ปริศนาโบราณคดี : เสวนา 777 ปีชาตกาลพระญามังราย” กับภารกิจการชำระสะสางประวัติศาสตร์ล้านนา (6)

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ตอน 1 2 3 4 5

 

ชาวไทลื้อมองพระญามังรายอย่างไร

อาจารย์เรณู วิชาศิลป์ อดีตอาจารย์ด้านภาษาวรรณกรรมและจารึกล้านนา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้เชี่ยวชาญด้านเอกสารคัมภีร์ใบลานฝ่ายไทเหนือ หรือกลุ่มชน “ไท” (ไทลื้อ ไทขึน ไทใหญ่ ไทเหนือ ฯลฯ) นอกแผ่นดินล้านนา เปิดประเด็นเรื่อง ชาวไทลื้อมีมุมมองต่อพระญามังรายอย่างไร ในฐานะที่ฝ่ายมารดาของพระญามังราย เป็นชาวไทลื้อ

เอกสารที่อาจารย์เรณูได้ศึกษาและนำมาวิเคราะห์ประกอบการเสวนาครั้งนี้ ได้แก่ ตำนานพื้นเมืองสิบสองปันนา ปริวรรตโดย ทวี สว่างปัญญากูร, พับพื้นเมืองสิบสองพันนา 3 ฉบับ 1.ฉบับของ Gao Li Shi 2.ฉบับของตาวหย่งหมิงและอ้ายคัง 3.ฉบับตาวซูเหริน, เอกสารพับสาฉบับบ้านมอง, พื้นเมืองสีป้อ, เชื้อเครือเจ้าแสนหวีสิบสองพันนา และพื้นเมืองแสนหวีฉบับหอคำเมืองใหญ่ สองชิ้นสุดท้ายนี้ปริวรรตโดยอาจารย์เรณู วิชาศิลป์ เอง

มารดาของพระญามังรายที่เรารู้จักกันในนามของ นางอั้วมิ่งเมือง หรือเทพคำขร่าย ก็ดี นามเดิมตามเอกสารฝ่ายไทลื้อระบุว่ามีหลายชื่อ อาทิ “อั้วมิ่งไข่ฟ้า” ตอนเด็กๆ มีนิสัยชอบเล่นอกไก่ จึงมีชื่อว่า “นางหง(ส์)แอ่น” หรือ “นางอกแอ่น” ก็มี

นางเป็นธิดาของ “ท้าวรุ่งแก่นชาย” เจ้าเมืองเชียงรุ่ง (เกิด พ.ศ.1764) มีบางฉบับบอกว่าเป็นน้องสาว ท้าวรุ่งได้ส่งธิดานางนี้มาเป็นเทวีของ “พระญาลาว” หรือ “แสงดาวหยาดเชียงราย” ทว่า คนไทยรู้จักในนาม “ลาวเมง” (บิดาของพระญามังราย) จากนั้นมีการเปลี่ยนชื่อเป็น “นางคำก๋าย” หรือ เทพคำขร่าย และอั้วมิ่งเมือง (อั้วมิ่งจอมเมือง)

พร้อมกันนั้นท้าวรุ่งแก่นชายยังได้ให้ของขวัญแก่ลูกเขย คือเมืองสำคัญสองเมือง เมืองพยาก และเมืองหลวงภูคา สามารถเก็บส่วยกินได้ตลอดชีวิต

ในสายตาของชาวไทลื้อ มองพระญามังรายแบบลากเข้าทางฝ่ายแม่คือให้ท่านเป็นชาว “ไทลื้อ” โดยไม่ได้รู้สึกว่าท่านเป็นชาวลัวะ หรือไทโยนแต่อย่างใดเลย

ศูนย์รวมความเก่ง
King of the King

ชาวไทลื้อเทิดทูนพระญามังรายว่าเป็นวีรบุรุษนักปราชญ์ ทั้งเก่งกาจ มีปัญญา (ผะหญา) ปกครองดี เป็นนักพัฒนา เป็นนักกฎหมาย และยังเป็นครูอีกด้วย

ความเป็นครู เป็นปราชญ์ของพระญามังรายนั้น ชาวไทลื้อกล่าวว่า เพราะพระญามังรายสามารถเขียนคำสอน และตรากฎหมายมังรายศาสตร์ ชาวไทลื้อโดยเฉพาะชาวเมืองแรมระบุชัดว่า ชาวเมืองนี้ยังคงใช้คำสอนและหลักกฎหมายของพระญามังรายสืบมาจนกาละบัดนี้

