ดิจิทัลวอลเล็ต

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

ตอนนี้เรื่อง “ดิจิทัลวอลเล็ต” ของรัฐบาลเริ่มเห็นเป็นรูปร่างแล้ว อย่างน้อยก็รู้ว่าจะเอาเงิน 500,000 ล้านบาทมาจากไหน

ต้องยอมรับว่างานนี้พรรคเพื่อไทยเสียรังวัดไปมากทีเดียว

เพราะตามปกติไอเดียอะไรของ “เพื่อไทย” ที่แปลกและแตกต่างจากโครงการทั่วไป

คนส่วนใหญ่จะให้ “ความเชื่อมั่น” ว่าเขาทำได้

เพราะเคยมีบทเรียนมาจาก “30 บาทรักษาทุกโรค-กองทุนหมู่บ้าน-โอท็อป” ในอดีต

โครงการอะไรที่บอกว่าทำไม่ได้ ขายฝัน

แต่เขาทำสำเร็จมาแล้ว

ผมก็เป็นคนหนึ่งเหมือนกันที่เคยเชื่อมั่นในโครงการของพรรคไทยรักไทย พลังประชาชน และเพื่อไทย

พอเขาประกาศแคมเปญหาเสียงแจก “ดิจิทัลวอลเล็ต” 10,000 บาทแก่คนไทยทุกคนที่อายุเกิน 16 ปี

ผมก็โน้มเอียงไปแล้วว่าเขาทำได้

แต่พอถึงเวลาจริง ทุกอย่างกลับไม่เป็นไปตามที่หาเสียงไว้

ทุกอย่างยักตื้นติดกึกไปหมด

ทั้งที่มาของเงิน ระบบที่ใช้ จำนวนคนที่ได้เงินหมื่น ฯลฯ

พรรคเพื่อไทยคิดงานไม่ละเอียดจริงๆ

โครงการล่าช้ามาเรื่อยๆ จนในที่สุดก็ปักธงชัดเจนว่าจะแจกเงินดิจิทัลก้อนนี้ตอนไตรมาส 4 ปีนี้

หรือประมาณ 1 ปีครึ่งหลังเลือกตั้ง

พอขยับเวลาได้ รัฐบาลเพื่อไทยก็เริ่มปรับแผนเรื่องการเงินใหม่จากที่ต้องดึงดันกู้เงินเพียงอย่างเดียว

เปลี่ยนมาใช้เงินจาก 3 แหล่ง

1. งบฯ ปีนี้

2. งบฯ ปีหน้า

และ 3. ใช้เงินจาก ธ.ก.ส.

ก้อน 1-2 ไม่น่าจะมีปัญหาเท่าไร

แต่ก้อนที่ 3 คงเจอด่านสกัดอยู่พอประมาณ

นอกจากนั้น เรื่องระบบที่ใช้ รัฐบาลไม่ยอมใช้แอพพ์ “เป๋าตังค์” แต่สร้าง “ซูเปอร์แอพพ์” ขึ้นใหม่

แม้ฟังดูจะมีเหตุผลอยู่บ้างว่าถ้าใช้เงินก้อนใหญ่ไปถึง 500,000 ล้านบาท ประชากรที่จะเข้ามาในระบบเกือบทั้งประเทศ

เราควรจะใช้โอกาสนี้สร้าง “แอพพ์” ใหม่ขึ้นมาเองเพื่อใช้ในเรื่องอื่นๆ ด้วย

แต่คนในวงการก็ตั้งคำถามว่าจะทำได้จริงหรือไม่

ใช้งบประมาณเท่าไร

เรื่องนี้คงต้องถกกันต่อไป

 

แต่มีประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ

โครงการนี้โดนวิพากษ์วิจารณ์ว่าช่วย “เจ้าสัว”

เพราะเปิดให้คนซื้อของในร้านค้าสะดวกซื้อได้ด้วย

และแน่นอน ร้านที่โดนหนักที่สุด คือ ร้านเซเว่น-อีเลฟเว่น ของซีพี

หลายคนมองว่าพอเปิดให้ 7-11 เข้าร่วมโครงการได้ ชาวบ้านที่ได้เงินก็จะเอาเงินดิจิทัลไปใช้ในร้านนี้หมด

“เจ้าสัว” รับเละ

ประเด็นนี้มีเรื่องน่าสนใจ 2 เรื่อง

เรื่องแรก กระแสโจมตีที่พุ่งเป้าไปที่ 7-11 โดยตรง แสดงให้เห็นว่า “ภาพลักษณ์” ของ 7-11 ในใจประชาชนค่อนข้างติดลบมาก ไม่ใช่เพราะ 7-11 เป็นร้านสะดวกซื้อที่มีสาขามากที่สุดเท่านั้น แต่เป็นเรื่อง “ความรู้สึก” ที่ฝังลึกในใจคน

อธิบายยากมากเลยครับ

แต่ถ้าลองดูในโซเชียลมีเดีย เวลามีใครเขียนชมคุณธนินท์ เจียรวนนท์ ซีพี หรือร้าน 7-11 เมื่อไร

