ปริศนาโบราณคดี : เสวนา 777 ปีชาตกาลพระญามังราย” กับภารกิจการชำระสะสางประวัติศาสตร์ล้านนา (5)

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ตอน 1 2 3 4

บทความตอนนี้ยังคงต่อเนื่องกับตอนก่อนๆ ที่ผ่านมา 4 ฉบับ

แต่ขอเปลี่ยนชื่อจาก “ส่งท้าย 777ปีชาตกาลพระญามังราย แต่ภารกิจการชำระสะสางประวัติศาสตร์ยังไม่จบสิ้น” มาเป็น “เสวนา 777 ปีชาตกาลพระญามังราย กับภารกิจการชำระสะสางประวัติศาสตร์ล้านนา” แทน

เนื่องจากกาละก้าวล่วงเข้าสู่ศักราชใหม่แล้ว

ครั้นจะยังให้ใช้คำว่า “ส่งท้าย” เช่นเดิม ก็ดูกระไรๆ อยู่

%e0%b8%9b%e0%b8%a3%e0%b8%b4%e0%b8%a8%e0%b8%99%e0%b8%b2%e0%b9%82%e0%b8%9a%e0%b8%a3%e0%b8%b2%e0%b8%93%e0%b8%84%e0%b8%94%e0%b8%b5-%e0%b8%a0%e0%b8%b9%e0%b9%80%e0%b8%94%e0%b8%8a-%e0%b9%81%e0%b8%aa%e0%b8%99

ตำนานลักลั่นไม่ลงตัว

อาจารย์ภูเดช แสนสา จากภาควิชาวัฒนธรรมศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ วิทยากรคนที่ 4 เปิดประเด็นว่า

พระญามังรายเป็นบุคคลทางประวัติศาสตร์ที่มีตัวมีตนจริง ไม่ใช่บุคคลในตำนาน แม้ว่าหลักฐานที่บันทึกถึงท่านนั้น จะไม่มีชิ้นไหนเก่าแก่ร่วมสมัยกับพระองค์แม้แต่เพียงชิ้นเดียว ล้วนเป็นจารึกวรรณกรรมที่บันทึกย้อนหลังทั้งสิ้น อาทิ ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ พื้นเมืองเชียงแสน ชินกาลมาลีปกรณ์ ฯลฯ

ชิ้นที่ใกล้เคียงกับยุคสมัยของพระญามังรายมากที่สุดก็คือ ศิลาจารึกวัดพระยืนที่ลำพูน พ.ศ.1912 แต่เมื่อเทียบกับศักราชปีประสูติของพระญามังราย พ.ศ.1772 แล้ว ก็จะเห็นว่ามีช่องว่างที่ห่างกันมากถึง 140 ปี

ดังนั้น เรื่องราวทั้งหมดที่กล่าวถึงพระญามังราย มักเต็มไปด้วยความคลาดเคลื่อน ขัดแย้งไม่ลงตัวกันเลย ขึ้นอยู่กับว่า เหตุการณ์ตอนไหน เอกสารชิ้นใดมีน้ำหนักน่าเชื่อถือมากกว่าชิ้นอื่นๆ

ตัวอย่างเช่น “เวียงแม” ตำนานเวียงแม ระบุว่าเป็นเวียงที่พระญามังรายสร้างให้พระราชมารดาประทับ คล้ายกับการที่เจ้าอนันตยศ โอรสของพระนางจามเทวีที่เขลางค์ สร้างเวียงอาลัมพางค์ให้พระราชมารดา แต่ต่อมา “แม่” แผลงเป็น “แม” (“เวียงแม” อยู่ที่อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่) ในขณะที่นักโบราณคดียุคหลังตีความใหม่ว่า เวียงแม น่าจะหมายถึงปีมะแม เป็นเวียงบริวาร 12 นักษัตรของหริภุญไชย มากกว่า

