แพทย์ พิจิตร : สถาบันพระมหากษัตริย์ในบริบทระบอบเผด็จการทหาร

ตอน 1 2 3 4 5 6

70 ปีรัชสมัยแห่งปฐมบรมพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ (7) : สถาบันพระมหากษัตริย์ในบริบทระบอบเผด็จการทหาร

ดังที่ได้กล่าวไปในตอนที่แล้วว่า การฉวยอำนาจด้วยการทำรัฐประหารล้มล้างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอันฉ้อฉลของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม และสถาปนาระบบปฏิวัติขึ้นแทนที่ ทำให้จอมพลสฤษดิ์ จำเป็นต้องหาแหล่งอ้างอิงความชอบธรรมใหม่ให้แก่ระบอบของตน

จึงหันมาสนับสนุนและส่งเสริมสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่ออาศัยการสนับสนุนจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช “ในฐานะที่ทรงเป็นตัวแทนของ “ชาติ””

และในฐานะที่ทรง “มีอิทธิพลเหนือความคิดเห็นของประชาชน” ในการสร้างความชอบธรรมให้แก่รัฐบาลและระบอบการปกครองในสายตาของประชาชน

ภายใต้เงื่อนไขเช่นนี้เองที่เปิดโอกาสให้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงแสดงบทบาทและปฏิบัติพระราชกรณียกิจต่างๆ ได้อย่างกว้างขวางมากขึ้นกว่าในช่วงรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม

แต่พึงเข้าใจด้วยว่า บทบาทและพระราชกรณียกิจเหล่านี้ มิได้ดำเนินไปเพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่ระบบเผด็จการ หรือเพื่อมุ่ง “สถาปนาพระราชอำนาจนำ” ของสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเป้าหมายหลักในตัวเองดังข้อสรุปของนักวิชาการบางท่าน

เช่น ในคำอธิบายของ ทักษ์ เฉลิมเตียรณ ในหนังสือ “การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ” และวิทยานิพนธ์มานุษยวิทยามหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ของ ชนิดา รักษ์บัณฑิตย์ เรื่อง “โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ : การสถาปนาพระราชอำนาจนำ (พ.ศ.2494-2457)

เนื่องจากเป็นที่แน่นอนว่าการแสดงบทบาทและปฏิบัติพระราชภารกิจเหล่านี้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมีประเด็นวาระและเป้าหมายเป็นของพระองค์เอง

แต่มิได้ดำเนินไปเพียงเพราะทรงต้องการฟื้นฟูบทบาทความสำคัญและสถานะความยิ่งใหญ่ของสถาบันพระมหากษัตริย์

หากทรงดำเนินการต่างๆ เพื่อทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ที่มีรากฐานความชอบธรรมอันหนักแน่นอยู่แล้วในสังคมวัฒนธรรมไทย

สามารถแสดงบทบาทที่เป็นคุณูปการต่อการอำนวยให้ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมการเมืองไทยเป็นไปได้อย่างราบรื่นและมีเสถียรภาพ

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงดำเนินบทบาทเหล่านี้อย่างเป็นอิสระ

แต่กอปรด้วยความระมัดระวัง ตามกรอบของกฎเกณฑ์ที่มีอยู่แต่ในสถานะที่ทรงอยู่เหนือการเมือง

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงใช้โอกาสที่เงื่อนไขทางการเมืองเปิดทางให้เช่นนี้ สร้างสถาบันพระมหากษัตริย์ให้กลายมาเป็น “พลังของแผ่นดิน” เพื่อพระราชภารกิจอันยากยิ่ง ที่ผู้คิดจะกระทำตั้งแต่ต้นจนปลาย ต้องมีความวิริยะบากบั่นเป็นอันมาก

เปรียบเสมือนกับการต้องว่ายน้ำอยู่ในมหาสมุทรที่แม้มองไม่เห็นฝั่ง แต่ก็ยังไม่รู้สึกระย่อท้อถอย

แม้นว่ามนุษย์จะเป็นผู้เลือกและตัดสินใจกระทำภายใต้โครงสร้างข้อจำกัดที่เขามิได้เป็นผู้กำหนดก็จริง แต่โดยการเลือกและการตัดสินใจกระทำของเขาด้วยความเพียรพยายามนั้นก็มีโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงหรือก้าวข้ามเอาชนะโครงสร้างข้อจำกัดนั้นได้

จากความจริงข้อนี้ เมื่อพิจารณาสภาพของสังคมการเมืองไทยนับแต่เวลาที่ทรงขึ้นครองราชย์ ก็จะเห็นได้ถึงพระราชภารกิจอันหนักหนาที่ทอดยาวอยู่ข้างหน้า สำหรับพระองค์ผู้ทรงตั้งพระราชปณิธานอย่างแน่วแน่ว่าจะครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขของมหาชนชาวสยาม

แต่ประโยชน์สุขของมหาชนชาวสยามในช่วงเวลาดังกล่าวยังถูกสกัดกั้นไว้ด้วยโครงสร้างข้อจำกัดต่างๆ ที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่ ท่ามกลางความลุ่มๆ ดอนๆ ของสถาบันทางการเมืองใหม่ ที่ยังล้วนต้องใช้เวลาในการพัฒนาให้มีความเป็นสถาบันที่สามารถแสดงบทบาทหน้าที่ของตนเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในบริบทของการเมืองไทยที่อำนาจยังคงรวมศูนย์อยู่ที่ระบบราชการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทหาร

