่ดีและใกล้ชิดกับสมาชิกอาเซียนทั้งหมด อาเซียนจึงมีความสำคัญในนโยบายด้านต่างประเทศของเรา ปากีสถานเป็นประเทศคู่เจรจาเฉพาะด้าน (Sectoral Dialogue Partner) ของอาเซียนตั้งแต่ปี ค.ศ.1993 และพยายามขอปรับสถานะเป็นคู่เจรจาเต็มรูปแบบอย่างต่อเนื่องทุกปี”

“สรุปว่า อาเซียนรับทราบความสนใจของปากีสถานที่ขอปรับสถานะเป็นคู่เจรจาเต็มรูปแบบ และพร้อมที่จะดําเนินโครงการความร่วมมือต่างๆ เพื่อสร้างเสริมความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนและปากีสถานให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น”

“ซึ่งปากีสถานขอขอบคุณที่ได้รับการสนับสนุนอย่างมากจากประเทศไทย ปากีสถานมีผู้แทนทางการทูตที่เข้มแข็งในทุกประเทศสมาชิกอาเซียนโดยมุ่งมั่นที่จะขยายความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นกับประเทศทั้งในภูมิภาคและอาเซียนโดยรวม ทั้งนี้ ปากีสถานมีบทบาทในกรอบความร่วมมือเอเชีย (ACD) และความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (ARF)”

เนื่องจากปากีสถานมีนโยบาย Vision East Asia เพื่อเพิ่มบทบาทในเอเชียและกระชับความสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออก และไทยมีนโยบาย Look West ด้วยเหตุนี้ปากีสถานและไทยจึงมีความร่วมมือในทุกมิติ ทั้งระดับทวิภาคีและพหุภาคี

อาทิ เวทีกรอบความร่วมมือเอเชีย (ACD) ที่ไทยริเริ่มขึ้น รวมทั้งความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (ARF) นอกจากนี้ ไทยยังได้รับความร่วมมือจากปากีสถาน ซึ่งมีบทบาทสำคัญในเวทีองค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC)

ปากีสถานเป็นคู่ค้าสำคัญของไทยในภูมิภาคเอเชียใต้รองจากอินเดีย ปากีสถานเป็นตลาดใหญ่ มีประชากรกว่า 200 ล้านคน มีนโยบายเปิดเสรีมากขึ้นเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ รวมทั้งนโยบายมองตะวันออก (Look East Policy) ที่ต้องการส่งเสริมและขยายความสัมพันธ์กับประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

จากการประชุมเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-ปากีสถาน ครั้งที่ 9 ระหว่างวันที่ 22-24 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ผลการเจรจาครั้งนี้มีความคืบหน้าเป็นลำดับในหลายประเด็น โดยเน้นการเจรจาเปิดตลาดสินค้าศักยภาพของแต่ละฝ่าย เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อภาคการผลิตและภาคธุรกิจอย่างแท้จริง และมีข้อสรุปเพิ่มเติมเกี่ยวกับกระบวนการศุลกากร การอำนวยความสะดวกทางการค้า และการกำหนดกฎถิ่นกำเนิดรายสินค้า ซึ่งทั้งสองฝ่ายมุ่งหวังจะสรุปผลการเจรจา FTA ภายในกลางปีนี้

“เป็นความคาดหวังที่ยิ่งใหญ่ในหมู่นักธุรกิจและนักลงทุนทั้งสองฝ่าย ปากีสถานยังหวังว่า FTA จะช่วยแก้ปัญหาการขาดดุลการค้าที่มีอยู่ในปัจจุบัน ทุกฝ่ายต่างก็มองหาข้อตกลงที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน นั่นคือเจตนารมณ์ของ FTA” ท่านทูตกล่าว

“ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับปากีสถานถือได้ว่ามีความแน่นแฟ้น มีความเข้าใจ และไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน รัฐบาลปากีสถานมีนโยบาย วิสัยทัศน์เอเชียตะวันออก (Vision East Asia) ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย มองตะวันตก (Look West) ของไทย”

