ปริศนาโบราณคดี : ส่งท้าย “777 ปีชาตกาลพระญามังราย” ภารกิจสะสางประวัติศาสตร์ยังไม่จบสิ้น (2)

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ตอน 1

ฉบับก่อนได้เปิดประเด็นคำถามเรื่อง “พระญามังรายมีเชื้อสายลัวะจริงไหม?” ของ นายอภิชิต ศิริชัย เป็นคนแรก ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านเชียงรายศึกษา ไปแล้วนั้น

ข้อหารือถกเถียงปริศนาเรื่องพระญามังรายจะเป็นลัวะหรือไม่ใช่ลัวะนั้น ขอเก็บไว้ก่อน ค่อยเฉลยในตอนท้าย

เนื่องจากงานเสวนาครั้งนี้มีวิทยากรจำนวนมากถึง 7 คน

และแต่ละคนต่างก็เตรียมประเด็นที่จะกล่าวถึงพระญามังรายในแง่มุมที่ตัวเองสนใจมาอย่างเต็มพิกัด

พระญามังรายสนใจเรื่องการค้ามากกว่าศาสนา?

วิทยากรคนถัดไป คือ อ.ดร.สุวิภา จำปาวัลย์ นักวิจัยชาวลำพูน ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะและสถาปัตยกรรมล้านนา สังกัดสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จะมาเปิดประเด็นเรื่องพระญามังรายยึดเมืองลำพูน

อันที่จริงในงานเสวนา ดร.สุวิภา พูดเป็นลำดับที่ 3 ต่อจาก อ.เกริก อัครชิโนเรศ ซึ่งพูดเรื่องการที่พระญามังรายเตรียมสร้างเมืองเชียงใหม่

แต่ในที่นี้ ดิฉันขอสลับเอามุมมองของ ดร.สุวิภา มานำเสนอเป็นลำดับที่ 2 ก่อน เพื่อให้ภาพเหตุการณ์ชีวประวัติของพระญามังรายเรียงตามลำดับอย่างต่อเนื่อง

คือเริ่มจากการที่พระองค์กำเนิดที่เชียงราย ต่อมาได้วางแผนยึดเมืองลำพูน และจากนั้นจึงไปสร้างเมืองเชียงใหม่

ดร.สุวิภา มองว่า ชาวลำพูนและเอกสารต่างๆ ของเมืองลำพูนมักไม่ค่อยพูดถึงพระญามังรายเท่าใดนัก แม้ว่าปีนี้จะครบรอบชาตกาล 777 ปีของพระองค์ เมื่อเทียบกับการตื่นตัวของชาวเชียงรายและชาวเชียงใหม่ เนื่องจากประวัติศาสตร์ของลำพูน มีวีรสตรีที่โดดเด่นเป็นที่ยกย่องเชิดชูของชาวลำพูนอยู่แล้ว นั่นก็คือ “พระนางจามเทวี”

ซ้ำร้าย หากมองในแง่ลบ พระญามังรายอาจคล้ายผู้ร้ายในสายตาชาวลำพูนก็เป็นได้ ในฐานะที่มาทำลายอาณาจักรหริภุญไชยจนล่มสลาย (ข้อความนี้ ดร.สุวิภา ไม่ได้กล่าวในที่ประชุม หรืออาจคิดในใจอยู่บ้าง ดิฉันจึงนำมาขยายความแทน)

เหตุผลที่พระญามังรายอยากได้นครหริภุญไชยนั้น ดร.สุวิภา มองว่าเพราะพระญามังราย “มีนิสัยพ่อค้า” คือให้ความสำคัญด้านเศรษฐกิจค่อนข้างสูง เหตุที่พระองค์ได้ฟังเหล่าพ่อค้าวาณิชที่เพิ่งเดินทางกลับจากการไปค้าขายที่เมืองลำพูนมาเล่าบ่อยครั้งว่า

“หริภุญไชยนี้มีอานุภาพนัก มีพระธาตุสถิตอยู่กลางเวียง ในเมืองมีกาด (ตลาด) มากมาย ผู้คนสนใจการค้าขาย”