ซึ่งแม้จะสามารถเผด็จอำนาจไว้ได้เพราะถืออาวุธ แต่ก็ไม่มีความชอบธรรมโดยตัวเองในการครองอำนาจและการสืบทอดอำนาจทางการเมือง อันเป็นมูลเหตุแห่งความแตกแยกและการช่วงชิงอำนาจระหว่างกันเองอยู่เป็นระยะ

ในขณะที่การเรียกร้องเพื่อเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองของภาคประชาชน และการตื่นตัวทางการเมืองและความคาดหวังของประชาชนต่อการพัฒนาการเมืองให้เป็นประชาธิปไตยมีความแหลมคมมากยิ่งขึ้น

ในสภาพแวดล้อมระหว่างประเทศในภูมิภาคและปัญหาความมั่นคงภายในประเทศที่ไทยต้องเผชิญกับภัยคุกคามของขบวนการคอมมิวนิสต์ รวมทั้งปัญหาความเป็นเอกภาพของคนในชาติ และการต้องพึ่งพามหาอำนาจภายนอก คือสหรัฐอเมริกา ในการรักษาความมั่นคง ในสภาวะและระดับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศที่คนส่วนใหญ่ยังดำรงชีพอยู่ในภาคเกษตรกรรมที่ขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐานและด้อยทั้งการศึกษาและสุขภาวะ

ในขณะที่แนวทางการพัฒนาประเทศหันเหไปสู่ความเป็นอุตสาหกรรมที่นำไปสู่การพึ่งพาภายนอกมากยิ่งขึ้นทุกที ทั้งด้านเทคโนโลยี เงินทุน และตลาด และทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองโตเดี่ยวที่สูบความมั่งคั่งจากชนบทมารวมไว้ที่ส่วนกลาง

ในโครงสร้างของระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมและการใช้อำนาจของรัฐที่ก่อให้เกิดปัญหาแก่ราษฎรมากกว่าจะเป็นการแก้ปัญหา

รวมทั้งการทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวงในวงราชการและการเมืองซึ่งเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตกตลอดมา

และในสภาวะของการผันผวนปรวนแปรทางสังคมและวัฒนธรรมที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว ทั้งหมดเหล่านี้ล้วนเป็นเหตุปัจจัยที่จะนำไปสู่ความไร้เสถียรภาพ และความระส่ำระสายทางการเมืองและสังคม

คือสภาวะที่จะสร้างเงื่อนไขอันเหมาะสมของการปฏิวัติล้มล้างเปลี่ยนแปลงการปกครอง คือรากฐานของปัญหาที่นำประเทศไปสู่วิกฤตการณ์เป็นระลอก

โครงสร้างข้อจำกัดของประเทศทั้งหมดนี้ เป็นห้วงน้ำใหญ่ที่สกัดกั้นการบรรลุถึงฝั่งอันเป็นประโยชน์สุขของมหาชน

และเป็นข้อจำกัดที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ต้องทรงเพียรพยายามหาทางแก้ไขและเปลี่ยนแปลง

ด้วยการปฏิบัติพระราชกรณียกิจใหญ่น้อยทั้งหลาย ตลอดระยะเวลาเจ็ดสิบปีที่ได้ทรงครองราชย์มา

ที่สำคัญ หากเมื่อต้นรัชกาลยังไม่มีความชัดเจนว่าบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบบการเมืองใหม่ของไทยจะมีเนื้อหาสารัตถะเป็นอย่างไร

เนื้อหาสารัตถะนั้นก็ได้เป็นที่ประจักษ์ชัดเจนขึ้นเป็นลำดับจากพระราชกรณียกิจที่ได้ทรงบำเพ็ญต่อเนื่องตลอดมา

ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าบทบาททางการเมืองของสถาบันพระมหากษัตริย์ มีขอบเขตอันเคร่งครัดชัดเจน

ระหว่างการแข่งขันช่วงชิงและการจัดสรรอำนาจในการเมืองปกติในระดับพื้นผิวกับการวางรากฐานความเป็นปึกแผ่นให้แก่ประเทศชาติบ้านเมือง

การประคับประคองให้กระบวนการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเป็นไปอย่างมีเสถียรภาพ และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาราษฎรผู้ด้อยโอกาส อันเป็นการเมืองในระดับพื้นฐานเพื่อจัดและปรับสภาพสภาวะของความเป็นรัฐ

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงดำเนินบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ในบริบทที่ “เหนือการเมือง” ในการเมืองพื้นฐานประการหลังอย่างเต็มพระกำลัง ในขณะที่ทรงก้าวลงมาเกี่ยวข้องกับการเมืองปกติในระยะที่เกิดความไม่เป็นปกติขึ้นเท่านั้น

ในบทสัมภาษณ์ที่พระราชทานแก่ผู้สื่อข่าวต่างประเทศในปีที่ 36 ของรัชกาล พระบาทสมเด็จพระปรมินทมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเปิดเผยคติสำคัญที่ทรงยึดเป็นหลักในการดำเนินบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์และการปฏิบัติพระราชกรณียกิจต่างๆ ว่า

I put things together piece by piece. Slowly. For 36 years. So this reign is perhaps characterized with going step by step. Evolution.

(อ้างใน Supamit Pitipat. The Evolution of the Thai Monarchy in the Constitutional Period, 1932-Present. M.A. Thesis, The American University, 1989.)