จีนขาลง : ข้อทักท้วงของริชาร์ด แม็กเกรเกอร์ (4)

เกษียร เตชะพีระ

ริชาร์ด แม็กเกรเกอร์ ผู้เชี่ยวชาญจีนและเอเชียตะวันออกสังกัดสถาบัน Lowy Institute ของออสเตรเลีย ได้ให้สัมภาษณ์ จีเดียน ราคมัน แห่ง น.ส.พ. The Financial Times เมื่อกุมภาพันธ์ศกนี้ (https://www.ft.com/content/943fc54d-f2b4-44ea-aa0f-ae49f16ee033) โดยทักท้วงข้อเสนอ “จีนสุดยอด -> จีนขาลง” และขยายความไปสู่ประเด็นการเมืองระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียอาคเนย์

ดังนี้:-

ตระหนักนับเอเชีย : จีน, ญี่ปุ่น, กับชะตากรรมของอำนาจสหรัฐในศตวรรษแปซิฟิก (ได้รับยกย่องเป็นหนังสือดีที่สุดแห่งปี 2017 โดย น.ส.พ. The Financial Times)

เอเชียอาคเนย์ในสงครามเย็นสองอภิมหาอำนาจ

จีเดียน ราคมัน : เป็นอันว่าจีนภายใต้สี จิ้นผิง กำลังเผชิญกับการท้าทายสารพัดประเภทนะครับ กระทั่งอาจรวมทั้งภัยคุกคามต่อระบบทั้งระบบด้วย

แต่กระนั้นก็อย่างที่คุณพูดตั้งแต่ต้น นั่นดูจะมิได้หมายความว่าในแง่มุมอื่นๆ แล้ว จีนไม่ได้กำลังขยายอำนาจของตนทางสากล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคที่ตั้งอยู่ระหว่างออสเตรเลียกับจีน อันได้แก่เอเชียอาคเนย์น่ะครับ

คุณเห็นบ้างไหมครับว่าภูมิภาคนั้นกำลังกลายเป็นเหมือนสนามหลังบ้านของจีนมากขึ้นต่อให้อเมริกาพยายามขวางอย่างสุดฝีมืออย่างไรก็ตาม?

 

ริชาร์ด แม็กเกรเกอร์: ผมคิดว่าเอเชียอาคเนย์เป็นที่น่าสนใจที่สุดแห่งหนึ่งในการมองหาอิทธิพลของจีนครับ มันใกล้จีนอย่างที่คุณบอก มันอาจไม่ถึงกับเป็นสนามหลังบ้านของจีน แต่ก็เรียกได้ว่าเป็นละแวกบ้านของจีนแหละครับ

เอเชียอาคเนย์เป็นพื้นที่ซึ่งจีนมีอิทธิพลทางเศรษฐกิจใหญ่หลวงที่สุด มันยังเป็นพื้นที่ซึ่งอิทธิพลทางการเมืองวัฒนธรรมของจีนมีศักยภาพจะใหญ่หลวงยิ่งขึ้น จีนไม่ใช่ประเทศหน้าใหม่ในเอเชียอาคเนย์นะครับ กล่าวได้ว่าแทบจะทุกประเทศในเอเชียอาคเนย์มีประชากรชาติพันธุ์จีนที่ใหญ่โตอยู่ไม่แบบใดก็แบบหนึ่ง และแน่นอนว่าจีนเป็นประเทศคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของประเทศเหล่านั้นทั้งหมด

