คำ ผกา | ไม่เก่งไม่ว่า ขอให้พูดความจริง

คำ ผกา

มานั่งดูตัวเลขการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ณ วันที่ 7 มิถุนายน ที่ฉันเขียนต้นฉบับ ประเทศไทยฉีดไปทั้งหมด 3,609, 882 โดส คิดเป็นร้อยละ 2.6 ของจำนวนประชากร ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประเทศที่ฉีดได้น้อยกว่าไทยคือ เวียดนาม ถ้ามองไปนอกภูมิภาคประเทศที่ฉีดวัคซีนได้น้อยกว่าร้อยละ 2 เช่น เคนยา ยูกันดา อิรัก อัฟกานิสถาน โกตดิวัวร์ เซเนกัล ซูดาน ปารากวัย รวันดา มาดากัสการ์ ปาปัวนิวกินี – ประเทศที่ฉันคิดว่าน่าจะฉีดไปได้น้อยมาก เพราะเห็นคนในประเทศนั้นด่าผู้นำกันหนักเหลือเกิน อย่างประเทศญี่ปุ่นก็ฉีดกันไปแล้วสิบห้าล้านโดส แต่คิดเป็นร้อยละก็น้อยมาก คือแค่ร้อยละหกกว่าๆ

https://travel.trueid.net/detail/A5GQPOlbYkGX

เอาล่ะ ฉันจะวางอคติลงก่อน สำหรับการพูดกันเรื่องวัคซีน

เราอาจจะบอกว่า ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคของเราได้ฉีดวัคซีนไปมากกว่าเพราะได้ทั้งวัคซีนบริจาคจากจีนและเข้าโครงการ covax

ซึ่งรัฐบาลของเราก็มีคำอธิบายว่าเราไม่ได้ “จน” ขนาดจะเข้า covax แล้วก็ได้วัคซีนซิโนแวคที่เป็นวัคซีนบริจาคมาจำนวนหนึ่ง และเป็นจำนวนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับปริมาณที่เราซื้อ แถมราคาที่ซื้อมาก็ยังแพงกว่าวัคซีนยี่ห้ออื่นๆ

แต่ก็ช่างเถอะ เดือนมิถุนายนนี้เราจะมีแอสตร้าเซนเนก้า จะจากสยามไบโอฯ หรือไม่ เป็นอีกเรื่อง แต่เราจะได้รับมาแน่นอน 1.8 ล้านโดส และจะทยอยได้รับมาอีกเรื่อยๆ ภายในสิ้นปีนี้จำนวนผู้ได้รับการฉีดวัคซีนของเราจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ภายในกลางปีหน้าเราน่าจะได้เปิดประเทศกับเขาแล้วล่ะ

มองไปตามไทม์ไลน์นี้ ฉันก็ไม่คิดว่ามันจะมีปัญหาอะไร

แต่ให้ตายเถอะ เรื่องวัคซีนโควิดในประเทศไทยกลับไม่ใช่เรื่องที่เราได้รับรู้เกี่ยวกับมันอย่างตรงไปตรงมาอย่างที่ควรจะเป็น

ตรงไปตรงมาอย่างที่ควรจะเป็นคืออะไร?

สมมุติว่า ปลายปีนี้ รัฐบาลตั้งเป้าว่าจะฉีดวัคซีน 100 ล้านโดส

สิ่งแรกที่รัฐบาลน่าจะแจ้งให้ประชาชนรู้ว่า รัฐบาลจะเลือกอะไรเป็นวัคซีนหลัก

สมมุติว่า รัฐบาลเคาะแล้วว่าจะเลือกซิโนแวคกับแอสตร้าเซนเนก้าเป็นวัคซีนหลัก และสมมุติอีกว่าราคาวัคซีนโดสละ 500 บาท นั่นแปลว่าเราจะใช้งบประมาณทั้งหมด 50,000 ล้านบาท และใครๆ ก็รู้ว่าเงินห้ามื่นล้านบาทนี้มันน้อยมากๆ เมื่อเทียบกับมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เราจะได้กลับมาเมื่อโรงเรียนกลับมาเปิดอีกครั้ง เมื่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาได้อย่างน้อยครึ่งหนึ่งของที่เคยเป็นก็ยังดี

ดังนั้น สิ่งแรก ที่เราอยากฟังคือ รัฐบาลบอกว่า เตรียมเงินไว้ห้าหมื่นล้าน และอธิบายให้ประชาชนอย่างตรงไปตรงมาว่าทำไมไม่เลือกไฟเซอร์ หรือโมเดอร์นา (จะชอบหรือไม่ชอบเหตุผล ประชาชนก็ทำได้แค่บ่น ไม่ได้จะลุกขึ้นจลาจลโค่นล้มรัฐบาลอะไร)

