ปริศนาโบราณคดี : ส่งท้าย “777 ปีชาตกาลพระญามังราย” แต่ภารกิจการชำระสะสางประวัติศาสตร์ยังไม่จบสิ้น (3)

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ตอน 1 2

อาจารย์เกริก อัครชิโนเรศ ปราชญ์ล้านนาด้านภาษาและประวัติศาสตร์คนสำคัญ ได้เปิดประเด็นเรื่อง “การสร้างเมืองเชียงใหม่” ของพระญามังราย ว่าเหตุการณ์ตอนนั้นมีรายละเอียดอย่างไรบ้าง

ไม่อยากให้ทุกคนมองข้ามด้วยการอ่านผ่านๆ ลวกๆ

ทั้งหมดปรากฏอยู่ในเอกสารที่ชื่อว่า “ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่” แล้ว

ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ เขียนต้นฉบับเป็นอักษรธัมม์ล้านนา มีผู้ปริวรรตเป็นภาษาไทยกลางหลายสำนวน อาทิ ฉบับของ ดร.ฮันส์ เพนธ์ แห่งสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ฉบับของศาสตราจารย์อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว ปริวรรตร่วมกับ ดร.เดวิท เค. วัยอาจ ฉบับของสำนักนายกรัฐมนตรี โดยคณะของศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร มีแม้กระทั่งฉบับภาษาฝรั่งเศส ของอดีตกงสุลทูต “กามีย์ นอตอง” (Camille Notton)

แต่งานที่อาจารย์เกริก จะนำมา Review Literature ในที่นี้ ขอใช้ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่เวอร์ชั่น ฉบับครบรอบเชียงใหม่ 700 ปี

เพราะเป็นเวอร์ชั่นที่ปริวรรตโดย ศาสตราจารย์ ดร.อุดม รุ่งเรืองศรี ผู้ที่อาจารย์เกริกให้ความเคารพนับถือ เสมือนเป็นบิดาทางวิชาการของเขานั่นเอง

%e0%b8%9b%e0%b8%a3%e0%b8%b4%e0%b8%a8%e0%b8%99%e0%b8%b2%e0%b9%82%e0%b8%9a%e0%b8%a3%e0%b8%b2%e0%b8%93%e0%b8%84%e0%b8%94%e0%b8%b5-2

“แรงขับ” ของพระญามังราย
ตามทฤษฎี “ซิกมันด์ ฟรอยด์”

อาจารย์เกริก กล่าวว่า เมื่อพินิจพิเคราะห์ถึงมูลเหตุหรือวัตถุประสงค์ของการสร้างเมืองเชียงใหม่ของพระญามังรายนั้น เกิดขึ้นด้วย “แรงขับ” ตามทฤษฎีของนักจิตวิเคราะห์ชื่อก้องโลกกล่าวไว้ถึงสัญชาตญาณ หรือปมความต้องการของมนุษย์นั้นมีอยู่สามประการจริง คือ

หนึ่ง ความต้องการทางเพศ

สอง ความต้องการด้านวัตถุสิ่งของ

สาม ความมักใหญ่ใฝ่สูง ในยศถาบรรดาศักดิ์

ซึ่งทั้งสามสิ่งนี้ หากโยงกับทางหลักของพุทธศาสนาแล้ว อาจจะใช้คำว่า “ธาตุอกุศลมูล” สามประการก็ย่อมได้ กอปรด้วย โลภะ โทสะ และโมหะ

เพราะหากปราศจากเสียซึ่งความปรารถนาหรือแรงขับในด้านใดด้านหนึ่งแล้ว เชื่อว่าพระญามังรายคงไม่สามารถสร้างเมืองเชียงใหม่ได้สำเร็จ

อาจารย์เกริกกล่าวว่า ความปรารถนาในด้านที่สองกับด้านที่สาม คือด้านชื่อเสียงเกียรติยศและเงินตรานั้น เป็นที่ประจักษ์ชัดกันดีอยู่แล้ว สำหรับขัตติยราชะทั้งหลาย

ในที่นี้จึงขอถอดรหัสของแรงขับแรกที่คนทั่วไปมองไม่เห็น นั่นคือด้าน “แรงอยากให้ใฝ่ฝันหา” ของพระองค์ เพราะอาจารย์เกริกสงสัยในพฤติกรรมของพระญามังรายมานานแล้วว่า

“บุรุษที่อายุ 57 ปี มีลูก มีชายามาแล้วหลายองค์ ไฉนจึงยังนอนฝันถึงสาวอยู่?”