กรณีชื่อ “มังราย” ก็เช่นกัน ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่บอกว่า มาจากชื่อของบิดา คือ “เมง” ผสม (สมาส) กับชื่อของตา คือ “รุ่ง” (ท้าวรุ่งแก่นชาย หรือท้าวฮุ่งแก่นจาย เจ้าเมืองเชียงรุ่ง) นำมารวมกัน จึงกลายเป็น “มังราย” แต่ตำนานพื้นเมืองเชียงแสนกลับบอกว่า ตอนตั้งชื่อได้นำนามคำว่า “มัง” ของ “ฤษีปัทมังกร” มาเป็นมงคลนามด้วย ตำนานฝ่ายสิบสองปันนา ระบุว่าชื่อมังรายมาจากนามเต็ม “มังคละนารายณ์” แล้วย่อเป็น “มังราย”

อาจารย์ภูเดชจึงสรุปว่า ทั้งหมดนี้เป็นการตีความภายหลัง ล้วนเอาความรู้สึกนึกคิดของพระภิกษุผู้จารตำนานมาใส่เป็นความเห็นทั้งสิ้น ทุกฉบับจึงเกิดความลักลั่นคลาดเคลื่อนกัน

พระญามังรายเป็น “ลัวะ” หรือไม่

จากการโยนคำถามของ “อภิชิต ศิริชัย” วิทยากรคนแรก ที่ไม่เชื่อว่าพระญามังรายมีเชื้อสาย “ลัวะ” นั้น อาจารย์ภูเดชเอง ก็มีความสงสัยข้อมูลส่วนนี้เช่นกัน จึงเปิดประเด็นว่า

คำว่า “ลัวะ” นั้น อาจจะไม่ใช่ชื่อชาติพันธุ์ใดชาติพันธุ์หนึ่งโดยตรงก็เป็นได้ แต่อาจเป็นคำเรียกกลุ่มคนดั้งเดิมหลากหลายชาติพันธุ์ที่มีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่แตกต่างไปจากกลุ่มคน “ไท” และ “เม็ง” (ต่อมาเรียกมอญ)

คำว่า “ลัวะ” อาจเป็นสัญลักษณ์ เป็นสิ่งสมมติขึ้นมา เพราะบางครั้งมีการเรียกกลุ่มคนโบราณที่เข้าใจว่าเป็นลัวะนี้แทนด้วยคำอื่นๆ อีกหลายคำ เช่น แจ๊ะ มิลักขุ มิลักขะ ทะมิละ อาฬาวี เนียะกูน ฯลฯ

กล่าวโดยสรุป อาจารย์ภูเดชเชื่อว่า คำว่าลัวะเป็นกลุ่มชนที่ถูกมองว่ามีวัฒนธรรมต่ำต้อย

แต่ความที่กลุ่มชนที่ถูกเรียกว่า “ลัวะ” คือเจ้าของพื้นที่ดั้งเดิม พระญามังรายจึงจำเป็นต้องเล่นการเมืองอย่างแยบยล คือใช้อัตลักษณ์บางอย่างของ “กลุ่มชนที่ถูกเรียกว่าลัวะ” ผสมกับอัตลักษณ์บางอย่างของ “ไท” (ตามเชื้อสายฝ่ายแม่ ที่เป็นชาวไทลื้อ)

นั่นคือใช้ความเป็นลัวะในการดำเนินวิเทโศบายยึดแผ่นดินและสร้างบ้านแปลงเมืองในช่วงแรก เช่น ใช้อ้ายฟ้าขุนนางลัวะยึดลำพูน ใช้ขุนนางลัวะอีกคนวางแผนยึดเชียงตุง

ทำไมจึงต้องใช้คนลัวะในช่วงเวลานั้น ไฉนจึงไม่ใช้คนชาติพันธุ์อื่น

แสดงว่าพระญามังรายต้องเห็นนัยสำคัญ ว่าลัวะเป็นกลุ่มคนที่ท่านติดต่อสัมพันธ์ได้ และสามารถไว้ใจได้จริงๆ ถึงขนาดยกให้กินเมืองสำคัญที่ลัวะช่วยขยายดินแดนให้เลยทีเดียว