สิ่งที่สอง รัฐบาลประกาศว่าจะซื้อซิโนแวคกี่ล้านโดส จะซื้อแอสตร้าเซนเนก้ากี่ล้านโดส สัญญาเป็นอย่างไร ซื้อได้ครั้งละกี่ล้านโดส ด้วยเหตุผลอะไร มีอะไรที่ต่อรองได้ อะไรที่ต่อรองไม่ได้

ท่ามกลางการต่อรองไม่ได้ จะส่งผลให้แผนการฉีดวัคซีนร้อยล้านโดสของเราอย่างแย่ อย่างช้าจะไปจบที่เดือนไหน ปีไหน รัฐบาลอาจจะบอกไปเลยว่า อย่างดีที่สุด ธันวาคมปีนี้ได้ร้อยล้านโดส แต่อย่างแย่ที่สุด และอาจเกิดขึ้นได้คือ มิถุนายนปีหน้า – ขอโทษจริงๆ ทำเต็มความสามารถแล้ว

สิ่งที่สาม รัฐบาลควรจะบอกประชาชนว่าเราจะวางแผนสำหรับ worse case scenario หรือสถานการณ์เลวร้ายสุด คือรัฐบาลจะทำกรอบการฉีดวัคซีนร้อยล้านโดสที่กลางปีหน้า แต่ถ้าทำได้ธันวาคมปีนี้ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่การวางแผนต้องวางสำหรับ worse case ดังนั้น รัฐบาลจะทำเรื่องย่อยอีกสองเรื่องคือ

ก. เตรียมงบฯ สำหรับฟื้นฟู ชดเชยรายได้ประชาชน และธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ยาวไปจนถึงกลางปีหน้า เพื่อว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่เราเปิดประเทศได้เหมือนเดิม เราพร้อมจะ take off

ข. สั่งกระทรวงศึกษาธิการปรับหลักสูตรขนานใหญ่ เพื่อการเรียนคู่ขนานทั้ง off line และ on line เพราะในโลกอนาคต ต่อให้ไม่มีโควิด การศึกษาในอนาคตก็ต้องไปในรูปแบบของการเรียนรู้ที่เปิดกว้าง ยืดหยุ่น และมีนักเรียนเป็นเจ้าของการเรียนรู้ของตัวเอง ปรับบทบาทของโรงเรียนและครูเป็นเพียง “ผู้อำนวยความสะดวก” ให้ผู้เรียนได้เรียนในสิ่งที่เป็นความสนใจ ความถนัด หรือสามารถค้นหาความถนัดของตนเองได้

สิ่งที่สี่ และน่าจะเป็นขั้นตอนสุดท้ายสำหรับการบริหารจัดการวัคซีนที่รัฐบาลควรทำคือ ในมื่อเราไม่ใช่อังกฤษ อเมริกา ที่ผลิตวัคซีนได้เอง และมีอำนาจในการต่อรองซื้อวัคซีนได้ไม่ตู้มต้าม บลา บลา บลา หลังจากทำไปทั้งสามประการข้างต้นก็จัดกลุ่มคนในประเทศออกเป็น

ก. กลุ่มผู้รอวัคซีนได้ 1 ปี

ข. กลุ่มผู้รอวัคซีนได้ 6 เดือน

ค. กลุ่มผู้รอวัคซีนได้ 3 เดือน

ง. กลุ่มผู้ที่ต้องได้รับวัคซีนทันทีที่มี

จ. กลุ่มผู้ต้องได้รับวัคซีนตามสถานการณ์ที่ไม่คาดฝัน เช่น ในเรือนจำ คลัสเตอร์ไม่คาดฝันในโรงงาน ตลาด แคมป์คนงานก่อสร้าง

ฉ. กลุ่มผู้เต็มใจจ่ายเงินฉีดวัคซีนเอง เพื่อกำหนดยี่ห้อวัคซีน และเวลาฉีดวัคซีนด้วยตนเอง (นั่นแปลว่าต้องไฟเขียวให้โรงพยาบาลเอกชนนำเข้าวัคซีนอย่างมีอุปสรรคน้อยที่สุด)

แบ่งออกเป็นแบบนี้ปุ๊บ ก็จัดระบบลงทะเบียนตามหลักเกณฑ์นั้น จัดคิวไปตามนั้น เช่น ฉันอยู่กลุ่มผู้รอวัคซีนได้ 1 ปี ก็ไปลงทะเบียนแอพพ์หมอพร้อม อะไรก็ว่าไป แล้วระบบก็ไปคำนวณมาว่าฉันจะได้ฉีดวัคซีนวันที่เท่าไหร่

ได้ตัวเลขมาเป็นระบบระเบียบก็สามารถส่งไปยังหน่วยปฏิบัติงานรับกันเป็นทอดๆ ต่อให้มีคนมาโวยว่า ทำไมฉันอยู่กลุ่ม ก. ทำไมฉันอยู่กลุ่ม ข. ฉันไม่โอเค แต่เราก็จะมีคำอธิบายที่ว่าทำไมมันออกมาเป็นแบบนี้ และหากไม่พอใจ ก็ช่วยไม่ได้ แต่เราอธิบายได้ก็แล้วกันว่าเพราะอะไร