ด้วยเหตุนี้พระญามังรายจึงมอบหมายให้ “อ้ายฟ้า” ขุนนางชาวลัวะวางแผนไปปฏิบัติการยึดเมืองลำพูนนานถึง 7 ปี ทั้งนี้ทั้งนั้นหากได้เมืองลำพูนก็สามารถขยายเส้นทางการค้า จากเมืองบนภูเขาซึ่งไม่มีทางออกทะเล ไปสู่ลุ่มน้ำปิงตอนล่าง ซึ่งสามารถตัดผ่านแม่สอดออกเมืองท่าที่อ่าวเมาะตะมะได้

พระญามังรายมีวัฒนธรรมดั้งเดิมของตนที่แตกต่างไปจากชาวหริภุญไชย คือเคยนับถือผีบรรพบุรุษมาก่อน ดังนั้น เมื่อยึดลำพูนได้ซึ่งเป็นเมืองพุทธแบบฝังรากลึกมานานกว่า 600 ปี พระญามังรายจึงไม่สามารถอยู่ที่เมืองลำพูนได้โดยสนิทใจ จำต้องออกไปแสวงหาการสร้างเวียงใหม่แทน นั่นคือเวียงกุมกาม

แม้กระนั้นภายหลังพระญามังรายก็หันมาเข้ารีตนับถือศาสนาพุทธ ตำนานในยุคหลังหลายเล่ม ก็พยายามเขียนในเชิงสร้างภาพให้พระญามังรายเป็นพุทธศาสนิกชนผู้อุปภัมภกพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้าในทำนองว่า

พระญามังรายโปรดให้ทำนุบำรุงบูรณปฏิสังขรณ์พระธาตุเจ้าหริภุญไชยบ้าง หรือตอนไปอยู่เวียงกุมกามแล้ว ได้พบกับพระภิกษุชาวลังกา บังเกิดความเลื่อมใสศรัทธา จนได้รับมอบพระบรมสารีริกธาตุจากพระภิกษุลังกาแล้วนำไปประดิษฐานไว้ในพระธาตุกู่คำบ้าง

ทั้งๆ ที่ในเอกสารสำคัญหลายฉบับที่เขียนราว 500 ปีก่อน เช่น ตำนานมูลศาสนา กล่าวแต่เพียงว่าหลังจากที่พระญามังรายสละเมืองลำพูนออกไปสร้างเวียงใหม่แล้ว โปรดให้พระเถรานุเถระดำเนินการบูรณะพระธาตุหริภุญไชยกันเอง

ชีวประวัติของพระญามังรายสมัยประทับอยู่เวียงกุมกาม มีการระบุว่าโปรดให้ขุดดินจากหนองมาสร้างกู่คำ

จากนั้นพระองค์ได้ยินเรื่องราวอานิสงส์ของ “การต่อนิ้วพระพุทธรูป” จากพระภิกษุชาวลังกา ทำให้พระญามังรายไปบนบานสานกล่าวว่าหากไปทำสงครามแล้วได้ชัยชนะ จะกลับมาต่อนิ้วให้พระเจ้า (การยืดอายุให้พระพุทธรูป)

ครั้นเมื่อพระญามังรายได้รับชัยชนะจริง เสร็จสงครามกลับมาจึงสร้างพระพุทธรูปตามสัจจะ คล้ายการแก้บน สะท้อนว่าพระญามังรายมีความเชื่อเรื่องบนบานสานกล่าว (ที่อาจตกค้างมาจากชาวลัวะ?)

ส่วนเรื่องเจดีย์กู่คำ (เจดีย์เหลี่ยม) นั้น เอกสารหลายเล่มกลับเขียนแบบขัดแย้งกันเองว่า เป็นกู่สถูปบรรจุอัฐิของพระมเหสีพระญามังรายองค์หนึ่ง ทำให้เกิดปริศนาตามมาว่า ความพยายามสร้างภาพให้พระญามังรายมีพระราชศรัทธาต่อพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้านั้น เป็นการมาแต่งเติมเนื้อหาขึ้นในภายหลังหรือไม่

(เรื่องที่พระญามังรายพบพระภิกษุลังกาก็ดี มีการเอาพระธาตุมาบรรจุในกู่คำ กับที่วัดกานโถมก็ดี)