ส่วนภาพลักษณ์ความเป็นฮีโร่ เป็นนักรบที่อยู่ในความทรงจำของชาวไทลื้อ ก็เนื่องมาจากการที่พระญามังรายได้ไปรบที่เมืองเชียงรุ่งถึง 2 ครั้ง กรณีนี้อาจารย์เรณูเกิดข้อขัดข้องใจส่วนตัวว่า ปกติพระญามังรายก็มีความเคารพรักในแผ่นดินแม่คือเชียงรุ่งเป็นทุนเดิม เห็นได้จากทุกปีจะส่งช้างพลายใส่จามรคำ (ทอง) ช้างพังใส่จามรเงิน ขันคำ น้ำต้น คนที ผ้าเทศ ไปให้เชียงรายทุกปี แล้วท้าวรุ่งแก่นชายก็ส่งของแลกเปลี่ยนให้แก่หลานเช่นกัน

แล้วเหตุไฉนพระญามังรายยังต้องยกทัพไปตีเชียงรุ่ง?

ศักราชที่พระญามังรายไปตีเชียงรุ่ง พบว่าเกิดขึ้นในปี พ.ศ.1840 หลังจากสร้างเมืองเชียงใหม่เสร็จได้เพียง 1 ปีเท่านั้น หนังสือประวัติศาสตร์ล้านนาของ ศาสตราจารย์สรัสวดี อ๋องสกุล แห่งหลักสูตร “ล้านนาศึกษา” มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อธิบายว่า การขึ้นไปครั้งนั้นเป็นการช่วยเชียงรุ่งรบกับชาวมองโกลมากกว่า

เหตุที่เชื่อว่าพระญามังรายเป็นคนเก่ง เป็นผู้ประสบความสำเร็จในชีวิตอย่างสูง ชาวไทลื้อจึงนิยมเอาชื่อพระญามังรายไปอ้าง ประกอบคำอ่านในพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์เพื่อความเป็นสิริมงคลอยู่ในชีวิตประจำวัน

ดังเช่น ตอนทำพิธีหลอนเดือน (เข้าอู่ หรืออยู่ไฟ) พิธีเรียกขวัญเขยใหม่ สะใภ้ใหม่ จะมีการอ้างชื่อพระญามังรายปรากฏอยู่ในคำอ่านเสมอ ในทำนองว่า วันนี้เป็นวันดี เป็นวันที่พระญามังรายได้นั่งเมือง เป็นวันที่พระญามังรายได้ทำสิ่งนั้น สิ่งนี้ แล้วโยงเข้ากับเหตุการณ์จริงของผู้ประกอบพิธีกรรม

มีหมู่บ้านแห่งหนึ่งในเขตเมืองเชียงรุ่ง มีชื่อว่าบ้านมอง หรือบ้านมังราย มีการตั้งศาลหรือหอพระญามังรายสำหรับบูชา เดิมเป็นหอไม้ ปัจจุบันก่ออิฐถือปูน

นักประวัติศาสตร์บางท่านระบุว่า คำว่ามองน่าจะมาจากชื่อเครื่องดนตรีคล้ายฆ้อง ดังที่เรียกโดยรวมว่า “ตีฆ้องตีมอง”

แต่เอกสารของชาวไทลื้อระบุว่า คนที่นี่มีบรรพบุรุษสืบสายตระกูลมาจากพระญามังรายโดยตรง

 

พระญามังรายเป็นนักดนตรี
ไม่เคยปรากฏในเอกสารฝ่ายล้านนา

ตอนที่ท้าวรุ่งแก่นชายมาเยี่ยมหลานชายซึ่งเพิ่งคลอดออกมาใหม่ๆ กำลังทำพิธีหลอนเดือน พบว่าพระญามังรายมีความสนใจในด้านดนตรีและการท่องอักขระ ถึงกับท้าวรุ่งแก่นชายต้องเอาทองมาหล่อเป็นปี่ (บางฉบับบอกว่าแคน) ส่งมาเป็นของขวัญให้พระญามังรายเป่าอีกด้วย

นอกจากนี้ เอกสารฝ่ายเชียงรุ่งยังระบุว่า พระญามังรายนอกจากจะเป่าปี่เก่งแล้ว ยังมีความสามารถในการแต่งเพลง เขียนบทกวีได้ไพเราะอย่างเยี่ยมยอดอีกด้วย