กล่าวคือ ให้อ้ายฟ้าเป็นแสนฟ้ากินเมืองลำพูน ให้แสนเสนากินเมืองลำปาง ให้มังกุมมังเคียนขึ้นเป็นเจ้าเมืองเชียงตุง

ขุนศึกยุคแรกล้วนแล้วแต่เป็นลัวะ เสมือนแขนขาช่วยค้ำบัลลังก์อำนาจให้กับพระญามังราย

แต่จะให้สรุปว่าพระญามังรายเป็นลัวะหรือไม่นั้น ไม่อยากฟันธงเสียทีเดียว เหตุที่ลัวะเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณมาแต่ดั้งเดิม ดังนั้น ตอนสร้างเชียงใหม่ พระญามังรายจำเป็นต้องใช้พิธีกรรมของลัวะหลายอย่างมาเป็นแบบแผนและแก่นแกนก่อน

เช่น การใช้ลัวะจูงหมาเดินนำพระองค์เข้าเมืองเชียงใหม่ หรือการบูชาเสาสะกั้ง (อินทขีล) ก็เป็นประเพณีลัวะ การเลี้ยงผีที่เสา ให้ลัวะลงจากดอยสุเทพ และดอยคำ แม่เหียะ ลงมาทำพิธี ทั้งหมดนี้อาจสนับสนุนแนวคิดที่ว่า พื้นที่นี้ชาวลัวะอาศัยมาเนิ่นนาน ฉะนั้น พระญามังรายจะทำอะไรต้องบวงสรวงเซ่นสังเวยให้เกียรติชุมชนดั้งเดิมที่มีมาก่อน

สิ่งที่น่าสนใจอีกประเด็นหนึ่งคือ ลัวะเป็นผู้ควบคุมการผลิตวัตถุ พระญามังรายจึงไม่ปฏิเสธพิธีกรรมการเลี้ยงผี 300 ตน เหตุเพราะลัวะเป็นผู้ควบคุมเหล็ก อาวุธสำคัญ เหล็กเป็นจุดเปลี่ยนยุคสมัยทางประวัติศาสตร์เมื่อ 2,500 ปีก่อน

ตามที่ตำนานกล่าวว่า “พระญาลวจักราช” ครอบครองอาวุธเหล็กมากถึง 500 ด้ามนั้น เท่ากับสามารถควบคุมการผลิตหรือควบคุมเศรษฐกิจในมือไว้ได้นั่นเอง

พ่อลัวะ-แม่ไท-เมียเม็ง-ชื่อม่าน

แม้ไม่อยากฟันธงว่าพระญามังรายมีเชื้อสายลัวะหรือไม่ แต่จากรูปการณ์หลายอย่าง อาจารย์ภูเดชก็พอจะประมวลคร่าวๆ เบื้องต้นได้ว่า พระญามังรายน่าจะมีสายสัมพันธ์กับ “กลุ่มคนที่เรียกว่าลัวะ” อย่างแนบแน่นจากสายพ่อ (ลาวเมง) ค่อนข้างแน่นอน

และพระญามังรายมีความชาญฉลาดพอที่จะใช้ความเป็นลัวะในตอนสร้างบ้านแปลงเมือง เพราะความเป็นลัวะสามารถนำมาใช้ในสถานการณ์นั้นได้ คือช่วงที่พระญามังรายต้องการมือเท้า หรือหาผู้ที่สามารถ “รองมือรองเท้า” ในทำนองคำว่า “ข้ารองบาท” ของคำที่ใช้กันในปัจจุบัน

ซึ่งกลุ่มคนเหล่านั้นหากปราศจากสายสัมพันธ์กันทางสายเลือดก็อาจจะ “เรียกใช้งานไม่ได้ง่ายๆ นัก”