การอุปโลกน์เอาพระญาเบิก
ไปรวมกับศาลเจ้าพ่ออุโมงค์ขุนตาน

ดร.สุวิภา ยังได้กล่าวถึงเหตุการณ์สำคัญตอนหนึ่ง คือตอนที่พระญามังรายตีลำพูนแตก พ.ศ.1824 ขณะนั้นกษัตริย์องค์สุดท้ายของอาณาจักรหริภุญไชยมีชื่อว่า “พระญาญีบา” ได้แตกหนีข้ามขุนตานไปทางลำปาง เพื่อไปขอกองกำลังช่วยเหลือจากราชโอรสซึ่งเป็นกษัตริย์นั่งเมืองเขลางค์นคร หรือลำปางให้ยกทัพมาช่วย

โอรสพระองค์นั้นมีนามว่า “พระญาเบิก”

พระญาเบิกต้องต่อสู้กับโอรสของพระญามังราย นามว่า “ขุนคราม” (ต่อมาคือ พระญาไชยสงคราม กษัตริย์ราชวงศ์มังรายลำดับที่ 2 ต่อจากพระญามังราย) เส้นทางการหลบหนีของพระญาเบิกคือไปทางหนองหล่ม ทาสบเส้า ดอยบาไห้ จนบาดเจ็บ และในที่สุดก็สิ้นพระชนม์ที่ดอยขุนตานนั้น

ชาวบ้านจึงตั้งศาลบนดอยขุนตานเพื่อบูชาดวงพระวิญญาณของพระญาเบิก ซึ่งต่อมาก็กลายเป็นชื่อที่เรียกกันว่า “เจ้าพ่อขุนตาน” ผู้เป็นสัญลักษณ์แห่งความกตัญญูและความกล้าหาญ

เรื่องของพระญาเบิกนี้ ในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ กล่าวถึงท่านละเอียดพิสดารออกไปมากกว่าเอกสารฉบับอื่น คือให้ข้อมูลว่า การสู้รบระหว่างพระญาเบิกกับขุนครามนั้นไม่ได้สิ้นสุดลงง่ายๆ แค่เพียงปีเดียว แต่พระญาเบิกได้ไปซ่องสุมผู้คนและเสบียงนานถึง 14 ปี หลังจากนั้นพยายามยกทัพมาเพื่อตีเอาเมืองลำพูนคืนจากพระญามังราย แต่ในการรบกับขุนครามนั้น พระญาเบิกเพลี่ยงพล้ำ

แม้พระญาเบิกรู้ว่าความพ่ายแพ้กำลังมาเยือน ก็ยังสั่งให้แม่ทัพนายกองถอยหนีไปทางฝั่งลำปาง แพร่ เพื่อดูแลพระราชบิดาของตน ด้วยการเอาร่างทอดนอนขวางเส้นทาง

ในหมู่นักรบนั้น จะมีกติกาลูกผู้ชายอยู่ข้อหนึ่งคล้าย “ไม้ล้มอย่าข้าม” ว่า เมื่ออีกฝ่ายแพ้แล้ว ทหารฝ่ายชนะจะไม่ข้ามศพแม่ทัพอีกฝ่ายหนึ่ง การทอดร่างของพระญาเบิกครั้งนั้นก็เพื่อป้องกันไม่ให้ทหารฝ่ายขุนคราม ยกกองทัพตามไปตีพระญาญีบาผู้เป็นพระราชบิดา

ซึ่งก็เป็นสิ่งที่สมควรแล้ว หากจะมีการนับถือพระญาเบิกในฐานะวีรบุรุษหรือเจ้าพ่อแห่งขุนตาน ซึ่งรถทุกคันเมื่อข้ามผ่านซูเปอร์ไฮเวย์ตรงรอยต่อดอยขุนตาน จุดชนแดนระหว่างลำพูน-ลำปาง มักแสดงการคารวะต่อท่านด้วยการบีบแตร

ปัญหาก็คือ บริเวณข้างล่างตรงอุโมงค์รถไฟขุนตาน ก็ได้มีการบูชาศาล “เจ้าพ่อพระญาเบิก” ด้วยอีกแห่งหนึ่ง ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงนั้น อุโมงค์แห่งนี้เพิ่งก่อสร้างในสมัยปลายรัชกาลที่ 5 ถึงต้นรัชกาลที่ 6 นี่เอง

