คุยกับทูต | อิสซา อับดุลเลาะฮ์ ญาบิร อัลอาลาวี รัฐสุลต่านโอมาน (2)

รายงานพิเศษ | ชนัดดา ชินะโยธิน (CHANADDA JINAYODHIN)

[email protected]

 

คุยกับทูต | อิสซา อับดุลเลาะฮ์ ญาบิร อัลอาลาวี

จากดินแดนโอเอซิสแห่งตะวันออกกลาง รัฐสุลต่านโอมาน (2)

 

โอมานเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับการเป็นเทรดเดอร์ (Trader) ในตะวันออกกลาง ซึ่งสำหรับไทย โอมานจะเป็นประตูส่งออกสินค้าไทยไปสู่ตลาดอื่นๆ ในตะวันออกกลาง เนื่องจากโอมานเป็นประเทศในกลุ่มตะวันออกกลางที่อยู่ใกล้ประเทศไทยมากที่สุดและมีทางออกสู่ทะเล

ข้อมูลล่าสุดของสหประชาชาติเมื่อวันที่ 25 กันยายนที่ผ่านมา โอมานถือเป็นคู่ค้าอันดับ 6 ของไทยในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง และอันดับที่ 41 ของโลกของไทย มีประชากรประมาณ 5,395,756 คน

ทั้งสองประเทศต่างผลักดันความร่วมมือด้านเศรษฐกิจให้เกิดผลเป็นรูปธรรมและเพิ่มมูลค่าการค้าการลงทุนโดยใช้ประโยชน์จากศักยภาพของทำเลที่ตั้งทางภูมิรัฐศาสตร์ของไทยและโอมาน ซึ่งมีชายฝั่งติดกับอ่าวอาหรับและมหาสมุทรอินเดีย เป็นช่องทางให้ทั้งสองประเทศสามารถเข้าถึงตลาดที่กว้างมากขึ้น

แนวทางการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างไทยและโอมานมีรอบด้าน

ดังตัวอย่างจากคำชี้แจงของนายอิสซา อับดุลเลาะฮ์ ญาบิร อัลอาลาวี (H.E. Mr. Issa Abdullah Jaber Al Alawi) เอกอัครราชทูตรัฐสุลต่านโอมานประจำราชอาณาจักรไทย

นายอิสซา อับดุลเลาะฮ์ ญาบิร อัลอาลาวี เอกอัครราชทูตรัฐสุลต่านโอมานประจำราชอาณาจักรไทย

“ด้านการท่องเที่ยว ประเทศไทยเป็นหนึ่งในปลายทางยอดนิยมสำหรับนักท่องเที่ยวชาวโอมาน ในช่วงก่อนเกิดโรคระบาด มีชาวโอมานเดินทางมาประเทศไทยราวปีละหนึ่งแสนคน”

“ในทางกลับกันโอมานได้พยายามพัฒนาภาคการท่องเที่ยว โดยการอนุมัติโครงการลงทุนหลายโครงการเพื่อการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นโอกาสสำหรับนักลงทุนไทยที่มีประสบการณ์ในด้านนี้มาอย่างยาวนาน”

“ทั้งนี้ ได้เคยมีการลงนามในบันทึกความเข้าใจระหว่างสองประเทศเกี่ยวกับความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว นับเป็นเรื่องที่ดียิ่งหากจะมีการสนับสนุนให้เกิดความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมภายใต้กรอบดังกล่าวต่อไป”

“ทางด้านวัฒนธรรม เราสามารถส่งเสริมความร่วมมือในด้านการอุดมศึกษา การแลกเปลี่ยนนักศึกษาและวัฒนธรรม รวมทั้งสนับสนุนการจัดนิทรรศการหรือเทศกาลทางวัฒนธรรมในทั้งสองประเทศ”

“ส่วนยางพารา เรามีโครงการความร่วมมือเพื่อศึกษาเกี่ยวกับการใช้ยางพาราสร้างถนนในประเทศโอมาน ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการศึกษาและจัดทำบันทึกความเข้าใจที่เกี่ยวข้อง”

เอกอัครราชทูตรัฐสุลต่านโอมานประจำประเทศไทย เยี่ยมชมศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล ศวฮ.จุฬาฯ

“ด้านอาหาร อาหารฮาลาล (Halal Food) เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่ไทยส่งออกไปยังโอมาน ซึ่งผมได้เคยหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องของทั้งสองประเทศถึงความสำคัญของการส่งเสริมความร่วมมือด้านนี้ รวมถึงโอกาสความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาล (Halal Science Collaboration) ด้วย”

ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) รายงานว่า ตลาดอาหารฮาลาล หรือตลาดอาหารสำหรับผู้นับถือศาสนาอิสลาม (มุสลิม) ทวีความสำคัญขึ้นเรื่อยๆ