เอาล่ะในหลายกรณีจีนไม่ได้นำเข้าสินค้าจากประเทศเหล่านั้นมาอย่างทื่อๆ ตรงๆ เสียทีเดียว แต่มันเป็นเรื่องของการนำเข้าซ้ำ (reimporting) สินค้าอุตสาหกรรมจากที่นั่นซึ่งผลิตขึ้นมาจากวัตถุดิบที่จีนส่งออกไปยังประเทศเหล่านั้นก่อนมากกว่า หรือจะเรียกว่าจีนนำเข้าสินค้าจากประเทศเหล่านั้นเพื่อเอาไปส่งออกต่อจากจีนอีกทีก็ได้ แต่ถึงกระนั้น มันก็มีความสัมพันธ์เชิงสมชีพร่วมกัน (symbiotic) บางอย่างซึ่งเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ระหว่างจีนกับประเทศพวกนั้นนั่นล่ะครับ

ฉะนั้น จีนจึงเถียงโน้มน้าวชักจูงประเทศเหล่านี้ได้ว่านี่มันภูมิภาคของพวกเรานะ เราเชื่อมเข้าด้วยกันทางวัฒนธรรม เราเป็นเพื่อนกันโดยธรรมชาติ เพราะถึงไงเอเชียก็ควรบริหารจัดการโดยชาวเอเชียด้วยกันเองไม่ใช่เหรอ แล้วที่ว่านั้นมันผิดตรงไหนล่ะ? แล้วพวกอเมริกันกำลังมาทำอะไรแถวนี้?

ฉะนั้น ในระยะยาวแล้ว ผมคิดว่าจีนโต้แย้งถกเถียงได้ดียิ่งครับ

แต่แน่ล่ะครับว่าด้านกลับของข้อถกเถียงข้างต้นก็คือเอเชียที่บริหารจัดการโดยชาวเอเชียด้วยกันเองนั้นเอาเข้าจริงก็เป็นเอเชียที่บริหารจัดการโดยจีนนั่นเอง จำได้ไหมครับว่าสมัยทศวรรษที่ 1980 ญี่ปุ่นก็เคยเป็นหัวขบวนของข้อถกเถียงที่ว่าเอเชียควรบริหารจัดการโดยชาวเอเชียเช่นกัน และความคิดเรื่องค่านิยมเอเชียทั้งชุดที่โฆษณาชวนเชื่อโดยลี กวน ยู แห่งสิงคโปร์ กับมหาธีร์ โมฮัมหมัด แห่งมาเลเซียก็เป็นที่นิยมกันอย่างยิ่งตอนนั้น

ทว่า มาบัดนี้ผมคิดว่าข้อถกเถียงที่ว่ามันดันกลับเข้ามาอยู่ในคลังศัพท์ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนเสียฉิบ เอาเข้าจริงมันไม่ใช่เรื่องของการเคลื่อนไหวรวมกลุ่มเอเชียอะไรเทือกนั้นหรอกนะครับ แต่เป็นเรื่องการที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนรับเอาการเร้าอารมณ์แบบรวมกลุ่มเอเชียมาใช้เพื่อผลประโยชน์ของตัวเองต่างหาก

และผมก็คิดว่าประเทศในเอเชียอาคเนย์หลายประเทศไม่ได้อยากถูกจีนครอบงำหรอกครับ พวกเขาต้องการทางเลือกอื่นๆ แต่พวกเขาวิตกกังวลมากที่จะพูดออกมาอย่างนั้น คือผมหมายความว่ามันเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ใจน่ะครับเวลาเราเดินทางตระเวนเอเชียอาคเนย์ทุกวันนี้เพราะทุกคนสามารถวิพากษ์วิจารณ์อเมริกาได้อย่างเปิดเผยเหมือนที่ทำกันในอังกฤษ ออสเตรเลีย แคนาดา และประเทศทำนองเดียวกันอื่นๆ อย่างตรงไปตรงมา และบางทีก็สมควรแล้วที่อเมริกาจะโดนเช่นนั้น ค่าที่อเมริกาเป็นอภิมหาอำนาจ และในกรณีเอเชียอาคเนย์ ผู้คนก็ทำอย่างเดียวกัน