จะมีคนเข้าโพสต์ต่อว่าทันที

ทั้งที่บางเรื่องก็ไม่เป็นธรรมกับคุณธนินท์และ 7-11

แต่เหมือนกับคนจะไม่ฟัง

ลงรากถึงระดับ “ความเชื่อ” ไปแล้ว

เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ของเครือซีพี

เพราะเหมือนว่าทำดีเท่าไรก็ไม่ได้ดี

บางทียุทธศาสตร์ “ครบวงจร” ที่เคยทำให้ซีพีประสบความสำเร็จอาจต้องมีการทบทวนบ้างถึงผลกระทบด้านลบต่อภาพลักษณ์องค์กร

ไม่รู้ว่าระหว่างที่ “ครบวงจร” เราไปกระทบกระทั่ง “คนตัวเล็ก” มากน้อยแค่ไหน

เวลา “ยักษ์ใหญ่” หายใจเบาๆ

บางที “มด” ก็กระเด็นได้

อย่างกรณี “ดิจิทัลวอลเล็ต” ผมเชื่อว่าผู้บริหาร 7-11 รู้ว่าตนเองได้รับประโยชน์ด้วยอย่างแน่นอน

แต่จะได้มากหรือน้อยแค่ไหน อยู่ที่ “วิธีคิด” ของผู้บริหาร

ถ้าเขาอยากได้เยอะ เขาก็จัดแคมเปญกระตุ้นให้คนใช้ “ดิจิทัลวอลเล็ต” มาซื้อของที่ 7-11

อาจเพิ่มสินค้าแค็ตตาล็อกมากขึ้น แทนที่จะมีแต่อาหารและสินค้าอุปโภคบริโภคในร้าน

แต่ถ้าเขารู้ว่าภาพลักษณ์ของ 7-11 ในใจคนเป็นอย่างไร

และไม่อยากเป็นเป้าในการโจมตี

เขาก็ต้องลดป้าหมายเรื่องนี้ลง

เรื่องบางเรื่องคิดได้

แต่อย่าทำ

 

อีกเรื่องหนึ่ง เป็นเรื่อง “จินตนาการ” ครับ

ผมไม่รู้ว่าเราจินตนาการกับ “ดิจิทัลวอลเล็ต” 10,000 บาทอย่างไร

มีคนตั้งประเด็นว่าถ้าโครงการนี้เกิดขึ้น ร้าน 7-11 จะได้ประโยชน์ เพราะคนจะแห่ไปซื้อของในร้าน 7-11

ตอนแรกผมก็คล้อยตาม แต่พอนึกดูอีกที

เดี๋ยวนะ…

เงินดิจิทัลตั้ง 10,000 บาทนะครับ

ไม่ใช่บัตรสวัสดิการแห่งรัฐหรือโครงการคนละครึ่ง

10,000 บาทมันเยอะนะ

พกเงินหมื่นไปซื้อของใน 7-11 เป็นเศรษฐีได้เลยนะครับ

สำหรับผม เงินดิจิทัล 10,000 บาท เหมือนกับเราได้ “โบนัสปลายปี”

นึกถึงตอนเราได้โบนัส 10,000 บาทสิครับ

เราจะบอกไหมว่า “เฮ้ย ไปฉลองที่ 7-11 กันเถอะ”

คงไม่มีใครทำหรอกครับ

อย่างดีก็นัดไปเลี้ยงฉลองกัน

เหมือนถูกหวย

เมื่อจำนวนเงินสูง “วิธีคิด” ต่อเงินก้อนนี้จะแตกต่างจากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐอย่างแน่นอน

แค่รู้ว่าปลายปีนี้จะได้เงินหมื่น

เขาก็จะคิดถึงสินค้าใหญ่ๆ อะไรที่ขาดหรืออยากได้

ไม่ใช่จะเป็นการซื้อของใน 7-11 อย่างแน่นอน

อาจจะซื้อของใหญ่แล้วเงินเหลือก็ซื้ออาหาร หรือสินค้าใน 7-11 บ้าง

ผมเชื่อว่า “วิธีคิด” ของคนในการใช้เงิน 10,000 บาท จะค่อนข้างหลากหลาย

บางครอบครัวอาจรวมเงินกัน เพื่อซ่อมแซมบ้าน หรือซื้อของใหญ่ของบ้าน

หรือรวมเงินกันทำธุรกิจเล็กๆ ของครอบครัว

บางคนอาจเตรียมซื้อของที่อยากได้

พ่อแม่บางคนอาจเอาเงินไปซื้อชุดนักเรียนหรือคอมพิวเตอร์ให้ลูก

บางคนก็เอาไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน

หรือบางคนก็เตรียมหาวิธีการไปใช้ในร้านที่แลกเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ ถามว่าด้วยวิธีการไหน

ไม่รู้ครับ

แต่รู้ว่ามีคนคิดอย่างแน่นอน

คนที่คิดโกง ยังไงก็พยายามหาวิธีการโกง

ส่วนคนคิดดี ยังไงก็คิดดี

และบางทีก็ดีกว่าที่เราจะคาดคิดเสียอีก

เรื่องการใช้เงิน อย่าไปคิดแทนประชาชนเลยครับ

เพราะ “ความจำเป็น” ของแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน

เรื่องแบบนี้อย่าดูถูกประชาชน

และเคารพสิทธิของเขาบ้าง •

 

ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ | หนุ่มเมืองจันท์