แต่หลังจากสร้างเมืองเชียงใหม่เสร็จ ความหลากหลายทางวัฒนธรรมและความหลากหลายทางชาติพันธุ์กลับมีมากขึ้น เห็นได้จากตำนานการสร้างเสาอินทขีล ระบุว่าได้หล่อรูปปั้นคนตระกูลต่างๆ มีลัวะ ยาง (กะเหรี่ยง) ร้อยเอ็ดเจ็ดสาย จะให้พระญามังรายใช้ความเป็นลัวะสายพ่อมาหล่อหลอมจิตใจชุมชนในวงกว้างร้อยพ่อพันแม่ต่อไปไม่ได้อีกแล้ว ต้องใช้ความเป็น “ไท” จากทางสายแม่แทน เพราะพระญามังรายต้องเป็นผู้นำเหนือกลุ่มคนอันหลากหลาย

นอกจากนี้แล้ว ยังต้องอาศัยความเป็น “เม็ง” เข้ามาเกี่ยวข้องด้านอารยธรรมอันสูงส่งอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพระญามังรายได้ชายาองค์ใหม่เป็นราชธิดามอญหรือเม็ง (นางอุสาปายโค จากเมืองพะโค หงสาวดี) ทำให้มีการเปลี่ยนอักษรมอญโบราณหริภุญไชย มาเป็นอักษรธัมม์ล้านนา ซึ่งมีรากฐานของอักขระมอญ

พระญามังรายจึงถือว่าเป็นบุคคลที่ค่อนข้าง “อินเตอร์” มากๆ เพราะนอกจากจะมีเชื้อสายลัวะทางพ่อ เชื้อสายไททางแม่ และได้ชายาเป็นมอญแล้ว ชื่อ “มังราย” ยังไปคล้ายกับทาง “พม่า” อีกด้วย

วีรบุรุษทางการเมือง
และวีรบุรุษทางวัฒนธรรม

พระญามังรายได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของ “วีรบุรุษทางการเมืองและวีรบุรุษทางวัฒนธรรม” เพราะเป็นบุคคลสำคัญผู้เปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ภาคเหนือ มีความยิ่งใหญ่ทัดเทียมกับการบุกเบิกแผ่นดินสยามตอนบนของพระนางจามเทวี แต่ขอบเขตของพระญามังรายนั้นกว้างใหญ่ไพศาลยิ่งกว่า

อาจารย์ภูเดช นำเสนอชีวประวัติพระญามังราย ตามศักราชที่ระบุใน ชินกาลมาลีปกรณ์ แบ่ง timeline (แน่นอนว่าศักราชย่อมขัดแย้งกับตำนานเล่มอื่นๆ) คร่าวๆ ให้เห็นเส้นทางชีวิตของพระองค์ดังนี้

พ.ศ.1772 ประสูติ, พ.ศ.1804 ขึ้นเป็นกษัตริย์ครองเมืองเงินยาง, พ.ศ.1805 อายุ 23 สร้างเมืองเชียงราย, พ.ศ.1812 อายุ 30 ยึดเมืองเชียงของ สร้างเมืองเล็กเมืองน้อยตลอดลุ่มแม่น้ำโขง, พ.ศ.1816 สร้างเมืองฝางเพื่อใช้เป็นฐานขยายอาณาเขตมายังหริภุญไชย เพราะเป็นศูนย์กลางการค้าสำคัญอยู่ติดแม่น้ำปิง

พ.ศ.1819 ครอบครองอาณาเขตตอนบนทั้งหมด คือเชียงราย ฝาง เชียงของ เชียงคำ เมืองสาด หาง พยาก เลน เชียงตุง แล้วจึงขยายลงมาทางลำพูน ลำปาง ลอง แพร่