แต่พอมาถึงเรื่องจีนเข้า ผมคิดว่าจีนเก่งกาจยิ่งในการปลูกฝังความคิดไว้ในประเทศเหล่านั้นว่า โอ๊ย อย่าวิจารณ์จีนเลย ข้อแรกก็เพราะมันแฝงอยู่ในความคิดจิตใจของพวกเขาว่าถ้าลื้อวิจารณ์จีน ลื้อจะต้องชดใช้ที่ทำเช่นนั้น

แต่ข้อสองเป็นเรื่องทางวัฒนธรรมน่ะครับ คือนั่นไม่ใช่วิธีที่คนเอเชียเขาพูดถึงกัน เวลามีเรื่องอะไร เราก็มาหาทางตกลงกันหลังฉาก แน่ล่ะครับว่ามันเป็นข้อคิดที่สมประโยชน์ตัวเองยิ่ง จะเรียกว่าการเมืองที่แปลงโฉมเป็นวัฒนธรรมก็ได้ ทั้งนี้เพราะประเทศต่างๆ ในเอเชียอาคเนย์รวมทั้งญี่ปุ่นและเกาหลีล้วนมีข้อพิพาทสารพัดชนิดกับจีนทั้งนั้น

ผมขอพูดอย่างนี้ดีกว่าว่า อเมริกาน่ะ ถึงแม้จะมีปัญหาอะไรก็ตามที แต่ไม่มีข้อพิพาทเรื่องอาณาเขตในเอเชีย แต่ถ้าคุณหันไปดูจีนบ้าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการประกาศเขตแสดงตนเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศเอย เขตเศรษฐกิจจำเพาะทางทะเลเอย ภูมิลักษณ์เอย หมู่เกาะเอย จีนล้วนมีข้อพิพาทกับเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไนไปทั่ว

แล้วนั่นน่ะยังไม่ได้เอ่ยถึงไต้หวันนะครับ

 

จีเดียน ราคมัน : หรืออันที่จริงก็อินเดียด้วย

ริชาร์ด แม็กเกรเกอร์ : ใช่ครับ จีนมีข้อพิพาทกับอินเดียด้วยในพรมแดนอีกข้างหนึ่ง เพียงแต่เผอิญผมกำลังคิดถึงเอเชียในภาคพื้นทะเล

ฉะนั้น ถ้าคุณคิดถึงมันในแง่นั้น ความคิดที่ว่าจีนจะเคลื่อนเข้ามาครองความเป็นเจ้าในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ได้อย่างราบรื่นไร้รอยตะเข็บ ขณะที่สหรัฐอเมริกาจะปลาสนาการไปอีกฟากของมหาสมุทรแปซิฟิกในทำนองตกต่ำเสื่อมทรุดแบบกระฎุมพีน่ะ เอาเข้าจริงมันฟังไม่สมเหตุสมผลสำหรับผมนะครับ แต่แน่ล่ะว่าจะเกิดอะไรขึ้นนั้นน่ะมันขึ้นอยู่กับสิ่งที่สหรัฐอเมริกาทำมากทีเดียว

จีเดียน ราคมัน : แน่นอนครับ ทรัมป์น่ะทำให้ปั่นป่วนไปหมด

ริชาร์ด แม็กเกรเกอร์ : ใช่ครับ ดังนั้น สมัยก่อนเราอาจคิดว่าสหรัฐเป็นมหาอำนาจที่คาดเดาได้ ส่วนจีนนั้นคาดเดาไม่ได้ มาตอนนี้มันกลับตาลปัตรตรงข้ามกัน สหรัฐนั่นแหละที่คาดเดาไม่ได้ ฉะนั้น มันจึงมีความต้องการมากมายมหาศาลที่จะให้สหรัฐคงอยู่ในภูมิภาคนี้ต่อไป ส่วนไอ้ที่ว่าสหรัฐเองน่ะอยากอยู่ต่อไปไหม มันเป็นอีกเรื่องหนึ่งครับ

(อ่านตอนจบสัปดาห์หน้า)