ความศักดิ์สิทธิ์ของตัวอักษร / On History : ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

On History

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

 

ความศักดิ์สิทธิ์ของตัวอักษร

 

ตัวอักษรเฮียโรกลิฟิกส์ (hieroglyphics) ที่พวกอียิปต์มีใช้มาตั้งแต่เมื่อราว 5,200 ปีที่แล้ว เป็นตัวอักษรถูกใช้ในแง่ง่ามของคติความเชื่อทางศาสนาเป็นสำคัญ โดยสามารถจะพิสูจน์กันได้ง่ายๆ จากการที่พบอักษรพวกนี้อยู่ในศาสนสถาน และสุสาน อย่างพีระมิดนี่แหละ

ที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือ เจ้าคำว่า “เฮียโรกลิฟิกส์” นั้น เป็นคำที่ผูกขึ้นมาจากรากในภาษากรีกสองคำ ได้แก่ “hieros” ที่แปลว่า “ศักดิ์สิทธิ์” และ “glypho” ที่แปลว่า “จารึก” ซึ่งผมคงจะไม่ต้องบอกนะครับว่ารวมความแล้วมันแปลว่าอะไร?

และผู้ที่ผูกศัพท์คำนี้ขึ้นมาด้วยภาษากรีกก็คือ ชาวกรีกนี่เอง ติตุส ฟลาวิอุส คลีเมนส์ (Titus Flavius Clemens) หรือที่มักจะเรียกกันว่าคลีเมนส์แห่งอเล็กซานเดรีย นักเทววิทยาชาวคริสเตียน ที่ลืมตาขึ้นดูโลกที่เมืองเอเธนส์ เมื่อราวๆ พ.ศ.693 คือใครคนนั้น

และจากคำที่ท่านได้ผูกขึ้นมาใช้เรียกตัวอักษรเหล่านี้แล้ว ก็พอจะเห็นภาพได้ว่า ตัวอักษรเหล่านี้มีหน้าที่การใช้งาน และสถานภาพอย่างไรในยุคของท่าน เพราะตัวอักษรพวกนี้ยังถูกใช้งานต่อเนื่องมาจนถึงช่วง พ.ศ.939 เลยทีเดียว

ดังนั้น สำหรับเจ้าของตัวอักษรพวกนี้คือชาวอียิปต์โบราณเอง จึงไม่ได้เรียกพวกมันว่า “เฮียโรกลิฟิกส์” หรอกนะครับ พวกเขาเรียกตัวอักษรเหล่านี้ว่า “มิดิว เนตเชอร์” (medew netcher หรือที่สะกดตามอักขรวิธีโบราณว่า mdw mTr) ซึ่งก็แปลว่า “คำพูดของพระเจ้า” ต่างหาก

ที่เรียกว่าเป็นคำพูดของพระเจ้า ก็แสดงให้เห็นถึงสถานภาพของตัวอักษร และหน้าที่การใช้งานที่ชัดเจนอยู่แล้ว แต่พวกอียิปต์สมัยโน้นยังมีความเชื่อที่ลึกซึ้งยิ่งไปกว่านั้นอีกว่า ตัวอักษรเหล่านี้เป็นของที่เทพเจ้าธอธ (Thoth) เทพเจ้าแห่งภูมิปัญญา ที่มีเศียรเป็นนกกระสา ประดิษฐ์ขึ้นมาแล้วก็ประทานมาให้กับมนุษย์โลกใช้เลยทีเดียว

สำหรับชาวอียิปต์ยุคที่ยังก่อสร้างพีระมิดกันอยู่นั้น “ตัวอักษร” จึงเป็นสิ่งที่พวกเขาใช้สำหรับสื่อสารกับพระเจ้า หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มากกว่าที่จะใช้สื่อสารกับมนุษย์ด้วยกันเอง

 

อักษรที่เก่าแก่ที่สุดในโลกอีกกลุ่มหนึ่งก็คือ อักษรที่เป็นต้นแบบของอักษรจีนในปัจจุบัน โดยการขุดค้นในแถบพื้นที่มณฑลซีอาน ประเทศจีนในช่วง 50 ปีที่ผ่านมานี้ ทำให้ทราบว่าโปรโตไทป์ของตัวอักษรจีนมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานมากว่า 6,000 ปีมาแล้ว เบียด ‘ตัวอักษรลิ่ม’ ของพวกสุเมเรียน เจ้าของตำแหน่งตัวอักษรที่เก่าแก่ที่สุดในโลก

(แต่นี่ก็เป็นเพียงความฟากที่ดังมาจากฝ่ายจีนเท่านั้น เอาเข้าจริงแล้วก็ยังไม่ค่อยแน่ใจได้นักว่า ตัวอักษรของจีนนั้นเก่าแก่ไปถึงขนาดที่พวกเขาว่าจริงๆ หรือเปล่า?)