เหตุการณ์เกิดขึ้นใน พ.ศ.1834 เมื่อพระญามังรายอายุได้ 57 ปี ขณะประทับอยู่ที่เวียงกุมกาม (ราชธานีชั่วคราวหลังจากที่ตีลำพูนได้) เริ่มมีแนวคิดเสาะแสวงหาสถานที่สร้างราชธานีแห่งใหม่แทนที่เดิมซึ่งน้ำท่วมถึง

จึงค่อยๆ พาบริวารมาตั้งพลับพลาชั่วคราวทางทิศตะวันตกเหนือของเวียงกุมกาม เริ่มจาก “บ้านแหน” เพื่อเล็งหาไชยภูมิสถานที่เหมาะสม ให้พวกบริวารเอา “หน่าง” ภาษาล้านนาหมายถึง “ไม้ไผ่เหลาเป็นซี่ๆ” มากางเป็นรั้วให้เรียกบริเวณนั้นว่า “รั้วหน่าง” (ปัจจุบันคือบริเวณที่อยู่ใกล้กับที่ตั้งของวิทยาลัยนาฏศิลป์เชียงใหม่)

พระญามังรายยั้งนอนที่นั่น 3 คืน ก็ไม่เห็นนิมิตอันใด จึงย้ายสถานที่เขยิบออกไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนืออีกหน่อย ให้ไพร่พลช่วยกันขุดคันดินขึ้นมาเป็นรั้วป้องกัน เรียกบริเวณนั้นว่า “เจียงเฮือก” (หรือเชียงเรือก อยู่แถววัดอู่ทรายคำ) ยั้งนอนอีก 3 คืนก็ไม่บังเกิดนิมิตใดๆ อีกเช่นเคย แสดงว่ายังไม่ใช่สถานที่ที่เหมาะสมจะสร้างบ้านแปลงเมือง จึงเขยิบมาที่ราวป่าแห่งหนึ่ง

ราวป่าแห่งนี้น่าประหลาดใจยิ่ง ด้วยพระญามังรายนิทราทั้ง 3 คืน ได้นิมิตเห็นสตรีรูปโฉมงามยิ่งนักมายิ้มหวานยั่วยวน แต่ในตำนานบอกว่าพระญามังรายไม่สนพระทัย จุดที่พระญามังรายฝันเห็นสาวงามเรียกกันว่า “เชียงโฉม” (อยู่บริเวณประตูป่อง ตรงข้ามมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่)

พระญามังรายย้ายสถานที่อีกครั้ง เพื่อยั้งนอน 3 คืนเผื่อว่าจะเห็นนิมิตอื่น แต่แล้วแม่ญิงงามนางเดิมหวนกลับมาปรากฏให้เห็นในฝันอีกเป็นคำรบสองทั้ง 3 คืน (หลักฐานทั้งหมดปรากฏในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับ ดร.อุดม รุ่งเรืองศรี หน้า 31) พระญามังรายก็ยังใจแข็งไม่ใส่ใจต่อสิ่งเย้ายวนนั้นอีก

บริเวณที่ฝันเห็นแม่ญิงรูปโฉมโนมพรรณอันสะคราญครั้งหลังนั้น มีชื่อว่า “เชียงทุม” แต่แล้วพระญามังรายตัดใจเดินทางกลับมายังเวียงกุมกาม ขบวนหยุดพักใต้ต้นลาน จึงสร้าง “เชียงลาน”

นัยจากข้อความนี้ ต้องการจะบอกกับผู้อ่านว่า ทั้งๆ ที่พระญามังรายฝันเห็นแม่ญิงงามมาตามตื๊อถึงหกคืนซ้อน แต่ความงามของอิตถีเพศก็หาได้มีอำนาจ มิอาจเอามาล่อดึงความสนพระทัยของพระองค์ให้เบี่ยงเบนไปจากปณิธานอันแรงกล้า ในการที่จะสร้างเมืองใหม่นั้นได้เลย

แต่แท้จริงแล้ว นิมิตนี้กลับเป็นนัยสำคัญ ที่ผลักดันให้พระญามังรายต้องหวนกลับมาเลียบๆ เคียงๆ บริเวณเดิมนั้นอีก เพียงแต่ว่าการกลับมาครั้งใหม่นี้ จำเป็นต้องอ้าง “สิ่งอื่นที่ดูศักดิ์สิทธิ์” กว่าแทน เพื่อเบี่ยงเบนมิให้ใครล่วงรู้ถึงแรงปรารถนาด้านเพศรสของพระองค์