ปัจจุบันประเทศผู้ส่งออกอาหารฮาลาลรายใหญ่สุดในโลก คือสหรัฐ (ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 8.91) ตามด้วยเนเธอร์แลนด์ เยอรมนี จีน และฝรั่งเศส

ขณะที่ไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารฮาลาลรายใหญ่อันดับที่ 11 ของโลก ครองส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 2.44 โดยสินค้าอาหารฮาลาลที่ไทยส่งออกส่วนใหญ่ได้แก่ ข้าว แป้งมันสำปะหลัง น้ำตาลทราย ผลไม้สด ผัก-ผลไม้กระป๋องและแปรรูป เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ สินค้าประมง ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ (เนื้อไก่) และอาหารทะเลแปรรูป ผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปต่างๆ เป็นต้น ทั้งนี้ ไทยส่งออกผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ฮาลาลประเภทอื่นๆ อาทิ เนื้อวัว แพะและแกะ ไม่มากนัก

เป็นที่น่าสังเกตว่า ประเทศผู้ส่งออกอาหารฮาลาลรายใหญ่ทั้ง 10 ประเทศ รวมถึงไทย ล้วนไม่ใช่ประเทศมุสลิม โดยในส่วนของไทยมีผู้ประกอบการสินค้าอาหารฮาลาลในประเทศราว 1.4 แสนราย ซึ่งในจำนวนนี้ราวร้อยละ 95 หรือกว่า 1.33 แสนราย ต่างก็ไม่ใช่ผู้ประกอบการมุสลิม

สถานการณ์เหล่านี้สะท้อนว่าตลาดอาหารฮาลาลเปิดกว้างแก่ผู้ประกอบการสินค้าอาหารทุกรายที่เห็นโอกาสในตลาดดังกล่าว

“ด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (aquaculture) ซึ่งประเทศไทยมีความเชี่ยวชาญ ผมเชื่อว่ายังมีโอกาสอีกมากสำหรับนักลงทุนไทยที่จะลงทุนด้านนี้ในประเทศโอมาน โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังอยู่ในระหว่างการประสานงานเพื่อศึกษาร่วมกันในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในโอมาน”

“ทั้งนี้ ยังมีร่างบันทึกความเข้าใจที่อยู่ในระหว่างการศึกษาเกี่ยวกับความร่วมมือด้านการเกษตรและการประมงด้วยเช่นกัน”

นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎรให้การรับรองเอกอัครราชทูต

“สําหรับความมั่นคงด้านพลังงาน โอมานเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกน้ำมันดิบรายใหญ่ที่สุดให้กับประเทศไทย โดยมีการลงทุนของไทยด้านการสำรวจและขุดเจาะพลังงานในโอมาน”

น้ำมันดิบโอมานเป็นหนึ่งในน้ำมันดิบที่สำคัญของโลก ที่ ปตท.เข้าทำการซื้อขายอย่างต่อเนื่อง ด้วยพันธกิจที่ตระหนักถึงความมั่นคงทางพลังงานของประเทศไทย ภายใต้กลยุทธ์การมีศักยภาพทางการค้า และเครือข่ายทางการค้า ที่ครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วโลก ปตท.โดยหน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ จึงได้ดำเนินการซื้อน้ำมันดิบโอมานจากบริษัท PTTEP Oman E&P Corporation และบริษัท PTTEP MENA Limited ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มของบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. (PTTEP) ปริมาณประมาณ 9,000,000 บาร์เรลต่อปี

“นอกจากนี้ โอมานยังส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศในด้านพลังงานหมุนเวียน (renewable energy) ซึ่งผมเชื่อว่าบริษัทไทยหลายแห่งมีศักยภาพที่จะลงทุนในด้านนี้”

“ความมั่นคงทางด้านอาหาร ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่โอมานมองว่า มีศักยภาพที่จะร่วมมือกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการส่งออกข้าว”

“การดูแลสุขภาพ ประเทศไทยเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางหลักของชาวโอมานด้านบริการสุขภาพและการรักษาพยาบาล ทั้งสองประเทศมีการลงนามในบันทึกความเข้าใจเพื่อร่วมมือด้านสุขภาพเมื่อหลายปีก่อน ซึ่งผมหวังว่าจะมีการผลักดันเพื่อให้เกิดความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้นในอนาคต”

ภาพโมเสคที่มัสยิดสุลต่าน Qaboos หนึ่งในสถานที่ที่สวยงามที่สุดในมัสกัต /ภาพจาก Wander Lush

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) รายงานว่า โอมานได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีนโยบายส่งเสริมการค้าการลงทุนจากต่างชาติที่เสรีมากที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาค มีศักยภาพที่จะเป็นตลาดสินค้าที่สำคัญของไทย โดยเฉพาะสินค้าข้าว สิ่งทอ รองเท้า เนื่องจากโอมานไม่เก็บภาษีมูลค่าเพิ่มหรือภาษีสรรพสามิต เก็บเพียงภาษีรายได้จากการดำเนินธุรกิจ