“ดังนั้น ทั้งสองฝ่ายจะสามารถพึ่งพากันและขยายความร่วมมือเพื่อนำมาซึ่งผลประโยชน์ร่วมกัน ปากีสถานและไทยต่างเป็นประตูซึ่งกันและกันสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียกลาง / เอเชียตะวันตกและตะวันออกกลางตามลำดับ”

“การส่งเสริมให้ประชาชนได้มีปฏิสัมพันธ์ต่อกันโดยการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม เป็นอีกวิธีหนึ่งที่เรากำลังดำเนินงาน ได้แก่ ภาพยนตร์ ละครทีวี การแสดงศิลปะ แฟชั่น ดนตรี ฯลฯ โดยตั้งเป้าเน้นด้านมรดกวัฒนธรรมอันเก่าแก่และพุทธศาสนาในปากีสถาน”

“นอกจากนี้คือการแลกเปลี่ยนในด้านกีฬาซึ่งไทยมีความเชี่ยวชาญด้านกอล์ฟ สนุ้กเกอร์ แบดมินตัน ส่วนปากีสถานเป็นแชมป์โลกในกีฬาฮอกกี้ คริกเก็ต สควอช สำหรับกีฬากอล์ฟและสนุ้กเกอร์กำลังพัฒนาอย่างรวดเร็วในปากีสถาน ล่าสุดทีมเทนนิสไทยและทีมปากีสถานแข่งขันกันในเดวิสคัพ 2017”

“อีกวิธีหนึ่ง ในการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม นอกเหนือจากศิลปะ และการกีฬา คือ การท่องเที่ยว ปัจจุบันมีชาวปากีสถานหลายคนเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย และเมื่อเทียบกับเพื่อนชาวไทยที่ไปเยือนปากีสถาน เพิ่งจะมีจำนวนเพิ่มขึ้น เราจึงอยากเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านนี้”

เมื่อปี ค.ศ.2013 มีชาวปากีสถานเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทย 78,986 คน ในขณะที่นักท่องเที่ยวไทยเดินทางไปปากีสถานจำนวน 1,850 คน

ไทยและปากีสถานต่างเป็นมิตรประเทศที่ดีต่อกัน และมีความเกี่ยวพันระหว่างภาคประชาชน มีชุมชนคนไทยในปากีสถานมาช้านาน นอกจากกลุ่มคนไทยที่สมรสกับชาวปากีสถานและไปประกอบอาชีพต่างๆ แล้ว ยังมีกลุ่มนักเรียนไทยประมาณ 600 คน ศึกษาในโรงเรียนสอนศาสนา และมหาวิทยาลัยชั้นนำในปากีสถาน อีกทั้งมีการจัดตั้งสมาคมมิตรภาพไทย-ปากีสถานด้วย

ส่วนชุมชนชาวปากีสถานในประเทศไทยมีจำนวนประมาณ 4,000-5,000 คน ส่วนใหญ่ทำธุรกิจการค้า รวมทั้งทำงานในองค์กรระหว่างประเทศและบริษัทข้ามชาติ โดยมีส่วนร่วมในการพัฒนามิตรภาพระหว่างไทย-ปากีสถาน

ด้านความร่วมมือทางวิชาการ ปากีสถานมีศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รัฐบาลปากีสถานได้ให้โควตาแก่นักเรียนไทย เพื่อศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยปากีสถานในสาขาการแพทย์ เภสัชศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิศวกรรม และการบริหาร โดยใช้สิทธิในการจ่ายค่าเล่าเรียนเท่ากับนักศึกษาปากีสถาน

นอกจากนี้ รัฐบาลยังแจ้งเวียนทุนฝึกอบรมประจำปีให้แก่ฝ่ายไทยโดยผ่านสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ ในหลักสูตร/สาขาต่างๆ เช่น การคมนาคม การก่อสร้าง การธนาคารและการแก้ไขปัญหาความยากจนมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1987