 

เมื่อกวางเผือกชนะหมาไล่เนื้อ
ลอมคานี้ย่อมคือที่ของข้า

พระญามังรายกลับคืนสู่เวียงกุมกามจนผ่านพ้นไปอีกหนึ่งเหมันต์ ก็ทรงช้างคู่บารมีชื่อ “พลายมังคละ” พร้อมหมู่โยธาบริวาร เดินทางลัดเลาะเลียบแม่ปิงมาถึงตีนดอยสุเทพ หรือชื่อภาษาบาลีว่า “ดอยอุจฉุปัพพตะ” (อุจฉุ หรืออุสุ แปลว่า อ้อยช้าง, ปัพพตะ คือบรรพต แปลว่าภูเขา)

คราวนี้พระญามังรายได้เห็นสิ่งอัศจรรย์บังเกิดขึ้นต่อสายตาของตัวเองชัดๆ นั่นคือ ที่ลอมคาน้อยแห่งหนึ่ง ล้อมรอบด้วย “หญ้ามุ้งคะต่าย” มีฟานเผือก (กวางเผือก) 2 แม่ลูกอาศัยอยู่ ขณะออกมาหาอาหารจากลอมคา มีหมาไล่เนื้อจำนวนมากคอยเฝ้าแหนห้อมจะรุมทำร้าย แต่กวางเผือกก็มีความกล้าไม่กลัวเกรงต่อฝูงหมา ซ้ำไล่สัตว์ที่ดุร้ายกว่าเสียกระเจิดกระเจิง

พระญามังรายครุ่นคิดว่า ไชยภูมิบริเวณลอมคาของกวางแห่งนี้ สมควรสร้าง “คุ้มวังมณเฑียรหอนอน” ดีแท้เพื่อความเป็นสวัสดิมงคล จากนั้นจึงให้พลทหารจับเอากวาง 2 แม่ลูก ย้ายไปอยู่ทิศเหนือใกล้น้ำแม่หยวก สร้างรั้วล้อมให้เป็นที่อาศัยเรียก “เวียงฟาน”

จากเหตุการณ์วีรกรรมอันกล้าหาญของกวาง 2 แม่ลูก พระญามังรายจึงทำนายว่า ในอนาคตภายหน้า เมืองนี้จักมี “พระญาแม่ลูกอยู่เสวยราชสมบัติสืบไป” อาจารย์เกริกตีความว่า กษัตริย์สองแม่ลูกที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดแห่งราชวงศ์มังราย ก็น่าจะได้แก่คู่ของ กษัตริย์ล้านนาลำดับที่ 11 ผู้มีพระนามว่า พระเมืองแก้ว และพระมหาเทวีหรือพระราชมารดาของพระองค์ผู้มีพระนามว่า พระนางโป่งน้อย

คำทำนายตอนนี้ อาจารย์เกริกเชื่อว่าเป็นการมาเขียนเพิ่มต่อเติมขึ้นภายหลังในยุคพระเมืองแก้ว เพื่อเสริมสร้างบารมีของพระองค์เองให้ยิ่งใหญ่ยิ่งๆ ขึ้นนั่นเอง

เมื่อย้ายกวางออกจากบริเวณลอมคาเดิมที่ได้ต่อสู้กับสุนัขจนได้รับชัยชนะนั้นแล้ว พระญามังรายให้คนลงไปตรวจสอบพื้นที่ดังกล่าวอย่างละเอียด เพราะต้องการใช้พื้นที่นี้ก่อตั้งราชมณเฑียรจริง สืบไปสาวมาได้ความว่า สถานที่แห่งนี้มีชื่อว่า “เหล่าคาสวนขวัญ” เคยเป็นที่อยู่ของผู้ปกครองหัวหน้าชุมชนมาแต่ก่อน