ข้อเท็จจริงส่วนนี้เป็นอย่างไรไม่มีใครทราบได้ จะว่าฝ่ายไทลื้อต้องการสร้างภาพลักษณ์ให้พระญามังรายโรแมนติกเหมือนอุปนิสัยชาวลื้อฝ่ายแม่โดยปราศจากพื้นฐานความจริงก็ไม่ถูกนัก

อาจารย์เรณูตั้งข้อสังเกตว่า เอกสารฝ่ายล้านนาไม่เคยกล่าวถึงอารมณ์สุนทรีย์ของพระญามังรายในด้านนี้เลย มีแต่ด้านบู๊และบุ๋น คือเป็นนักรบนักปกครองเท่านั้น ดูคล้ายเทพเจ้าผู้ศักดิ์สิทธิ์และเด็ดขาด จนขาดมิติของความเป็นมนุษย์ปุถุชน ผิดกับเอกสารฝ่ายไทลื้อ

อย่างไรก็ดี ในสายตาชาวลื้อ แม้จะยกย่องพระญามังรายว่าเก่งกาจเพียงใดก็ตาม แต่ลึกๆ แล้วก็ยังมองว่าล้านนามีส่วนเป็นลูกของสิบสองปันนาอยู่นั่นเอง

เวลากล่าวถึงสองอาณาจักร ตำนานฝ่ายเชียงรุ่งจะวางสถานะของล้านนาและสิบสองปันนาไว้ในระนาบเดียวกัน ไม่ได้มองว่าล้านนายิ่งใหญ่กว่า (ผิดกับมุมมองของนักประวัติศาสตร์ล้านนาในประเทศไทย) และมักตอกย้ำว่า ทั้งสิบสองปันนา และล้านนาต่างก็ต้องส่งบรรณาการไปถวายจักรพรรดิจีนไม่แตกต่างกันเลย

บทบาทของล้านนาต่อชาวไทลื้อสิบสองปันนา ในยุคต้นราชวงศ์มังราย ล้านนากลายเป็นดินแดน “ลี้ภัย” ของเจ้าเมืองสิบสองปันนาที่หนีศึกจากจีนหรือแย่งชิงบัลลังก์กัน มักลงมาแอบมากบดานตัวในล้านนา

ความสัมพันธ์ระหว่างล้านนาและสิบสองปันนา มีทั้งแนบแน่น ห่างเหิน บางครั้งถึงกับแค้นอาฆาต

 

“พระญาติโลกล้านนา” ในเอกสารฝ่ายไทเหนือ
อาจมิได้หมายถึง “พระญาติโลกราช”

อาจารย์เรณูกล่าวว่า เมื่ออ่านเอกสารฝ่ายไทเหนือที่เขียนโดยคนไทนอกแผ่นดินล้านนา ต้องระมัดระวังอย่างยิ่งในการตีความ หากพบคำว่า “พระญาติโลกล้านนา” อย่าเพิ่งรีบด่วนสรุปว่าจะต้องหมายถึง “พระญาติโลกราช” เสมอไป

ตัวอย่างเช่น ข้อความกล่าวว่า “พ.ศ.1840 พระญาติโลกล้านนา เอากำลังมารบฟันถึงเมืองลื้อ” หากอ่านแบบเผินๆ อาจคิดว่า นักบันทึกข้อมูลคงระบุศักราชผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปกระมัง เพราะห้วงเวลาที่พระญาติโลกราช กษัตริย์ลำดับที่ 9 ครองล้านนาอยู่ระหว่าง พ.ศ.1984-2030

แต่จากข้อความดังกล่าวย้ำชัดว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในปี 1840 ยังอยู่ในยุคสมัยของพระญามังราย (ครองเชียงใหม่ระหว่าง 1839-1854)

หรืออีกกรณีหนึ่ง เขียนว่า “ปี พ.ศ.1855 เจ้าไอ่และพระญาติโลกล้านนา ก็ได้แต่งคนเอาช้างม้าแลครอบครัวไปกั่นทอเจ้าแย้นซ้าว” (เจ้าไอ่เป็นกษัตริย์เมืองเชียงรุ่ง พร้อมกษัตริย์ล้านนา ไปดำหัวขอขมาคารวะกษัตริย์มองโกลราชวงศ์หยวนที่ครอบครองจีน)