พ.ศ.1830 เกิดสัญญาสามกษัตริย์ (พระญามังราย พระญางำเมือง และพระญาร่วง) เป็นการตกลงกันให้ลงตัวระหว่างกษัตริย์หนุ่ม ว่าจะแบ่งเค้กพื้นที่พรมแดนของแต่ละรัฐกันอย่างไร พิจารณาให้ดีว่ารัฐของพระญามังรายไม่ใช่ว่าจะลงสู่แม่น้ำปิงได้ง่ายๆ เพราะมี “ภูกามยาว” (เมืองพะเยา) ของพระญางำเมืองกั้นขวางอยู่

ดังนั้น ปี 1839 เมื่อพระญามังรายมีแนวคิดจะขยายดินแดน จำเป็นต้องตกลงกับพระญางำเมืองให้ได้เสียก่อน เพราะพระญางำเมืองนั้นไม่ธรรมดา ถ้าพระญางำเมืองขัดขวางก็จบเห่ พระญามังรายได้ส่งลัวะผู้หนึ่งเป็นทูตไปเจรจาขอเมืองเพื่อเปิดเส้นทางจากพระญางำเมืองก่อน แล้วจึงลงไปฝาง ไชยปราการ พร้าว จากนั้นก็ยึดเมืองลำพูน

อีกทั้งตอนสร้างเชียงใหม่หากพระญามังรายไม่ดึงพระญางำเมืองกับพระญาร่วงมาร่วมรับรู้และขอร้องให้มีส่วนร่วมสร้าง อาจจะเกิดปัญหาเรื่องพรมแดนภายหลังได้ ครั้นเมื่อสร้างเชียงใหม่เสร็จ พระญามังรายก็มีความเป็นลูกผู้ชายพอที่จะคืนเมืองเชียงชื่น และเมืองพานให้กับพระญางำเมือง

พระญามังรายเสด็จสวรรคตปี พ.ศ.1854 สิริรวมพระชนมายุ 82 ปี

จากการศึกษาชีวประวัติของพระญามังรายในทุกมิติ อาจารย์ภูเดชลงความเห็นว่า พระญามังรายเป็นกษัตริย์นักวางแผนและนักพัฒนาตัวฉกาจ เห็นได้จากทันทีที่นั่งเมืองเงินยางสืบต่อจากลาวเมง พระองค์รีบสร้างความชอบธรรมให้ตัวเอง ด้วยการทำพิธีมูรธาภิเษก และการสำแดงว่าเป็นผู้ครอบครองดาบสะหลีกัญไชย (พระขรรค์ชัยศรี) เหมือนกับการประกาศพิธีพระบรมราชาภิเษก ข่มขวัญเมืองเล็กเมืองน้อยอื่นๆ เหตุเพราะลูกหลานของลวจังกราชนั้นได้กระจายไปตั้งเมืองกันหลายตระกูล

สำหรับด้านศาสนาและวัฒนธรรม พระญามังรายดึงพระพุทธศาสนาจากหริภุญไชยมาใช้ หลอมรวมกับการบูชาผีอารักษ์หลวง 28 จุด พิธีบูชาเสาสะกั้ง เสาอินทขีล เป็นการรวมความเชื่อระหว่าง พุทธและผี แต่ภายหลังได้เปลี่ยนให้เป็นเรื่องของพราหมณ์และพระอินทร์

พระญามังราย จึงไม่ใช่บุคคลที่ตายไปกับประวัติศาสตร์ แต่เป็นบุคคลที่ยังมีชีวิตโลดแล่น มีความโดดเด่นทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ส่งผลสะเทือนมาจนถึงวิถีชีวิตชาวล้านนาตราบปัจจุบัน

ทุกวันนี้ยังมีร่างทรงม้าขี่เจ้าพ่อที่อ้างว่าสืบทอดมาจากพระญามังรายให้ชาวล้านนาได้อุ่นใจ ในคราวประกอบพิธีสักการะช่วงเทศกาลปีใหม่เมือง ชาวล้านนาไม่เคยตัดขาดจากพระญามังราย เสมือนว่าท่านยังไม่ตาย เว้นแต่ว่าใครจะนำชีวิตของท่านไปใช้ประโยชน์ในด้านไหน