สะท้อนให้เห็นว่า บริเวณเมืองเชียงใหม่ก่อนหน้าที่พระญามังรายจะเลือกสร้างให้เป็นราชธานีถาวรนั้น เคยมีชุมชนชาวบ้านอาศัยกันมาก่อนแล้ว อาจเป็นชาติพันธุ์ใดชาติพันธุ์หนึ่ง (ลัวะ หรือเม็ง?) หรือหลากหลายชาติพันธุ์? แต่ความเป็นอยู่ยังไม่เจริญมากนัก เพราะขณะนั้นศูนย์กลางความเจริญอยู่ที่ลำพูนหรือหริภุญไชย แต่ก็ยังมีหัวหน้าชนเผ่า และบริเวณลอมคาที่กวาง 2 แม่ลูกมาอาศัยนี้เองก็เคยเป็นที่ตั้งบ้านเรือนของพวกผู้นำชุมชนมาก่อน

ยิ่งรู้อย่างนี้พระญามังรายยิ่งยินดีโสมนัสพระทัย เสมือนเครื่องตอกย้ำว่า ไชยภูมิแห่งนี้มีความศักดิ์สิทธิ์เพิ่มซ้ำซ้อน เหมาะสมที่จะก่อสร้างคุ้มหลวงเวียงแก้ว หรือหอนอนของพระองค์ ในลักษณะ “เอาฤกษ์เอาชัย” จองแผ่นดินผืนนี้ไว้ก่อนที่จะสร้างนครเชียงใหม่ให้ยิ่งใหญ่

 

พระญามังรายได้ฤกษ์เคลื่อนย้ายเข้าสู่ไชยภูมิอันมงคลนี้ ในวันพฤหัสบดี เดือน 7 เหนือ ออก 8 ค่ำ จุลศักราช 654 ตรงกับเดือน 5 กลาง หรือเมษายน ขึ้น 8 ค่ำ พ.ศ.1835 ถือเป็นการสร้างราชมณเฑียรส่วนพระองค์ ขึ้นกลางเวียง ก่อนที่จะสร้างราชธานีเชียงใหม่แบบสมบูรณ์นานถึง 4 ปีเต็ม

บริเวณที่สร้างราชมณเฑียรแห่งนี้ มีชื่อเรียกว่า “เชียงหมั้น” (เชียงมั่น) ซึ่งต่อมาพระญามังรายได้อุทิศถวายแด่พุทธศาสนาให้สร้างเป็นวัดเชียงหมั้น พระอารามแห่งแรกของเมืองเชียงใหม่

แต่ในระหว่าง 4 ปีที่ยังประทับ ณ ราชมณเฑียรนั้น โปรดให้พสกนิกรทยอยตั้งบ้านเรือนน้อยใหญ่บนภูมิสถานสูงๆ ต่ำๆ สลับกันไป ตามทำเลเนินเขาที่เทลาดจากตีนดอยสุเทพค่อยๆ ลงสู่ที่ราบ

หมู่บ้านเหล่านี้เรียก “บ้านต่ำสูง” ตำนานระบุว่าภาษาม่าน (พม่า) เรียก “เมียงซูยวา” หรือเมียงชราว ส่วนบริเวณทิศตะวันออกของเมืองที่ให้ขุดแผ้วถางนั้น ได้ชื่อว่า เชียงถาง (ต่อมาเรียกเชียงถาน)

กว่าพระญามังรายจะสร้างเมืองเชียงใหม่ได้นั้น อาจารย์เกริกบอกว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แม้ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่จะอธิบายรายละเอียดไว้หมดแล้วทุกฉาก แต่เชื่อว่าน้อยคนนักที่จะได้อ่าน และถึงแม้จะมีโอกาสอ่านก็คงยากที่จะเข้าใจ เพราะเป็นเอกสารที่อ่านยากมาก ใช้ทั้งภาษาบาลีปนสันสกฤต กับภาษาล้านนาโบราณ

แถมบางช่วงบางตอนก็ปนภาษาพม่ามาเป็นระยะๆ ต้องค่อยๆ ถอดรหัส แปลงคำเขียนยุคก่อนมาเป็นคำอ่านร่วมสมัย แปลภาษาบาลี สันสกฤต ล้านนา และพม่า มาเป็นภาษาไทยกลาง ทีละถ้อยคำ ทีละบรรทัด ทีละประเด็น

บทความนี้จึงดำเนินความไปตามคำอธิบายของอาจารย์เกริกอย่างละเลียด และละเมียดละไม (ทั้งนี้ เพื่อไม่อยากให้ตกหล่นประเด็นสำคัญ)

สัปดาห์หน้าจะได้พบกับการเดินทางมาช่วยสร้างเมืองเชียงใหม่ของสองสหายหนุ่มใหญ่ นั่นคือ พระญางำเมืองแห่งพะเยา และพระญาร่วงแห่งสุโขทัย