ผู้ควบคุมการก่อสร้างคือ ดร.ไอเซนโฮเฟอร์ วิศวกรชาวเยอรมัน ซึ่งในระหว่างนั้นได้รวบรวมโบราณวัตถุชิ้นสำคัญหลายชิ้นที่คณะวิศวกรอ้างว่า อาจได้รับผลกระทบกระเทือนจากแรงสั่นขณะสร้างอุโมงค์ จึงไปเอาพระพุทธรูปตามวัดต่างๆ มาไว้รวมกัน

ต่อมาเมื่อสร้างอุโมงค์เสร็จ โบราณวัตถุหลายชิ้นยังตกค้างไม่ได้รับการลำเลียงส่งกลับคืนวัด ดังเช่นพระพุทธรูปสององค์ องค์หนึ่งได้มาจากวัดทากู่แก้ว และอีกองค์ได้มาจากวัดเจ้าพ่อขุนตาน ชาวบ้านได้นำพระพุทธรูปสององค์นี้ไปตั้งไว้ในศาลใกล้อุโมงค์ขุนตาน

แล้วเรียกศาลนั้นว่า “ศาลบูชาเจ้าพ่อพระญาเบิก” แถมในแต่ละปียังมีการประกอบพิธีบวงสรวงโดยร่างทรงจากทั่งทุกสารทิศมาทำพิธีอะไรต่อมิอะไรมากมาย

ทั้งๆ ที่เรื่องราวเกี่ยวกับการล้มตายเสียสละชีวิตของผู้สร้างอุโมงค์รถไฟขุนตานนั้น ล้วนเป็นคนงานหรือกรรมการชาวจีนสูบฝิ่น ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรเลยกับวีรกรรมของพระญาเบิก

เรื่องราวเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า ตราบที่ประวัติศาสตร์ยังไม่มีการชำระสะสางแล้วเรียบเรียงเผยแพร่ให้ถูกต้อง ปล่อยให้คลุมเครืออยู่แบบนั้น อนุชนรุ่นหลังย่อมฉกฉวยนำเอาเหตุการณ์ที่ต่างกรรมต่างวาระมาจับแพะชนแกะ อุปโลกน์เชื่อมโยงให้กลายเป็นเรื่องเดียวกัน เพื่อหวังผลประโยชน์บางประการได้เสมอ

ยิ่งยุคสมัยหนึ่ง ราว 4-5 ทศวรรษที่แล้ว ได้มีนักเขียนประวัติศาสตร์ท้องถิ่นบางท่าน เช่น สงวน โชติสุขรัตน์ กับ มหาสิงฆะ วรรณสัย พยายามดึงเอา “ตำนานพื้นเมือง” กับ “มุขปาฐะ” หรือเรื่องเล่า มาผนวกเข้าด้วยกัน แล้วเขียนย่อยให้เป็น “ประวัติศาสตร์เสมือนจริง” โดยไม่ได้อ้างอิงหลักฐานต้นฉบับของตำนานยุคก่อน แต่ดึงข้อมูลมาเพียงบางส่วนบางตอนที่ตนสนใจ จากนั้นก็ตั้งสมมติฐานเพิ่ม จินตนาการต่อว่าเรื่องควรจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้

มุมมองของ ดร.สุวิภา สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นทุกวันนี้ ที่เราไม่ควรทำแค่เพียงนั่งชำระเอกสารในห้องสี่เหลี่ยม แต่ต้องหมั่นลงพื้นที่เก็บข้อมูลสัมภาษณ์ชาวบ้าน จะได้รู้แน่ชัดว่าคนในแต่ละพื้นที่มีพื้นฐานการรับรู้ประวัติศาสตร์ชุมชนกันอย่างไร ได้ยินได้ฟังอะไรมาบ้างแล้ว

ทั้งนี้ ข้อมูลที่ได้มาจากชุมชน ก็ยังมิใช่สิ่งที่น่าเชื่อถือได้ทั้งหมด นอกจากจะตรวจสอบความจริง-เท็จแล้ว เรายังต้องนำมาไต่สวนอีกด้วยว่า อะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้คนในชุมชนพร้อมที่จะเชื่อเช่นนั้น