หลักฐานที่ได้จากการขุดค้น และวิจัยทางด้านโบราณคดีช่วยให้เราทราบว่า แต่เดิมตัวอักษรโบราณของจีนน่าจะเกี่ยวพันอยู่กับความเชื่อเชิงศาสนาเพราะโดยมากพบอยู่บนกระดูกเสี่ยงทาย หรือกระดองเต่า (อย่างไรก็ดี ไม่มีหลักฐานว่าชาวจีนโบราณใช้ตัวอักษรทำประโยชน์อย่างอื่นด้วยหรือไม่?)

ดังนั้น หน้าที่ของตัวอักษรพวกนี้จึงเกี่ยวข้องอยู่กับความเชื่อ จนเรียกได้ว่า มีหน้าที่ใช้สอยใกล้เคียงกันกับอักษรเฮียโรกลิฟิกส์นั่นแหละ

 

ในส่วนของภูมิภาคอุษาคเนย์นั้น ได็เริ่มมีตัวอักษรใช้มาตั้งแต่หลัง พ.ศ.1000 แล้ว และนั่นไม่ได้หมายความว่าคนทุกคนจะสามารถอ่านออกเขียนได้นะครับ

ที่สำคัญก็คือ “ตัวอักษร” ในสายตาคนอุษาคเนย์โดยทั่วไปในยุคก่อนสมัยใหม่นั้น ก็อาจจะไม่ได้สำคัญไปกว่า “ความศักดิ์สิทธิ์” ในรูปของยันต์ คัมภีร์ หรือศิลาจารึกต่างๆ เช่นเดียวกันกับที่พวกอียิปต์โบราณคิดเห็นต่อตัวอักษรของพวกเขา

ยันต์ที่สักลงไปด้วยตัวขอม หรือตัวมอญ จะไม่ศักดิ์สิทธิ์จนชวนให้ขนหัวลุกเลยนะครับ ถ้าเราอ่านมันออก

ใบลาน สมุดไทย แต่ละเล่ม แต่ละฉบับ ก็เขียนขึ้นเป็นธรรมทาน และเก็บไว้ในหอไตรมากกว่าที่จะถูกนำมาอ่าน เมื่อจะอ่านแต่ละครั้งก็ต้องเป็นพระนำขึ้นมาอ่านเทศน์กันอยู่บนธรรมาสน์ ให้คนอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้นั่งพับเพียบพนมมือรับฟังกันไป

และถึงต่อให้คนฟังอ่านได้ แล้วจะไปอ่านเองก็ไม่ได้บุญเท่ากับที่ไปนั่งพนมมือรับฟังอยู่หน้าธรรมาสน์

วัดเล็กวัดน้อยทั้งหลายดิ้นรนที่จะหาพระไตรปิฎก ฉบับแปลภาษาไทยสักชุดมาไช้ในวัด แต่เมื่อได้มาแล้วจะมีสักกี่วัดที่ภิกษุลูกวัดจะใช้ “อ่าน” มากกว่าใช้ “ประดับ” ในตู้สวยงามอยู่ที่ศาลาการเปรียญ

ส่วนศิลาจารึกทั้งหลายก็ปักไว้อยู่ในปราสาทราชวัง ที่ไพร่ทาสข้าไททั่วไปทั้งหลายอย่าหมายแม้แต่ตีนจะได้ไปเหยียบ

จารึกตามวัดในศาสนาพุทธก็ประดับไว้บนยอดเจดีย์ หากจะอ่านก็ต้องตั้งนั่งร้านกันขึ้นไปก่อน ทำนองเดียวกับที่ทุกวันนี้เราเขียนชื่อลงไปในกระเบื้องที่จะมุงหลังคาโบสถ์หลังใหม่ (หลังจากบริจาคทานไปแล้วเป็นค่ากระเบื้อง) คงไม่มีใครคิดจะปีนขึ้นไปดูว่า กระเบื้องแผ่นที่เราควักกระเป๋าบริจาคไปนั้นมุงอยู่บนหลังคาหรือเปล่าเมื่อโบสถ์สร้างเสร็จแล้ว