ซึ่งการมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการค้าที่ดีกับโอมานจะเป็นการเปิดลู่ทางไปสู่การค้าการส่งออกไปยังประเทศตะวันออกกลางอื่นๆ ได้ต่อไป

มาถึงวันนี้ หากท่านได้บินไกลไปถึงโอมาน ก็สามารถเลือกท่องเที่ยวได้ในหลายรูปแบบเพราะโอมานมีความโดดเด่นในด้านความหลากหลายทางธรรมชาติและนิเวศวิทยา อาทิ

“เที่ยวแบบใกล้ชิดธรรมชาติ ได้แก่ เขตอนุรักษ์ธรรมชาติ ทะเลทราย และถ้ำ การท่องเที่ยวทางน้ำ มีชายหาด, เกาะ, ระบบชลประทานอัฟลาจ (Aflaj) ของโอมาน, ลำธารกลางหุบเขา, น้ำพุ, เขื่อน ทั้งนี้ ชายหาดโอมานเป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดของสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ซึ่งมีชายฝั่งยาวกว่า 3,165 กิโลเมตร”

“ปราสาทและป้อมปราการ โอมานมีปราสาทและป้อมปราการมากกว่าหนึ่งพันแห่ง ที่ยังคงตั้งตระหง่านจนถึงทุกวันนี้ สิ่งก่อสร้างทางประวัติศาสตร์เหล่านี้ มีบทบาทสำคัญในการเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์อันเก่าแก่ของโอมาน”

“การท่องเที่ยวเชิงสันทนาการ โอมานมอบบรรยากาศที่สนุกสนานให้กับผู้มาเยือนในช่วงเทศกาล และมหกรรมต่างๆ ตลอดจนการแสดงเต้นรำพื้นบ้าน มีรีสอร์ตและโรงแรมหลายแบบรองรับนักท่องเที่ยว

“ตลาดพื้นเมือง มีตลาดเก่าแก่มากมายอันเป็นที่นิยม ซึ่งยังคงดึงดูดผู้คนจำนวนมากที่ชื่นชอบกลิ่นอายของความเก่า ความเรียบง่ายและเป็นธรรมชาติในการซื้อขาย”

“แหล่งโบราณคดี มีอยู่หลายแห่งมีอายุย้อนไปถึง 5 พันปีก่อนคริสต์ศักราช ซึ่งแสดงถึงยุคสมัยและช่วงเวลาต่างๆ ในประวัติศาสตร์โอมาน”

“ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ มีชาวไทยเดินทางไปเยือนโอมานเพื่อวัตถุประสงค์ด้านการท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น โดยหลายคนได้แสดงความประทับใจเกี่ยวกับสถานที่ทางธรรมชาติและแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงาม ดังที่เราเห็นตามหน้าเว็บไซต์และเครือข่ายสังคมออนไลน์อยู่บ่อยๆ”

นายอิสซา อับดุลเลาะฮ์ ญาบิร อัลอาลาวี เอกอัครราชทูตรัฐสุลต่านโอมานประจำราชอาณาจักรไทย

โอมานยุคสมัยใหม่แห่งความก้าวหน้าและรุ่งเรืองในความร่วมมือกับอาเซียน (ASEAN) และโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

“การทูตของโอมานอยู่บนพื้นฐานของการเปิดกว้างและร่วมมือกับทุกประเทศ โอมานมีความร่วมมือหลากหลายด้านกับประเทศอาเซียน (ASEAN) ทั้ง 10 ประเทศ โดยเมื่อเร็วๆ นี้ ก็ได้ลงนามเข้าเป็นอัครภาคีสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (TAC) เพื่อยกระดับความร่วมมือและเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์”

“ในส่วนของโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ก็ถือเป็นหนึ่งในตัวขับเคลื่อนการลงทุนที่สำคัญที่สุดโครงการหนึ่งของประเทศไทยในปัจจุบัน และก่อนหน้านี้สถานเอกอัครราชทูตได้นำส่งข้อมูลเกี่ยวกับโอกาสและศักยภาพด้านการลงทุนในกรอบของโครงการนี้ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของโอมานเพื่อทำการศึกษา ซึ่งผมก็หวังว่าจะมีความร่วมมือในด้านนี้เกิดขึ้นในอนาคต” •

 

รายงานพิเศษ | ชนัดดา ชินะโยธิน (CHANADDA JINAYODHIN)

[email protected]

คุยกับทูต | อิสซา อับดุลเลาะฮ์ ญาบิร อัลอาลาวี รัฐสุลต่านโอมาน (จบ)

คุยกับทูต | อิสซา อับดุลเลาะฮ์ ญาบิร อัลอาลาวี รัฐสุลต่านโอมาน (1)