ในขณะที่ฝ่ายไทยได้มีการแจ้งเวียนทุนฝึกอบรมประจำปี (AITC) ทุนศึกษาระดับปริญญาโทในไทย (TIPP) และทุนภายใต้กรอบไตรภาคี (Trilateral Cooperation ร่วมกับ JICA) ไปยังปากีสถานต่อเนื่องทุกปี

“เมื่อพูดถึงสถานที่ท่องเที่ยวในปากีสถาน เรามีสถานที่น่าสนใจหลายแห่งทั่วประเทศให้เลือกตามฤดูกาล จากเทือกเขาที่สูงที่สุดในโลกทางตอนเหนือไปจนถึงทะเลอันเงียบสงบและแนวชายฝั่งทะเลอารเบียน (Arabian Sea) อันงดงาม หรือจะเลือกการปีนเขา เดินป่า เล่นสกี จนถึงการชุมนุมรถในทะเลทราย ปากีสถานเป็นสถานที่แห่งประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น ศิลปหัตถกรรม อาหาร และเรามีธรรมเนียมการต้อนรับผู้มาเยือนอย่างอบอุ่นเสมือนอยู่บ้าน”

“กรุงการาจีและละฮอร์ เป็นศูนย์กลางเมืองขนาดใหญ่เช่นเดียวกับกรุงเทพฯ สำหรับผู้ที่สนใจในการท่องเที่ยวทางศาสนาและประวัติศาสตร์ ขับรถเพียงหนึ่งชั่วโมงจากอิสลามาบัดเมืองหลวงของประเทศก็ถึงเมืองตักศิลา สถานที่สำคัญซึ่งนักท่องเที่ยวไม่พลาดที่จะไปเยือน เป็นสถานที่มรดกทางพุทธศาสนาอันยาวนานของปากีสถานกว่าสองพันปีและเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมโดยยูเนสโก”

“การเดินทางเป็นการเรียนรู้ชีวิตที่ไม่มีวันสิ้นสุด การออกเดินทางไปตามสถานที่ต่างๆ ถือเป็นการเก็บเกี่ยวประสบการณ์ที่ดีที่สุดและอยู่ในความทรงจำ เมื่อเราอยู่ห่างไกลจากบ้านเมืองหรือความสะดวกสบายที่เราเคยคุ้น จะช่วยสอนให้เรามีความอดทน และรู้จักให้ความเคารพต่อคนในท้องถิ่น วัฒนธรรมและวิถีชีวิตของพวกเขา โดยรวมแล้ว การเดินทางช่วยทำให้เราสามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพสังคมแวดล้อมและผู้คน”

“ถ้าโชคดีไม่มีงานหรือนัดหมายอย่างเป็นทางการในวันหยุดสุดสัปดาห์ ผมมักจะวางแผนโดยแบ่งเวลาให้กับครอบครัว และเล่นกอล์ฟกับเพื่อนๆ คนไทยของเรา โดยตั้งใจที่จะไปเยือนสถานที่ต่างๆ ในประเทศที่สวยงามนี้ซึ่งเต็มไปด้วยผู้คนที่เป็นมิตรให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้”

“สุดท้ายนี้ ผมขอฝากข้อความมาด้วยความเคารพและด้วยไมตรีจิต ขอเน้นว่า ประเทศและชาวปากีสถานเป็นเพื่อนและเป็นผู้มีความปรารถนาดีต่อประเทศไทยและชาวไทย เรามีความรู้สึกเดียวกัน ได้เรียนรู้และร่วมมือกัน ซึ่งจะทำให้เราสามารถรับมือกับความท้าทายต่างๆ ได้ และในฐานะพลเมืองโลก”

“จึงเป็นการทำงานเพื่อมิตรภาพ ความรักสามัคคี และเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข”