คุยกับทูต ‘อะศิม อะห์มัด’ ถึง “นิยามประชาธิปไตย” ไทย-ปากีสถาน67 ปีแห่งความสัมพันธ์

คุยกับทูต อะศิม อะห์มัด ไทย-ปากีสถาน 67 ปีแห่งความสัมพันธ์ ที่ใกล้ชิดกันในทุกมิติ (2)

ย้อนอ่าน ตอน (1)

การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย-ปากีสถาน มีขึ้นในวันที่ 10 ตุลาคม ค.ศ.1951ทั้งสองฝ่ายเป็นพันธมิตรกันมายาวนาน ทั้งเคยเป็นสมาชิกในองค์การสนธิสัญญาป้องกันร่วมกันแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEATO) ซึ่งจัดตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1954

แม้ว่าปัจจุบันการดำเนินงานในกรอบของ SEATO จะยุติลงแล้ว แต่มิติทางประวัติศาสตร์ ส่งผลให้เกิดความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งระหว่างไทยกับปากีสถานและมีการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างผู้นำระดับสูงอย่างสม่ำเสมอ

ปัจจุบัน นายสุรเชษฐ์ บุญธินันท์ ดำรงตำแหน่งอุปทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอิสลามาบัด

บทบาทในฐานะเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสลามปากีสถานประจำประเทศไทย

“ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับปากีสถานมีความราบรื่นและมีพัฒนาการความร่วมมือในหลายมิติ งานของเราคือการเสริมสร้างและบูรณาการ นอกจากนี้ เรายังต้องการกระจายความสัมพันธ์โดยมุ่งเน้นในพื้นที่ที่ยังไม่ได้สำรวจหรือไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ ซึ่งประกอบด้วยแนวคิดและความคิดริเริ่มใหม่ๆ แนวทางใหม่ๆ ในการดำเนินงานด้านต่างๆ ทั้งในด้านการค้า การลงทุน การศึกษา ความเชื่อมโยงทางด้านวัฒนธรรมและด้านอื่นๆ นอกจากนี้ ผมยังต้องการทำให้ประเทศและประชาชนทั้งสองฝ่ายได้เข้ามาใกล้ชิดกันมากขึ้นในด้านกีฬาและการท่องเที่ยวด้วย เราจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้ร่วมมือกับรัฐบาลไทยในการทำให้ความคิดเหล่านี้เกิดเป็นรูปธรรม” เอกอัครราชทูตปากีสถาน นายอะศิม อะห์มัด กล่าว

“บทบาทหลักของเรา คือการส่งเสริมความปรารถนาดีและมิตรภาพระหว่างประชาชนและประเทศของเราทั้งสอง เป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่มีต่อกันมาอย่างยาวนาน ซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างได้รับประโยชน์ เราทำงานอย่างใกล้ชิดกับรัฐบาลไทยในเรื่องนี้ แน่นอนว่า ทุกคนต่างก็ต้องดูแลผลประโยชน์ของชาติของตนเป็นหลัก อันเป็นเรื่องปกติ”

“นอกเหนือจากนั้น ในด้านความสัมพันธ์ทวิภาคี เราเป็นหุ้นส่วนในกรอบความร่วมมือบนพื้นฐานของความเข้าใจ ไว้วางใจและความเคารพซึ่งกันและกัน เราทุ่มเทความพยายามทั้งหมดเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้ มุ่งเน้นความสัมพันธ์ทวิภาคีทุกมิติ ทั้งในด้านการเมืองและความมั่นคง การป้องกันและการรักษาความปลอดภัย การพัฒนาการค้าและการลงทุน ความร่วมมือด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี”

“ปากีสถานและไทยจะยังคงให้ความร่วมมือในระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติต่อไปโดยแบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกันในด้านสันติภาพและการพัฒนา นอกจากนี้ เราพยายามส่งเสริมให้ประชาชนของทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์กันทางการศึกษาและวัฒนธรรม ควบคู่ไปกับการกีฬาและการท่องเที่ยว ซึ่งผมกำลังติดต่อกับกลุ่มนักธุรกิจ ปัญญาชน มหาวิทยาลัย และศูนย์ข้อมูลต่างๆ”

“หนึ่งในหน้าที่หลักของเราคือ การดูแลผลประโยชน์และคุณภาพชีวิตของชุมชนชาวปากีสถานในประเทศไทย ซึ่งเราให้ความสำคัญในเรื่องนี้”

“ในขณะเดียวกัน ผมเป็นผู้แทนถาวรของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (UNESCAP) ซึ่งปากีสถานมีบทบาทในการสร้างสรรค์และเป็นผู้นำในประเด็นต่างๆ ด้วย” ท่านทูตอะห์มัด ชี้แจง

“หน้าที่ของเราคือ การส่งเสริมความสัมพันธ์ทวิภาคีในทุกมิติ เราจะรักษาความสัมพันธ์ทางการเมืองในระดับสูงเพื่อสร้างแรงผลักดันในการยกระดับยุทธศาสตร์ให้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านการค้าและการลงทุน ซึ่งน่าจะได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติมจากข้อสรุปของข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ซึ่งการเจรจากำลังอยู่ในขั้นตอนสุดท้าย”

“ปากีสถานและประเทศไทยมีการเรียนรู้ซึ่งกันและกันและได้รับประโยชน์จากประสบการณ์ในการพัฒนาของแต่ละประเทศเป็นอย่างมาก เรามีความสนใจในปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช นอกจากนี้ ปากีสถานและไทยถูกมองว่าเป็นประตูไปสู่ภูมิภาคต่างๆ โดยมีโอกาสอันยิ่งใหญ่ในการส่งเสริมการเข้าถึงและการเชื่อมต่อข้ามภูมิภาคซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องการมาก และเรากำลังดำเนินโครงการที่มีขนาดใหญ่ เช่น China-Pakistan Economic Corridor (CPEC) ส่วนประเทศไทยก็กำลังดำเนินการตามโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) และโครงการอื่นๆ เช่นกัน”

“ปากีสถานมีประชากรกว่า 200 ล้านคน มีจำนวนชนชั้นกลางที่กำลังเติบโตและขนาดใหญ่ขึ้น ตามด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ปากีสถานไม่เพียงแต่มีตลาดขนาดใหญ่ หากมีสภาพแวดล้อมการลงทุนที่น่าสนใจ งานทั่วไปของเราคือ การให้ข้อมูลที่ดีแก่ภาครัฐและเอกชนที่เป็นประโยชน์ต่อการลงทุนของทั้งสองฝ่าย”

ท่านทูตอะห์มัด ตอบคำถามในเรื่องระบบการปกครองของไทยในปัจจุบัน

“จากมุมมองของนักการทูตที่มาประจำยังมิตรประเทศ ดังที่ผมได้กล่าวมาแล้ว วัตถุประสงค์ของเราเพื่อการพัฒนาและกระชับความสัมพันธ์ทวิภาคี ตลอดจนความร่วมมือเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย และผมได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 ถวายอักษรสาส์นตราตั้ง เป็นเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสาธารณรัฐอิสลามปากีสถานประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เพราะปากีสถานมีความสัมพันธ์อันดีกับประเทศไทย เป็นความสัมพันธ์ระหว่างรัฐต่อรัฐ และประชาชนต่อประชาชน เราจึงมีความมุ่งมั่นในอันที่จะก้าวไปข้างหน้า”

“สำหรับระบบการเมือง รูปแบบการบริหารหรือการปกครองโดยเฉพาะ เป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่กำหนดโดยประชาชนของประเทศนั้น เราให้ความนับถือและเคารพในสิทธิประชาธิปไตยเหล่านี้และพยายามอย่างดีที่สุดในการส่งเสริมความสัมพันธ์ของเราให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เราให้ความเคารพต่อรัฐบาลและประชาชนด้วยการไม่แทรกแซง แต่ด้วยจิตวิญญาณของความร่วมมือต่อกัน”

เอกอัครราชทูตปากีสถาน นายอะศิม อะห์มัด

ความคิดเห็นในประเด็นเกี่ยวกับการพัฒนาประชาธิปไตยกับการพัฒนาหลักนิติธรรม

“ประชาธิปไตยและหลักนิติธรรมมักเป็นหลักการที่เสริมกันและเป็นสากล อันเป็นเรื่องที่ประชาชนของทุกประเทศต้องหาจุดสมดุลที่เหมาะสมระหว่างฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ เห็นได้ชัดว่าประเทศไทยเท่านั้นที่จะรู้ถึงสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับเรื่องนี้ ตอนนี้ มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ การปฏิรูปประเทศก็กำลังดำเนินอยู่ กำหนดการการเลือกตั้งเริ่มจะเป็นรูปธรรม การพัฒนาเหล่านี้ได้ถูกจับตามองและได้รับความชื่นชม ซึ่งเห็นได้ว่า ทุกคนก็ต้องการมีส่วนร่วม”

“ผมขอเสริมว่า ประชาชนชาวไทยและปากีสถานต่างมีอุดมการณ์ประชาธิปไตยและมีประชาธิปไตยอันยิ่งใหญ่อยู่ในหัวใจ โดยเฉพาะในปากีสถาน เรามีช่วงวัฏจักรประชาธิปไตย เพราะจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นอีกครั้งในกลางปีนี้คือ ค.ศ.2018”