และคำอธิบายก็มาจากฐานคิดที่ชัดเจน ไม่ใช่เช้าอธิบายอย่างหนึ่ง เย็นอธิบายไปอีกอย่างหนึ่ง

นี่คือทั้งหมดที่ฉันคาดหวังให้รัฐบาลบริหารและสื่อสารกับประชาชนเรื่องวัคซีน เราไม่มีปัญหากับจำนวนวัคซีนที่น้อย

หรือเราไม่แม้แต่จะมีปัญหากับรัฐบาลที่ไม่ค่อยเก่ง หรือทำงานช้า ตราบเท่าที่เขารู้ว่าเขากำลังทำอะไร และกำลังจะทำอะไรเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายของโครงการนั้นๆ และกล้าเอาความจริง ข้อเท็จจริงมากางให้ดูว่า เออ นี่นะ ตอนนี้มาถึงตรงนี้แล้วนะ

เหมือนเราโทร.ถามเพื่อนที่มาสายว่า “ตอนนี้ถึงไหนแล้ว” ถ้าเพื่อนบอกเราตามตรงว่า ตื่นสาย หลงทาง น้ำมันหมด รถเสีย เราก็จะได้ทำใจ หรือวางแผนชีวิตถูกว่าเราจะนั่งรอ หรือไปหาร้านกาแฟนั่ง เพราะมันคงใช้เวลาอีกนาน ดีกว่าที่เพื่อนโกหกเราว่า “แป๊บนึงๆ ใกล้ถึงละ”

เช่น เกี่ยวกับเรื่องวัคซีนของเราที่โอละเห่ โอละพ่อ เดี๋ยวมี เดี๋ยวไม่มี เดี๋ยวหาว่าคนไม่ยอมไปฉีด เดี๋ยวสั่งคนออกมาโปรโมตให้คนอยากฉีด ไปสั่งโรงพยาบาลต้องทำยอด ทำเป้า พอทุกคนถูกกระตุ้น ก็เกิดอยากฉีดกันหมด แห่กันไปลงทะเบียน พอถึงวันจะฉีดจริงๆ ก็ไม่มีวัคซีนพอจะฉีด พอฉีดหมด ก็มาบอกว่า ฉีดเร็วเกินจำนวนวัคซีนที่มี

โอ๊ย นี่ผีหรือพราย

นี่ยังไม่นับตอนแรกที่บอกว่าวัคซีนไม่จำเป็น หน้ากากและการรักษาระยะห่างทางสังคมคือวัคซีนที่ดีที่สุด พอคนเริ่มเชื่อมากระตุ้นใหม่ว่า ฉีดดีกว่าไม่ฉีด

เนี่ยะ ผีหรือพราย เอาดีๆ

แล้วยังไม่นับภาวะเล่นใหญ่ เน้นพิธีกรรม การแห่แหน ต้อนรับ พิธีเกิดฤกษ์งามยามดี อีเวนต์เพื่อสร้างวโรกาสให้ “นาย” ได้รับการประจบสอพลอป้อยอกันไปตามประเพณีรัฐราชการแบบไทยๆ ที่อะไรก็ไม่สำคัญเท่ากับการเชลียร์นาย-เชลียร์แล้วได้ฉีดวัคซีนสักสิบล้านโดสในเดือนนี้จะไม่ว่า แต่นี่จังหวัดละสามพันหกร้อยโดส

ส่วนที่งงไปอีกก็คือ คนที่ไม่ได้อยู่ในข่าย “กลุ่มเสี่ยง” ก็พากันได้ฉีดวัคซีนก่อนคนกลุ่มเสี่ยง บางคนก็ลงทะเบียนไปสี่แอพพ์ได้ฉีดหมด บางคนลงที่นี่ก็ไม่ได้ ลงที่นั่นก็ไม่ได้ สุดท้ายก็บัวแล้งน้ำ อธิบายไม่ได้เลยว่า การได้ฉีดก่อน-หลังของแต่ละคนนั้นตั้งอยู่บนหลักคิดอะไรบ้าง

และจะไม่มีใครมาถามถึงหลักคิดอะไรทั้งนั้นหากเราอยู่ในประเทศที่มีวัคซีนเหลือเฟือจนเดินไปฉีดที่ร้านขายยาไหนก็ได้แบบอเมริกา

แต่นี่คือเรามีจำกัดในแต่ละล็อตไง

นั่นแหละ ฉันได้ลดระดับข้อเรียกร้องจากรัฐบาลลงไปมากเหลือเกิน เพราะวันนี้ข้อเรียกร้องเหลือเพียงว่า

“ไม่เก่งไม่เป็นไรน้า แต่ช่วยบอกความจริงกับเราตรงๆ ว่ามันเกิดอะไรขึ้น”

ทางเรา -ประชาชน- จะได้วางแผนชีวิตถูก เท่านั้นล่ะ