เอาเข้าจริงแล้ว ในหลากหลายวัฒนธรรมช่วงยุคก่อนสมัยใหม่ ตัว “อักษร” จึงไม่ได้มีหน้าที่สำหรับใช้ “อ่าน” เท่านั้นนะครับ แต่ยังใช้สร้าง หรือสื่อความ กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ด้วย รวมถึงในอุษาคเนย์ของเราเองนี่แหละ

 

ฝรั่งเองในยุคก่อนที่จะมีการประดิษฐ์แท่นพิมพ์ขึ้นมาหลังยุคมือก็มีมุมมองถึงตัวอักษรในทำนองที่ศักดิ์สิทธิ์คล้ายๆ กับเราด้วยเช่นกัน

หนังสือ Confessions ของเซนต์ออกุสติน (Siant Augustine) ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 4 พูดถึงนักบุญแอมโบรสด้วยความประหลาดใจว่า “ท่านไม่ได้อ่านออกเสียง” ในขณะที่คลอดิอุส ปโตเลมี (Claudius Ptolemy) ที่มีอายุอยู่ในช่วงราว ค.ศ.90-168 (พ.ศ.633-711) เขียนถึงการอ่านในหนังสือชื่อ On the Criterion ว่า

“บางครั้งคนเราก็อ่านเงียบๆ เมื่อต้องใช้สมาธิอย่างมากเพราะเสียงอาจรบกวนความคิดได้”

ในขณะที่การ “อ่าน” ในความหมายอย่างปัจจุบัน ช่างแตกต่างกันเหลือเกินกับการอ่านในสมัยดั้งเดิม ตั้งแต่แรกที่ชาวสุเมเรียนจารจารึกแผ่นแรก ตัวอักษรเหล่านั้นก็ล้วนแต่มีความหมายให้ออกเสียงสะกดได้ คำเขียนในภาษาอารบิก และฮิบรูที่เป็นภาษาดั้งเดิมของพระคัมภีร์ในศาสนาคริสต์ ไม่มีความแตกต่างในการแสดงกิริยา “อ่าน” และกิริยา “พูด” เพราะทั้งสองภาษาเรียกกริยาทั้งคู่ด้วยคำคำเดียวกัน

มีผู้อธิบายความถึงภาษิตเก่าแก่ของฝรั่งบทหนึ่งที่ว่า “scipta manent, verba volant” ซึ่งปัจจุบันมักจะแปลความกันว่า “สิ่งที่เขียนไว้คงอยู่ สิ่งที่พูดหายไปในอากาศ” เป็นการแปลความที่บิดเบือนไปจากความหมายเดิมมากทีเดียว เพราะแต่เดิมภาษิตบทนี้หมายความว่า “ข้อเขียนนั้นตายซากไร้อารมณ์ แต่คำพูดที่เปล่งออกมานั้นมีปีก และสามารถโบยบินได้” ต่างหาก

หลักฐานของโลกตะวันตกช่วงก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 10 จึงล้วนแสดงให้เห็นว่า แต่เดิมการอ่านเป็นการอ่านออกเสียง การอ่านในใจถือเป็นสิ่งพิกลแม้แต่ในห้องสมุดก็ตาม

แต่ทำไมจึงต้องอ่านออกเสียงด้วยล่ะครับ?

นับแต่สมัยดึกดำบรรพ์ มนุษย์คิดว่า “เสียง” สัมพันธ์อยู่กับ “ความเป็นจริง” หากสามารถเปล่งเสียงที่ถูกต้องก็สามารถก่อให้เกิดปรากฏการณ์ที่เป็นจริงได้ ในโลกตะวันออก อย่างชมพูทวีปเชื่อว่า หากเปล่งเสียงว่า “โอม” ซึ่งเป็นเสียงพระนามแห่งพระเจ้า ก็สามารถโน้มนำอำนาจของพระเป็นเจ้าให้เกิดขึ้นจริง คาถาอาคมทั้งหลายจึงมีฤทธิ์เดชได้ด้วยทัศนะอย่างนี้เอง

ในยุคสมัยหนึ่งนั้น “ตัวอักษร” จึงมีฐานะเป็นเครื่องหมายของ “ความศักดิ์สิทธิ์” ไม่ว่าจะเป็นความศักดิ์สิทธิ์ที่เกิดจากรูปของตัวอักษรเอง หรือความศักดิ์สิทธิ์ของเสียงที่ถูกเปล่งออกมาจากการประสมรูปอักษรเหล่านั้นก็ตาม •