ในที่นี้ศักราช 1855 ตรงกับยุคของพระญาชัยสงคราม โอรสของพระญามังราย ผู้ครองอาณาจักรล้านนาสืบต่อเป็นลำดับที่ 2 ก็ยังถูกเรียกว่า “พระญาติโลกล้านนา” เช่นเดียวกัน

จากการศึกษาของอาจารย์เรณู ได้ข้อสรุปว่าคนที่เขียนประวัติศาสตร์เมืองลื้อ จะเรียกกษัตริย์ล้านนาแค่เพียงสองชื่อเท่านั้น

1. ในยุคแรก ตั้งแต่ 1839-2101 ไม่ว่าใครก็ช่าง เขาจะบันทึกว่า “ติโลกล้านนา” หรืออ่านว่า “ติละกะล้านนา” เหมือนกันหมดทุกองค์

2. ยุคที่ล้านนาปลดแอกจากพม่าแล้ว ตั้งแต่ พ.ศ.2348 เป็นต้นมา ไม่ว่าเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่จะชื่ออะไรก็แล้วแต่ เขาจะเรียกเพียง “กาวิละล้านนา” ชื่อเดียว

ยกเว้นกษัตริย์ล้านนาองค์หนึ่ง คือพระญาสามฝั่งแกน พระราชบิดาของพระญาติโลกราช เอกสารฝ่ายไทลื้อเรียก “เท่าเจ้าซ่าน” (ท้าวเจ้าสาม) แทรกมาพิเศษเพียงองค์เดียว

ดังนั้น เมื่ออ่านเอกสารฝ่ายไทลื้อ แล้วพบคำว่า ติโลกล้านนาก็ดี กาวิละล้านนาก็ดี จำเป็นต้องพิจารณาเรื่องศักราชให้ถี่ถ้วนว่าตรงกับรัชสมัยของกษัตริย์องค์ใดกันแน่

หลังจากยุค พระญาติโลกราช (ติละกะล้านนา ตัวจริง) เป็นต้นมา เอกสารฝ่ายไทลื้อเริ่มมองล้านนาว่าเป็น “คู่ศึก” หรือ “ศัตรู” ทางการเมืองอย่างแท้จริง ความสัมพันธ์ฉันเครือญาติแทบจะไม่มีเหลืออีกต่อไป บางช่วงบางตอนชาวไทลื้อยังยกทัพไปช่วยชาวจีนมารบล้านนาด้วยซ้ำ

 

ส่วนเอกสารของคนไทกลุ่มอื่นๆ อาจารย์เรณูกล่าวว่าชาวไทใหญ่ ไม่ค่อยกล่าวถึงพระญามังรายนัก ในรัฐฉาน ประเทศพม่า มีเมืองที่สามารถใช้เป็นเกณฑ์แบ่งความสัมพันธ์ระหว่างรัฐล้านนากับรัฐไทใหญ่ ได้แก่ เมืองปั่น เมืองลุง และเมืองนาย

เหนือขึ้นไปทางตอนบนจากสามเมืองนี้ จะไม่มีการกล่าวถึงพระญามังรายเลย แต่ใต้ลงมาจากสามเมืองนี้ โดยเฉพาะเมืองปองใต้ พอจะมีการกล่าวถึงล้านนาอยู่บ้าง

แต่บุคคลที่ถูกเอ่ยถึงก็ไม่ใช่พระญามังรายอยู่นั่นเอง กลายเป็นพระญาติโลกราชมากกว่า (ติโลกล้านนาตัวจริง) มีการแทนคำเรียกกษัตริย์ล้านนาว่า “น้องฟ้า” และแทนกษัตริย์ไทใหญ่ว่า “พี่ฟ้า”

งานวิจัยด้าน “มังรายศึกษา” ในสายตาชาวไทลื้อของอาจารย์เรณู วิชาศิลป์ เชื่อว่าน่าจะช่วยเปิดมุมมองใหม่ต่อมหาราชพระองค์นี้ไม่น้อยเลย

บทความหัวข้อนี้จะนำเสนอตอนท้ายของเวทีเสวนาอีกเพียงสองครั้ง หลังจากนั้น ดิฉันจะได้ฤกษ์เปิดประเด็นใหม่ เขียนเรื่อง เช กูวารา และ ฟิเดล คาสโตร เสียที